จากรายงานทางสถิติพบว่า ในแต่ละปีประเทศจีนมีการนำเข้าข้าวหอมมะลิไทยปีละประมาณ 2 แสนตัน โดยเป็นข้าวที่ผ่านเข้ามาทางเมืองเซี่ยเหมิน ประมาณ 1 หมื่นตัน และมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณตันละ 1,100 เหรียญสหรัฐ ซึ่งราคาดังกล่าวถือว่าสูงกว่าราคาข้าวที่วางจำหน่ายทั่วไปในประเทศจีนถึง 2 เท่า จึงเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาการปลอมปนข้าวหอมมะลิไทย
รายงานข่าวระบุว่า ปัญหาข้าวหอมมะลิไทยปลอมนั้นจะเกิดขึ้นในขั้นตอนของการบรรจุถุงก่อนนำมาจำหน่าย โดยจะมีการนำข้าวพันธุ์เมล็ดยาวของจีนบรรจุลงไปในถุงที่เป็นตราข้าวหอมมะลิไทยทั้งนี้ ที่ผ่านมาการตรวจสอบข้าวหอมมะลิไทยของทางการจีนจะเป็นการตรวจสอบเฉพาะด้าน ความปลอดภัยทำให้ไม่สามารถป้องกันปัญหาเรื่องข้าวปลอมได้ (แหล่งข้อมูล www.whatsonxiamen.com วันที่ 1 เม.ย. 2554)
รายงานข่าวของเมืองเซี่ยเหมินระบุว่า ในฐานะที่เป็นเมืองหนึ่งในประเทศจีนที่มีการนำเข้าข้าวจากประเทศไทยเป็นจำนวนมากในแต่ละปี ทำให้เมืองเซี่ยเหมินตื่นตัวเพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ราคาข้าวนำเข้าจากประเทศไทยที่กำลังจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น
จากการที่พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งและได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลของประเทศไทย ทำให้เป็นที่คาดการณ์ว่าราคาส่งออกข้าวจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอันเนื่องมาจากนโยบายรับจำนำข้าวจากชาวนาของรัฐบาล โดยคาดว่าราคาส่งออกข้าวอาจปรับตัวขึ้นไปสูงกว่าปัจจุบันถึงร้อยละ 66 ตามข่าวได้มีการพูดถึงสถานการณ์การซื้อขายข้าวในประเทศไทยว่า ขณะนี้โรงสีหลายแห่งได้มีการรับซื้อข้าวเปลือกเข้ามาไว้ในสต๊อกจำนวนมาก เนื่องจากเชื่อว่าราคาข้าวจะแพงขึ้นในอนาคตและเมื่อถึงเวลานั้นผู้ส่งออกข้าวก็จะมีต้นทุนราคาข้าวที่แพงขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้ แต่ละปีประเทศจีนมีการนำเข้าข้าวจากประเทศไทยประมาณ 200,000 — 220,000 ตัน ในจำนวนนี้เป็นการนำเข้ามาสู่เมืองเซี่ยเหมินกว่า 10,000 ตัน โดยปีนี้เพียงในช่วง 5 เดือนแรก เมืองเซี่ยเหมินมีการนำเข้าข้าวจากประเทศไทยแล้วรวม 8,143 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (แหล่งข้อมูล www.xmnn.cn วันที่ 7 ก.ค. 2554)
“ไหนบอกว่า ข้าวเวียดนาม ส่งออกมายังประเทศจีนเป็นจำนวนมาก แล้วยังราคาถูกอีกด้วย แต่ทำไมในห้างไม่เห็นมีวางจำหน่าย” ผู้บริโภคชาวจีน รายหนึ่ง ถามพนักงานประจำห้าง “ห้างเราไม่เคยจำหน่ายข้าวเวียดนาม” เป็นคำตอบที่พนักงานของห้าง บอกแก่ผู้บริโภครายดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวได้สอบถามและสำรวจไปยังห้างสรรพสินค้าอื่น และร้านขายข้าวสารอาหารแห้งต่างๆในเมืองเซี่ยเหมิน ได้คำตอบเดียวกันว่า นำข้าวมาจากผู้นำเข้า และผู้นำเข้าไม่เคยบอกว่า มีข้าวเวียดนาม ต้องการจะวางจำหน่ายในห้างหรือร้านค้าดังกล่าวเลย ดังนั้นทางห้างสรรพสินค้าและตัวร้านค้าเองไม่เคยจำหน่ายข้าวเวียดนามให้แก่ผู้บริโภคมาก่อน เจ้าของร้านค้าที่จำหน่ายข้าวเห็นว่า ข้าวของเวียดนาม คุณภาพไม่ค่อยดี หุงสุกแล้วค่อนข้างจะแข็ง ไม่เป็นที่นิยมของผู้บริโภค
