รายงานสถานการณ์การส่งออกสินค้าไทยไปอิตาลีประจำเดือนสิงหาคม ๒๕๕๔

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 10, 2011 15:04 —กรมส่งเสริมการส่งออก

๑. สถานการณ์ส่งออก

ในช่วง ๘ เดือนแรก (มกราคม-สิงหาคม) ของปี ๒๕๕๔ ไทยส่งออกสินค้ามายังอิตาลีทั้งสิ้น ๑,๓๒๙.๗ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งส่งออกมูลค่า ๑,๑๐๙.๗ ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ ๑๙.๘๒ โดยมีสินค้าส่งออก ๕ อันดับแรก ได้แก่ ยางพารา ๑๓๑.๒ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ๗๙.๖๒%) อัญมณีและเครื่องประดับ ๑๒๕.๗ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (๐.๓๔%) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ๑๑๗.๕ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (๓.๘๘%) ปลาหมึกสดแช่เย็นแช่แข็ง ๘๔.๓ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (๔๐.๖๐%) และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ๖๐.๙ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-๒๔.๒๕%)

๒. การวิเคราะห์สถานการณ์โดยรวม

การส่งออกมาอิตาลีในช่วง ๘ เดือนแรก (มกราคม-สิงหาคม) ของปี ๒๕๕๔ เพิ่มขึ้นร้อยละ๑๙.๘๒% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หากเปรียบเทียบเฉพาะเดือนสิงหาคม ๒๕๕๔ ซึ่งส่งออกมูลค่า ๑๑๕.๗๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ กับเดือนก่อนหน้าซึ่งส่งออกมูลค่า ๑๑๕.๘๓ ล้านเหรียญสหรัฐฯ การส่งออกคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง วิเคราะห์ได้ดังนี้

๒.๑ ภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศค่อนข้างทรงตัว อันเนื่องมาจากความไม่แน่ใจต่อสถานะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศของผู้บริโภคและผู้ประกอบการอิตาลี ซึ่งเป็นผลจากปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป รวมทั้งการออกมาตรการรัดเข็มขัดด้านงบประมาณของรัฐบาลมูลค่า ๕๔ พันล้านยูโรเพื่อลดการขาดดุลงบประมาณให้ได้สมดุลย์ภายในปี ๒๕๕๖ โดยการตัดลดค่าใช้จ่ายและการเพิ่มภาษี (VAT เพิ่มขึ้นจาก ๒๐% เป็น ๒๑% และเก็บภาษีรายได้ที่สูงกว่า ๓๐๐,๐๐๐ ยูโรต่อปีอีก ๓%) และการติดตามการหลบเลี่ยงภาษี

๒.๒ ผลการวิจัยของสมาพันธ์ผู้ค้าปลีกแห่งอิตาลี (CONFCOMMERCIO) ปรากฎว่าการบริโภคของอิตาลีลดลงไปอยู่ในระดับ ๑๑ เมื่อเทียบกับปีก่อน และคาดว่าภายในสิ้นปี ๒๕๕๔ การบริโภคจะลดลงต่ำกว่าการบริโภคของปี ๒๕๔๓ โดยลดลงถึง ๑๗ แคว้น ใน ๒๐ แคว้น โดยเฉพาะในแถบทางตอนใต้ของประเทศ

๒.๓ ISTAT ได้รายงานว่าคำสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรมในช่วงมกราคม-กรกฎาคม ๒๕๕๔ เพิ่มขึ้น +๑๒.๑% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (จากต่างประเทศ +๑๖.๑% และภายในประเทศ +๙.๘%) โดยสินค้าที่ยังคงมีแนวโน้มที่ดีได้แก่ เหล็ก เครื่องจักรและเคมีภัณฑ์

