ตลาดสินค้าอุปกรณ์ก่อสร้างในแคนาดา

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 5, 2011 15:30 —กรมส่งเสริมการส่งออก

จากข้อมูลหน่วยงาน Construction Sector Council ได้มีการประเมินว่าธุรกิจการก่อสร้างในแคนาดาปี ๕๔ มีมูลค่า ๖๔ พันล้านเหรียญแคนาดา (ประมาณ ๑.๙ ล้านล้านบาท) โดยภาคก่อสร้างบ้านที่พักอาศัย (Residential Construction) มีมูลค่า ๓๓,๗๐๔ ล้านเหรียญฯ เป็นสัดส่วน ๕๐.๒๐% รองลงมาได้แก่ ภาคก่อสร้างอาคารพาณิชย์ (Commercial Construction) มูลค่า ๑๒,๓๗๘ ล้านเหรียญฯ สัดส่วน ๑๙.๑๓% ภาคก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม (Industrial Construction) มูลค่า ๖,๙๒๓ ล้านเหรียญฯ สัดส่วน ๑๐.๗๐% และ ภาคก่อสร้างของภาครัฐบาล (Government Construction) มูลค่า ๑๒,๙๓๑ ล้านเหรียญฯ สัดส่วน ๑๙.๙๙% ตามลำดับ

ได้มีการคาดการณ์ว่าในอีก ๖ ปีข้างหน้า (ในปี ๒๕๖๐) ธุรกิจการก่อสร้างในแคนาดาจะมีการขยายตัวเฉลี่ยปีละ ๓-๕% โดยจะมีมูลค่าประมาณ ๗๖.๒ พันล้านเหรียญฯ (๒.๒๘ ล้านล้านบาท) ซึ่งบ้านเรือนที่อาศัยยังคงมีสัดส่วนมูลค่ากว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าการก่อสร้างทั้งหมด โดยการก่อสร้างในภาคเอกชน โรงงานอุตสาหกรรม และการก่อสร้างของรัฐบาลเป็นสัดส่วนรองลงมา ทั้งนี้ในช่วง ๒-๓ ปีข้างหน้า (ปี ๒๕๕๕-๒๕๕๗)นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ว่า การลงทุนการก่อสร้างของภาคเอกชนยังคงชลอตัวเนื่องจากความไม่มั่นใจในเศรษฐกิจแต่ในการก่อสร้างบ้านพักที่อยู่อาศัยจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็น Read Demand ในการขับเคลื่อนธุรกิจการก่อสร้างในแคนาดา

๑. ภาวะการนำเข้า

แคนาดามีการนำเข้าอุปกรณ์ก่อสร้างจากทั่วโลกในปี ๒๕๕๓ มูลค่า ๔,๓๖๔.๒๑ ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเพิ่มขึ้น ๒๔.๔๗% ที่มีการนำเข้าหลักจาก สหรัฐฯ มูลค่า ๒,๓๓๕.๒๕ ล้านเหรียญฯ (สัดส่วน ๕๓.๕๑%) เพิ่มขึ้น ๒๔.๐๐% จีน ๙๓๗.๓๖ ล้านเหรียญฯ (๒๗.๖๓%) เพิ่มขึ้น ๒๗.๖๓% ออสเตรีย ๑๑๐ ล้านเหรียญฯ (๒.๕๒%) เพิ่มขึ้น ๑๕.๔๙% เยอรมันนี ๑๐๒.๙๗ ล้านเหรียญฯ (๒.๓๖%) เพิ่มขึ้น ๗.๘๓% อิตาลี ๙๓.๗๙ ล้านเหรียญฯ (๒.๑๕%) เพิ่มขึ้น ๓๐.๑๐% ในขณะที่นำเข้าจากไทย ๒๑.๓๐ เหรียญฯ มีสัดส่วน ๐.๔๙% ขยายตัว ๔๘.๘๗% เป็นอันดับที่ ๑๗

ในช่วง มค.-กค. ๕๔ แคนาดามีการนำเข้าโดยรวมมูลค่า ๒,๕๙๔.๗๗ ล้านเหรียญฯ ขยายตัวเพียง ๑.๔๙% เนื่องจากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจในแคนาดาที่มีโอกาสหดตัวและกลับเข้ามาช่วงสภาวะถดถอย (Recession) อีกครั้ง โดยมีการนำเข้าจาก สหรัฐฯ ๑,๓๙๙.๓๕ ล้านเหรียญฯ (สัดส่วน ๕๓.๙๓%) เพิ่มขึ้น ๓.๓๓% จีน ๕๕๗.๗๕ ล้านเหรียญฯ (๒๑.๕๐%) ลดลง -๓.๓๒% ออสเตรีย ๖๒.๑๗ ล้านเหรียญฯ (๒.๔๐%) ลดลง ๑๖.๒๕%โดยมีการนำเข้าจากไทย ๖.๗๓ ล้านเหรียญฯ ลดลง -๓๘.๕๓%

