รายงานการเข้าร่วมประชุม 2011 Round-Table Conference For World Chamber Leaders

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 18, 2011 13:54 —กรมส่งเสริมการส่งออก

รายงานการเข้าร่วมประชุม

2011 Round-Table Conference For World Chamber Leaders

(The Development and Innovation of Port Logistics)

At Xiamen City, Fujian Province

September 9, 2011

Sponsors: The Organizing Committee of China International Fair For Investment and Trade China Council For The Promotion of International Trade

หัวข้อการการประชุมในครั้งนี้แบ่งเป็น 3 ประเด็นหลักดังต่อไปนี้

1. ปัญหาระบบโลจิสติกส์ของประเทศจีน

ปัญหาระบบโลจิสติกส์ของประเทศจีน คือ ต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของประเทศสูงมาก อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในประเทศจีนยังมีลักษณะแยกส่วนกันอยู่ แต่ละรายก็จะมีมาตรฐานการทำงานของตนเอง และระบบการกระจายสินค้าที่ยังไม่สมบูรณ์ มีข้อจำกัดในการใช้เทคโนโลยีในการกระจายสินค้า รวมทั้ง การขาดแคลนบุคลากรทางด้านโลจิสติกส์ ทั้งนี้ ปัจจัยความเสี่ยงด้านโลจิสติกส์ของประเทศจีน ซึ่งได้แก่ความล่าช้าในการปฏิบัติตามเงื่อนไขของ WTO ประเทศจีนจำเป็นต้องหาหนทางที่จะปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของ WTO ในขณะเดียวกันก็สร้างมาตรการ NTB : Non Tariff Barrier เพื่อกีดกันการนำเข้าจากต่างประเทศที่ไม่ขัดกฎของ WTO โดยการสร้างอุปสรรคที่เป็นเรื่องที่ไม่ใช่ภาษี เป็นการกีดกันการนำเข้า ซึ่งต้องใช้เวลาในการเตรียมการด้านเอกสารและเพิ่มต้นทุนในการนำเข้า การกระจายสินค้าภายในประเทศมีกฎระเบียบจำนวนมาก ซึ่งแต่ละมณฑลก็จะมีกฎระเบียบที่แตกต่างกันและมีการเปลี่ยนแปลงอยู่บ่อยๆ หากต้องการดำเนินธุรกิจในประเทศจีนและมีการขายสินค้า ให้ครอบคลุมหลายมณฑล ต้องขอใบอนุญาตแต่ละมณฑลเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ รวมทั้ง อุปสงค์และอุปทานของจีนเป็นสิ่งที่พยากรณ์ได้ยาก เพราะเป็นประเทศที่ตลาดมีพลังขับเคลื่อนที่เป็นแบบทวิลักษณ์ คือ มีการเพิ่มอุปสงค์ส่วนเกินในตลาดอย่างรวดเร็ว ขณะที่บางพื้นที่ก็จะมีอุปสงค์ที่ไม่พอเพียง คือ Demand และ Supply ในตลาด มีทั้งส่วนเกินและขาดในเวลาเดียวกัน ซึ่งเกิดจากปัญหาการกระจายรายได้ โดยการเปลี่ยนแปลงด้านอุปสงค์และอุปทานจะเป็นไปอย่างไม่เป็นระบบ เพราะประชาชนมีจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะยากจน และมีการเคลื่อนย้ายไป-มา

ต้นทุนโลจิสติกส์ในประเทศจีนสูงกว่าประเทศในตะวันตกเป็นอย่างมาก แต่ละอุตสาหกรรมก็มีต้นทุนที่ไม่เท่ากัน เมื่อเทียบกับประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว ต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศจีนสูงกว่าสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมาก แต่ด้วยปัจจัยด้านค่าแรงต่ำและการพัฒนาของจีน ทำให้เศรษฐกิจของจีนมีการเติบโตสูงติดต่อกันเป็นเวลากว่าสิบปี โดยสาเหตุของการเติบโตอย่างก้าวกระโดด เป็นผลมาจากตลาดรวมที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ความต้องการของตลาดภายในที่มีจำนวนถึง 1,300 คน ธุรกิจในประเทศจีนมีการแข่งขันด้านต้นทุนมากที่สุด ดังนั้น นักลงทุนไทยที่จะไปดำเนินธุรกิจในจีนแบบยั่งยืนจะต้องเป็นธุรกิจหลักที่ตนเองมีความแข็งแกร่ง ทั้งนี้ อุปสรรคในการประกอบธุรกิจในประเทศจีน จะต้องสามารถคำนวณความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยต้องสามารถมองเห็นความล้มเหลวที่เลวร้ายที่สุดไว้ล่วงหน้าเพราะโอกาสที่จะประสบความล้มเหลวในการดำเนินธุรกิจในจีนจะมีมาก ระบบทุนนิยมของประเทศจีน ไม่ได้อาศัยกลไกการตลาดมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว โดยรัฐบาลจะเข้าไปแทรกแซงระบบการผลิต สินค้าซึ่งเป็นสินค้าที่จำเป็นพื้นฐานจะถูกควบคุมราคาโดยรัฐบาลจีน การผลิตในจีนยังเน้นปริมาณการผลิตสูง เพื่อให้ราคาต่อหน่วยต่ำ สินค้าจีนจึงมีราคาถูก จีนมีการผลิตสินค้า Low Grade ซึ่งผลิตให้สำหรับคนในประเทศจีนใช้ ที่เหลือจึงส่งออกทำรายได้เข้าประเทศ ถึงแม้ว่าค่าแรงของการผลิตในประเทศจีนจะเพิ่มขึ้น สินค้าจากประเทศไทยตามข้อตกลง FTA จีน-อาเซียน ก็ไม่มีทางไปแย่งตลาดได้

