SMEs จะอยู่อย่างไรในลุ่มแม่น้ำจูเจียง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 18, 2011 14:31 —กรมส่งเสริมการส่งออก

จากผลการสำรวจที่จัดทำขึ้นโดยโรงเรียนนานาชาติเพื่อการพัฒนาของมหาวิทยาลัยปักกิ่งและกลุ่มอาลีบาบา ซึ่งทำการสำรวจวิสาหกิจขนาดย่อมจำนวน 3,000 แห่ง บริเวณลุ่มแม่น้ำจูเจียง ที่มีรายได้ต่อปีมากกว่า 30 ล้านหยวน (4.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และจ้างพนักงานไม่เกิน 100 คน พบว่าต่างมีความท้อแท้ต่อผลกำไรของกิจการในปีนี้ เนื่องมาจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาต้นทุนสินค้าที่เพิ่มขึ้นและการขาดสภาพคล่องทางการเงิน นอกจากนั้นยังคาดว่าผลกำไรเฉลี่ยจะลดลงร้อยละ 30 เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาเนื่องมาจากปัญหาภายในประเทศและสถานการณ์เศรษฐกิจโลก

นาย Zhou Qiren ผู้อำนวยการโรงเรียนนานาชาติเพื่อการพัฒนาของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ซึ่งสรุปผลการสำรวจครอบคลุมเมืองอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ กว่างโจว ฝอซาน ตงก่วน เสิ่นเจิ้น และจูไห่ ในเดือนกันยายน กล่าวว่า วิสาหกิจฯมีผลกำไรลดลงและประสบปัญหาในการบริหารจัดการ โดยหลายคนเชื่อว่าสถานการณ์จะเลวร้ายลงยิ่งกว่าวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งล่าสุด ยิ่งไปกว่านั้นวิสาหกิจฯมากกว่าร้อยละ 70 ประสบปัญหาหนักจากราคาต้นทุนสินค้าที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 20-50 จากปีที่ผ่านมา

นาย Feng Jiang ผู้จัดการทั่วไปบริษัท Dongguan Xixi Fashion Co. กล่าวว่า ราคาวัตถุดิบสำหรับการผลิตเสื้อผ้าเพิ่มสูงขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 30 ทำให้ต้องลดปริมาณการผลิตลงในปีนี้ ซึ่งราคาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นตลอดจนการจำกัดเวลาในการจ่ายเงินของผู้จัดส่งวัตถุดิบ ทำให้วิสาหกิจฯจำนวนมากประสบปัญหาในการบริหารสภาพคล่องทางการเงิน ผลการสำรวจยังพบว่ามียอดการสั่งซื้อเฉลี่ยลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 30

นาย Li Shizhong ผู้จัดการทั่วไปบริษัท Caizhi Wares Co. ในเมือง Shunde มณฑลกวางตุ้ง ซึ่งมีรายได้ต่อปีประมาณ 3 ล้านหยวน โดยร้อยละ 25 เป็นการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ กล่าวว่า ยอดการสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลงร้อยละ 50 ในปีนี้เนื่องจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และยอดการสั่งซื้อภายในประเทศก็ลดลงเพราะนโยบายของรัฐที่เข้มงวดขึ้นในส่วนของที่อยู่อาศัย ผลสำรวจพบว่ามีเพียงร้อยละ 33 ของวิสาหกิจฯที่มีการผลิตเต็มกำลัง และร้อยละ 27 ลดกำลังการผลิตลงครึ่งหนึ่ง

นาย Xiong Shike ผู้จัดการฝ่ายขายบริษัท Guangdong Enkong Machinery Co. ที่มีพนักงานประมาณ 300 คน กล่าวว่า บริษัทต้องยกเลิกการขยายสายการผลิตในปีนี้ และอาจต้องปลดพนักงานออกเนื่องจากมีการลดกำลังการผลิตลง ผลการสำรวจยังพบว่าวิสาหกิจฯในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำแยงซี มีองค์กรทางการเงินที่คอยช่วยเหลือในการซื้อขายเป็นจำนวนมาก ต่างจากวิสาหกิจฯในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำจูเจียงที่ร้อยละ 50 ไม่เคยมีการค้าขายกับองค์กรทางการเงิน เพราะมีช่องทางที่จำกัด และต้องจัดการกับปัญหาสภาพคล่องทางการเงินด้วยตนเอง

ข้อคิดเห็นของ สคต. กวางโจว

ในส่วนของวิสาหกิจขนาดย่อมของประเทศไทยนั้น พบว่าประสบปัญหาราคาต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นและการขาดสภาพคล่องทางการเงินเช่นเดียวกัน แต่ได้มีการช่วยเหลือด้วยมาตรการต่าง ๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชนเช่น การหาช่องทางการตลาดโดยการจัดแสดงสินค้าในต่างประเทศ หรือการให้สินเชื่อแก่วิสาหกิจฯเพิ่มมากขึ้นจากธนาคารพาณิชย์ภายในประเทศ ทั้งนี้ผู้ประกอบการของไทยเองจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการที่ดีและพัฒนาสินค้าให้ทันต่อการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นและสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำลงด้วย

แหล่งที่มา : หนังสือพิมพ์ CHINA DAILY ฉบับวันอังคารที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2554 หน้า 16

สคต. ณ เมืองกวางโจว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