ส่วนสินค้าที่มีแนวโน้มลดลง ได้แก่ คอมพิวเตอร์และอิเลคทรอนิคส์ ไม้และกระดาษ อย่างไรก็ดี ยอดขายปลีกในช่วงมกราคม-กรกฎาคม ๒๕๕๔ กลับลดลง -๐.๗% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (สินค้าที่มิใช่อาหาร -๑% และสินค้าอาหาร -๐.๒%) สินค้าที่มียอดขายปลีกลดลง ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เฟอร์นิเจอร์ และสิ่งทอ ส่วนสินค้าที่มียอดขายปลีกเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุปกรณ์ใช้ในห้องน้ำ/ห้องน้ำ และเครื่องสำอางค์

๒.๔ ต้นทุนวัตถุดิบและภาวะเงินเฟ้อยังคงเพิ่มสูงขึ้น โดย ISTAT ได้รายงานว่า ในเดือนสิงหาคม ๒๕๕๔ อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น +๒.๘% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนและ+๐.๓% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และคาดว่าทั้งปี ๒๕๕๔ อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น +๒.๖% โดยเพิ่มสูงขึ้นในด้านการคมนาคมขนส่ง (ราคาน้ำมัน) และเครื่องดื่ม

ในด้านต้นทุนวัตถุดิบ บริษัทวิจัย Prometeia ได้เปิดเผยว่าในเดือนสิงหาคม ๒๕๕๔ ต้นทุนวัตถุดิบในอิตาลีเพิ่มขึ้น +๑๓% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะในสินค้าแฟชั่น และวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องจักร

๒.๕ ISTAT ได้ยืนยันการคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของอิตาลีว่าในช่วงไตรมาสที่ ๒ (เมษายน -มิถุนายน ๒๕๕๔) อิตาลีมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพียง ๐.๓% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น ๐.๘% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนและคาดว่าทั้งปี ๒๕๕๔ จะมีอัตราการเจริญเติบโตเพียง ๐.๗%

นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปยังได้คาดการณ์ว่าในช่วงไตรมาสที่ ๓ และไตรมาสที่ ๔ ของปี ๒๕๕๔ อิตาลีจะมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็น ๐ และทั้งปี ๒๕๕๔ จะมีอัตราการขยายตัวลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ที่ ๑.๑% เป็น ๐.๗% เช่นกัน

๒.๖ ข้อมูลจาก ISTAT ปรากฎว่า ในช่วง ๗ เดือน (มกราคม-กรกฎาคม) ของปี ๒๕๕๔ อิตาลีมีการส่งออกและนำเข้าจากทั่วโลกเพิ่มขึ้น โดยแยกเป็นการส่งออกเพิ่มขึ้น +๑๔% และการนำเข้าเพิ่มขึ้น +๑๖.๔% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าขั้นกลาง และสินค้าบริโภคที่ไม่คงทน

๒.๗ สำนักวิจัย GFK-EURISKO ได้รายงานว่าความผันผวนด้านการเงินและความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันส่งผลให้ทัศนคติของคนอิตาลีเปลี่ยนไปจากการที่คาดว่าเศรษฐกิจอิตาลีในปี ๒๕๕๕ และปี ๒๕๕๖ จะฟื้นตัวดีขึ้น กลับเห็นว่าวิกฤตเศรษฐกิจจะเป็นปัญหาเรื้อรังและจะคงอยู่ต่อไป ซึ่งทำให้คนอิตาลีจะปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตโดยหันมาบริโภคในสิ่งที่จำเป็นพื้นฐาน และลดการบริโภคสินค้าที่ไม่จำเป็น เช่น รถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า และการเที่ยวในช่วงวันหยุดยาวลง และเพิ่มการออมมากขึ้น

การส่งออก ประเทศที่อิตาลีส่งออกสินค้าไป ๕ อันดับแรก ได้แก่ เยอรมนี(สัดส่วน ๑๓%) ฝรั่งเศส (สัดส่วน ๑๒%) สหรัฐอเมริกา(สัดส่วน ๑๖%) สเปน(สัดส่วน ๕%) และสวิสเซอร์แลนด์(สัดส่วน ๕%) โดยอิตาลีส่งออกไปไทยเป็นอันดับที่ ๕๑ (สัดส่วน ๐.๓๑%) และมีประเทศคู่แข่งสำคัญ ได้แก่ จีน(อันดับที่ ๗) สเปน(อันดับที่ ๑๘) ฮ่องกง(อันดับที่ ๒๑) อินเดีย(อันดับที่ ๒๖) เกาหลีใต้(อันดับที่ ๓๑) และสิงคโปร์(อันดับที่ ๓๙)

