รายงานภาวะตลาดสินค้าสิ่งทอในไต้หวัน ขอบเขต: HS. 50 - 60

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 18, 2011 13:48 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ไต้หวันมีการใช้งานวัสดุสิ่งทอเพื่อการตัดเย็บเสื้อผ้ารวมทั้งการใช้งานในอุตสาหกรรมต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง แม้ไต้หวันจะมีการผลิตสิ่งทอจำนวนมากแต่ยังคงมีความจำเป็นในการนำเข้าสิ่งทอที่ไต้หวันผลิตได้น้อยหรือขาดแคลนศักยภาพในการแข่งขันเนื่องจากไม่มีวัตถุดิบหรือมีอยู่จำกัดโดยเฉพาะสิ่งทอซึ่งใช้วัตถุดิบธรรมชาติ เช่น ปอ ฝ้าย ขนแกะ

1. ภาวะการผลิตในไต้หวัน

ภาวะการผลิตสิ่งทอในไต้หวันมีการหดตัวอย่างมาก สืบเนื่องจากไต้หวันถูกยกเลิกโควต้าการส่งออกตั้งแต่ปี 2005 ประกอบกับการรวมตัวจัดตั้งเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ ในโลก ประเทศกำลังพัฒนาใหม่มีความเข้มแข็งมากขึ้น ทำให้มีการล้างไพ่ใหม่ในวงการสิ่งทอของโลก สำหรับไต้หวันนั้นภาวะเช่นนี้ถือว่าเป็นวิกฤติแต่ก็นำมาซึ่งโอกาสใหม่ ปัจจุบันไต้หวันประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน กิจการระดับล่างย้ายฐานไปผลิตในต่างประเทศ ทำให้จำเป็นต้องขบคิดว่าจะหาทางยกระดับพัฒนาอุตสาหกรรมต่อไปอย่างไร

อุตสาหกรรมสิ่งทอของไต้หวันเคยมีความสำคัญในการดึงดูดเงินตราต่างประเทศ แต่หลังจากเทคโนโลยีสารสนเทศ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิคส์มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทำให้อุตสาหกรรมสิ่งทอลดความสำคัญลง อย่างไรก็ตามปัจจุบันไต้หวันยังคงมีผู้ผลิตสิ่งทอประมาณ 5,000 ราย พนักงานประมาณ 2 แสนคน มูลค่าการผลิตในปี 2010 เท่ากับ 203 ล้านเหรียญไต้หวัน ถือว่ายังคงเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของไต้หวัน

โครงสร้างอุตสาหกรรมสิ่งทอของไต้หวันในระดับบนคือการผลิตเส้นใยธรรมชาติ (ฝ้าย ขนแกะ ปอ ไหม) เส้นใยประดิษฐ์ (โพลีเอสเตอร์ ไนลอน เรยอง อัลคาริค ฯลฯ) อุตสาหกรรมระดับกลางได้แก่การทอผ้า (ผ้าทอกระสวย ผ้าถัก ผ้าnon-woven พรม) พิมพ์ย้อม (พิมพ์ลาย ย้อมสี ตกแต่ง ฯลฯ) ระดับล่างได้แก่การตัดเย็บ (เสื้อผ้าทอ เสื้อผ้าถัก เสื้อขนสัตว์) เครื่องใช้เครื่องประดับ (กระเป๋าถือ ถุงมือ ถุงเท้า หมวก อวน วัสดุการแพทย์-ผ้าก๊อซ ฯลฯ)

สินค้าที่ไต้หวันมีการผลิตมากคือเส้นใยประดิษฐ์ (โพลีเอสเตอร์ ไนลอน) แนวโน้มผลิตภัณฑ์

สิ่งทอแบ่งเป็น 3 ประเภทคือ สิ่งทอสวมใส่ (apparel textiles) สิ่งทอบ้านและเฟอร์นิเจอร์ (home and furniture textiles) และสิ่งทอเทคนิกหรือวิศวกรรม (technical or engineered textiles)

