กรมส่งเสริมการส่งออกขยายเครือข่ายแต่งตั้งให้พนักงานขายญี่ปุ่นเป็นผู้เชี่ยวชาญอัญมณีไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 12, 2011 14:43 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นชนชาติใด ต่างก็ยอมรับถึงคุณค่าของอัญมณีและเครื่องประดับ และพึงพอใจที่จะมีไว้ครอบครอง และใช้สอย แต่ยามใดที่ผู้บริโภคอยู่ในภาวะที่ต้องประหยัด การซื้อ-ขายอัญมีและเครื่องประดับก็มักจะได้รับผลกระทบไปด้วย สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับยังมีความพิเศษที่แตกต่างจากสินค้าอื่นๆ คือ ผู้ซื้อมักมีความรู้ และข้อมูลเกี่ยวกับตัวสินค้าอย่างจำกัด ดังนั้น การให้ข้อมูลแก่ลูกค้าในเรื่องแหล่งผลิต คุณค่า ความพิเศษของอัญมณี การแนะนำสีและอัญมณีที่เหมาะกับบุคลิก และการ organize เครื่องประดับให้เหมาะกับสีเสื้อผ้าและสไตล์การแต่งตัว จึงสามารถสร้างแรงจูงใจและกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจซื้อรวดเร็วขึ้น

ด้วยเหตุนี้ กรมส่งเสริมการส่งออก โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว และ Thai Gems and Jewelry Traders Association ร่วมมือกับ Japan Jewelry Association และJapan Color Stone Promotion จึงได้ปรับกลยุทธ์การบุกตลาดโดยให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเทคนิกการขายของพนักงาน

หน้าร้านค้าปลีกเครื่องประดับ เพราะตระหนักถึงความสำคัญของบุคลากรเหล่านี้ในฐานะที่เป็นด่านแรกที่ให้ข้อมูลกับผู้ซื้อ ดังนั้น หากมีความรู้ในสินค้าเพิ่มขึ้นก็จะมีเทคนิกการขายที่ดีขึ้น โอกาสที่จะจูงใจให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อก็สูงขึ้นด้วย โครงการพัฒนาความรู้และเทคนิกการขายจึงริเริ่มขึ้น โดยเน้นเป้าหมายกลุ่มผู้ประกอบการในธุรกิจค้าปลีกพนักงานขายรับฟังคำบรรยาย

          เครื่องประดับ ผู้จัดการห้างร้าน และพนักงานขายอัญมณีและเครื่องประดับ   เน้นตลาดในเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจของทุกภูมิภาค จับเข้าหลักสูตรติวเข้มเรื่องเทคนิกการขาย โดยเลือกสรรวิทยากรมือหนึ่งในวงการค้าเพชรพลอย ของญี่ปุ่น นักเขียนนิตยสารแฟชั่น และ Stylist มาให้ความรู้ เรื่องจุดเด่นของพลอยสี ศักยภาพการเป็นศูนย์กลางเจียรนัยและผลิตเครื่องประดับของไทย เทรนด์ความนิยมของตลาด และการผสมผสานสีในเครื่องแต่งกาย เป็นการให้เกล็ดเล็กเกล็ดน้อย ที่สามารถนำไปใช้แนะนำแก่ลูกค้า เพื่อเพิ่มการเป็นมืออาชีพด้านอัญมณีและพลอยสี             โครงการอบรมพนักงานขายริเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๔๒ ในช่วงเศรษฐกิจถดถอย ประชาชนใช้จ่ายอย่างประหยัดเพราะขาดความมั่นใจต่อรายได้ และอนาคต ก็พบว่าสามารถสร้างความตื่นตัว และกำลังใจแก่ร้านค้าที่จะเพิ่มยอดขาย มีร้านค้าปลีกอัญมณีและเครื่องประดับให้ความสนใจส่งพนักงานเข้าร่วมอบรมจำนวนมาก ทำให้โครงการดำเนินต่อเนื่องกันถึง ๓ ปี และเพิ่มดีกรีของความรู้ออกเป็น ๓ ระดับ ได้แก่  หลักสูตรพื้นฐาน(Basic level) หรับสูตรชำนาญการ(Master Level) และหลักสูตรเข้มข้น (Master of Master Level) ทำให้พนักงานขายรู้จัก และใส่ใจศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับอัญมณีและพลอยสีของไทยมากยิ่งขึ้น

