สรุปภาวะเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของเขตตอนกลางของสหรัฐอเมริกา ในช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 2, 2011 15:51 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. ภาวะเศรษฐกิจของเขตตอนกลางของประเทศสหรัฐฯ

พื้นที่เขตตอนกลางของประเทศ (Midwest) สหรัฐฯ เป็นหัวใจเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เนื่องจากเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญที่สุด ทั้งภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรม ในช่วงเดือนมกราคมมิถุนายน 2554 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจของเขตตอนกลางของประเทศถือได้ว่า แข็งแกร่งและขยายตัวอย่างต่อเนื่องมากกว่าทุกภูมิภาคของประเทศ ภาคเกษตรกรรมซึ่งเป็นหลักของภูมิภาค มีผลผลิตเพิ่มขึ้น การส่งออกขยายตัว ในด้านอุตสาหกรรมหนัก เช่น อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ เครื่องจักรกล และ เคมีภัณฑ์ ขยายตัวในอัตราสูง เป็นผลดีต่อการจ้างงานและการเพิ่มรายได้ของผู้บริโภค

อัตราการว่างงาน (Unemployment) ในระดับต่ำ เป็นดัชนีสำคัญที่บ่งบอกให้เห็นถึง ความมั่งคงของเศรษฐกิจในเขตตอนกลางสหรัฐฯ ในช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน 2554 ที่ผ่านมา ภูมิภาคตอนกลางของสหรัฐฯ มีอัตราการว่างงานโดยเฉลี่ยต่ำที่สุดของประเทศ หรือคิดเป็นร้อยละ 7.3 ซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าระดับการว่างงานเฉลี่ยของประเทศซึ่งคิดเป็นร้อย 9.0

ประการสำคัญ มลรัฐที่มีอัตราว่างงานต่ำที่สุดของประเทศ 5 ลำดับแรก ในช่วงเดือน มกราคม-มิถุนายน 2554 ตั้งอยู่ในเขตตอนกลางของประเทศ ได้แก่ รัฐ North Dakota มีอัตราการว่างงานต่ำที่สุดของประเทศ ร้อยละ 3.7 รัฐ Nebraska ร้อยละ 4.3 รัฐ South Dakota ร้อยละ 4.8 รัฐ Oklahoma ร้อยละ 6.1 และ รัฐ Iowa ร้อยละ 6.2

ในขณะเดียวกัน ดัชนีชี้นำภาวะเศรษฐกิจตอนกลางของประเทศ (Mid-America Leading Economic Indicator) จัดทำโดย Creighton University ในรัฐ Nebraska รายงานว่า ดัชนีอยู่ในระดับเฉลี่ย 56.6 จุด ในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2554 (50 จุดเป็นระดับค่าเฉลี่ยกลางวัดจากดัชนีเต็ม 100 จุด) โดยดัชนีดังกล่าวอยู่เหนือระดับ 50 จุด ต่อเนื่องมาโดยตลอดนับตั้งแต่ต้นปี 2553 ซึ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงศักยภาพของเขตตอนกลางฯ ที่มีต่อเศรษฐกิจรวมของสหรัฐฯ

อนึ่ง เขตตอนกลางประเทศของสหรัฐฯ เป็นพื้นที่ในความดูแของสคต.ชิคาโก ประกอบด้วย 16 มลรัฐ คือ Arkansas, Illinois, Indiana, Iowa, Kansas, Kentucky, Louisiana, Michigan, Missouri, Minnesota, Nebraska, North Dakota, Ohio, Oklahoma, South Dakota และ Wisconsin มีประชากรรวมกันประมาณ 81 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 26 ของประชากรสหรัฐฯ

2.ภาวะเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ

มูลค่าการค้ารวมระหว่างประเทศไทยและสหรัฐฯ ในเขตตอนกลางของสหรัฐฯ ในช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน 2554 มีจำนวน 3,299.27 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.26 โดยแยกเป็น สหรัฐฯ ส่งออกสินค้าไปยังประเทศไทยจำนวน 1,164.80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.21 และ นำเข้าสินค้าจากประเทศไทยจำนวน 2,134.47 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 33.75 และเป็นผลให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับประเทศไทยจำนวน 969.67 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2553 ร้อยละ 73.81

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