แม้ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ขนาดพื้นที่ไม่ใหญ่ แต่สามารถปลูกข้าวได้ทุกภูมิภาค ข้าวที่ปลูกเป็นสายพันธ์ Japonica ชั้นดี ผลผลิตข้าวปีละประมาณ 8 ล้านตัน มากเป็นอันดับที่ 7 ของโลก แปลงปลูกข้าวแต่ละรายโดยทั่วไปมีขนาดเล็ก เฉลี่ย 1.65 เอเคอร์ หรือ 4.125 ไร่ ต้นทุนการผลิตสูง ฤดูการผลิตข้าวในจังหวัดทางเหนือของประเทศเริ่มเพาะปลูกเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน เก็บเกี่ยวช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม พื้นที่ตอนกลางของประเทศเริ่มเพาะปลูกเดือนเมษายน-พฤษภาคม เก็บเกี่ยวช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม ส่วนทางใต้เริ่มเพาะปลูกตั้งแต่เดือนเมษายนพฤษภาคม เก็บเกี่ยวในเดือนสิงหาคม- กันยายน
เหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิวันที่ 11 มีนาคม 2554 ได้ก่อให้เกิดความเสียหายโดยตรงต่อพื้นที่เกษตรและอาคารสถานที่เพื่อการเกษตรรวม 39,323 แห่ง มูลค่า 7.9 แสนเยน ในเขต Tohoku ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ และจังหวัดรอบๆ โตเกียวในเขตคันโต
ผลกระทบสืบเนื่องจากอุบัติภัย ที่เกิดการรั่วไหลของสารกัมภาพรังสีจากโรงไฟฟ์านิวเคลียร์ในจังหวัด Fukushima ทางการญี่ปุ่นได้กำหนดแผนการตรวจสอบการปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีในข้าว ตั้งแต่การจำกัดพื้นที่เพาะปลูกจนถึงตรวจสอบหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า ข้าวฤดูใหม่ที่ผลิตออกจำหน่ายแก่ผู้บริโภคปลอดภัยจากกัมมันตภาพรังสี cesium ดังนี้
- กำหนดมาตรฐานข้าวปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสี cesium ไม่เกิน 500 Becquerel ต่อกิโลกรัม(Bq/kg.)
- เนื่องจากกัมมันตภาพรังสี cesium จากดินที่เพาะปลูกจะเข้าไปปนเปื้อนใน ข้าวกล้องในอัตรา 0.1 จึงห้ามปลูกข้าวในพื้นที่ที่มีกัมมันตภาพรังสี cesium ในดินเกินกว่า 5,000 Bq/kg.
- ผลผลิตข้าวในเมืองและหมู่บ้านที่มีการแผ่กระจายกัมมันตภาพรังสี cesium ในดินเกินกว่า 1,000 Bq/kg. หรือในบรรยากาศมากกว่า 0.1 micro-Sieverts ต่อชั่วโมง จะต้องผ่านการตรวจสารกัมมันตภาพรังสี ทั้งก่อนและหลังเก็บเกี่ยว ข้าวที่มีสารปนเปื้อนเกินระดับที่กำหนดไม่สามารถนำออกจำหน่ายได้ทั้งนี้ ข้าวจากจังหวัดที่ต้องผ่านการตรวจสอบระดับ cesium ก่อนนำออกจำหน่าย มีจำนวน 17 จังหวัด
มาตรฐานสัดส่วนสารกัมมันตภาพรังสีที่ทางการกำหนดนี้ ผู้บริโภคญี่ปุ่นจำนวนมากเห็นว่าไม่เข้มงวดพอ โดยผลจากการสำรวจของ Japan Finance Corp. เมื่อเดือนกันยายน 2554 พบว่า ผู้บริโภคร้อยละ 37 จะไม่ซื้ออาหารสดที่ผลิตจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสารกัมมันตภาพรังสี มีเพียงร้อยละ 28.2 ที่ไม่กังวลเรื่องความปลอดภัยของอาหารจากพื้นที่ดังกล่าว
เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภค ผู้ผลิต ผู้ค้าปลีกอาหาร รวมทั้งเครือซุปเปอร์มาร์เก็ต บางรายกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยของอาหารขึ้นเองเข้มงวดกว่าที่ทางการกำหนด บางรายกำหนดมาตรฐาน สาร cesium ในข้าวไม่เกิน 50 Bq/kg.
