รายงานผลโครงการคณะผู้แทนการค้าธุรกิจซอฟท์แวร์ไทยเยือนประเทศเวียดนาม

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 7, 2011 14:18 —กรมส่งเสริมการส่งออก

รายงานผลโครงการคณะผู้แทนการค้าธุรกิจซอฟท์แวร์ไทยเยือนประเทศเวียดนาม

ณ กรุงฮานอย และกรุงโฮจิมิน

ระหว่างวันที่ 26-30 กันยายน 2554

1. ภาพรวมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในประเทศเวียดนาม:

ณ ปัจจุบัน ประเทศเวียดนามได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและศักยภาพของภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารเทศเป็นอย่างยิ่ง โดยตั้งแต่ปี 2543 รัฐบาลเวียดนามได้ตั้งเป้าหมายให้ภาคธุรกิจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่จะส่งผลกระทบทางด้านบวกต่อภาพรวมการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะทางตรง เช่น การพัฒนาภาคอุตสาหรรมซอฟต์แวร์ หรือในทางอ้อม เช่น การเป็นธุรกิจสนับสนุนด้านสารสนเทศเพื่อให้ภาคธุรกิจอื่นมีความเข้มแข็งและศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น การเป็นแหล่งผลิตที่มีประสิทธิภาพสำหรับนักลงทุนต่างชาติ หรือการสร้างบุคคลกรให้มีความพร้อมเพื่อขยายตลาดแรงงานระหว่างประเทศด้านสารสนเทศ ทั้งนี้ ในระหว่าง 10 ปีที่ผ่านมา คือระหว่างปี 2543-2553 มูลค่าตลาดอุตสาหกรรมด้านสารสนเทศของเวียดนามเพิ่มขึ้นทุกปี ในอัตราเฉลี่ยประมาณร้อยละ 20-25 ต่อปี ซึ่งคิดเป็นอัตราการเจริญเติบโตประมาณ 3 เท่าของอัตราการเจริญเติบโตของ GDP ของประเทศเวียดนาม โดยในปี 2553 รายได้ที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของประเทศเวียดนามคิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 850 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ประกอบด้วยบริษัทด้านอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ทั้งสิ้นกว่า 1,000 บริษัท โดยมี 4 บริษัทเป็นบริษัทซอฟต์แวร์ขนาดใหญ่ที่มีพนักงานรวมกว่า 3,000 ราย ทั้งนี้ ในอนาคต ประเทศเวียดนามได้ตั้งเป้าหมายให้เวียดนามเป็นประเทศที่มีความเข้มแข็งในภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารเทศผ่านการเชื่อมโยงด้านการผลักดันให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านสารสนเทศ การเพิ่มภาคบริการด้านธุรกิจสารสนเทศ และการเพิ่มการลงทุนระหว่างประเทศในธุรกิจสารสนเทศ

2. ภาพรวมของคณะผู้แทนการค้าธุรกิจซอฟท์แวร์ไทย:

2.1 ผู้เข้าร่วมเดินทาง/ร่วมงาน: ประกอบด้วยบริษัทซอฟต์แวร์ทั้งสิ้น 14 บริษัท และสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (Software Industrial Promotion Agency: SIPA) รายละเอียดตามเอกสารแนบ

2.2 ประเภทธุรกิจซอฟต์แวร์ของผู้เข้าร่วมเดินทาง/ร่วมงาน: สามารถแบ่งได้เป็นทั้งสิ้น 5 ด้านคือ

2.2.1 ด้านธุรกิจ Call Center และ Interactive Voice Responds (IVR): จัดทำระบบตอบรับอัตโนมัติเพื่อสนับสนุนธุรกิจต่างๆ เช่น ระบบ Call Center ทั่วไป หรือ ระบบการ download เพลงผ่านมือถือ

2.2.2 ด้านธุรกิจการเงิน: จัดทำระบบการจัดการด้านการเงินเพื่อเรียกดู Portfolio ด้านการเงิน ต่างๆ ของบริษัท

2.2.3 ด้านธุรกิจอนิเมชั่นและเกมส์: พัฒนาอนิเมชั่นและเกมส์เพื่อรองรับระบบเกมส์ในลักษณะต่างๆ เช่น Xbox และ Playstation 3 Facebook รวมทั้งระบบเกมส์ On-line ต่างๆ

