ข้าวแจ้สแมนมาแรงในสหรัฐอเมริกา

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 3, 2011 11:53 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ความเป็นมา

คณะวิจัยการเกษตรของมหาวิทยาลัย Louisiana State University (LSU) ในรัฐ Louisiana สหรัฐฯ ได้คิดค้นและพัฒนาข้าวมีกลิ่นหอมพันธุ์ใหม่ขึ้นมา และจดทะเบียนชื่อสายพันธุ์ว่า Jazzman Rice โดยมีจุดประสงค์เพื่อนำข้าวพันธุ์นี้มาแข่งขันแย่งตลาดข้าวหอมมะลิไทยในสหรัฐฯ

ความคืบหน้า

รัฐหลุยส์เซียน่าปลูกข้าวแจ้สแมนมาเป็นเวลา 3 ปี ปัจจุบัน พื้นที่การปลูกข้าวแจ้สแมนขยายตัวในอัตราสูง การเพาะปลูกมีพื้นที่เพียงประมาณ 100 ไร่ ในปี 2552 ได้เพิ่มขึ้นเป็น 11,250 ไร่ในปี 2553 และเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 32,500 ไร่ ในฤดูเก็บเกี่ยวปี 2554 (แยกเป็นการปลูกในรัฐหลุยส์เซียน่า จำนวน 27,500 ไร่ และอีกจำนวน 5,000 ไร่ในรัฐเท็กซัส และก่อให้ เกิดผลผลิตข้าวแจ้สแมนในฤดูเก็บเกี่ยวปี 2554 ประมาณ 41,000 ตัน (ในปี 2552 มีผลผลิตประมาณ 900 ตัน)

ฤดูเก็บเกี่ยว พื้นที่เพาะปลูก (ไร่) ผลผลิต (เมตริกตัน)*

   2552                    100                 900
   2553                  11250              14,000
   2554                  32,500             41,000
  • คำนวณจากผลผลิตเฉลี่ย 1,265 กิโลกรัมต่อไร่
การขยายตลาดข้าวแจ้สแมน

ข้าวพันธุ์แจ้สแมนได้รับความนิยมและการยอมรับจากผู้บริโภคสหรัฐฯ มากขึ้นเป็นลำดับในช่วงระยะเวลาเพียง 3 ปี (2552-2554) ที่ผ่านมา ตลาดข้าวแจ้สแมนขยายตัวโดยรวดเร็ว ปัจจุบัน ข้าวแจ้สแมนมีวางจำหน่ายตามร้านชำและซุปเปอร์มาร์เกตชั้นนำในสหรัฐฯ เช่น Whole Foods Market, Piggly Wiggly, Win Dixie เป็นต้น รวมกันกว่า 700 แห่ง โดยจำหน่ายในพื้นที่ตอนใต้และฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ ในมลรัฐ Alabama, Arkansas, Florida, Georgia, Louisiana, Mississippi, Oklahoma, Tennessee และ Texas แต่ยังไม่ขยายตลาดเข้ามาจำหน่ายในเขตตอนกลางและตะวันออกของสหรัฐฯ

นอกจากนั้นแล้วบริษัท Jazzmen Rice, LCC ในเมืองนิวออร์ลีน ซึ่งซื้อข้าวจากชาวนามาบรรจุและจัดจำหน่าย (Packer & Distributor) รายสำคัญ ได้ส่งออกข้าวพันธุ์แจ้สแมน ภายใต้แบรนด์ Jazzmen Rice ไปจำหน่ายที่ประเทศฮ่องกง ซึ่งนำเข้า/จัดจำหน่ายโดยบริษัท Asian Rice House Limited และมีให้เลือก 3 ขนาด คือ ถุง น้ำหนัก 794 กรัม (82 ออนซ์), ถุงน้ำหนัก 2.27กิโลกรัม (5 ปอนด์) และ ถุงน้ำหนัก 11.34 กิโลกรัม (25 ปอนด์) และวางจำหน่ายตามร้านค้ากว่า 25แห่ง ใน Hong Kong Island, Kowloon และ New Territories

ข้าวแจ้สแมนพันธุ์ปรับปรุง

ศูนย์วิจัยและค้นคว้าเกษตรกรรมมหาวิทยาลัย Louisiana State University ได้แนะนำข้าว Jazzman-2 หรือสายพันธุ์ LA2149 ซึ่งเป็นพันธ์ปรับปรุงคุณภาพข้าวแจ้สแมน ศูนย์วิจัยฯ แจ้งว่า ข้าวพันธุ์ Jazzman-2 จะมีกลิ่นหอมมากกว่า รูปร่างเม็ดข้าวที่ยาวเรียวกว่า มีความเหนียวน้อยกว่า ข้าวแจ้สแมนธรรดา และเป็นข้าวที่มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับข้าวหอมมะลิไทยมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยฯ กำลังจัดจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว Jazzman-2 ให้ชาวนานำไปเพาะปลูกในฤดูเก็บเกี่ยวปี 2555 แต่มีในปริมาณจำกัด คาดว่าข้าวพันธุ์ Jazzman-2 จะมีจำหน่ายในตลาดประมาณเดือนกันยายน 2555