ผลิตภัณฑ์สิ่งทอในตลาดโลกส่วนใหญ่เป็นสินค้าทั่วไปมีคุณสมบัติในการปกปิดร่างกายและให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย และวัฏจักรสินค้าใหม่มีระยะเวลาสั้น ราคาต่อหน่วยถูกลงเรื่อย ๆ และอัตรากำไรต่ำ เนื่องจากมีการแข่งขันที่รุนแรง ส่วนใหญ่อาศัยความได้เปรียบจากการผลิตในประเทศที่กำลังพัฒนามีต้นทุนค่าแรงต่ำ ส่วนประเทศที่พัฒนาแล้วจะหันไปผลิตสิ่งทอที่มีมูลค่าสูงและมีคุณสมบัติพิเศษ โดยใช้เทคโนโลยีระดับสูง ได้แก่ สิ่งทออัจฉริยะ (Smart Textiles) หรือเป็นสิ่งทอที่ใช้ในวงการการแพทย์ การพัฒนาสิ่งทอในอนาคต มีแนวโน้มการเพิ่มคุณสมบัติพิเศษอื่น ๆ เช่นป้องกันรังสีอุลตร้าไวโอเล็ต ขจัดกลิ่นเหม็น ป้องกันเชื้อโรค ป้องกันคลื่นไฟฟ้า ป้องกันไฟฟ้าสถิตย์หรือป้องกันรังสีอินฟราเรด กล่าวได้ว่าการผลิตสิ่งทอในอนาคตจะต้องมุ่งเน้น สวยงามขึ้น ทนทานมากขึ้น ใช้งานง่าย สวมใส่สบายขึ้น ปลอดภัยมากขึ้น ฯลฯ

โดยสรุปการผลิตสิ่งทอของไต้หวันอยู่ในภาวะลดลง จำนวนโรงงานน้อยลง ผู้ประกอบอาชีพน้อยลงไม่สามารถรองรับแรงงานจำนวนมาก เนื่องจากโรงงานย้ายฐานผลิตไปต่างประเทศ คนรุ่นใหม่ไม่นิยมทำงาน

2. การส่งออก

ในปี 2010 ไต้หวันส่งออกสิ่งทอมูลค่ารวม 10,264 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.37

3. การนำเข้า

3.1 การนำเข้าทั่วไป ในปี 2010 ไต้หวันนำเข้าสิ่งทอมูลค่ารวม 1,630 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 46.73

3.2 การนำเข้าจากไทย ในปี 2010 ไต้หวันนำเข้าสิ่งทอจากไทยมูลค่า 25.07 ล้านเหรียญไต้หวัน เพิ่มขึ้นจากปี 2009 ร้อยละ 11.32

4. กลยุทธ์การผลิตและการจำหน่ายของไต้หวัน

ไต้หวันศึกษารูปแบบของอุตสาหกรรมสิ่งทอในเกาหลีใต้ซึ่งผสานเทคโนโลยี ความทันสมัย และสร้างแบรนด์ เรียกกันว่า T&F รุ่นที่ 4 ปัยจัยสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ประสบความสำเร็จคือ การใช้เทคโนโลยีใหม่ระดับสูง โลฮาส และสิ่งทออัจฉริยะ

สิ่งทอสำหรับอุตสาหกรรมอื่นเป็นตลาดที่ไม่ควรมองข้าม ความต้องการวัสดุสิ่งทอในวงการก่อสร้างมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว บริษัทฟาร์อิสต์ เท็กซ์ไทล ของไต้หวันผลิตผ้าม่านสำหรับรถยนต์โดยเฉพาะ หรือผลิตผ้าโพลีเอสเตอร์สความทนทานสูงเพื่อใช้วงการก่อสร้าง นอกจากนี้กระแสการรักษาสุขภาพและโลฮาส เป็นสิ่งที่น่าจับตามองเช่นกัน การผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่มีคุณลักษณ์เฉพาะ เช่น ปรับอุณหภูมิ ป้องกันเชื้อโรค ทำลายเชื้อโรคเป็นกลยุทธ์ที่ใช้ได้ผลในผลิตภัณฑ์สิ่งทอในยุคใหม่

