สถานการณ์ทางเศรษฐกิจประเทศอิตาลีระหว่างวันที่ 16-30 กันยายน 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 14, 2011 15:33 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ภาพรวมเศรษฐกิจประเทศอิตาลี

จากที่อิตาลีได้ถูกสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (เอสแอนด์พี) ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือหนี้สาธารณะจากระดับ A+/A-1+ ไปอยู่ที่อันดับ A/A1 เมื่อกันยายนที่ผ่านมา โดยวันที่ 3 ตุลาคม 2554 สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มูดีส์ ได้ลดอันดับความน่าเชื่อถือพันธบัตรรัฐบาลอิตาลีจาก Aa2 เหลือ A2 ซึ่งสาเหตุที่มูดีส์ลดอันดับความน่าเชื่อของอิตาลี ได้แก่ ความเสี่ยงในความสามารถในการชำระหนี้ระยะยาว และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ล่าช้า อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอิตาลีจะมีการออกมาตรการรัดเข็มขัดใหม่ ๆ ภายในสิ้นเดือนตุลาคม โดยคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะสามารถพยุงให้อิตาลีรอดพ้นจากเหตุการณ์วิกฤตหนี้ในยุโรปได้

1. ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) อิตาลี ไตรมาส 2 ของปี 2554 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 เปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และมีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 เปรียบเทียบจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า สำหรับ GDP ใน Euro Area และ Eu 27 เพิ่มขึ้นเหมือนกันร้อยละ 0.2 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 และ 1.7 ตามลำดับ เทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันปีก่อนหน้า

2. การผลิตภาคอุตสาหกรรมอิตาลี เดือนสิงหาคม 2554 เทียบกับเดือนก่อนหน้ามีอัตราเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.3 และเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้ามีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 (โดยวันทำงานในเดือนสิงหาคม 54 และ 53 มีจำนวนวันทำงาน 22 วัน)

3. คำสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือนพฤษภาคม 2554 คำสั่งซื้อของภาคอุตสาหกรรมเปรียบเทียบ กับเดือนก่อนหน้ามีอัตราเพิ่มขึ้น 4.1 % (-0.8% จากตลาดภายในประเทศ และ+12.2% จากตลาดต่างประเทศ) ส่วนเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้ามีอัตราเพิ่มขึ้น 13.6%

4. ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอิตาลี เดือนกันยายน 2554 ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 100.3 จุด เป็น 98.5 จุด (หดตัวลดลง 1.8 จุด) ซึ่งมีสาเหตุมาจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์เศรษฐกิจยุโรปและในประเทศ และสภาวะเศรษฐกิจของครอบครัวอิตาลี

5. ดัชนีความเชื่อมั่นของบริษัทผู้ผลิตอิตาลี เดือนกันยายน 2554 มีการปรับตัวลดลงจาก 98.6 จุด เป็น 94.5 จุด (ลดลง 4.1 จุด) โดยมีสาเหตุจากคำสั่งซื้อและการรอการผลิตของผู้ผลิตมีแนวโน้มลดลง แต่สินค้าในสต็อกมีแนวโน้มลดลง

6. การส่งออกและการนำเข้าของอิตาลี เดือนมิถุนายน 2554 อิตาลีมีตัวเลขการส่งออก เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 และนำเข้าลดลง -4.1 เทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นร้อยละ +8.1 และ +3.2 ตามลำดับ เทียบกับช่วงระยะเวลาก่อนหน้า

7. อัตราการจ้างงาน เดือนสิงหาคม 2554 มีอัตราร้อยละ 57 เพิ่มขึ้น 0.1 จุด เทียบกับเดือนก่อน หน้าและเพิ่มขึ้น 0.3 จุด เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า

8. ผลประกอบการภาคอุตสาหกรรมอิตาลี เดือนพฤษภาคม 2554 เปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้ามีอัตราลดลง 1.7% (-2.9% จากตลาดภายในประเทศ และ+0.9% จากตลาดต่างประเทศ) และเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้ามีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.8

9. อัตราการว่างงาน เดือนสิงหาคม 2554 มีอัตราร้อยละ 7.9 ลดลง 0.1 จุด เทียบกับเดือนก่อนหน้า และลดลง 0.4 จุด เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า แต่ยังคงถือเป็นอัตราที่ต่ำกว่ามาตรฐานของ Euro Area และ EU 27 อยู่ประมาณ 2.1 จุด และ 1.6 จุด ตามลำดับ โดยอัตราการว่างงานของ Euro Area และ EU 27 อยู่ที่ร้อยละ 10 และ 9.5 ตามลำดับ

10. อัตราเงินเฟ้อ เดือนกรกฎาคม 2554 อัตราเงินเฟ้อลดลงจากเดือนมิถุนายน 2554 ร้อยละ 1.7 และเพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2553 ร้อยละ 2.1 สำหรับอัตราเงินเฟ้อโดยประมาณใน Euro Area และ Euro 27 มีอัตราร้อยละ 2.5 และ 2.9 ตามลำดับ เทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า และมีอัตราลดลงอยู่ที่ร้อยละ 0.6 และร้อยละ 0.5 ตามลำดับ เทียบกับเดือนก่อนหน้า

11. ดัชนีราคาผู้บริโภค (คาดการณ์) เดือนกันยายน 2554 มีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 เทียบกับช่วงเวลาก่อนหน้า

12. ดัชนีราคาผู้ผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือนสิงหาคม 2554 มีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 เทียบกับช่วงเวลาก่อนหน้า

ตารางเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจอิตาลีรายเดือน ปี 2554

                                ช่วงเวลา             อัตราเปลี่ยนแปลง                  อัตราเปลี่ยนแปลง

เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนหน้า(%) เทียบกับช่วงเวลาก่อนหน้า (%)

GDP                             (ไตรมาส 2)              +0.8                            +0.3
การผลิตภาคอุตสาหกรรม              (กรกฎาคม)               +4.7                            +4.3
ผลประกอบการ                     (พฤษภาคม)              +10.8                            -1.7
คำสั่งซื้อ                          (พฤษภาคม)              +13.6                            +4.1
ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ผลิต             (กันยายน)                   -                            -4.1 จุด
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค              (กันยายน)                   -                            -1.8 จุด
การนำเข้า                        (มิถุนายน)                +3.2                            -4.1
การส่งออก                        (มิถุนายน)                +8.1                            -0.8
อัตราการว่างงาน                   (สิงหาคม)                -0.1 จุด                         -0.4 จุด
อัตราเงินเฟ้อ                      (กรกฎาคม)               +2.1                            -1.7
อัตราการจ้างงาน                   (สิงหาคม)                +0.3 จุด                         +0.1 จุด
ดัชนีราคาผู้บริโภค                   (กันยายน)                +3.1                            +0.1
ดัชนีราคาผู้ผลิตภาคอุตสาหกรรม         (สิงหาคม)                +4.5                            +0.3
หนี้สาธารณะ (%/GDP)*              (ปี 2554)               120.3
*ตัวเลขคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
ที่มา : องค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป, CSC, และ Istat

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองมิลาน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