นายกฯยิ่งลักษณ์เยือนพม่า ดันเขตเศรษฐกิจพิเศษ — โปรเจ็คยักษ์

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 18, 2011 14:32 —กรมส่งเสริมการส่งออก

นายกฯยิ่งลักษณ์เยือนพม่า ดันเขตเศรษฐกิจพิเศษ — โปรเจ็คยักษ์ รอข่าวดีเปิดจุดผ่านแดนถาวรที่บ้านพุน้ำร้อน เชื่อขยายการค้าลงทุนมหาศาล กรมส่งออกฯยันจัดงานแฟร์ในพม่า หลังรัฐบาลหม่องไฟเขียวใช้ย่างกุ้งปูพรมในรอบ 6 ปี ชี้พม่าเล็งเห็นโอกาสเออีซีบูมแน่ในปี 58

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศไทยว่า จะไม่กระทบกับการจัดงานไทยแลนด์ เอ็กซิบิชั่นในพม่า ระหว่างวันที่ 15-18 ธันวาคมนี้ ณ กรุงย่างกุ้ง ที่จะจัดเป็นครั้งแรกรอบ 6 ปี ซึ่งทางสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ(สคร.)อยู่ระหว่างประกาศเชิญชวนให้ผู้ประกอบการสินค้ากลุ่มต่างๆ ของไทยเข้าร่วมงานในครั้งนี้ ในพื้นที่กว่า 100 คูหา นับเป็นโอกาสอันดีที่ผู้ประกอบการไทยจะเข้าไปขายสินค้าทั้งขายปลีก รวมถึงหาคู่ค้าเพื่อเจาะตลาดพม่าที่มีตลาดค่อนข้างใหญ่ มีผู้บริโภคกว่า 60 ล้านคน

“ขณะที่ผลจากที่อาเซียน ซึ่งมีพม่าเป็นหนึ่งในสมาชิกจะรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 เวลานี้ได้ส่งผลให้ผู้ประกอบการพม่ามีความตื่นตัวที่จะหาคู่ค้า เพื่อทำธุรกิจเป็นจำนวนมาก” นางนันทวัลย์ กล่าว

ด้านสำนักงานการส่งออกภาคใต้ (หาดใหญ่และสุราษฎร์ธานี) นางนันทวัลย์ กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมในปัจจุบันยังไม่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกโดยตรง มีแต่เพียงจ.ระนองได้รับผลกระทบในด้านระบบการขนส่ง เนื่องจากช่องทางการขนส่งสินค้าไปประเทศพม่าเกิดการชำรุดเสียหาย ทำให้ไทยส่งของไปยังพม่าได้ค่อนข้างช้าลง เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบยาวจนถึงธันวาคมที่จะมีการจัดงานแสดงสินค้าแต่อย่างใด และสำนักงานฯจะร่วมประชุมกับหอการค้าไทยเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาต่อไป

สำหรับสำนักงานการส่งออกภาคตะวันออก (จันทบุรี) ได้รับรายงานว่า โดยรวมสถานการณ์น้ำท่วมยังไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการส่งออก ขณะนี้ได้เฝ้าจับตาจ.ปราจีนบุรี ซึ่งผลผลิตทางการเกษตรค่อนข้างมาก อาจจะได้รับผลบ้าง ส่วนจ.ระยองได้รับผลกระทบเรื่องระบบขนส่งที่เส้นทางบางเส้นทางถูกตัดขาดด้วยกระแสน้ำ อย่างไรก็ตามช่วงนี้ไม่ใช่ฤดูผลไม้ จึงไม่ส่งผลกระทบในด้านการเน่าเสีย อย่างไรก็ตามได้เตรียมพร้อมรับมือ เพื่อแก้ปัญหาร่วมกับภาครัฐและเอกชนอย่างใกล้ชิดแล้ว

นายประจวบ สุภินี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณกรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า กล่าวว่า สินค้าเป้าหมายที่จะไปจัดงานในพม่าครั้งนี้ เป็นสินค้าทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มอาหาร และวัสดุก่อสร้างถือเป็นสินค้าจำเป็น เนื่องจากพม่าเป็นตลาดที่ค่อนข้างใหญ่ กำลังซื้อแนวโน้มเพิ่มขึ้นตลอด ผ่านมามีคนไปเสนอขายค่อนข้างน้อยนักธุรกิจรายใหญ่ในพม่ามีญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ มาเลเซียที่ทั้งเข้าไปลงทุน และส่งสินค้าไปจำหน่าย ในส่วนของสินค้าไทยในพม่าถือว่าได้รับความนิยม แม้ผู้ประกอบการไทยให้ความสนใจตลาดพม่าน้อย มีเพียงแค่ใครต้องการซื้อก็ขายไป ไม่ได้สนใจเข้าไปทำกิจกรรมการตลาด หรือวางแผนการตลาดจริงจังในระยะยาว