Mr.Chen Shui Ping ประธานกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัทนำเข้าข้าว Xiamen Hao Nian Dong Mi Ye Co., Ltd กล่าวว่า ข้าวของเวียดนาม ภายนอกดูขาวสวย แต่พอหุงสุกค่อนข้างจะแข็ง ไม่เป็นที่นิยมของผู้บริโภคชาวเซี่ยเหมิน เนื่องจากประเทศเวียดนามมีสภาพอากาศที่ร้อนชื้น ผลิตข้าวได้ 3 ช่วง คือ ฤดูหนาว — ใบไม้ผลิ เก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน เป็นช่วงที่ข้าวให้ผลผลิตมากที่สุด ฤดูร้อน — ใบไม้ร่วง เก็บเกี่ยวผลผลิตในเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม และฤดูใบไม้ร่วง — หนาว เก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม ข้าวที่ส่งออกส่วนใหญ่ได้จากฤดูการผลิต 2 ช่วงแรก
พื้นที่เพาะปลูกที่สำคัญได้แก่บริเวณพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง( Mekong River Delta ) ทางภาคใต้ซึ่งถือว่าเป็นอู่ข้าวของเวียดนามเพราะผลิตข้าวได้ตลอดปีโดยมีผลผลิตปีละประมาณกว่า 9 ล้านตัน ซึ่งคิดเป็น 55 - 60 % ของผลผลิตข้าวทั้งประเทศ และมากกว่า 90% ของข้าวที่เวียดนามส่งออกเป็นข้าวที่ผลิตในบริเวณนี้ รองลงมา คือ บริเวณพื้นที่สามเหลี่ยม ปากแม่น้ำแดง ( Red River Delta ) ทางภาคเหนือผลิตข้าวได้ประมาณ 30% ของผลผลิตทั้งหมด ข้าวของประเทศเวียดนามคุณภาพ ไม่ดีเท่าที่ควร แต่เนื่องจากข้าวหอมมะลิของไทยซึ่งเป็นข้าวระดับพรีเมี่ยมมีราคาสูง ทำให้ผู้ประกอบการของจีนเกิดแรงจูงใจในการนำข้าวเมล็ดยาวสายพันธุ์ใกล้เคียง ที่มีราคาถูกเข้ามาผสมปลอมปนจำหน่าย แต่ บริษัท Xiamen Hao Nian Dong Mi Ye Co., Ltd ของเราจะไม่มีพฤติกรรมดังกล่าวอย่างแน่นอน Mr.Chen Shui Ping กล่าว
เจ้าของร้านค้าจำหน่ายอาหารข้าวสารอาหารแห้งแห่งหนึ่งกล่าวว่า แม้ว่าข้าวเวียดนามจะทะลักเข้ามายังตลาดจีน แต่โดยส่วนมากผู้นำเข้าข้าวเวียดนามจะไม่ใช้ชื่อ ข้าวเวียดนามในการนำข้าวออกจำหน่ายแก่ผู้บริโภค โดยใช้ชื่อว่า ข้าว Yue Ya หรือ Yue Ya Rice ดังรูป เนื่องจากข้าวเวียดนามยังไม่เป็นที่รู้จักและนิยมในหมู่ผู้บริโภคอย่างแพร่หลายนัก ข้าวเวียดนามที่ส่งออกมายังประเทศจีน คือ ข้าวหอมและข้าวขาวเป็นหลัก และยังมีผู้ประกอบการบางรายที่นำข้าวเวียดนามมาปลอมปนหรือผ่านกรรมวิธีใส่สารเคมีบางตัวเพื่อให้มีกลิ่นคล้ายกับข้าวไทยและใช้ชื่อข้าวไทยออกวางจำหน่ายในตลาดจีนอีกด้วย
สมาคมธัญพืชแห่งเมืองเซี่ยเหมินกล่าวว่าหากพูดถึงสัดส่วนของข้าวที่ชาวเซี่ยเหมินบริโภคตามพื้นที่เพาะปลูก จะสามารถแบ่งพื้นที่ได้ดังนี้ ร้อยละ 25-30 เป็นข้าวที่มาจากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน อีกร้อยละ 25-30 เป็นข้าวที่มาจาก มณฑลฝูเจี้ยน ร้อยละ 10-15 เจียงซี หูหนาน อันฮุย ข้าวไทยคิดเป็นอัตราส่วนเพียงร้อยละ 1-2 เท่านั้น (แหล่งข้อมูล www.xmnn.cn วันที่ 22 ก.ค. 2554)