2.3.4 ด้านธุรกิจการบริหาร Reservation: จัดทำระบบ On-line เพื่อทำการสำรองที่นั่งคอนเสิร์ต

2.3.5 ด้านธุรกิจพัฒนาเฉพาะระบบ: จัดทำระบบด้านการประกันภัย จัดทำระบบด้านการเป็นศูนย์กลางการกระจายหนังสือ (E-book) จัดทำระบบด้านการจัดการ/บริหารร้านอาหาร และจัดทำระบบด้านการบริหารจัดการท่องเที่ยว

3. ภาพรวมและผลของการจับคู่ธุรกิจซอฟต์แวร์ระหว่างคณะผู้แทนการค้าไทยและนักธุรกิจเวียดนาม:

3.1 กรุงฮานอย วันที่ 27 กันยายน 2554 ณ โรงแรม Hilton Hanoi

พิธีเปิดงานเริ่มขึ้นโดยมีผู้อำนวยการสำนักงานการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงฮานอยเป็นผู้บรรยายถึงภาพรวมของโครงการคณะผู้แทนการค้าฯ พร้อมด้วย Mr. Do Van Long ผู้อำนวยการศูนย์ซอฟต์แวร์ สถาบันนโยบายและกลยุทธ์ภาคอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ประเทศเวียดนาม บรรยายถึงภาพรวมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในประเทศเวียดนาม โดยภายในพิธีเปิดมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 100 ราย รวมถึงคณะผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ของเวียดนาม โดยการจัดงานเป็นเป็นไปในลักษณะของการจัดนัดหมายเพื่อเข้าร่วมเจรจาตามตารางที่ได้นัดหมายไว้ โดยมีมีรายละเอียดและผลของงานดังต่อไปนี้

นักธุรกิจเวียดนามที่เข้าร่วมจับคู่ธุรกิจการค้า: 70 ราย

มูลค่าการค้าที่คาดว่าเกิดจากการจับคู่ทางธุรกิจภายใน 1 ปี: รวมทั้งสิ้น 2.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ความพึงพอใจของคณะผู้แทนการค้าไทย: พอใจกับการจับคู่ทางธุรกิจฯ คิดเป็นร้อยละ 100

3.2 กรุงโฮจิมิน วันที่ 29 กันยายน 2554 ณ โรงแรม Intercontinental Asiana Saigon

การจัดงานเป็นเป็นไปในลักษณะของการจัดคูหานัดหมายเพื่อเข้าร่วมเจรจาตามตารางที่ได้นัดหมายไว้ พร้อมโทรทัศน์ในลักษณะ Flat Screen 1 ชิ้น ต่อ 1 คูหา เพื่อประชาสัมพันธ์สินค้า/บริการด้านซอฟต์แวร์ของแต่ละบริษัทอย่างต่อเนื่อง ซึ่งระหว่างงานมีคณะผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ของเวียดนามเข้ามาเก็บหัวข้อข่าวอย่างต่อเนื่อง โดยมีมีรายละเอียดและผลของงานดังต่อไปนี้

นักธุรกิจเวียดนามที่เข้าร่วมจับคู่ธุรกิจการค้า: 50 ราย

มูลค่าการค้าที่คาดว่าเกิดจากการจับคู่ทางธุรกิจภายใน 1 ปี: รวมทั้งสิ้น 0.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ความพึงพอใจของคณะผู้แทนการค้าไทย: พอใจกับการจับคู่ทางธุรกิจฯ คิดเป็นร้อยละ 85