ข้อคิดเห็นและเสนอแนะ

1. ข้าวพันธุ์แจ้สแมนได้เปรียบข้าวหอมมะลิไทยในด้านผลผลิตต่อไร่ที่สูงกว่า (ประมาณ 1,265 กิโลกรัมต่อไร่) และราคาขายปลีกต่ำกว่ากว่าข้าวหอมมะลิไทยประมาณ 1-2 เหรียญสหรัฐฯ สำหรับข้าวขนาดบรรจุน้ำหนัก 25ปอนด์ นอกจากนั้นแล้ว ชาวนาที่ปลูกข้าวพันธุ์แจ้สแมน จะขายได้ราคาดีกว่าข้าวขาวอเมริกา (American Long Grain) ในขณะที่มีต้นทุนการปลูกเท่ากัน จึงเป็นปัจจัยชักจูงให้ชาวนาสหรัฐฯ หันมาปลูกข้าวแจ้สแมนมากเพิ่มมากขึ้น และจะขยายพื้นที่การปลูกไปยังมลรัฐใกล้เคียง เช่น Arkansas, Mississippi และ Texas เพิ่มมากขึ้น ซึ่งหมายถึงปริมาณข้าวแจ้สแมนจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

2. การดำเนินการตลาดเชิงรุก การประชาสัมพันธ์ และ กิจกรรมส่งเสริมการขาย เป็นผลให้ข้าวพันธุ์แจ้สแมนสามารถกระจายสู่ตลาดและเพิ่มสัดส่วนตลาดข้าวในสหรัฐฯ เป็นลำดับ ดังนั้น ข้าวพันธุ์แจ้สแมนไม่เพียงเป็นเป็นภัยคุกคาม (Threat) ต่อตลาดข้าวหอมมะลิไทยในสหรัฐฯ แต่จะเข้ามาแย่งตลาดข้าวหอมมะลิไทยในตลาดโลกในอนาคต ดังที่ ปัจจุบัน ข้าวพันธุ์แจ้สแมสได้ส่งออกไปจำหน่ายที่ประเทศฮ่องกงแล้ว และคาดว่า ตลาดลาตินและนาฟต้า (NAFTA) หรือ ตลาดต่างประเทศที่บริโภคข้าวหอมมะลิสูง จะเป็นตลาดเป้าหมายต่อไปในการบุกตลาดของข้าวพันธุ์แจ้สแมน

3. ปัจจุบัน คนชนกลุ่มน้อย (Ethnic Group) ที่อาศัยในสหรัฐฯ เช่น ชาวเอเซีย อัฟริกัน และ ชาวแคริเบียน เป็นกลุ่มที่บริโภคข้าวหอมมะลิไทยเป็นหลัก ในขณะที่กลุ่มผู้บริโภคหลัก (Mainstream Consumer) ของสหรัฐฯ บริโภคข้าวหอมมะลิไทยในอัตราต่ำ การดำเนินการผลักดันข้าวหอมมะลิเข้าสู่ตลาด Mainstream อย่างจริงจัง ยังทำอยู่ในระดับต่ำ จึงเป็นจุดบอดที่เปิดทางให้ข้าวของ คู่แข่งขันเข้าไปครอบครองตลาด และหากปล่อยให้เวลาเนิ่นนานไป โอกาสการขยายตลาดของข้าวหอมมะลิไทยเข้าสู่ตลาด Mainstream จะลดน้อยลง และจะทำได้ยากยิ่งขึ้น ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ภาครัฐของไทย ผู้ส่งออกไทย และ ผู้นำเข้าสหรัฐฯ ร่วมมือร่วมใจให้การสนับสนุนและดำเนินการผลักดันการเพิ่มการบริโภคข้าวหอมมะลิเข้าสู่ตลาดผู้บริโภคหลักของสหรัฐฯ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

4. หากข้าวพันธุ์ Jazzman-2 ซึ่งจะมีผลผลิตออกจำหน่ายในปี 2555 มีคุณสมบัติทัดเทียมกับข้าวหอมมะลิไทยตามที่ประกาศ ประกอบกับราคาข้าวหอมมะลิไทยเพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับ ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวของสหรัฐฯ ในปัจจุบัน จะเป็นแรงผลักดันให้ผู้บริโภคสหรัฐฯ หันไปบริโภคข้าวพันธุ์ Jazzman-2 แทนข้าวหอมมะลิไทย ดังนั้น ภาครัฐบาลไทยและเอกชนควรควรตระหนักถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในตลาดโลกและสัดส่วนตลาดข้าวหอมมะลิไทยไปสหรัฐฯ และควรเตรียมการวางแผนพัฒนา/ปรับปรุงผลผลิตข้าวหอมมะลิ และวางกลยุทธ์การตลาดเชิงรุกเร่งด่วน รวมไปถึงการทำกิจกรรม ตลอดจนการให้ความรู้เกี่ยวกับข้าวหอมมะลิไทยให้ผู้บริโภคในสหรัฐฯ ทราบ

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