สินค้าส่งออกของอิตาลีที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องจักร ยานพาหนะ เครื่องจักรไฟฟ้า พลาสติก เหล็กและเหล็กกล้า ผลิตภัณฑ์ยา

การนำเข้า ประเทศที่อิตาลีนำเข้าสำคัญ ๕ อันดับแรก ได้แก่เยอรมนี (สัดส่วน ๑๕%) ฝรั่งเศส (๘%) จีน (๗%) เนเธอแลนด์ (๕%) และสเปน (๔%) โดยอิตาลีนำเข้าจากไทยเป็นอันดับที่ ๔๗ (สัดส่วน ๐.๓๗%) และมีประเทศคู่แข่งสำคัญได้แก่ อินเดีย (อันดับที่ ๒๐ สัดส่วน ๑.๒%) ญี่ปุ่น (อันดับที่ ๒๒ สัดส่วน ๑.๑๑%) เกาหลีใต้ (อันดับที่ ๒๔ สัดส่วน ๐.๙๔%) อินโดนีเซีย (อันดับที่ ๓๓ สัดส่วน ๐.๖%) ไต้หวัน (อันดับที่ ๓๘ สัดส่วน ๐.๕๔%) โดยไทยเป็นอันดับที่ ๔๔ มูลค่า ๗๑๘ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๐.๓๗%

สินค้าที่อิตาลีนำเข้าสำคัญ ได้แก่ แร่และน้ำมันเชื้อเพลิง เครื่องจักรไฟฟ้า ยานพาหนะ เครื่องจักร เหล็ก พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยา เคมีภัณฑ์ออแกนิค อัญมณี

๓. ทั้งนี้ วิเคราะห์แยกรายสินค้าที่มีการส่งออกลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ได้ดังนี้

๓.๑ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ

การส่งออกในช่วง ๘ เดือนแรก (มกราคม-สิงหาคม) ของปี ๒๕๕๔ มีมูลค่า ๖๐.๙ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งส่งออกมูลค่า ๘๐.๕ ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ -๒๔.๒๕ แต่หากพิจารณาเฉพาะเดือนสิงหาคม ๒๕๕๔ ไทยส่งออกเพิ่มขึ้น ๗๓.๔% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า เนื่องจาก

๑. ตลาดรถยนต์ในอิตาลียังคงซบเซา เนื่องจากเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจค่อนข้างมาก โดยสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอิตาลี (ANFIA) ได้รายงานในช่วง ๘ เดือน (มกราคม สิงหาคม) ของปี ๒๕๕๔ มียอดรถยนต์จดทะเบียน ๑,๒๒๒,๔๓๑ คัน ลดลง ๑๒% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และอยู่ในระดับเดียวกับช่วงระหว่างปี ๒๕๓๖-๒๕๓๗ สินค้าหลักๆที่มีการจดทะเบียนลดลงได้แก่ รถยนต์นั่งส่วนบุคคลซึ่งมีสัดส่วน ๖๖% ของตลาด (-๒๐.๑๔%) รถยนต์ที่ใช้ก๊าซและมอเตอร์ ที่มีสัดส่วนตลาด ๕% (เป็นกลุ่มที่ได้รับมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาลปี ๒๕๕๓) ลดลง -๗๐%

๒. ผลการสำรวจของ Italia Bilanci ซึ่งร่วมกับสมาพันธ์ผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ (FEDERAUTO) ปรากฎว่าผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ ๓ ใน ๔ รายที่มีผลประกอบการขาดทุนหลังจากการเสียภาษีแล้ว โดยผู้แทนจำหน่ายที่มีจุดจำหน่ายสินค้าหลายจุดจะมีผลประกอบการค่อนข้างแย่กว่าเนื่องจากมีต้นทุนคงที่มากกว่า นอกจากนี้ผู้แทนจำหน่ายส่วนใหญ่แจ้งว่าจำนวนลูกค้าที่เดินเข้าร้านเพื่อเลือกซื้อรถยนต์และคำสั่งซื้อลดลง

