ติวเข้มผู้ประกอบการกว่าพันราย ตื่นตัวรับการเปิดเสรี เออีซี คับคั่ง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 11, 2011 15:27 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ติวเข้มผู้ประกอบการกว่าพันราย ตื่นตัวรับการเปิดเสรี เออีซี คับคั่ง ทูตพาณิชย์ แอฟริกาแนะปรับยุทธศาสตร์การค้าข้าว - ลงทุน หนุนธุรกิจขนาดใหญ่เป็นทัพหน้าลงทุน แปรรูปเกษตร - อาหาร - ผลิตกระแสไฟฟ้า - ก่อสร้าง

นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รมช.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการการเปิดสัมมนา “เอ็กซปอร์ต คลีนิก ครั้งที่2” จัดโดยกรมส่งเสริมการส่งออก ว่า มีผู้ประกอบการเข้าร่วมงานกว่า 1,100 ราย เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้เพียง 800 ราย ส่วนใหญ่ให้ความสนใจตลาดอาเซียนเกือบ 300 รายรองลงมาเป็นตลาดสหภาพยุโรป(อียู) รัสเซียและซีไอเอส จีนฮ่องกง ไต้หวัน ตะวันออกกลาง เอเซียตะวันออกและออสเตรเลีย เอเชียใต้ แอฟริกา ตามลำดับ โดยเฉพาะมีการตื่นตัวการทำตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี)เป็นอย่างมาก

“ฟังการวิเคราะห์เศรษฐกิจจากทูตพาณิชย์ เพื่อให้ได้รับข้อมูลตรงแบบเจาะลึก ทันต่อเหตุการณ์ สามารถนำมาใช้ในการวางแผนดำเนินธุรกิจ การตลาดและดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมๆ กับผู้ประกอบการไทยควรเร่งพัฒนาและยกระดับเทคโนโลยีในการผลิตสินค้า เพื่อผลักดันให้การส่งออกของไทยเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืนช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เกิดแก่เศรษฐกิจไทยโดยรวมต่อไป และผลักดันให้ปี 2555 ไทยส่งออกได้ไม่น้อยกว่า 15% ตามที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายการส่งออกไว้” นายศิริวัฒน์ กล่าว

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายการส่งออกปีหน้าจะขยายตัวได้ 15% แม้ปีหน้าการส่งออกไทยต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐ และอียู แต่มั่นใจวาจะไม่มีผลกระทบกับการส่งออกของไทยมากนัก ซึ่งความร่วมมือร่วมใจที่เกิดขึ้นจากการเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ จะมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นการส่งออกของไทยให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์ได้วางไว้

นายบูรณ์ อินธิรัตน์ ผู้อำนวยการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงอาบูจา ประเทศไนจีเรีย กล่าวถึงกรณีภูมิภาคนี้จะรณรงค์การผลิตอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการของประเทศให้ได้ภาย ในปี 2558 หรืออีก 4 ปีข้างหน้าว่า ได้ส่งผลให้จีน เวียดนาม มาเลเซียเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมการเกษตร ประมง เกษตรแปรรูป รวมถึงโลจิสติกส์ในมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้จีดีพีเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5-6% ต่อปี

ที่สำคัญภาครัฐของไทยจะต้องวางยุทธศาสตร์ในลงทุนในตลาดนี้ใหม่ โดยเฉพาะสินค้าข้าวที่ไทยมีสัดส่วนส่งออกเข้าทวีปแอฟริกา(53 ประเทศ)มากเป็นอันดับ1 มีสัดส่วนสูงถึง 40% ของปริมาณนำเข้าข้าวทั้งหมดที่เข้าแอฟริกา ไม่เช่นนั้น อาจสูญเสียตลาดนี้ให้กับเวียดนาม และอินเดียได้ เนื่องจากเวียดนามได้เข้าไปปลูกข้าวมีพื้นที่กว่าหมื่นไร่ ในขณะที่อินเดียผูกขาดเป็นคนกลางค้าข้าวกับแอฟริกามาหลายสิบปีแล้ว

“การที่รัฐบาลประกาศเปิดโครงการรับจำนำข้าวในราคาสูง เพื่อต้องการให้เกษตรกรไทยมีรายได้ดีขึ้น จะส่งผลให้ราคาข้าวของไทยตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไปปรับสูงขึ้น เชื่อว่า ผู้นำเข้าเริ่มหันไปมองตลาดเวียดนาม และอินเดีย ที่อนุญาตให้มีการส่งออกข้าวนอน-บาสมาติ ได้ในปีนี้ 1-1.2 ล้านตัน ขณะเดียวกันผู้บริโภคในแอฟริกาก็จะมีการปรับตัว และบางส่วนจะหันไปบริโภคแป้งประเภทอื่นบ้าง เช่น มันสำปะหลัง และมันมือเสือแทน อย่างไรก็ตามกลับมีความต้องการให้ไทยไปช่วยปลูกข้าว ตั้งโรงสีข้าว” นายบูรณ์ กล่าว

ทั้งนี้ ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา ไทยส่งออกข้าวไปทวีปแอฟริกาแล้วปะมาณ 2.5 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,418 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนกว่า 38 % ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเร่งซื้อข้าวจากไทยก่อนราคาจะปรับสูงขึ้น แต่ผู้ส่งออกก็ยังยั้งไว้บ้างเพื่อต้องการขายข้าวในราคาสูงขึ้น แต่ไตรมาส 4 นี้คาดการส่งออกข้าวไปตลาดแอฟริกาก็น่าจะชะลอตัวลงบ้าง

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการส่งออกข้าวของไทยผลประโยชน์ตกอยู่กับคนไทยแค่ 50% และอีก 50% ไปตกอยู่ที่ผู้นำเข้าชาวอินเดียและเลบานอน ที่ทำการค้าขายข้าวกับแอฟริกามานานแล้ว ดังนั้น เพื่อให้ไทยได้รับประโยชน์เต็มทั้ง 100% ผู้ประกอบการคนไทยน่าจะไปลงทุนเป็นผู้นำเข้าข้าวจากไทยเอง ซึ่งประเทศในแอฟริกาเปิดให้ต่างชาติลงทุนได้เต็ม 100%

ส่วนการบุกตลาดแอฟริกามองว่าควรเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่ไปลงทุนขนาด 500-1,000 ล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการเกษตร ซึ่งทางกลุ่มซีพี ได้เข้าไปลงทุนแล้ว นอกจากนี้ยังมีธุรกิจที่น่าลงทุนอื่นๆ เช่น แปรรูปอาหาร ธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้า ขายรถบัสโดยสาร ธุรกิจการก่อสร้าง ถนน บ้านจัดสรร การก่อสร้างโรงพยาบาล และการก่อสร้างโรงแรม ซึ่งเป็นธุรกิจที่คาดว่าหากลงทุนจะสร้างมูลค้าได้มาก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