จากปัจจัยที่ พื้นที่ปลูกข้าวที่ปลอดภัยจากสารกัมมันตภาพรังสีลดลง ทำให้ผู้ค้าส่งคาดการณ์ว่าปริมาณผลผลิตปี 2554 ลดลงจากปีก่อน ราคาฤดูใหม่ จึงมีราคาสูงขึ้นกว่าปีที่แล้วประมาณร้อยละ 10-15
ข้าวพันธุ์ Koshihikari จากจังหวัด Nigata ซึ่งถือเป็นข้าวญี่ปุ่นคุณภาพดีที่สุด ราคาขายส่งอยู่ที่ 17,500 เยนต่อ 60 กก. ราคาสูงกว่าข้าวในฤดูเก็บเกี่ยวปี 2553 ร้อยละ 17 ขณะที่ข้าวพันธุ์ Akitakomachi จากจังหวัด Akita ราคาขายส่งสูงขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 21 เป็น 15,250 เยนต่อ 60 กก.
ราคาขายส่งที่สูงขึ้นผลักภาระไปสู่ระดับค้าปลีกในอัตราที่น้อยกว่า กล่าวคือ ซุปเปอร์มาร์เก็ตของบริษัท Inageya ในโตเกียวขายข้าว Koshihikari จากจังหวัด Nigata ในราคา 2,580 เยนต่อ 5 กก. แพงกว่าปีที่แล้วร้อยละ 10 ส่วนเครือซุปอร์มาร์เก็ตอื่นๆ จำหน่ายปลีกข้าวแพงขึ้นจากปีก่อน 200 เยนหรือต่ำกว่า
อย่างไรก็ดี ล่าสุดปรากฎว่าดัชนีปริมาณการเกี่ยวข้าวของญี่ปุ่น ปี 2554 เท่ากับ 101 หรืออยู่ในระดับใกล้เคียงกับปริมาณโดยเฉลี่ย คาดว่าผลผลิตรวมทั้งประเทศประมาณ 8.16 ล้านตัน มากกว่าความต้องการที่รัฐบาลประมาณการณ์ไว้ 110,000 ตัน ดังนั้น ปริมาณการผลิตที่เพียงพอ และครัวเรือนได้สำรองข้าวไว้พอสมควร คาดกันว่าราคาข้าวใหม่จะโน้มลดลงสู่ระดับปกติ
ญี่ปุ่นส่งออกข้าวปีละไม่เกิน 50,000 ตัน ตลาดหลักของข้าวญี่ปุ่น ได้แก่ ฮ่องกง สิงคโปร์ ไต้หวัน รวมทั้งจีน ก่อนเหตุการณ์ 11 มีนาคม 2554 ญี่ปุ่นตั้งเป์าจะขยายการส่งออกข้าว โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดจีนให้ได้ ปริมาณ 200,000 ตันต่อปี แต่ผลกระทบจากอุบัติภัยครั้งใหญ่ทำให้ผลลิตข้าวเพื่อส่งออกในบางพื้นที่ลดลง กอรปกับประเทศ ผู้นำเข้า เช่น จีน ระงับการนำเข้าข้าวจากญี่ปุ่น ทำให้การส่งออก 8 เดือนแรก (มกราคม-สิงหาคม) ปีนี้ ปริมาณ 6,223 ตัน มูลค่า 7.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปริมาณและมูลค่าลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 41.6 และ 20.6 ตามลำดับ
การนำเข้าข้าวของญี่ปุ่นกำกับดูแลโดยกระทรวงเกษตร ประมง และป่าไม้ ซึ่งญี่ปุ่นมีพันธกรณีภายใต้ WTO ต้องนำเข้าข้าวจากต่างประเทศปีละ 682,000 ตัน ซึ่งประกอบด้วย 2 ส่วน ส่วนแรก General Import (GI) คือข้าวที่นำเข้าไปใช้แปรรูปในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น สาเก มิโซ ขนมขบเคี้ยวประเภท แซมเบ้ อาราเร่ เป็นต้น รวมทั้งการสำรอง และบริจาค ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ กำหนดปริมาณไว้ 582,000 ตัน ส่วนที่ 2 Simultaneous Buy & Sale (SBS) เป็นข้าวที่นำเข้าเพื่อจำหน่ายสำหรับการบริโภค หรือเรียกว่า Table Rice จำนวน 100,000 ตัน การนำเข้าภายใต้โควตาดังกล่าวไม่มีภาษีนำเข้าทางการญี่ปุ่นรับ margin จากการประมูล ส่วนการนำเข้านอกโควตาเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 341 เยนต่อกิโลกรัม
ในช่วง 6 เดือนครึ่งของปีงบประมาณนี้ ตั้งแต่ 1 เมษายน-14 ตุลาคม 2554 กระทรวงเกษตรฯ ญี่ปุ่นเปิดประมูลนำเข้าข้าว แบบ GI แล้ว 4 ครั้ง ปริมาณ 174,000 ตัน และแบบ SBS 1 ครั้ง 22,202 ตัน รวมทั้งสิ้น 196,202 ตัน ข้าวที่ผ่านการประมูลเป็นข้าวจากสหรัฐฯ 109,402 ตัน ของไทย 48,898 ตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 55.76 และ 24.92 ที่เหลือเป็นข้าวจากออสเตรเลีย และจีน ร้อยละ 12.23 และ 7.09 ตามลำดับ
