นายกญี่ปุ่นเตรียมเข้าร่วม Trans Pacific Partnership หรือ TPP

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 17, 2011 15:30 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ผู้นำรัฐบาลญี่ปุ่นของพรรค Democratic Party of Japan (DPJ) ตั้งแต่อดีตนายกรัฐมนตรี นาโอโตะ คัน และนาย โยชิฮิโกะ โนดะ นายกรัฐมนตรีคนปปัจจุบัน ต่างก็ สนใจจะเข้าร่วมเป็นสมาชิก Trans Pacific Partnership Trade Agreement (TPP) โดยอดีตนายกรัฐมนตรีนาโอโตะ คัน วางแผนจะประกาศการพิจารณาเข้าร่วมเจรจา TPP ตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แต่ต้องเลื่อนออกไปก่อนเพราะเหตุการณ์ภัยพิบัติในเขตโทโฮกุ เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๔ เพื่อเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยและฟื้นฟูเศรษฐกิจ

Mr. Yoshihiko Noda นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลังในสมัยรัฐบาลชุดนายนาโอโตะ คัน ต้องการสานต่อแนวคิดเดิม เพราะเห็นว่า ญี่ปุ่นจำเป็นต้องขยายพันธมิตรในตลาดโลกเพื่อสร้างโอกาสและเพิ่มอำนาจแข่งขันของสินค้าญี่ปุ่นในเวทีโลก โดยเฉพาะด้วยการกระชับความร่วมมือกับคู่ค้าสำคัญและประเทศที่เศรษฐกิจกำลังเติบโต โดยใช้จังหวะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มฟื้นตัว สั่งการให้รัฐมนตรีเศรษฐกิจทั้งหลายเตรียมพร้อมสำหรับการเข้าร่วม TPP พร้อมแจ้งความตั้งใจที่จะประกาศความประสงค์ที่จะเข้าร่วม TPP ในการประชุมผู้นำ APEC ที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๔ ที่ฮาวาย สหรัฐอเมริกา

TPP หรือ Trans Pacific Strategic Economic Partnership Agreement เป็นความตกลงทางการค้าเสรีหลายฝ่ายที่ริเริ่มขึ้น โดย ๔ ประเทศสมาชิก APEC (Asia Pacific Economic cooperation) ได้แก่ บรูไน ชิลี นิวซีแลนด์ และ สิงคโปร์ เมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๔๘ มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดการค้าเสรีระหว่างกันในกรอบที่กว้างขึ้น ครอบคลุมสินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรม บริการและการลงทุน โดยมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๔๙ จากนั้น ๕ ประเทศสมาชิก APEC ได้แก่ ออสเตรเลีย มาเลเชีย เปรู สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม แสดงความจำนงเข้าร่วมและขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจา โดยในการประชุมผู้นำ APEC เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปีที่แล้ว (๒๕๕๓) ผู้นำของทั้ง ๙ ประเทศเห็นชอบร่วมกันกำหนดเป์าหมายให้เร่งการเจรจาให้แล้วเสร็จก่อนหน้าการประชุม APEC Summit ที่สหรัฐฯ จะเป็นเจ้าภาพในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๔ ที่ฮาวาย

ความตกลง TPP แตกต่างจากกรอบความตกลงอื่นๆ คือ การกำหนดเงื่อนไขให้ประเทศสมาชิกต้องลดภาษีนำเข้าสินค้าทุกชนิดที่ค้าขายระหว่างกันลงเหลือศูนย์ภายใน ๑๐ ปี ซึ่งหมายรวมถึงสินค้าเกษตร ที่รัฐบาลญี่ปุ่นจัดในกลุ่มสินค้าอ่อนไหวสูง

นายกรัฐมนตรีโนดะ เกรงว่า หากญี่ปุ่นตัดสินใจเข้าร่วมเจรจา เมื่อทั้ง ๙ ประเทศบรรลุข้อสรุปความตกลงไปแล้ว ญี่ปุ่นก็จะอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบ แต่ในภาวะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังมีความเสี่ยง ทั้งเรื่องการขาดแคลนพลังงาน และการแข็งค่าเพิ่มขึ้นของเงินเยน ซึ่งเป็นปัจจัยผลักดันให้ผู้ประกอบการเร่งย้ายฐานออกไปต่างประเทศ ความล่าช้าในการตัดสินใจเข้าร่วมTPP ก็อาจเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้ประกอบการขนาด SME เคลื่อนย้ายออกไปเร็วขึ้น ตลาดใน ประเทศก็จะยิ่งหดตัวเร็วยิ่งขึ้น

Keidanren เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งเจรจาการค้าเสรีกับคู่ค้าสำคัญ โดยย้ำว่า FTA ระหว่างสหรัฐ-เกาหลีใต้ ที่กำลังจะเริ่มบังคับใช้ยิ่งทำให้สินค้าญี่ปุ่นเสียเปรียบ การเข้าร่วม TPP จึงน่าจะเป็นทางออกที่รัฐบาลต้องเร่งตัดสินใจ

