ความต้องการสินค้าเครื่องจักรกล เครื่องจักรผลิตชิ้นส่วนสินค้าในต่างประเทศยังคงมีความต้องการสูงต่อเนื่อง เปลี่ยนทดแทนของเดิมที่ได้ชะลอการปรับปรุง เปลี่ยนใช้ของใหม่กันมานานแล้ว ทำให้ตลาดผลิตภัณฑ์ทำด้วยยางของเยอรมนีมีความแจ่มใสดีอยู่
ในช่วง 6 เดือนแรกปี 2554 ยอดการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทำด้วยยางของผู้ผลิตในประเทศเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 8,545 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.6 การขายในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.8 และในต่างประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.7 โดยเป็นยางรถยนต์ มูลค่า 3,523 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.0 ในจำนวนนี้เป็นการจำหน่ายในประเทศมูลค่า 2,413 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.3 ในต่างประเทศมูลค่า 1,109 ล้านยูโร ลดลงร้อยละ 7.0 สำหรับผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ ที่สำคัญๆ ได้แก่ แท่นยาง ปะเก็น และยางผสมสารเคมีสำหรับการใช้งานพิเศษต่างๆ เป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 5,022 ล้านยูโร มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.0 เป็นการจำหน่ายในประเทศมูลค่า 2,830 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.7 การขายในต่างประเทศมูลค่า 2,193 ล้านยูโร มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.9
ความต้องการสินค้าผลิตภัณฑ์ทำด้วยยางในตลาดเยอรมนียังคงมีสูงอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ไทยสามารถส่งออกสินค้ารายการนี้ไปตลาดเยอรมนีมูลค่าที่เพิ่มขึ้น จะมีเฉพาะยางยานพาหนะลดลงเล็กน้อย และผลิตภัณฑ์ยางใช้ทางเภสัชกรรม โดยในช่วง 8 เดือนแรกปี 2554 (ม.ค.-ส.ค.) ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์ทำด้วยยางไปเยอรมนีเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 155.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.7 ที่สำคัญๆ ได้แก่ -ถุงมือยางใช้ในด้านการแพทย์ มูลค่า 82.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.2 คิดเป็นส่วนแบ่งร้อยละ 53 ของการส่งออกสินค้ารายการนี้ไปเยอรมนี ในตลาดเยอรมนีไทยมีส่วนแบ่งประมาณร้อยละ 13 แหล่งนำเข้าสำคัญอื่นๆ ได้แก่ มาเลเชีย เนเธอร์แลนด์ และเบลเยี่ยม มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 38, 10 และ 8 ตามลำดับ -ยางใหม่สำหรับยานพาหนะ มูลค่า 57.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 3.1 คิดเป็นส่วนแบ่งร้อยละ 37 ของการส่งออกสินค้ารายการนี้ไปเยอรมนี ในตลาดเยอรมนีไทยมีส่วนแบ่งเล็กน้อยประมาณร้อยละ 1.2 แหล่งนำเข้าสำคัญอื่นๆ ได้แก่ ฝรั่งเศสมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 14 เช็คร้อยละ 9 สโลเวเกียร้อยละ 7 -ผลิตภัณฑ์ยางใช้ทางเภสัช มูลค่า 4.2 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นส่วนแบ่งร้อยละ 2.7 ของการส่งออกสินค้ารายการนี้ไปเยอรมนี มูลค่าลดลงร้อยละ 31.5 ในตลาดเยอรมนีไทยมีส่วนแบ่งประมาณร้อยละ 5 แหล่งนำเข้าสำคัญๆ ได้แก่ ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม และอิตาลี มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 18, 16 และ 10 ตามลำดับ
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน
ที่มา: http://www.depthai.go.th