สภาวะตลาดทั่วไปของจีนและการนำเข้าผลไม้ของไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 14, 2011 15:16 —กรมส่งเสริมการส่งออก

เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกถึงพันสามร้อยล้านคน ความต้องการในการบริโภคสินค้าต่างๆจึงมีมากตามไปด้วย ในปัจจุบัน จีนมีการนำเข้าสินค้าจากประเทศต่างๆเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะสินค้าเกี่ยวกับอาหาร เนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่กำลังผลิตของจีนยังไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ และการที่จีนเปิดเสรีทางการค้ามากขึ้นนี้ ส่งผลให้ชาวจีนมีรสนิยมในการบริโภคสินค้าต่างประเทศมากขึ้นตามไปด้วย

ในส่วนของการค้าขายระหว่างจีนกับไทย ภายหลังจากการทำสัญญาเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน มูลค่าการซื้อขายระหว่างไทยกับจีนเพิ่มมากขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะสินค้าประเภทผักและผลไม้ โดยประเทศที่จีนอนุญาตให้มีการนำเข้าผลไม้ ได้แก่ ประเทศไทย มาเลเซีย อินเดีย อินโดนีเซีย เวียดนาม พม่า ฟิลิปปินส์ เอกวาดอร์ เปรู อูรุกวัย ชิลี อาร์เจนตินา อเมริกา ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส สเปน อิตาลี แอฟริกาใต้ เม็กซิโก ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อิสราเอล คอสตาริกา โคลัมเบีย ปากีสถาน และอียิปต์

การนำเข้าผลไม้จากไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากจีนมีประชากรเป็นจำนวนมากและเศรษฐกิจมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้ชาวจีนมีกำลังซื้อมากขึ้น และเนื่องจากชาวจีนมีรสนิยมในการบริโภคผลไม้เมืองร้อน จากข้อมูลของศูนย์วิจัยเกษตรกรไทยระบุว่าระหว่างปี ๒๐๐๖ ถึงปี ๒๐๑๐ ประเทศจีนมีการนำเข้าผลไม้จากไทยเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ ๒๗ ต่อปี โดยผลไม้ไทยที่เป็นที่นิยม ได้แก่ ทุเรียน ลำไยและมังคุด ทั้งนี้ ทางการจีนยังได้กำหนดชนิดของผลไม้ที่จีนอนุญาตให้นำเข้าจากไทยทั้งสิ้น ๒๓ ชนิด คือ ได้แก่ กล้วย ขนุน เงาะ ชมพู่ ทุเรียน น้อยหน่า ฝรั่ง มะขาม มะพร้าว มะเฟือง มะม่วง มะละกอ มังคุด ลองกอง ละมุด ลิ้นจี่ ลำไย สับปะรด ส้ม ส้มเขียวหวาน ส้มโอ สละ และเสาวรส

เส้นทางการนำเข้าผลไม้ของไทย ทำได้ทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ แต่ส่วนมากจะเป็นการขนส่งทางเรือและทางบก ในส่วนทางเรือ จะใช้เส้นทางทะเลจีนใต้ ผ่านทางท่าเรือฮ่องกง ก่อนเข้าสู่เมืองหลักทางตอนใต้ของจีน เช่น นครกวางโจว และนครเซินเจิน และกระจายเข้าสู่มณฑลต่าง ๆ หรือใช้เส้นทางการขนส่งตามลุ่มแม่น้ำโขง ไปยังท่าเรือเมืองสิบสองปันนาในมณฑลยูนนาน หรือท่าเรือเมืองหนานหนิงในมณฑลกวางสี ซึ่งการนำเข้าสินค้าผ่านทางฮ่องกง นั้นจะมีราคาต้นทุนถูกกว่า แต่ใช้เวลามากกว่า นอกจากนี้ ยังมีการขนส่งทางเรือ ผ่านทางท่าเรือนครเซี่ยงไฮ้ และเมืองใหญ่อื่นๆของจีน

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี ๒๐๑๑ ประเทศไทยได้มีการเซ็นสัญญาข้อตกลงและเงื่อนไขในการตรวจสอบผลไม้ที่ต้องมีการส่งผ่านระหว่างถนนคุนหมิง-กรุงเทพฯ ให้แก่ประเทศจีน การเซ็นสัญญาครั้งนี้ช่วยให้ผลไม้ ที่มีการขนส่งทางบกจากประเทศไทยเข้ามาในประเทศจีนง่ายขึ้น ตามเงื่อนไขข้อตกลง จะต้องทำการตรวจสอบผลไม้ก่อนที่จะส่งออกทั้งสองประเทศ แล้วจึงเสนอหนังสือผลการตรวจสอบให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง ผลการตรวจสอบมีอายุ ๗ วันหลังจากการตรวจสอบ ในหนังสือข้อตกลงได้กำหนดเส้นทางการขนส่งผลไม้แก่ทั้งประเทศไทยและประเทศจีน ในระหว่างที่ผ่านประเทศที่สามห้ามมีการเปิดตู้คอนเทนเนอร์ ไม่ว่ากรณีใดๆก็ตาม เมื่อสินค้าเข้าสู่ประเทศจีน แผนกตรวจสอบของแต่ละฝ่ายจะเช็คสินค้าและตรวจสอบหนังสือที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งทำการสุ่มตัวอย่างอย่างละเอียด

การนำเข้าผลไม้ของไทยมีความได้เปรียบ ในเรื่องของฤดูการเก็บเกี่ยว เนื่องจากสภาพอากาศที่แตกต่างกัน ระหว่างจีนกับไทย ทำให้ผลไม้ที่ปลูกในประเทศไทยสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็วกว่าผลไม้ของประเทศจีนประมาณหนึ่งเดือน ส่งผลให้ผลไม้ไทยเข้าสู่ตลาดจีนได้ในเวลาที่รวดเร็วกว่า นอกจากนี้ ผลไม้ไทยนับว่ามีคุณภาพค่อนข้างดี มีความสามารถในการแข่งขันระดับโลก เนื่องจาก ประเทศไทยสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเพาะปลูก และดูแลรักษาผลผลิตได้ดีกว่าพื้นที่ในเขตพื้นที่ทางภาคใต้ของประเทศจีน

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าผลไม้เขตร้อนจะเป็นที่นิยมในตลาดนำเข้าของประเทศจีน แต่หากประเทศอื่นๆในภูมิภาคอาเซียนสามารถเพิ่มผลผลิตของผลไม้ที่เป็นที่นิยมในตลาดจีนมากขึ้น โดยเฉพาะทุเรียน อาจส่งผลกระทบต่อผลไม้ไทยลดลงในตลาดจีนได้ ประเทศไทยจึงควรเพิ่มศักยภาพในการผลิตและรักษามาตรฐานคุณภาพของผลไม้ไทย เพื่อให้สามารถครอบครองส่วนแบ่งในตลาดจีนได้อย่างมั่นคง

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเซี่ยงไฮ้

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