เว็บไซด์ hexun.com ของจีนรายงานว่า เมื่อวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา สมาคมธัญพืชเวียดนามกล่าวว่าจีนนำเข้าข้าวสารจากเวียดนามจำนวนหกแสนตันเพื่อทดแทนผลผลิตภายในประเทศที่ขาดแคลน ปริมาณการนำเข้าดังกล่าวคิดเป็นสามเท่าของปริมาณการนำเข้าครึ่งปีแรกของจีน พ่อค้าข้าวไทยให้ความเห็นว่า การนำเข้าข้าวเวียดนามที่เพิ่มขึ้นเป็นเพียงการที่พ่อค้าข้าวจีนนำเข้าข้าวเวียดนามทดแทนข้าวไทยที่ราคาสูงกว่า แต่ไม่ได้เป็นการแสดงว่าผลผลิตข้าวสารในจีนไม่เพียงพอกับความต้องการ
เว็บไซต์ของสมาคมธัญพืชเวียดนามรายงานว่า นายตรัง ประธานสมาคมเปิดเผยว่าตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา จีนเพิ่มการนำเข้าข้าวสารจากเวียดนามจนในปัจจุบันคาดว่ามีปริมาณการนำเข้าสะสมหกแสนตัน ซึ่งถือเป็นปริมาณที่อยู่เหนือความคาดหมายของตนเอง
นายตรังกล่าวว่า “ตลาดข้าวของจีนใหญ่ขนาดไหนไม่สามารถประมาณได้ เนื่องจากไม่ทราบว่าจีนขาดแคลนข้าวสารมากขนาดไหน” ทั้งนี้ หากตัวเลขนี้ถูกต้อง ข้าวสารจะเป็นสินค้าเกษตรประเภทที่สองต่อจากข้าวโพดที่มีอัตราการนำเข้าเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากสถิติของกระทรวงเกษตรจีน แสดงว่า หกเดือนแรกของปีนี้ จีนมีการนำเข้าข้าวสารทั้งสิ้น 1.74 แสนตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.3 ราคาข้าวสารภายในประเทศเวียดนามเพิ่มสูงขึ้นทันทีหลังข่าวนี้เผยแพร่ออกไป ตามรายงานของสื่อเวียดนาม แสดงว่า ตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา ราคาข้าวสารเฉลี่ยของเวียดนามเพิ่มสูงขึ้นจาก 0.19 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม เป็น 0.25 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม แต่คาดว่าปีนี้เวียดนามจะผลิตข้าวได้ 39 ล้านตัน โดยสามารถส่งออกได้ประมาณ 7.2-7.4 ล้านตัน
พ่อค้าข้าวชาวไทยเห็นว่า เมื่อสองเดือนที่แล้วมีข่าวลือว่าจีนสั่งนำเข้าข้าวจากเวียดนามจำนวนห้าแสนตัน โดยมีราคาขายอยู่ที่ 300 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ในขณะที่ข้าวสารไทยมีราคาอยู่ที่ 420 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ที่ปรึกษาสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ข้าวเวียดนามมีราคาต่ำกว่าข้าวไทยมาก ซึ่งคาดว่าเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้จีนเพิ่มการนำเข้าข้าวจากเวียดนาม โดยนายเฉินกล่าวว่า “เมื่อก่อนจีนนำเข้าข้าวจากไทยเป็นหลัก แต่สองสามปีที่ผ่านมากลับไม่ได้นำเข้าข้าวธรรมดาจากไทยเป็นหลักแล้ว” เนื่องจากราคาข้าวเวียดนามต่ำกว่าไทย ทั้งนี้ เมื่อสามปีก่อนราคาข้าวไทยกับเวียดนามต่างกันแค่ไม่กี่สิบดอลลาร์ แต่ปัจจุบันต่างกันร้อยกว่าดอลลาร์