๓. ประธานสมาพันธ์อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอิตาลี (ANFIA) แจ้งว่า การที่สภาวะตลาดรถยนต์ไม่กระเตื้องขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของระบบขนส่งที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในปัจจุบัน โดยคนอิตาลีจะใช้รถยนต์หากเป็นการเดินทางระยะสั้นๆ ไม่เกิน ๑๕๐ กิโลเมตร แต่หากระยะทางไม่เกิน ๑,๐๐๐ กิโลเมตรก็จะใช้รถไฟ และหากเกิน ๑,๐๐๐ กิโลเมตรขึ้นไปก็จะใช้เครื่องบินเป็นต้น นอกจากนี้ ผลจากการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะช่วยให้คนไม่ต้องเดินทางไปทำงานแต่จะทำงานผ่านระบบอินเตอร์เน็ต, คอมพิวเตอร์ และวีดีโอคอนเฟอเรนซ์แทนทำให้ลดการใช้รถยนต์ลง ทั้งนี้ข้อมูลล่าสุด ณ เดือนมิถุนายน ๒๕๕๔ อิตาลีมีการผลิตรถยนต์จำนวน ๒๙๕,๔๑๓ คัน ลดลง -๗.๓% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

๔. ราคาน้ำมันยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะน้ำมันเบนซิน (๑.๑% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าและ ๑๖% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนทำให้คนอิตาลีหันไปใช้ระบบขนส่งมวลชนหรือการใช้รถร่วมมากขึ้น

๕. ผู้บริโภคนิยมซื้อรถมือสองซึ่งมีราคาถูกกว่า และจะซื้อรถใหม่ในกรณีที่จำเป็นโดยในช่วง ๘ เดือน (มกราคม-สิงหาคม) ของปี ๒๕๕๔ มียอดรถมือสองจดทะเบียนเพิ่มขึ้น +๔.๒% หรือมีจำนวน ๓,๐๔๑,๘๒๓ ล้านคัน

๖. ตลาดรถยนต์ในอิตาลีแบ่งเป็นรถยนต์ดีเซล (สัดส่วน ๕๕.๖%) ซึ่งมีการขยายตัวที่ดี คือ +๑๐.๗๘% ตามด้วยรถยนต์เบนซิน (สัดส่วน ๓๙%) ซึ่งตลาดหดตัวเล็กน้อย ในขณะที่รถยนต์แบรนด์ต่างประเทศ (ครองตลาด ๒๙.๕%) หดตัวลง -๑๖.๒%

ทั้งนี้ปรากฎว่ารถยนต์แบรนด์ KIA RIO จากสาธารณรัฐเกาหลีใต้เปิดตัวเข้าสู่ตลาดอิตาลีและได้รับความสนใจอย่างมากในตลาด เนื่องจากมีราคาถูก (ต่ำกว่า ๑๐,๐๐๐ ยูโร) และเป็นรถขนาดกลาง และมีอุปกรณ์และระบบควบคุมที่มีประสิทธิภาพ

๗. สถิติข้อมูลการนำเข้าจาก WTA ล่าสุดในช่วง ๖ เดือน (มกราคม-มิถุนาย) ของปี ๒๕๕๔ เฉพาะรถยนต์นั่งส่วนบุคคล (พิกัด ๘๗๐๓) อิตาลีนำเข้าจากทั่วโลกเพิ่มขึ้นเล็กน้อยคือ +๒.๘๕% โดยนำเข้าจากประเทศ ๕ อันดับแรกคือ เยอรมนี (สัดส่วน ๓๘.๓๙%) สเปน (สัดส่วน ๑๐.๖๐%) ฝรั่งเศส (๑๐.๒%) โปแลนด์ (๙.๖%) และ สหราชอาณาจักร (๙.๖%) โดยไทยอยู่ในอันดับที่ ๒๓ (สัดส่วน ๐.๐๖%)