สินค้าอุปกรณ์ก่อสร้างที่แคนาดานำเข้าเป็นหลักในปี ๒๕๕๓ ได้แก่ อุปกรณ์ติดตั้งฟิตติ้งที่ทำด้วยโลหะ (HS ๘๓๐๒) มูลค่า ๑,๑๒๑.๑๗ ล้านเหรียญฯ (มีสัดส่วน ๒๕.๖๙%) มีอัตราขยายตัว ๒๔.๔๗% โครงเหล็กอาคาร (HS ๗๓๐๘๙๐) มูลค่า ๔๘๐.๔๘ ล้านเหรียญฯ (๑๑.๐๑%) เพิ่มขึ้น ๑๘.๓๔% ไม้แปรรูป (ที่มีความหนาเกิน ๖ มม.) (HS๔๔๐๗) มูลค่า ๔๗๓.๒๔ ล้านเหรียญฯ (๑๐.๘๔%) เพิ่มขึ้น ๓๕.๑๕% และแผ่นไม้/ไฟเบอร์ (HS ๔๔๑๑) มูลค่า ๔๕๐.๐๘ ล้านเหรียญฯ (๑๐.๓๑%) เพิ่มขึ้น ๑๑.๑๐% สินค้าอื่นๆ ที่แคนาดานำเข้าได้แก่ บัวเชิงผนัง พื้นไม้ลามิเน็ต หินปูพื้น โครงอลูมิเนียม ตามลำดับ

ในช่วง มค-กค ๕๔ สินค้านำเข้าเป็นหลัก ได้แก่ อุปกรณ์ติดตั้งฟิตติ้งที่ทำด้วยโลหะ (HS ๘๓๐๒) มูลค่า ๖๔๒.๗๘% มีสัดส่วน ๒๔.๗๗% ลดลง -๑.๒๔% โครงเหล็กอาคาร มูลค่า ๓๘๔.๑๖ ล้านเหรียญฯ สัดส่วน ๑๔.๘๑% เพิ่มขึ้น ๕๔.๐๔% ไม้แปรรูป (ความหนา > ๖ มม.) มูลค่า ๒๖๗.๓๓ ล้านเหรียญฯ สัดส่วน ๑๐.๓๐% ลดลง -๖.๖๗% และแผ่นไม้/ไฟเบอร์ (HS๔๔๑๑) มูลค่า ๒๑๔.๒๘ ล้านเหรียญฯ สัดส่วน ๑๐.๓๑% ลดลง -๑๖.๓๘%

สินค้าที่แคนาดานำเข้าจากไทย ระหว่าง มค-กค ๕๔ ได้แก่ อุปกรณ์ติดตั้งฟิตติ้งที่ทำด้วยโลหะ (HS ๘๓๐๒) มูลค่า ๖.๗๓ ล้านเหรียญฯ มีสัดส่วน ๕๖.๔๓% ลดลง -๑๑.๗๗% โครงกรอบไม้ (HS๔๔๑๔) มูลค่า ๐.๘๖ ล้านเหรียญฯ สัดส่วน ๑๒.๗๗% ลดลง -๔๖.๒๕% บัวเชิงผนัง มูลค่า ๐.๖๑ ล้านเหรียญฯ ลดลง -๑๐.๑๖% ไม้อัดพลายวูด/วีเนียร์ (HS๔๔๑๒) มูลค่า ๐.๕๙ ล้านเหรียญฯ สัดส่วน ๘.๘๗% ลดลง -๓๓.๙๙% ตามลำดับ

๒. ช่องทางการจัดจำหน่ายในแคนาดา

รูปแบบช่องทางการจัดหน่ายสินค้าอุปกรณ์ก่อสร้างในแคนาดาในปัจจุบันสามารถจัดแบ่งเป็น ๓ ช่องทางหลักๆ ได้ดังนี้

๒.๑ ร้านค้าปลีกเฉพาะ (Specialty Retail Store) เป็นลักษณะการนำเข้าโดยผ่านผู้นำเข้าและจำหน่ายไปยังร้านค้าปลีกในแคนาดาอีกทอด ร้านค้าปลีกที่ใช้ช่องทางการจัดจำหน่ายดังกล่าวส่วนใหญ่จะเป็นร้านที่จำหน่ายสินค้าเฉพาะ ที่อาจมีการให้บริการลูกค้าในการติดตั้งด้วย อาทิ ร้านจำหน่าย ไม้ปูพื้น พรม ผ้าม่าน ร้านจำหน่ายอุปกรณ์ และเฟอร์นิเจอร์ห้องครัว/ห้องน้ำ โดยร้านเหล่านี้จะจำหน่ายสินค้า ที่รวมถึงการบริการติดตั้งให้คำปรึกษา

ซึ่งร้านประเภทดังกล่าวจะมีความหลากหลายของสินค้าน้อยโดยเน้นความเชี่ยวชาญของสินค้าของแต่ละร้าน อาทิ ร้านผ้าม่าน จะมี สี รุ่น ลวดลายของสินค้ามากกว่าร้านประเภทอื่นๆ ร้านค้าลักษณะดังกล่าวในแคนาดาได้แก่ Blind to Go, Alexander Carpet, Home Hardware, The Floor Shop

