สำนักงานมณฑลกวางตุ้งได้จัดทำระบบชี้วัดความสุขขึ้นเพื่อเป็นแนวทางให้หน่วยงานราชการต่าง ๆ ช่วยเหลือประชาชนให้มีความสุขมากยิ่งขึ้น
นาย Xu Jianhua ผู้อำนวยการการพัฒนาจังหวัดและการปรับโครงสร้าง กล่าวระหว่างการประชุมเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า ระบบนี้นำไปสู่ความเข้าใจว่าอะไรคือองค์ประกอบของความสุข การสร้างสังคมที่มีสุขภาพจิตดีและมีความคาดหวังในชีวิตที่สมเหตุสมผล และจากความซับซ้อนในการวัดความสุขนี้เอง จึงได้แบ่งดัชนีชี้วัดออกเป็น 2 ด้าน คือด้านวัตถุและด้านตัวบุคคล โดยด้านวัตถุจะพิจารณาที่การจ้างงาน รายได้ การศึกษาและวัฒนธรรม การรักษาพยาบาลและสุขภาพ การบริโภคและที่อยู่อาศัย และการได้รับบริการทางสังคม ส่วนดัชนีชี้วัดด้านบุคคลจะพิจารณาที่ความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อการพัฒนาตนเอง คุณภาพชีวิต และจิตวิญญาณ
ดัชนีชี้วัดนี้จัดทำขึ้นจากผลการสำรวจประชาชนที่มีอายุระหว่าง 16 ถึง 65 ปี จานวน 6,900 คน ที่อาศัยอยู่ในมณฑลกวางตุ้งอย่างน้อย 1 ปี โดยจะนำดัชนีความสุขนี้ไปใช้ในการประเมินผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐ และจะมีการตีพิมพ์ผลดัชนีปี 2553 ภายในสิ้นปีนี้ นาย Xu Jianhua กล่าวเพิ่มเติมว่าการวัดดัชนีของความปลอดภัยในสังคม การปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ ตลอดจนเหตุการณ์ทางประเพณีต่าง ๆ สร้างความแตกต่างในการวัดของมณฑลกวางตุ้ง นาย Xing Xiaowei ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติประจำมณฑล กล่าวว่าถึงแม้วิธีการทางสถิติจะใช้วัดผลทางวัตถุเป็นส่วนใหญ่ แต่การคำนวณก็ถูกสร้างเพื่อวัดดัชนีอื่น ๆ ด้วย เช่น ไม่มีการวัดอัตราการบำบัดขยะในระดับที่ต่ำกว่าอำเภอและเมืองท่า และไม่มีดัชนีชี้วัดว่าภาครัฐช่วยชดเชยค่าที่อยู่อาศัยหรืออื่น ๆ จนกระทั่งเกิดมีขึ้นในปีนี้ นาย Ni Xing ศาสตราจารย์ประจำศูนย์วิจัยการบริหารภาครัฐ มหาวิทยาลัยซุนยัดเซ็นในกว่างโจว กล่าวว่าระบบนี้เกี่ยวข้องกับประเด็นสำคัญในการเปลี่ยนรูปเศรษฐกิจของจีน เช่น ความแตกต่างทางฐานะและข้อขัดแย้งทางสังคมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในการใช้ภาครัฐควรแยกแยะความจำเป็นของผู้คนที่แตกต่างกันและระมัดระวังว่าจะสามารถเผยแพร่ผลสำรวจที่แท้จริงได้หรือไม่ นอกจากนั้นระบบการวัดนี้จะมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อประชาชนและสังคมมีส่วนร่วมด้วย
ประเทศที่มีการใช้ดัชนีชี้วัดทางความสุข (Gross National Happiness) เป็นประเทศแรกในโลก คือประเทศภูฏาน ซึ่งริเริ่มโดย King Jigme Singye Wangchuck กษัตริย์ภูฏาน ตั้งแต่วันที่ทรงขึ้นครองราชย์ในปี ค.ศ. 1972 โดยยึดหลักว่าการพัฒนาสังคมมนุษย์ที่แท้จริงเกิดจากการพัฒนาทางด้านวัตถุและจิตใจควบคู่กันไป เพื่อเติมเต็มและส่งเสริมซึ่งกันและกัน GNH ในบริบทของภูฏานจึงเป็นรูปแบบการพัฒนาที่มุ่งเน้นการสร้างสภาพแวดล้อมที่ประชากรทุกคนมีโอกาสพบความสุขได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยมีหลักการสำคัญ 4 ประการ หรือ เสาหลักแห่งความสุขทั้งสี่ (Four pillars of happiness) คือ
- ประการที่ 1 การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียมและยั่งยืน (Sustainable economic development)
- ประการที่ 2 การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ (Conservation of Environment)
- ประการที่ 3 การส่งเสริมและสงวนรักษาวัฒนธรรมประเพณี (Preservation and Promotion of Culture)
- ประการที่ 4 การส่งเสริมการพัฒนาธรรมาภิบาล (Good Governance)
ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่า ณ ขณะนี้มณฑลกวางตุ้งในสาธารณรัฐประชาชนจีนได้มีการสร้างระบบเพื่อวัดความสุขของประชาชนภายในท้องถิ่น ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับประเทศภูฏานแล้ว เพราะความสุขที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงของประชาชนอาจไม่สามารถวัดได้จากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว และในอนาคตข้างหน้า หากว่าวิกฤตเศรษฐกิจของโลกยังคงรุนแรง และภัยธรรมชาติยังคงโหดร้ายต่อมนุษยชาติเช่นในปัจจุบัน ประเทศไทยอาจจะต้องหันมาให้ความสาคัญกับการวัดผลที่ก่อให้เกิดความสุขที่แท้จริงต่อประชาชนก็เป็นได้
สคต. เมืองกวางโจว
ที่มา: http://www.depthai.go.th