2. Green Logistics

Green Logistics หรือโลจิสติกส์เพื่อสิ่งแวดล้อมได้เริ่มมีบทบาทต่อกระบวนการค้า การขนส่ง และการส่งมอบสินค้า เป็นแนวโน้มของโลกในการให้ความสำคัญต่อการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาผลาญพลังงานในรูปแบบต่างๆในภาคการขนส่ง รวมถึงการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ไปทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลืองและไม่คุ้มประโยชน์ กระแสของ Green Logistics เป็นการให้ความสำคัญต่อมิติการบริหารจัดการโลจิสติกส์ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ที่จะมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาวะโลกร้อน รวมถึง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกิดจากกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ โดยที่กิจกรรมโลจิสติกส์จะเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้าย รวบรวม จัดเก็บ กระจายสินค้า ซึ่งเกี่ยวข้องกับภาคการขนส่งไม่ว่าจะเป็นการใช้โหมดการขนส่งประเภทใด ซึ่งส่วนใหญ่ก็ยังใช้พลังงานในรูปของน้ำมันฟอสซิล ขณะที่ภาคการผลิตได้เริ่มหันกลับไปใช้พลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานอื่น ซึ่งส่วนหนึ่งได้มีการพัฒนาไปสู่พลังงานที่ได้จากแสงแดด พลังงานลม ขณะที่ภาคขนส่งยังต้องพึ่งพิงการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งจะปล่อยของเสียกลับไปในรูปของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

          นอกจากนี้ กิจกรรมการเคลื่อนย้าย และการจัดเก็บสินค้าในภาคโลจิสติกส์ ยังเกี่ยวข้องกับการใช้บรรจุภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งกว่าร้อยละ 86-88 จะอยู่ในรูปกล่องกระดาษหรือแพคเกจจิ้งที่ทำจากกระดาษ ซึ่งวัตถุดิบที่สำคัญในการผลิตกระดาษก็จะเป็นการใช้เยื่อไม้ ซึ่งล้วนแต่เป็นทรัพยากรทางธรรมชาติ    Green Logistics จึงมุ่งเน้นไปที่การนำวัสดุที่ใช้ในการบรรจุภัณฑ์ให้สามารถนำไป     รีไซเคิลใหม่ และพยายามหลีกเลี่ยงบรรจุภัณฑ์ที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ไม้พาเลทหรือแท่นรองสินค้า ซึ่งถือเป็นอุปกรณ์สำคัญในการลำเลียงสินค้า ทั้งในคลังสินค้าและการขนส่ง ส่วนใหญ่ยังทำจากวัสดุที่เป็นไม้ ถึงแม้ว่าไม้เหล่านั้นจะมาจากการทำสวนเกษตร แต่ก็ยังเป็นการรบกวนสิ่งแวดล้อม ซึ่งแนวคิดสมัยใหม่กระแสของไม้พาเลทที่ทำจากพลาสติกหรือกระดาษกำลังเริ่มได้รับความนิยม เพราะสามารถนำกลับมา Re-Use และหรือนำกลับมา Recycle ได้อีก

ปัจจุบันในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ได้เริ่มมีข้อจำกัดทางการค้าที่เกี่ยวข้องกับ Green Logistics โดยเริ่มออกมาเป็นมาตรการให้ผู้นำเข้ามีความเข้มงวดในการเลือกใช้ซัพพลายเออร์ที่มีระบบ Green Logistics ซึ่งกระแสนี้จะยิ่งมาแรงเห็นได้จากมาตรการการนำเข้าสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ จะเริ่มมีการกำหนดให้ผู้นำเข้าจะต้องมีกระบวนการในการทำลาย หรือส่งกลับคืนซาก ให้กับประเทศที่ส่งออก ซึ่งกระบวนการโลจิสติกส์ เรียกว่า “Reverse Logistics” ซึ่งศัพท์นี้ก็มีความหมายที่กว้างกว่านี้มาก นอกจากนี้ หลายประเทศเริ่มมีมาตรการรังเกียจการใช้ไม้ปิดหน้าตู้คอนเทนเนอร์และหรือการใช้แผ่นพาเลทที่ทำจากไม้ ซึ่งถือว่าไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะนอกจากเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและอาจมีการปนเปื้อนแมลงที่ฝังอยู่ในเนื้อไม้ ไปกระทบกับสิ่งแวดล้อมในประเทศนั้นๆ เช่น ประเทศออสเตรเลีย และยุโรปบางประเทศ ก็ห้ามมีการใช้วัสดุเหล่านี้

3. โลจิสติกส์ จีน-ไต้หวัน

ภาวะตลาดทั่วไป

ไต้หวันถือเป็นประเทศที่มีการพัฒนาด้านโลจิสติกส์ในระดับแนวหน้าประเทศหนึ่งของโลก อันเนื่องจากแนวคิดในการบริหารธุรกิจสมัยใหม่ที่เน้นการสร้างประสิทธิภาพของการบริหารห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Management) ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งเป็นที่นิยมมากในไต้หวัน ไต้หวันพึ่งพาการขนส่งสินค้าทางทะเลในการขนถ่ายสินค้ามากที่สุด โดยมีท่าเรือพาณิชย์สากลอยู่ 7 แห่งทั่วเกาะ ท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดคือท่าเรือเกาสงซึ่งมีปริมาณขนถ่ายสินค้ามากกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณขนถ่ายของท่าเรือทั่วประเทศ และจากสถิติในปี 2007 ปริมาณขนถ่ายสินค้าทางทะเลของไต้หวันคิดเป็นปริมาณรวม 267.32 ล้านเมตริกตัน แบ่งเป็นการขนถ่ายในประเทศ และระหว่างประเทศ 222.13 ล้านเมตริกตัน โดยผู้ประกอบการรายสำคัญในธุรกิจขนส่งทางทะเลของไต้หวันคือ Evergreen Marine Corp. ซึ่งมีเรือขนส่งสินค้าประมาณ 120 ลำ Yang Ming Marine Transport Corp. (แปรรูปจากรัฐวิสาหกิจในปี 2539) มีเรือขนส่งสินค้าประมาณ 85 ลำ Wan Hai Lines Ltd. มีเรือสินค้าประมาณ 69 ลำ และ U-Ming Marine Transport Corp. มีเรือสินค้าประมาณ 69 ลำ

ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ธุรกิจไต้หวันที่ลงทุนในพื้นที่เลียบชายฝั่งทะเลตะวันออกของจีนมีแนวโน้มเคลื่อนย้ายสู่ภาคกลางและภาคตะวันตกอย่างชัดเจน โดย “โลจิสติกส์” ถือเป็น 1 ในธุรกิจที่ชาวไต้หวันสนใจเข้าลงทุนในเขตฯ กว่างซีจ้วงมากที่สุด ตามที่ได้รับรายงาน นักธุรกิจชาวไต้หวันมีสนใจเข้าลงทุนโครงการต่าง ๆ ในเขตฯ กว่างซีจ้วง อาทิ การเกษตร ซีเมนต์ โลจิสติกส์ การท่องเที่ยว การแปรรูปไม้ การแปรรูอลูมิเนียม อสังหาริมทรัพย์ การผลิตอะไหล่รถยนต์ และซุปเปอร์มาร์เก็ต ฯลฯ

นายเฉิน จี๋เมิ่ง (Chen Ji Meng) รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ สำนักงานกิจการไต้หวัน รัฐบาลเขตฯ กว่างซีจ้วง กล่าวว่า ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา เศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศจีนกับกลุ่มประเทศอาเซียนมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น ภายหลังการจัดตั้งเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน การค้าระหว่าง 2 ฝ่ายเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว การรุ่งเรืองทางการค้านำมาซี่งความต้องการด้านโลจิสติกส์ ตลาดโลจิสติกส์ระหว่างจีนกับอาเซียนจึงได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างมาก นักธุรกิจชาวไต้หวันจึงเร่งเข้าลงทุนบริเวณพรมแดน จีน-เวียดนาม และพื้นที่อ่าวเป่ยปู้

เรียบเรียงข้อมูลโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


แท็ก Investment   logistic   china   Trade   GIS  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