ส่วนคู่แข่งสำคัยอื่นๆ ได้แก่ ญี่ปุ่น (อันดับที่ ๗ สัดส่วน ๓.๓๖%) เกาหลีใต้ (อันดับที่ ๑๑ สัดส่วน ๒.๑๘%) อินเดีย (อันดับที่ ๑๔ สัดส่วน ๑.๑๙%) และจีน (อันดับที่ ๑๙ สัดส่วน ๐.๓๐%)

ทั้งนี้สินค้าหลักที่นำเข้าจากไทยเป็นรถยนต์ดีเซลขนาดมากกว่า ๒๕๐๐ ซีซี ส่วนรถนำเข้าจากจีนและอินเดียเป็นรถยนต์เบนซินขนาดต่ำกว่า ๑,๕๐๐ ซีซี และรถที่นำเข้าจากเกาหลีใต้เป็นรถยนต์ดีเซลขนาดต่ำกว่า ๒,๕๐๐ ซีซี

๓.๒ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล

การส่งออกในช่วง ๘ เดือนแรก (มกราคม-สิงหาคม) ของปี ๒๕๕๔ มีมูลค่า ๑๘.๖ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งส่งออกมูลค่า ๒๑.๔ ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ -๑๓.๒๕ เนื่องจาก

๑. ผู้ประกอบการชะลอการลงทุนซื้อเครื่องจักรใหม่ และการขยายฐานผลิตลงเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจในอิตาลีเองและสหภาพยุโรป รวมทั้งปัญหาวิกฤตการเงินของสหรัฐฯ ประกอบกับมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินที่รัฐบาลให้แก่ผู้ซื้อเครื่องจักรใหม่ที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมและการเกษตรได้หมดอายุลงเมื่อปลายปี ๒๕๕๓

๒.อุตสาหกรรมเครื่องจักรของอิตาลีได้รับผลกระทบอย่างมากจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนด้านพลังงาน (ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนระหว่าง ๑๕%-๔๐% ของค่าใช้จ่ายในการผลิตทั้งหมด) ซึ่งส่งผลให้กำไรของผู้ประกอบการลดลง

๓. สมาพันธ์อุตสาหกรรมเครื่องจักรแห่งอิตาลี (ANIMA-Italian Federation of Machinery Industries) ได้รายงานว่า ความต้องการในต่างประเทศยังคงมีแนวโน้มที่ดีในขณะที่ความต้องการภายในประเทศคงที่ และในภาพรวมของอุตสาหกรรมในช่วงครึ่งแรกของปีค่อนข้างทรงตัวทั้งในด้านการลงทุน เงินหมุนเวียนในทางการค้า และการจ้างงาน

๔. ผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนในตลาดเนื่องจากคาดว่าจะสามารถรักษาระดับการจ้างงานไว้ได้ภายใน ๒ เดือนข้างหน้าเท่านั้น นอกจากนี้ การอ่อนตัวของค่าเงินดอลล่าห์สหรัฐฯทำให้ความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการอิตาลีลดลงโดยเฉพาะในด้านการส่งออกซึ่งมีสัดส่วนถึง ๕๒% ของเงินหมุนเวียนทั้งหมดในอุตสาหกรรมเครื่องจักร

๕. อย่างไรก็ดี การผลิตเครื่องจักรของอิตาลีมีแนวโน้มที่ดี โดย ISTAT ได้รายงานว่าในช่วง ๗ เดือน (มกราคม-กรกฎาคม) ของปี ๒๕๕๔ การผลิตเครื่องจักรในอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น +๑๑.๖% และคำสั่งซื้อในเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๔ เพิ่มขึ้น ๗%

๖. ข้อมูลจากสมาคม ASSOCOMAPLAST รายงานว่าในช่วงครึ่งแรกของปี ๒๕๕๔ สินค้าที่มีแนวโน้มที่ดีในตลาดได้แก่ เครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตสินค้าพลาสติกและบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติก เนื่องจากมีการส่งออกที่เพิ่มขึ้น +๒๑% ในขณะที่สินค้าที่มีแนวโน้มลดลงได้แก่ เครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตสิ่งทอ โดยมีคำสั่งซื้อลดลง -๒๐%