4. อธิบายเพิ่มเติมถึงผลของโครงการด้านมูลค่าการค้า

เนื่องจากธุรกิจซอฟต์แวร์เป็นธุรกิจบริการที่มีความซับซ้อน จับต้องได้ยาก และต้องใช้ความเข้าใจเชิงลึก รวมถึงระยะเวลาที่ค่อนข้างนานเพื่อศึกษาถึงประโยช์ที่ชัดเจนที่จะได้รับการจากการควบรวมธุรกิจ หรือการใช้ ซอฟต์แวร์ร่วมกับธุรกิจอื่น ดังนั้น โดยทั่วไปผลการเจรจาในกลุ่มธุรกิจซอฟต์แวร์นั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเชิงมูลค่าการค้าจะไม่เห็นผลทันทีหรือเห็นผลโดยเร็ว ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 1-2 ปีถึงจะเห็นผลที่ชัดเจน แต่ทั้งนี้ข้อดีของกลุ่มธุรกิจซอฟต์แวร์คือเป็นธุรกิจที่มีความยั่งยืนทางด้านการจับคู่ทางการค้า เนื่องจากภาคธุรกิจที่ใช้ซอฟต์แวร์ประเภทใดประเภทหนึ่งแล้ว โดยส่วนใหญ่จะไม่เปลี่ยนที่ ซึ่งจะส่งผลดีในการสร้างมูลค่าให้กับธุรกิจซอฟต์แวร์ไทยในระยะยาว

5. สรุปโอกาสการผลักดันธุรกิจซอฟต์แวร์ของไทยในเวียดนาม

จากการสังเกต การหารือผู้ประกอบการไทย/ผู้เข้าร่วมงานชาวเวียดนาม และการศึกษาธุรกิจซอฟต์แวร์ของไทยและเวียดนาม กระผมมีความาเห็นว่า ณ ปัจจุบันธุรกิจซอฟต์แวร์ของไทยยังแสดงให้เห็นถึงศักยภาพ/โอกาสการเพิ่มมูลค่า/โอกาสการขยายตลาดอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยหากเริ่มต้นจากการวิเคราะห์ความต้องการทางการตลาดภายในประเทศไทย จะเห็นได้ว่าเกือบทุกภาคธุรกิจที่มีความโดดเด่น ที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนยุคใหม่ และที่มีความต้องการในการเพิ่มมูลค่าของธุรกิจผ่านการให้บริการ การนำเทคโนโลยีสารสนเทศหรือซอฟต์แวร์ เข้ามาเป็นส่วนสนับสนุนภาคธุรกิจถือเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจโรงพยาบาลกับการเรียกดูประวัติผู้ขอรับการรักษาผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ภาคธุรกิจการโทรคมนาคมกับการดาวน์โหลดเพลงหรือเติมเงิน/ชำระเงินผ่านระบบมือถือ ภาคธุรกิจอื่นๆ ที่มีการให้หรือเก็บข้อมูลผ่านระบบอินเตอร์เน็ต หรือแม้แต่การบริการของกรมส่งเสริมการส่งออกผ่านเว็บไซต์ Thaitrade.com หรือ สายตรงผู้ส่งออก 1669 ทั้งหมดเป็นตัวอย่างที่ดีของการนำซอฟต์แวร์เข้ามาใช้เป็นส่วนสนับสนุนทางธุรกิจ

ทั้งนี้ หากพิจารณาและทำการวิเคราะห์เพิ่มเติมถึงสาเหตุที่ภาคธุรกิจนำซอฟต์แวร์เข้ามาเป็นส่วนสนับสนุน จะเห็นได้ว่าซอฟต์แวร์สร้าง “ความแตกต่าง” หรือ ซอฟต์แวร์ differentiate ภาคธุรกิจให้แตกต่างจากภาคธุรกิจอื่น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มมูลค่าผ่านช่องทางต่างๆ บนมือถือหรือบนอินเตอร์เน็ตเพื่อเอื้อให้เกิดความสะดวกสบายที่มากขึ้น หรือการเพิ่มมูลค่าผ่านการให้บริการที่ดีขึ้น โดยสามารถสรุปได้ว่าภาคธุรกิจนำซอฟต์แวร์มาเป็นส่วนสนับสนุนเพื่อให้เกิดมูลค่าทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้เกิดความแตกต่าง โดยสาเหตุทั้งหมดชึ้ตรงไปยังความต้องการในการเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันด้านการตลาดที่มากขึ้น ดังนั้นจะเห็นได้ว่าสำหรับตลาดในประเทศ โอกาสทางภาคธุรกิจซอฟต์แวร์ยังมีอีกมากและเพิ่มขึ้นกับการเจริญเติบโตด้านการแข่งขันในภาคธุรกิจต่างๆ

