นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากจากอุทกภัยโดยตรงจนผลิตต่อไม่ได้ ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารที่มีพื้นที่เพาะปลูก เพาะเลี้ยง และ สินค้า OTOP ที่ไม่มีโรงงานเป็นกิจลักษณะ หรือสินค้าที่ต้องใช้วัตถุดิบจากท้องที่ เช่น หนังสัตว์ รวมทั้งอุตสาหกรรมหนัก พวกชิ้นส่วนยานยนต์ อิเลคโทรนิคส์ ที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดอยุธยา เช่น นิคมโรจนะ นิคมไฮเทค ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมเบา เช่น lifestyle เครื่องสำอาง ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นรายเล็กๆ จะได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากอุทกภัยที่มีผลกับยอดสั่งซื้ออีกทีมากกว่าผลกระทบโดยตรง เช่น โรงแรมสั่งซื้อสินค้าน้อย เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงจากอุทกภัย
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์น้ำท่วมในปัจจุบันส่งทำให้โกดังเก็บสินค้าหลายแห่งทั้งในกรุงเทพฯ ปริมาณฑล และต่างจังหวัด เกิดความเสียหาย ส่งผลกระทบให้ไม่สามารถขนย้ายวัตถุดิบและสินค้าไปยังพื้นที่จัดเก็บที่ปลอดภัย และขณะนี้ได้สั่งการให้สำนักโลจิสติกส์การค้าดำเนินการหาแนวทางการช่วยเหลือ บรรเทา ฟื้นฟูในลำดับต่อไป
ด้านนางเนตรปรียา ชุมไชโย ผู้อำนวยการสำนักจิสติกส์การค้า กรมส่งเสริมการส่งออก เผยว่า ขณะนี้ทางกรมฯ ได้ประสานไปยังสมาคมต่างๆ เพื่อให้ทำการสำรวจคลังสินค้าของสมาชิกที่ยังมีพื้นที่ว่างสามารถให้บริการแก่ผู้ประกอบการที่ประสบภัยน้ำท่วมได้ และทางกรมฯ ได้รับแจ้งรายชื่อคลังสินค้าที่มีพื้นที่ว่างในการเก็บสินค้าได้ดังนี้ Kerry Siam Seaport, Falcon, L.C.B. Eastern Development, JWD W/H, Lucky, DD Property, S.N. Asset Development, Eagle Air&Sea Thailand และ TAC Ocean Freight และทางกรมฯ จะเร่งประสานกับองค์กรและหน่วยงานที่อาจมีพื้นที่ว่างที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ เช่น การท่าอากาศยาน การท่าเรือ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาต่อไป
อย่างไรก็ดี ขณะนี้ทางกรมฯ ได้ประสานงานกับกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs เพื่อประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งได้หารือกับธนาคารกสิกรไทยซึ่งมีเครือข่ายสมาชิกผู้ประกอบธุรกิจ SMEs — OTOP กว่า 400,000 ราย โดยธนาคารแจ้งว่า กำลังดำเนินการยกร่างมาตรการโครงการ (Products) ที่จะใช้เป็นแนวทางให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัย อาทิ การชะลอการชำระหนี้ การพักชำระเงินต้น มาตรการให้กู้ยืมเพื่อฟื้นฟูภายหลังอุทกภัย พร้อมทั้งยินดีที่จะให้ความร่วมมือกับกรมฯ ในการลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งได้ประสานงานกับสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ เพื่อเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ซื้อและนักธุรกิจในต่างประเทศ และได้ดำเนินการประสานกับผู้ประกอบการในแต่ละกลุ่มสินค้า เพื่อประเมินความเสียหายเบื้องต้น ตลอดจนผลกระทบในแต่ละกลุ่มสินค้า พร้อมสรุปรายชื่อภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ โดยจะแจ้งให้กรมฯ ทราบเพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือต่อไป นางนันทวัลย์ กล่าวเพิ่มเติม
ผู้ประกอบการที่สนใจอยากทราบข้อมูลเพิ่มเติมสารมารถติดต่อได้ที่สำนักโลจิสติกส์การค้ากรมส่งเสริมการส่งออก โทร. 02-507-8427 หรือสายด่วน Call Center 1169
ที่มา: http://www.depthai.go.th