สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของสาธารณรัฐตุรกี ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 5, 2011 15:21 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ภาพรวม

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 เศรษฐกิจของตุรกีดูมีความแข็งแกร่ง และเติบโตอย่างต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ดัชนีทางเศรษฐกิจหลายตัวบ่งบอกถึงภาวะเศรษฐกิจที่ดี เช่น อัตราการว่างงานลดลง มูลค่าการส่งออกเพิ่มสูงขึ้น รัฐบาลมีงบประมาณเกินดุล อัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยอยู่ในระดับเป้าหมาย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจของตุรกีมีปัจจัยเสี่ยงคือ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดซึ่งสูงมากเป็นประวัติการณ์ โดยอยู่ที่ร้อยละ 8-9 ของ GDP และการขยายตัวของการกู้ยืมเงิน

ส่วนปัจจัยภายนอกที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของตุรกี ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2554 ได้แก่ วิกฤติการณ์เงินในยูโรโซน ซึ่งทำให้ค่าเงินลีร่าตุรกีอ่อนตามไปด้วย และสร้างแรงกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อในประเทศ แม้กระนั้นก็ตาม รัฐบาลและภาคเอกชนของตุรกี เชื่อว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโดยทั่วไปของประเทศจะยังดีอยู่ แต่ยอมรับว่า ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด เป็นปัญหาเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไข ทั้งนี้ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของตุรกี มีสาเหตุสำคัญคือ การขาดดุลการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากการนำเข้าพลังงาน และสินค้าขั้นกลางมีมูลค่าสูง รวมทั้งสิน้คาอุปโภคบริโภคบางรายการ ได้แก่ รถยนต์ เป็นต้น รัฐบาลตุรกี จึงต่อกำหนดยุทธศาสตร์ เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าสินค้าเหล่านี้จากต่างประเทศ

อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ช่วงไตรมาสแรกของปี 2554 ตุรกี มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ 11 ซึ่งสูงที่สุดในโลก แซงหน้าประเทศอาร์เจนตินา (ร้อยละ 9.9) และจีน (ร้อยละ 9.7) โดยมีการลงทุนของภาคเอกชน และการบริโภคภายในประเทศเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ ภาคเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุดในไตรมาสนี้ คือ การค้าส่งและค้าปลีก (ร้อยละ 17.2) และการก่อสร้าง (ร้อยละ 14.2) รองลงมาคือพลังงาน การขนส่ง และการสื่อสาร หากสามารถรักษาอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับนี้ต่อไป คาดว่า GDP ของตุรกี น่าจะเกิน 742 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2554 ซึ่งเป็นระดับก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกเมื่อปี 2551

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปลายปี 2553 ธนาคารกลางตุรกี ได้ออกมาตรการหลายอย่าง เพื่อชะลอการขยายตัวของสินเชื่อ และควบคุมความต้องการภายในประเทศ ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศมีความร้อนแรงเกินไป (Overheating)

งบประมาณเกินดุล

รัฐบาลตุรกี มีงบประมาณเกินดุล 1.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ถือว่าสูงสุดในรอบ 41 ปี

โดยมีรายรับ 90.74 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.7 และมีรายจ่าย 88.94 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 รายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากการที่รัฐบาลสามารถจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น ส่วนรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นเป็นค่าใช้จ่ายด้านบริการสุขภาพ เบี้ยประกันสังคม เงินเกษียณอายุราชการ และมาตรการจูงใจสำหรับการลงทุนด้านการเกษตร ในขณะเดียวกัน รัฐบาลมีภาระจ่ายคืนดอกเบี้ยเงินกู้ลดลง

อัตราเงินเฟ้อ

ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2554 ภาวะเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ แต่ได้เริ่มเพิ่มขึ้นในเดือนเมษายน และพฤษภาคม เนื่องจากราคาสินค้าอาหารเพิ่มสูงขึ้นมาก จากนั้นได้ลดลงในเดือนมิถุนายน

อัตราการว่างงาน

อัตราการว่างงานลดลงร้อยละ 10.8 ในเดือนมีนาคม เหลือร้อยละ 9.9 ในเดือนเมษายน ซึ่งระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงเดือนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก (ร้อยละ 9.4 ในเดือนกรกฎาคม 2551) ปัจจุบันมีจำนวนคนว่างงาน 2.63 ล้านคน จำนวนที่มีงานทำ 23.9 ล้านคน ปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้อัตราว่างงานลดลง คือ การเริ่มจ้างงานเพิ่มขึ้นตามฤดูกาล และเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสแรกเติบโตสูงมาก

การค้าระหว่างประเทศ

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2554 ตุรกีส่งออก รวม 65.63 พันล้านเหรีญญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.9 ในขณะที่การนำเข้า 119.61 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 43.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2553 ทำให้ขาดดุลการค้ารวม 53.98 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 88.2 เป็นที่น่าสังเกตว่า ยิ่งตุรกีส่งออกมาขึ้น มูลค่าการนำเข้าก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากตุรกีต้องนำเข้าพลังงาน และสินค้าขั้นกลางจากต่างประเทศ เพื่อนำมาผลติเป็นสินค้าส่งออก นอกจากนี้ การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น รถยนต์ เป็นต้น ก็มีมูลค่าสูงเช่นกัน ทำให้ขาดดุลการค้าระหว่างประเทศ เพิ่มขึ้น และมีผลต่อเนื่องถึงการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด

การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด

ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2554 ตุรกี ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด รวม 37 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้น 20.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2553 ทั้งนี้ ตัวเลขการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงมากเป็นประวัติการณ์ในเดือนมีนาคม (9.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) และเดือนพฤษภาคม (7.75 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) หากพิจารณาตัวเลขในรอบ 12 เดือน การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของตุรกี อยู่ที่กว่า 60 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 8-9 ของ GDP

มาตรการการรับมือปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด

เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2554 รัฐบาลตุรกี ได้ประกาศว่า จะพิจารณากำหนดนโยบาย เพื่อลดพึ่งพาการนำเข้าพลังงาน สินค้าชั้นกลาง และสินค้าอุปโภค บริโภคจากต่างประเทศ เพื่อลดผลกระทบต่อการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด โดย

1. พลังงาน

รัฐบาลตุรกี ได้ประกาศว่า จะพิจารณากำหนดนโยบายทางเลือกมากขึ้น เช่น การสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้านิวเคลียร์ การสนับสนุน R&D ด้านพลังงานทดแทน เป็นต้น ในแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี (ค.ศ. 2011 — 2015) ของ Energy Market Regulation Agency ซึ่งประกาศเมื่อเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา ได้มีการปรับปรุงระเบียบเกี่ยวกับการส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และยังมีการลดความยุ่งยากของขั้นตอนการขอใบอนุญาต สำหรับสถาบันการศึกษาที่ต้องการจะสร้างสิ่งอำนวนความสะดวกต่างๆ ในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อใช้ในกิจกรรม R & D และไว้ใช้เอง นอกจากนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติของตุรกี จะเพิ่มความพยายามในการสำรวจแหล่งสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในประเทศ

2. สินค้าขั้นกลาง

ทบวงการค้าระหว่างประเทศ (Undersecretariat for Foreign Trade) ได้ทำการศึกษาและ พบว่า มีสินค้า 6 สาขา ที่พึ่งพาการนำเข้าสินค้าขั้นกลางจากต่างประเทศ ในระดับสูง ได้แก่ เครื่องจักรเหล็กและเหล็กกล้า ยานยนต์ เคมีภัณฑ์ สิ่งทอ และอาหารและเกษตร และรัฐบาล จะเสนอสิ่งจูงใจ และมาตรการอุดหนุน เพื่อให้มีการผลิตสินค้าขั้นกลางในประเทศมากขึ้น

นอกจากนี้ จะสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐจัดซื้อสินค้าที่ผลติในประเทศมากขึ้นด้วย หากทำได้ ตุรกี จะสามารถลดการนำเข้าได้ถึง 30 พันล้านเหรียญสหรัฐฯต่อปี การแก้ปัญหานี้ของรัฐบาลตุรกี ได้รับหารขานรับจากภาคธุรกิจ ซึ่งเห็นว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่เกิดภาวะเศรษฐกิจโลก หากหลายประเทศได้หันมาใช้นโยบายปกป้องตลาด แต่ WTO ได้เพิกเฉยต่อความจริงที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายนักวิชาการ แม้ว่าจะเห็นด้วย แต่ก็เตือนว่า รัฐบาลควรจะประเมินผลของยุทธศาสตร์นี้อย่างรอบคอบ และดำเนินการอย่างมีวินัยค่อยเป็นค่อยไป และสอดคล้องกับพลวัตรของเศรษฐกิจโลก เนื่องจากประเทศคู่ค้าของตุรกี อาจไม่พอใจ และมองว่าเป็นการปกป้อง การผลิตในประเทศ

3. สินค้าอุปโภคบริโภค

เมื่อเดือนเมษายน 2554 นายกรัฐมนตรี Erdogan ได้กล่าวถึง แผนการพัฒนารถยนต์แห่งชาติ ซึ่งจะใช้ส่วนประกอบที่ผลติในประเทศทั้งหมด ล่าสุดกลางเดือนกรกฎาคม 2554 นาย Nihat Ergun รัฐมนตรีอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ประกาศว่า ตุรกี จะพยายามผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก (Table PCs) ภายในประเทศเอง เพื่อแจกจ่ายให้แก่นักเรียน 15 ล้านคน ภายใต้นโยบายด้านการศึกษาที่นายกรัฐมนตรี Erdogan ประกาศไว้ขณะรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งทั่วไป

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครอิสตันบูล

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