๒.๒ ห้างสรรพสินค้าที่มีเครือข่าย (Home Improvement Chain Store) การจำหน่ายสินค้าผ่านห้างที่มีเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ โดยจะจำหน่ายอุปกรณ์ก่อสร้าง ซ่อมแซมปรับปรุงบ้าน (เหมือนกับร้าน Homepro ที่ไทย) ซึ่งร้านเหล่านี้จะมีขนาดใหญ่ และมีหลากหลายสินค้ามาก โดยมีกลุ่มลูกค้าที่เป็นทั้ง ผู้บริโภคทั่วไป มือสมัครเล่นที่นิยมสินค้า DIY (Do it Yourself) และ ผู้รับเหมาก่อสร้าง ทั้งนี้ร้านประเภทดังกล่าวได้ประสบความสำเร็จและเป็นที่นิยมในแคนาดา เนื่องจากเป็น One Stop Shopping รวมทั้งมีการตั้งราคาสินค้าที่ต่ำ โดยห้างลักษณะดังกล่าวในแคนาดาได้แก่ Home Depot, Rona, Lowe, Canadian Tire

ทั้งนี้ รูปแบบการซื้อขายสินค้าผ่านสื่ออินเตอร์เน็ตยังไม่ค่อยเป็นที่นิยมเนื่องจาก ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะนิยมไปเยี่ยมชม จับต้องสินค้า เลือกสินค้าด้วยตนเองก่อนการตัดสินใจซื้อ อีกทั้งสินค้าอุปกรณ์ก่อสร้างเป็นสินค้าที่มีขนาดใหญ่ มีน้ำหนักมากทำให้เป็นอุปสรรคในการขนส่งทางไปรษณีย์ ซึ่งผู้ค้าส่วนใหญ่จะเป็นผู้จัดส่งสินค้าด้วนตนเอง

๓. แนวโน้มสินค้าอุปกรณ์ก่อสร้าง

๓.๑ สินค้า DIY (Do it Yourself) เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมาทำให้ชาวแคนาดาค่อน ข้างระวังการใช้จ่ายเงิน รวมถึงลดการว่าจ้างช่างมืออาชีพมาซ่อมแซมตกแต่งบ้าน เนื่องค่าจ้างมีราคาสูง โดยชาวแคนาดาจะหันมานิยมซ่อมแซมปรับปรุงบ้านเอง จึงนิยมสินค้า DIY (Do it Yourself) ที่ง่ายต่อการใช้ อาทิ การเปลี่ยนกรอบหน้าต่างประตู โดยสินค้ากรอบประตูจะมีคู่มือการใช้อย่างละเอียด สำหรับช่างมือสมัครเล่น หรือคนทั่วไปสามารถทำเองได้ ทั้งนี้สินค้าดังกล่าวจัดว่าเป็นสินค้า Value Added ที่มีราคาจำหน่ายสูงกว่าสินค้าทั่วไป ที่จำหน่ายให้กับ ผู้รับเหมาก่อสร้าง Contractor ทั่วไป

๓.๒ สินค้า CSR และ Green (Environmental Friendly) ชาวแคนาดาส่วนใหญ ทุกวันนี้ได้ให้ความสำคัญของ แหล่งที่มา แหล่งผลิตสินค้า รวมถึงวัสดุ วิธีการขั้นตอนการผลิตสินค้าที่จะต้องคำนึงถึงการรับผิดชอบต่อสังคมและการเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ซึ่งกระแสแนวโน้มดังกล่าวจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิธีคิด วิถีชีวิตการจับจ่ายสินค้าของชาวแคนาดาในอนาคต ผู้ผลิตไทยควรให้ความสำคัญต่อปัจจัยดังกล่าวและควรมีการโฆษณาให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภค ถึงการมีส่วนรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม อาทิ Low Carbon Emission, โลโก้ Carbon Footprint รวมถึง ISO ๑๔๐๐๐ (ที่เน้นถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม)

๓.๓ สินค้าประหยัดพลังงาน ทุกวันนี้ ค่าครองชีพที่รวมถึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ก๊าซ ไฟฟ้า น้ำประปา ได้มีการปรับสูงขึ้นทำให้ชาวแคนาดาหันมาใช้สินค้าประหยัดพลังงานมากขึ้น อาทิการอัปเกรด เครื่องปรับอากาศ เครื่องต้มน้ำร้อน (Boiler - แคนาดาทุกบ้านจะมีระบบน้ำร้อนน้ำเย็น) การใช้ผนังปูพื้นที่เป็นฉนวนกันความร้อน/เย็น เพื่อประหยัดพลังงานไฟฟ้า รวมถึงการติดตั้งแผง Solar Cell ที่ลดการใช้พลังงานไฟฟ้า ซึ่งสินค้าเหล่านี้จะมีแนวโน้มที่ผู้บริโภคให้ความสนใจในอนาคต

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นคร โตรอนโต

ที่มา: http://www.depthai.go.th


แท็ก ข้อมูล  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