ทั้งนี้ แนวโน้มเครื่องจักรที่ยังคงมีศักยภาพในตลาด ได้แก่ เครื่องจักรที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องจักรที่ใช้ในการขนถ่าย (กว่าร้อยละ ๓๐ เป็นเครื่องจักรที่ใช้ในด้านพลังงาน เช่น หัวสูบแก๊ซและปั้ม, เครื่องทำความร้อนและอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ)

๗. จากข้อมูลการนำเข้าสินค้าเครื่องจักร พิกัด (๘๔) ในช่วง ๘ เดือนแรก (มกราคม-สิงหาคม) ของปี ๒๕๕๔ โดย EUROSTAT ไทยครองตลาดอันดับที่ ๒๑ โดยมีประเทศที่อิตาลีนำเข้าสำคัญ ๕ อันดับแรก ได้แก่ เยอรมนี (สัดส่วน ๒๔.๑๑%) จีน (๑๓.๓๐%) เนเธอแลนด์ (๘.๕๖%) ฝรั่งเศส (สัดส่๘.๑๗%) และสหรัฐอเมริกา (๔.๕๗%)

ในส่วนของการนำเข้าจากไทย สินค้าหลักที่นำเข้า ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน (๗๑%ของการนำเข้าทั้งหมดจากไทย) ประเทศคู่แข่งสำคัญ ได้แก่ จีน (สัดส่วนการนำเข้า ๑๓.๓๐%) ญี่ปุ่น (๔.๒๐%) ไต้หวัน (๑.๐๒%) เกาหลีใต้ ( ๐.๗๙%) อินเดีย (๐.๗๘%)

สินค้าหลักที่นำเข้าจากจีน ได้แก่ คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็นและอุปกรณ์ สินค้าหลักที่นำเข้าจากอินเดีย ได้แก่ เกียร์รถยนต์และชิ้นส่วน สินค้าหลักที่นำเข้าจากไต้หวัน ได้แก่ คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน เกียร์รถยนต์และชิ้นส่วน และสินค้าหลักที่นำเข้าจากเกาหลีใต้ ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน

๓.๓ สิ่งทอ

การส่งออกในช่วง ๘ เดือนแรก (มกราคม-สิงหาคม) ของปี ๒๕๕๔ มีมูลค่า ๒๑.๔ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งส่งออกมูลค่า ๒๔.๘ ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ -๑๓.๗๗ เนื่องจาก

๑. เป็นสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ เป็นต้นมา โดยเฉพาะเสื้อผ้าและสิ่งทอซึ่งได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากผู้บริโภคจะชะลอการซื้อลงและซื้อเท่าที่จำเป็น โดย ISTAT ได้รายงานข้อมูลล่าสุดในช่วง ๗ เดือน (มกราคม-กรกฎาคม) ของปี ๒๕๕๔ ว่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนการบริโภคสินค้าเสื้อผ้าและสิ่งทอลดลง -๐.๗%

๒. ผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลสูงต่อต้นทุนวัตถุดิบ (โดยเฉพาะฝ้ายและใยสังเคราะห์) ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยข้อมูลจากบริษัทวิจัย Prometeia รายงานว่าราคาวัตถุดิบสิ่งทอในเดือนสิงหาคม ๒๕๕๔ เพิ่มขึ้นถึง +๓๔% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

๓. ผลการศึกษาของ the Fashion Economic Trend ได้รายงานว่าในปี ๒๕๕๔ กลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่น (สิ่งทอ, เสื้อผ้า, เครื่องหนัง, รองเท้า) จะมีอัตราการขยายตัวเพียง +๔% เมื่อเทียบกับปีก่อน (ต่ำกว่าประมาณการในช่วงต้นปี ๒๕๕๔ ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ +๘% )