ในช่วงเวลา ๓ ปีระหว่างปี ๒๕๕๒-๒๕๕๔ มีการจัดอบรม ๑๖ ครั้งในเมืองเศรษฐกิจที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ๘ เมือง ได้แก่ โตเกียว โอซากา ฟุกุโอกะ ฮิโรชิมา นาโกยา ซับโปโร คานาซาวา และเกียวโต มีพนักงานขายเข้าร่วมอบรมและผ่านหลักสูตรจำนวน ๑,๐๑๖ คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ผ่านการอบรมในระดับ Master of Masterจำนวน ๕๕ คน กลุ่มนี้ต้องเข้ารับการอบรม ต่อเนื่องกันถึง ๓ หลักสูตรในช่วงเวลา ๓ ปีจึงนับเป็นกลุ่มพนักงานขายที่มุ่งมั่น ทุ่มเทเวลาให้กับการเรียนรู้เรื่องพลอยสี และต้องการพัฒนาสู่การเป็นผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะสามารถเป็นเครือข่ายสำคัญของวงการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในญี่ปุ่นต่อไป

การมอบประกาศผู้จบหลักสูตร Master of Master ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๕๔ โดย ฯพณฯ เอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว(นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล) เป็นผู้มอบ พร้อมจัดเลี้ยงแสดงความยินดีต้อนรับ สมาชิกที่จะทำหน้าที่เป็นเครือข่ายให้แก่สินค้าไทย ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูต ซึ่งสร้างความภาคภูมิใจ และประทับใจแก่ผู้ได้รับประกาศนียบัตรทุกคน เชื่อว่าน่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ที่ได้รับประกาศนียบัตรสนใจ และศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับอัญมณีและเครื่องประดับของไทย รวมทั้งสนใจเดินทางมาเยี่ยมชมงาน Bangkok Gems & Jewelry Fair มากขึ้นด้วย

ในปี ๒๕๕๓ ญี่ปุ่นนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับ มูลค่า๒,๔๓๗.๖๕ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ ๑๔.๒ จากปี ๒๕๕๒ และนำเข้ามูลค่า ๑,๕๐๖.๕ ล้านเหรียญสหรัฐฯระหว่างเดือนมกราคม-กรกฏาคม ๒๕๕๔ เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๒.๔ เทียบกับระยะเดียวกันของปี ๒๕๕๓ ชนิดเครื่องประดับที่นำเข้า

ญี่ปุ่นนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับจากไทยมูลค่า ๑๕๔.๘๗ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี ๒๕๕๓ เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๔.๒ จากปีที่ผ่านมา และมูลค่า ๑๐๓.๗๑ ล้านเหรียญฯในช่วง ๗ เดือนแรกปี ๒๕๕๔ เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๒.๔ มีส่วนแบ่งตลาด ๖.๙ % ของมูลค่านำเข้ารวม ชนิดที่นำเข้าจากไทยมากตามลำดับ ได้แก่ เครื่องประดับทอง เครื่องประดับเงิน เครื่องประดับทองคำขาว ไข่มุก พลอยสี และรัตนชาติ ในช่วง ๓ ปีที่จัดกิจกรรมอบรมพนักงานขาย แม้ว่าจะเป็นช่วงที่ญี่ปุ่นประสบปัญหาเศรษฐกิจ และประชาชนประหยัดการใช้จ่าย แต่ก็พบว่า การนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้นทุกรายการ ยกเว้นไข่มุก โดยการนำเข้าพลอยสี เช่นทับทิม ไพลิน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ ๖๐.๖ และรัตนชาติเพิ่มร้อยละ ๕๒.๘ ในช่วง ๗ เดือนแรกปีนี้

กิจกรรมความร่วมมือระหว่างสมาคมผู้ค้าเครื่องประดับของไทย และญี่ปุ่นจึงเป็นกิจกรรมที่น่าจะจัดขึ้นให้ต่อเนื่อง ทั้งการสานต่อโครงการที่ริเริ่มไว้ และการริเริ่มกิจกรรมใหม่ๆ ที่สามารถสื่อสารคุณค่าของอัญมณีและเครื่องประดับของไทยที่เพิ่มความมั่นใจและภาคภูมิใจต่อผู้ค้าและผู้ซื้อ การโน้มน้าวเพื่อสร้างแรงจูงใจของผู้บริโภคญี่ปุ่นให้สนใจและซื้อเครื่องประดับ ได้มีการพัฒนาจากการซื้อเพื่อสวมใส่แสดงฐานะทางสังคม ไปสู่การใช้เป็นสินค้าแฟชั่น การใส่เพิ่มความรู้เกี่ยวกับตัวอัญมณี จึงเปรียบเหมือนการสร้างสรรค์ความคิดใหม่ๆ ที่เพิ่มคุณค่าให้กับเครื่องประดับยิ่งขึ้น

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตกียว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