คาดว่า ผู้นำเข้าจีนอาจนำข้าวเวียดนามไปขายโดยติดตราว่าเป็นข้าวหอมมะลิไทยเพื่อขายในราคาสูงขึ้น ปริมาณการนำเข้าข้าวจากเวียดนามของจีนเป็นปริมาณที่เคยซื้อกับไทย เชื่อว่าข้าวภายในประเทศของจีนไม่ได้ขาดแคลนแต่อย่างใด
ทางสคร.เซี่ยเหมินได้สอบถามไปยัง ผู้นำเข้าข้าวจากประเทศไทย และ ผู้บริโภคชาวเซี่ยเหมิน
Mr. Fei Guo Qing กล่าวว่า ขณะนี้ผู้บริโภคจีน มีทางเลือกมากขึ้นในการบริโภคข้าว รวมถึงชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อสูงเกิดใหม่มากขึ้น และต้องการสินค้าคุณภาพสูง ดังนั้น ผู้ผลิตข้าวไทยต้องกำหนดมาตรฐานคุณภาพข้าว เพื่อการเข้าถึงและขยายตลาดใหม่ๆ ขณะเดียวกัน ก็เป็นการรักษาตลาดเก่าด้วยเพราะผู้ซื้อจะมีทางเลือกหลากหลายมากขึ้น แต่ต้องการให้ไทยรักษามาตรฐานข้าวให้ได้ตามที่กำหนดไว้ เพื่อผู้บริโภคจะได้เห็นความแตกต่างระหว่างข้าวไทยและข้าวของคู่แข่ง เช่น เวียดนาม หรือ พม่า อย่างไรก็ตาม แม้การกำหนดมาตรฐานข้าวใหม่ อาจทำให้ราคาสูงขึ้น แต่เชื่อว่าตลาดจะตอบรับได้
Mr. Guo Xiao Hui กล่าวว่า เนื่องจากข้าวไทยขึ้นราคาอย่างต่อเนื่อง ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ยอดขายในตลาดจีนของบริษัทลดลงเป็นอย่างมาก เมื่อเทียบกับข้าวเวียดนามแล้ว ถึงแม้คุณภาพจะไม่เทียบเท่าข้าวไทยแต่ราคาถือว่าถูกกว่ามาก
จำหน่ายข้าวตราฉัตรของบริษัท ซี.พี.อินเตอร์เทรด จำกัด ข้าวตราฉัตร เป็นสินค้าส่งออกของกลุ่มการค้าระหว่างประเทศ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ปัจจุบันได้รับความนิยมทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งเป็นข้าวสารบรรจุถุงที่มียอดจำหน่ายสูงสุดในประเทศไทย และมีการวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าโลตัส ณ เมือง เวินโจวและเหอเฝย โดยทางห้างแจ้งว่า กระแสตอบรับจากผู้บริโภคค่อนข้างดี หลังจากได้มีกิจกรรมส่งเสริมการขาย ห้างโลตัสสาขา เวินโจว ภายในระยะเวลา 9 วัน มี ยอดจำหน่าย ข้าวตราฉัตร 410 กิโลกรัม สาขา เหอเฝย ภายในระยะเวลา 12 วัน มียอดจำหน่าย 647 กิโลกรัม ซึ่งอยู่ในระดับที่น่าพอใจ ในเรื่องข้าวเวียดนาม ที่ผู้ประกอบการเห็นว่าไม่มีผลกระทบต่อ การจำหน่ายข้าวไทยแต่อย่างไร เนื่องจากในทางคุณภาพข้าวเวียดนามยังเป็นรองข้าวไทยอยู่มากและเชื่อมั่นว่าผู้บริโภคจะเลือกบริโภคสินค้าคุณภาพ
จากเดิมเคยบริโภคข้าวหอมมะลิของไทยเป็นประจำ และคิดว่าตนเป็นกลุ่มผู้บริโภคระดับกลาง มีกำลังซื้อแต่เนื่องจากระยะหลังข้าวไทยปรับราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้คิดว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องซื้อข้าวสารในราคาที่แพงจนเกินไป เลยหันมาบริโภค ข้าวจีนแทน ส่วนเรื่องข้าวเวียดนามนั้น ไม่เคยซื้อมาบริโภคและไม่ค่อยพบเห็นวางจำหน่ายตามท้องตลาดทั่วไป
เรียบเรียงข้อมูลโดย สคร.เซี่ยเหมิน
ที่มา: http://www.depthai.go.th