นอกจากนี้หากเปรียบเทียบประเทศไทยกับประเทศเวียดนาม จะเห็นได้ว่าในหลายๆ ภาคธุรกิจ ประเทศไทยมีความเติบโตหรือความก้าวหน้าหรือความเป็นผู้นำทางธุรกิจที่มากกว่าประเทศเวียดนาม ยกตัวอย่างเช่น ด้านการธนาคาร ด้านโรงพยาบาย ด้านการโทรคมนาคม ด้านการประกัน ด้านการเงิน ด้านการให้บริการ และฯลฯ โดยหากพิจารณาเพิ่มเติมจะเห็นได้ว่าภาคธุรกิจของไทยที่มีความเป็นผู้นำดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นมีเทคโนโลยีสารสนเทศหรือซอฟต์แวร์เป็นส่วนสนับสนุนหลักที่สร้างความแตกต่างและเพิ่มมูลค่าให้ธุรกิจ ดังนั้นหากพิจารณาในแง่มุมเดียวกันจะเห็นได้ว่า หากภาคธุรกิจเวียดนามต้องการแข่งขันให้ทัดเทียมกับภาคธุรกิจไทยหรือเป็นผู้นำในอาเซียน เทคโนโลยีสารสนเทศหรือซอฟต์แวร์เป็นสิ่งที่จำเป็น และเนื่องจากความเชื่อมั่นในองค์ประกอบด้านความเสถียรภาพและประสิทธิภาพเป็นส่วนสำคัญในการพิจารณาเลือกเทคโนโลยีสารสนเทศหรือซอฟต์แวร์ ผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศหรือซอฟต์แวร์ของไทยที่มีประสบการณ์ในการสนับสนุนภาคธุรกิจอื่นๆ ของไทยที่เป็นผู้นำในตลาดอาเซียน จึงเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ดีสำหรับผู้ประกอบการเวียดนาม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยาภาพและโอกาสของการผลักดันธุรกิซอฟต์แวร์ไทยไปเวียดนาม

6. ปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นกับโอกาสภาคธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศหรือซอฟต์แวร์ไทยในประเทศเวียดนาม:

6.1 ค่าแรงของโปรแกรมเมอร์/ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ที่เป็นต้นทุนสำคัญในการผลิต ประเทศเวียดนามมีศักยภาพมากกว่าประเทศไทย

6.2 กฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่ไม่เข้มแข็งส่งผลให้เวียดนามเป็นตลาดที่มีศักยภาพน้อยต่อบางประเภทของธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศหรือซอฟต์แวร์ไทย เช่น ธุรกิจการสร้างอนิเมชั่นหรือเกมส์ที่สามรถทำการลอกเลียนแบบ หรือ Copy ได้ง่าย

7. ข้อเสนอแนะในการจัดคณะฯ ครั้งต่อไป:

ธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศหรือซอฟต์แวร์เป็นธุรกิจที่มีความซับซ้อนและจำเป็นที่จะต้องมีส่วนสนับสนุนด้านการให้บริการที่ดี ดังนั้นนอกหนือจากการเจรจาด้านการค้าตรงกับภาคธุรกิจที่มีความต้องการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศหรือซอฟต์แวร์ การเจรจาเพื่อหาผู้ร่วมค้า หรือ Partner ที่จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนการค้าและส่วนสนับสนุนด้านการให้บริการ (Sale Agent & Customer Service) จึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง

ทั้งนี้เพื่อให้การจับคู่ทางการค้าเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด กลุ่มเป้าหมายในการจับคู่ทางการค้าจำเป็นที่จะต้องประกอบด้วย 2 กลุ่มด้วยกันคือ

7.1 ภาคธุรกิจที่ต้องการเทคโนโลยีสารสนเทศหรือซอฟต์แวร์: เช่น โรงพยาบาล หรือ Chain ร้านอาหารที่ต้องการระบบบริหารงาน

7.2 ภาคธุรกิจที่พร้อมด้านสารสนเทศในฐานะผู้ร่วมค้า หรือ Partner: เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนการค้าและส่วนสนับสนุนด้านการให้บริการ (Sale Agent & Customer Service)

ทั้งนี้การประชุมหารือกับภาคธุกิจเพื่อวางแผนและบ่งชี้ความต้องการที่ชัดเจนเป็นส่วนประกอบสำคัญต่อความสำเร็จในการจัดโครงการคณะผู้แทนฯ

สำนักส่งเสริมธุรกิจ SMEs เพื่อการส่งออก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