ผู้ประกอบการทั่วโลกต่างพยายามเข้าไปใช้แหล่งทรัพยากรในประเทศกำลังพัฒนาใหม่ หรือพยายามเจาะตลาดเข้าสู่ประเทศพัฒนาใหม่ แนวโน้มกลยุทธ์การตลาดอาศัยการสร้างแบรนด์ ตลอดจนการควบกิจการหรือการสร้างพันธมิตรเพื่อขยายช่องทางการจำหน่าย การที่ผู้ประกอบการจะขยายตลาดจำเป็นต้องอาศัยการสร้างแบรนด์ นอกจากการเน้นดีไซด์และความสามารถทางการตลาดแล้ว ยังต้องมีช่องทางการจำหน่ายที่ดี มีตัวเลือกผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย มีความสามารถในการประกอบการทั่วโลก นอกจากนี้ ผู้ผลิตจะต้องยกระดับความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการพัฒนาออกแบบ ควบคุมต้นทุน เน้นคุณภาพผลิตภัณฑ์ การสร้างเทคโนโลยีใหม่ การตอบสนองภาวะตลาดอย่างรวดเร็ว เหล่านี้ล้วนแต่เป็นปัจจัยกำหนดความสำเร็จในการขยายตลาดโลก

แนวทางในการขยายสินค้าเข้าสู่ตลาดใหม่

1.ตลาดจีนมีจุดเด่นคือสังคมบุตรน้อย สังคมเมือง วัยหนุ่มสาวชนชั้นกลาง ความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมตะวันตก/ตะวันออก

2.ยกระดับจากผู้ผลิตแบบ OEM เป็น ODM หรือ OBM

3.ขยายตลาดสิ่งทออุตาสาหกรรมเน้นอุตสาหกรรมรถยนต์ ก่อสร้าง

4.การตอบสนองต่อกระแสโลกในปัจจุบัน (ภาวะโลกร้อน สุขภาพ และโลฮาส) การผลิตเส้นใยที่มีคุณลักษณ์พิเศษหรืออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

สำหรับกลยุทธ์พื้นฐานในการบุกเบิกตลาดประเทศกำลังพัฒนาของไต้หวันคือ
  • การขยายเครือข่ายร้านจำหน่ายปลีก
  • การสร้างแบรนด์
  • การกำหนดขั้นตอนผลิตแบบปริมาณน้อยแต่มีหลายรูปแบบ
  • การออกแบบและลอกเลียนแบบอย่างสร้างสรรค์และติดตามแฟชั่น
  • จะต้องมีการรวมตัวของกลุ่มผู้ผลิตและกลุ่มผู้ป้อนสินค้า เพื่อการบุกเบิกตลาดสินค้าทั่วโลก
5. ระเบียบการนำเข้าอัตราภาษี

สินค้าสิ่งทอสามารถนำเข้าไต้หวันได้โดยเสรี พิกัดศุลกากร H.S. Code 50 - 60 สินค้าซึ่งอยู่ในรูปของวัตถุดิบขั้นปฐม เช่น ขนสัตว์ ปอฝ้าย ไม่เก็บภาษีนำเข้า สินค้าวัตถุดิบขั้นกลาง เช่น ด้าย เส้นใย อัตราภาษีประมาณ 5 - 7.5% และ สินค้าประเภทผ้าผืน อัตราภาษี ประมาณ 7.5 - 10%

6. สรุป

ถึงแม้ไต้หวันจะมีศักยภาพในการผลิตสินค้าสิ่งทอในระดับสูง แต่ยังคงต้องการนำเข้าวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ที่ไต้หวันผลิตได้น้อย หรือขาดแคลน ผู้ส่งออกไทยยังคงสามารถแทรกเข้าสู่ตลาดไต้หวัน สินค้าที่ไต้หวันมีการนำเข้าจากไทยคือ ด้วยใยยาวสังเคราะห์ ผ้าไม่ทอ แวดดิ้ง ผ้าลูกไม้ ด้ายเส้นใยเทียม ผ้าทอฝ้าย เศษเส้นใยประดิษฐ์ พรม เส้นใยสั้นสังเคราะห์ ด้ายทำจากฝ้าย ฯลฯ

รายงานโดย         สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2)

โทรศัพท์ 886-2-2723 1800 โทรสาร 886-2-2723 1821

อีเมล์ thaicom.taipei@msa.hinet.net

ตุลาคม 2554

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