๔. อย่างไรก็ดี ผลการศึกษาของ Sistema Moda Italia (SMI) ได้รายงานว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี ๒๕๕๔ อุตสาหกรรมสิ่งทอของอิตาลีมีเงินหมุนเวียนเพิ่มขึ้น +๓.๒% ในขณะที่ในช่วงครึ่งหลังของปีกลับมีแนวโน้มลดลง

๕. ข้อมูลการนำเข้าผ้าผืน (พิกัด ๕๒๐๘) ล่าสุดของ EUROSTAT ในช่วง ๖ เดือน (มกราคมมิถุนายน) ของปี ๒๕๕๔ อิตาลีนำเข้าจากทั่วโลกเพิ่มขึ้น ๕๒.๗๙% โดยมีประเทศที่อิตาลีนำเข้า ๕ อันดับแรก ได้แก่ จีน (สัดส่วน ๓๔.๗๑%) ปากีสถาน (สัดส่วน ๑๔.๓๓%) อินเดีย (สัดส่วน ๗.๙๖%) เช็ครีพับลิก (๕.๕๑%) และตุรกี (๕.๕๐%) โดยอิตาลีนำเข้าจากไทยเป็นอันดับที่ ๑๒ (สัดส่วน ๑.๔๙%) ซึ่งสินค้าหลักเป็นผ้าผืนที่ทำจากฝ้าย

ประเทศคู่แข่งสำคัญอื่นๆ ได้แก่ อินโดนีเซีย (สัดส่วน ๐.๙๖%) ตูนีเซีย (๒.๓๑%) ฮังการี( ๑.๐๑%)

๔.ข้อคิดเห็น

๑. คณะกรรมาธิการยุโรปคาดว่าเศรษฐกิจอิตาลีไตรมาสสุดท้ายของปี ๒๕๕๔ จะมีอัตราขยายตัวเป็น ๐ ซึ่งเป็นผลจากมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาล เพื่อลดการขาดดุลงบประมาณให้ได้สมดุลย์ในปี ๒๕๕๖ ผ่านมาตรการต่างๆ ได้แก่ การตัดลดงบประมาณของกระทรวงและท้องถิ่นต่างๆ การลดจำนวนหน่วยงานลง การแปรรูปวิสาหกิจ การปฏิรูประบบการจ่ายบำนาญ และโดยเฉพาะมาตรการด้านภาษีที่จะต้องเก็บภาษีสูงขึ้นจากเดิม เช่น การเพิ่ม VAT จาก ๒๐% เป็น ๒๑% การเก็บภาษีรายได้ที่เกินกว่า ๓๐๐,๐๐๐ ยูโร/ปี อีก ๓%

๒. ผลจากมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาลประกอบกับปัญหาเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยเฉพาะการที่กรีซไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด และวิกฤตหนี้สาธารณะของอิตาลีที่คาดหมายกันว่าอิตาลีอาจไม่สามารถชำระหนี้คืนได้เช่นเดียวกับกรีซจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเชื่อมั่น การบริโภคของประชาชน และมีผลทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศค่อนข้างอ่อนแอโดยในไตรมาส ๓ ของปี ๒๕๕๔ อิตาลีมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) เพียง +๐.๓% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี และ +๐.๘% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยรัฐบาลอิตาลีได้คาดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปี ๒๕๕๔ จะเท่ากับ ๑.๑% ในขณะที่คณะกรรมาธิการยุโรปคาดว่าจะเท่ากับ +๐.๗%

๓. คาดว่าการส่งออกของไทยมายังอิตาลีในช่วง ๔ เดือนหลังของปี ๒๕๕๔ จะชะลอตัวลง อย่างไรก็ดี คาดว่าการส่งออกของไทยมายังอิตาลีในปี ๒๕๕๔ จะเป็นไปตามเป้าหมาย คือ ๑,๗๕๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้น ๑๑%

สินค้าที่คาดว่ายังมีแนวโน้มที่ดีได้แก่ ยางพารา, ปลาหมึกสดแช่เย็นแช่แข็ง, ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์, เม็ดพลาสติก, เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์, ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และอาหารสัตว์เลี้ยง

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโรม

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