แม้ว่าภาคเกษตรจะมีสัดส่วนในผลผลิตมวลรวมประชาชาติ หรือ GDP ลดลงเรื่อยๆ โดยสัดส่วนของแรงงานภาคเกษตรได้ลดลงจากร้อยละ ๓.๕๕ เมื่อ ๒๐ ปีที่ผ่านมา เหลือร้อยละ ๒.๒๒ ในปี ๒๕๔๘ และอยู่ที่ระดับร้อยละ ๑.๙๘ ในปัจจุบัน ขณะที่สัดส่วนของภาคเกษตรต่อ GDP ลดลงเหลือเพียงร้อยละ ๑.๔ ในการสำรวจครั้งล่าสุด แต่พรรคการเมืองทุกพรรค และทุกสมัยก็ยังให้ความสำคัญสูงสุดต่อเกษตรกรในฐานะที่เป็นฐานเสียงสำคัญ ภายในพรรค DPJ ก็ยังมีความคิดเห็นที่แตกต่าง โดย Mr. Michihiko Kono รัฐมนตรีกระทรวงเกษตร ป่าไม้และประมง (MAFF) และสหกรณ์การเกษตร(ZENNOH) คัดค้านการเปิดเสรีและการเข้าร่วมเจรจา TPP อย่างชัดแจ้ง Mr. Kono ได้เริ่มเคลื่อนไหว รวบรวมรายเซ็นต์สมาชิกสภาที่มีความเห็นคัดค้าน ทั้งจากฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน พร้อมกับวางแผนจะรณรงค์ครั้งใหญ่เพื่อต่อต้านการเข้าร่วม TPP ด้วย ขณะที่กลุ่ม Mr. Ichiro Ozawa กลุ่มผู้ทรงอิทธิพลสูงในพรรค DPJ (ได้รับฉายาว่า Kingmaker in DPJ) มองว่า การสร้างพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่ประกอบด้วยสมาชิกจำนวนจำกัด เปรียบเหมือนการแบ่งเศรษฐกิจโลกออกเป็นกลุ่มๆ (Blocs) ที่อาจจะนำไปสู่การเผชิญหน้ากัน

นายกรัฐมนตรีโนดะ ยังคงต้องการให้ญี่ปุ่นเดินหน้าเข้าเป็นสมาชิก TPP ซึ่งหมายถึงว่า จะต้องได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกภายในพรรค DPJ จึงได้วางแผน และเตรียมมาตรการช่วยเหลือภาคเกษตรที่จะได้รับผลกระทบ ดังนี้

  • มอบหมายให้ Mr Yoshio Hachiro รัฐมนตรี METI ในฐานะประธาน DPJ Policy Research Committee มี Mr. Seiji Maehara อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ และ Mr. Katsuya Okada อดีตเลขาธิการพรรค DPJ ซึ่งเป็นกลุ่ม Pro-TPP ให้เร่งประสานภายในพรรค เพื่อให้ได้ข้อสรุปในเรื่องนี้ก่อนการประชุม APEC ที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน นี้
  • เตรียมมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ เหมือนครั้งที่รัฐบาลต้องเปิดตลาดนำเข้าข้าว ตามมติการประชุมรอบอุรุกวัย เมื่อปี ๒๕๓๖ ที่รัฐบาลได้จัดสรรเงินช่วยเกษตกรสูงถึง ๖ ล้านล้านเยน แม้ว่าครั้งนี้จะยังไม่มีตัวเลขประมาณการว่ารัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณไว้เท่าใด แต่ก็เชื่อว่าอาจต้องใช้เงินจำนวนสูงมากเพื่อซื้อเสียงสนับสนุนสำหรับการเดินหน้าเข้าร่วม TPP

การเปิดตลาดสินค้าเกษตรเป็นประเด็นใหญ่ทางการเมืองของญี่ปุ่นในทุกยุคสมัย แม้ว่าจะตระหนักดีว่าภาคเกษตรมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจน้อยลงเรื่อยๆ และสินค้าเกษตรที่รัฐบาลต้องปกป์องก็มีจำนวนนอยชนิดลง เพราะอย่างไรเสีย ญี่ปุ่นก็จำเป็นต้องนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารเป็นสัดส่วนถึงร้อย ๖๐ ของจำนวนแคลอรี่ที่ต้องการบริโภค แต่เมื่อภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นจุดแข็งของญี่ปุ่น ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงและการก้าวตามทันอย่างรวดเร็วของคู่แข่ง พัฒนาการของเทคโนโลยีทำให้อายุของนวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ๆ สั้นลง การลอกเลียนแบบของวิทยาการที่สลับซับซ้อนทำได้ง่ายขึ้น ทำให้คู่แข่ง เช่น เกาหลี และจีน ตามมาอย่างกระชั้นชิด และสามารถแย่งชิงความเป็นผู้นำโดยเฉพาะในตลาดที่มีกำลังซื้อปานกลางและต่ำ นโยบายปกป์องภาคเกษตรของรัฐบาลญี่ปุ่นจึงมีต้นทุนแท้จริงที่สูงอย่างยิ่ง เชื่อว่า ภายใต้ภาวะแข่งขันที่รุนแรงและตลาดในประเทศที่หดตัวเพราะเศรษฐกิจ จำนวนประชากรและการเข้าสู่สังคนสูงอายุ ญี่ปุ่นคงไม่สามารถดึงดันปกป์องผู้ผลิตสินค้าเกษตรต่อไปอีกได้นาน แนวโน้มที่อาจจะเห็นภาพชัดเจนขึ้นจากนี้ไป คือ การออกไปลงทุนในการผลิตภาคเกษตรและการแปรรูปอาหารของบริษัทญี่ปุ่นในต่างประเทศ

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