“เคล็ดลับการเริ่มต้นทำธุรกิจในพม่า นักธุรกิจไทยต้องหาคู่ค้าตัวจริงให้ได้ก่อน เมื่อธุรกิจขยายตัวมีพันธมิตรที่เข้มแข็ง ก็จะเกิดดุลพินิจเองว่า จะลงทุนต่อยอดในพม่าเพิ่มอีกหรือไม่ ในส่วนของการลงทุนของไทยในพม่า ปัจจุบันมีบริษัทขนาดใหญ่ของไทยไปลงทุนแล้ว อาทิ เครือเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี) ลงทุนส่งเสริมเพาะปลูกพืชไร่ การเพาะเลี้ยงไก่การทำฟาร์มกุ้งและโรงงานอาหารสัตว์ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ที่เข้าไปลงทุนด้านการสำรวจขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น ส่วนการลงทุนจากประเทศอื่นๆในพม่าอันดับ1 คือจีน อันดับ 2 เกาหลีใต้ และอันดับ 3 คือสิงคโปร์”นายประจวบ กล่าว

กรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางเยือนพม่าในโอกาสเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น ได้เข้าพบกับ พล.อ.เต็ง เส่ง ประธานาธิบดีพม่า ที่กรุงเนย์ปีดอว์นั้น จะหารือในหลายประเด็น อาทิ การผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมแม่สอด-เมียวดี การสร้างความร่วมมือในการขับเคลื่อนและสนับสนุนเส้นทางคมนาคมจากนครแม่สอดไปเมียวดี เชิงเขาตะนาวศรีไปจนถึงเมืองกอกาเรก และร่วมส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพระบบโลจิสติกส์ เพื่อให้การค้าและการลงทุน รวมทั้งการท่องเที่ยวชายแดนไทยพม่าเดินหน้าไปด้วยดี ส่งเสริม สนับสนุนและกระตุ้นเศรษฐกิจชายแดนอย่างเป็นระบบ และเป็นเมืองหน้าด่านประตูการค้าระหว่างประเทศ

รายงานจากกระทรวงพาณิชย์แจ้งว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมเปิดจุดผ่านแดนถาวรที่บ้านพุน้ำร้อน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนตุลาคมนี้ เช่นเดียวกับการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษที่แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ 1.ด้านการบริหาร เช่น สิทธิพิเศษทางภาษี การจ้างแรงงาน และการตั้งศูนย์ราชการ และ 2.การตั้งนิคมอุตสาหกรรม เพื่อให้เป็นฐานอุตสาหกรรมโดยใช้พื้นที่ราชพัสดุ เขตทหาร ที่ยื่นขอดำเนินการได้ และการคมนาคม โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ มี 4 เรื่องที่จะดำเนินการ คือ 1.สร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหรือมอเตอร์เวย์ช่วงบางใหญ่-บ้านโป่ง 2.การขยายถนนเส้นทางต่าง ๆ เช่น ทองผาภูมิ-กาญจนบุรี 3.การพัฒนาระบบราง ที่สถานีหนองตาบ่ม ท่าม่วงให้เป็นไอซีดีขนถ่ายสินค้า และ 4.การขนส่งทางอากาศกับการพัฒนาสนามบินต่าง ๆ ในพื้นที่โดยเฉพาะสนามบินทหารให้เป็นสนามบินเพื่อการพาณิชย์ต่อไป

อนึ่งการค้าไทย-พม่ามีมูลค่าในปี 2553 ที่ผ่านมา สูงกว่า 155,600 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการส่งออก 65,631 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 25% ซึ่งส่งออก 8 เดือนแรก(มกราคม-สิงหาคม 2554) คิดเป็นมูลค่ากว่า 44,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% สินค้าส่งออกที่สำคัญ คือ น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องดื่ม เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ปูนซิเมนต์ เป็นต้น

ส่วนปี 2553 ไทยนำเข้าจากพม่า 90,000 ล้านบาท หรือ ลดลงกว่า 6% ช่วง 8 เดือนแรกนำเข้าเกือบ 64,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.8 % สินค้านำเข้าสำคัญก๊าซธรรมชาติ เนื้อสัตว์สำหรับการบริโภค ไม้ซุง ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ สินแร่โลหะอื่นและผลิตภัณฑ์ ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ เป็นต้น

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