สัดส่วนข้าวจากประเทศไทยปีนี้ลดลงจากปีงบประมาณ 2553 (1 เมษายน 2553 -31 มีนาคม 2554 ) ที่ข้าวจากไทยผ่านการประมูลเพิ่มขึ้นมากเป็นร้อยละ 45.37 ใกล้เคียงกับข้าวจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 1 ของญี่ปุ่นที่มีสัดส่วนร้อยละ 46.81 ขณะที่ ออสเตรเลีย และจีน มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 5.31 และ 2.43 ตามลำดับ ที่เหลือไม่ถึงร้อยละ 0.1 มาจากปากีสถาน อินเดียและอิตาลี
ข้าวที่ญี่ปุ่นนำเข้าส่วนใหญ่เป็นข้าวสาร ปริมาณข้าวหักและข้าวเหนียวมีเพียงเล็กน้อย ข้าวสารจากไทยเป็นข้าวเมล็ดยาวซึ่งเป็นสายพันธ์ Indica ขณะที่ข้าวจากสหรัฐฯ ออสเตรเลีย และจีน เป็นข้าวสายพันธ์ Japonica ชนิดเมล็ดกลางและเมล็ดสั้น
ราคาประมูลนำเข้าข้าวในปี 2554 นี้ ไม่แตกต่างจากราคาในปีก่อน ข้าวจากประเทศไทยมีราคาถูกกว่าข้าวจากแหล่งอื่น กล่าวคือ
- ข้าวสารเมล็ดยาวจากประเทศไทย ราคาเฉลี่ยประมูลนำเข้าแบบ GI อยู่ระหว่าง 45,000-54,000 เยนต่อตัน ประมูลนำเข้าแบบ SBS ราคาซื้อ 74,000-130,000 เยนต่อตัน
- ข้าวจากประเทศอื่นๆ ประมูลนำเข้าแบบ GI ราคาข้าวสารเมล็ดกลางอยู่ระหว่าง 74,000-83,000 เยนต่อตัน สำหรับข้าวที่ประมูลแบบ SBS ส่วนใหญ่เป็นข้าวสารเมล็ดสั้นราคาซื้อระหว่าง 148,000-175,000 เยนต่อตัน
การนำเข้าข้าวของญี่ปุ่นมีข้อจำกัดในการขยายตัว แม้ข้าวญี่ปุ่นมีราคาแพงเพราะต้นทุนการผลิตสูง แต่ ข้าวนำเข้าจากประเทศต่างๆ แข่งขันกับข้าวภายในประเทศได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากมาตรการนำเข้า ทั้งการจำกัดปริมาณภายใต้โควตาที่ต้องประมูลผ่านกลไกกระทรวงเกษตรฯ ญี่ปุ่น และอัตราภาษีนอกโควตาที่มีอัตราสูง ทำให้ราคาข้าวนำเข้าสูงกว่าหรือใกล้เคียงราคาข้าวในประเทศ อย่างไรก็ตาม การรักษาคุณภาพ ให้เป็นที่ยอมรับและมั่นใจแก่ทั้งผู้นำเข้า อุตสาหกรรมแปรรูปที่ใช้ข้าวเป็นวัตถุดิบ ตลอดจนผู้บริโภค เป็นปัจจัยสำคัญที่ไทยจะสามารถเพิ่มส่วนแบ่งการนำเข้า ขยายการส่งออกมายังตลาดนี้ได้
สำหรับการประสบอุทกภัยครั้งใหญ่ในประเทศไทยปีนี้ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตข้าวนาปีของไทย และในฐานะที่ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลกจะส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดโลกสูงขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลสืบเนื่องให้ราคานำเข้าของญี่ปุ่นสูงขึ้นไปด้วย
- Grain Trade Division, General Food Bureau, Ministry of Agriculture, Forestry and Fisheries
- "The Damage caused by the Great East Japan Earthquake and Actions taken by Ministry of Agriculture, Forestry and Fisheries", www.maff.go.jp
- Japan Customs, Ministry of Finance
- "Rice farmers plan tough new radiation limits" page 2, The Japan Times, October 15, 2011
- "New Rice Hits Store With 10-15 % Price Markup From Last Year" Nikkei Online, October 10, 2011
- "Food Safety Fears Hard to Shake" Nikkei Online, October 3, 2011
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว
ที่มา: http://www.depthai.go.th