สถานการณ์สินค้าอิเล็คทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่น เดือนตุลาคม 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 3, 2011 15:22 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. ภาวะการผลิตสินค้าอิเล็คทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม

จากสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศไทย ส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิกส์เนื่องจากพื้นที่เฉพาะจังหวัดอยุธยา และปทุมธานี เป็นโซนอุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า บริษัทผู้ผลิตสินค้าอิเล็คทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าต้องหยุดการผลิต หรือเลื่อนการผลิตออกไป โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการกระทบ เช่น คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ โดยเฉพาะ ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ (HDD) แผงวงจรไฟฟ้า กล้องดิจิตอล เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เช่น บริษัท Nikon ซึ่งโรงงานผลิตเลนส์และกล้องถ่ายภาพดิจิตอลตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะคาดว่าจะหยุดการผลิตนานหลายเดือน ทั้งนี้ บริษัทผลิตกล้องถ่ายภาพดิจิตอลมากกว่าร้อยละ 90 และเลนส์มากกว่าร้อยละ 60 ในประเทศไทย โดยส่งออกมายังญี่ปุ่น และทั่วโลก คาดว่าจะส่งผลกระทบกับยอดขายของบริษัทในปีนี้ รวมทั้งบริษัท Sony หยุดการผลิต กล้องถ่ายภาพดิจิตอล และกำลังพิจารณาจะไปผลิตที่ประเทศจีน หรือญี่ปุ่น บริษัทอื่นๆ เช่น Cannon และ Hoya ต่างก็ต้องปิดโรงงานเช่นกัน

การผลิตฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ (HDD) ได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยร้อยละ60 ของฮาร์ดดิสก์ในโลกผลิตจากประเทศไทย ดังนั้นจะส่งผลกระทบไปยังการผลิตคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ต่างๆ บริษัท NEC ซึ่งใช้ส่วนประกอบจากไทยได้หันไปติดต่อว่าจ้างผู้ผลิตหลายรายนอกประเทศไทย ทำให้เกิดการคาดคะเนว่ายอดขายคอมพิวเตอร์จะตกลง

          ส่วน Nidec ซึ่งครองตลาด มอเตอร์สำหรับฮาร์ดไดร์ฟเกือบร้อยละ 80 ของโลก โดยมีโรงงาน ผลิตมอเตอร์จำนวน 3 แห่งในไทย ฟิลิปปินส์ และจีน โรงงานในไทยที่โรจนะได้ปิดตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม  ทางบริษัทได้ย้ายการผลิตไปยังโรงงานอีก 2 แห่งที่เหลือ           บริษัท Sony ได้ชะลอการเปิดตัวกล้องถ่ายภาพดิจิตอลรุ่นใหม่ NEX-7 และ NEX-N ที่เดิมจะวางจำหน่ายในเดือนพฤศจิกายน เนื่องจากผู้ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์และส่วนประกอบต่างๆเสียหาย โดยได้ยกเลิกไลน์การผลิตชั่วคราว และบริษัท Toshiba ได้รับผลกระทบฐานผลิตที่โรงงานบางกะดี ซึ่งเป็นฐานหลักของสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน

การแข็งค่าของเงินเยน และเหตุการณ์สึนามิทำให้บริษัทผู้ผลิตต่างมองประเทศไทยว่าเป็นฐานการส่งออกไปยังเอเชีย โดยการลงทุนในประเทศไทยสูงถึง 87.5 พันล้านบาท ระหว่างเดือนมกราคมมิถุนายน 2554 โดยเห็นว่ามีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อต่อการตั้งโรงงาน หากแต่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ ทำให้บริษัทต่างๆต้องมาทบทวนพิจารณากันใหม่ โดยปัจจัยภัยธรรมชาติเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ต้องพิจารณาเช่นกัน

2.ภาวะการตลาด

2.1 บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์ส่วนใหญ่คาดว่าผลประกอบการในไตรมาสเดือนตุลาคม-ธันวาคมนี้จะลดลง แม้ว่าผู้ผลิตบางรายจะสามารถฟื้นตัวจากเหตุการณ์สึนามิ แต่จากการที่ค่าเงินเยนแข็งตัว รวมทั้งเศรษฐกิจชะลอตัวในอเมริกาและยุโรป และการเติบโตที่ช้าลงของจีนส่งผลกระทบกับผลประกอบการธุรกิจ โดยปรกติ บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์ จะมีผลประกอบการเพิ่มขึ้นในไตรมาส กรกฎาคม-กันยายน ก่อนเทศกาลจับจ่ายซื้อของ แต่ในปีนี้ ยอดขายกลับทรงตัว หรือต่ำกว่าไตรมาส เมษายน-มิถุนายน

2.2 บริษัท Panasonic ตัดสินใจที่จะลดขนาดธุรกิจโทรทัศน์โดยได้ปิดโรงงานที่เมือง อะมากาซากิ ซึ่งเป็นโรงงานที่ทันสมัยที่สุดของบริษัทที่เพิ่งเปิดในปี 2007 มีกำลังการผลิตถึง 1 ล้าน ยูนิต (ขนาด 42 นิ้ว) แต่จากการแข่งขันอย่างรุนแรงจากผู้ผลิตเกาหลี และค่าเงินเยนแข็งค่าทำให้ บริษัทไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ บริษัทขาดทุนเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัท ได้ประกาศว่าจะย้ายจากธุรกิจโทรทัศน์มายังธุรกิจที่มีกำไรแต่ใช้เงินลงทุนต่ำรวมทั้งการโยกย้าย อุปกรณ์การผลิตจากโรงงานที่อะมากาซากิไปเซี่ยงไฮ้ และออกแบบใหม่เป็นการผลิตแผงโซลาร์ จากรายงานของ Display Search อัตราการเติบโตของโทรทัศน์จอภาพ Plasma (PDP) จะไม่ เปลี่ยนแปลงมากนัก แต่ในปี 2012-2014 อัตราการเติบโตของโทรทัศน์จอภาพ LCD (LED) จะขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่วน LCD (CCFL) จะขยายตัวลดลง

3. ภาวะการส่งออกและนำเข้าสินค้าอิเล็คทรอนิกส์ของญี่ปุ่น

ยอดการส่งออกสินค้าอิเล็คทรอนิกส์ลดลงอย่างต่อเนื่องในเดือนสิงหาคม 2554 มีมูลค่า 7.66 แสนล้านเยน ลดลง ร้อยละ 9 จากเดือนสิงหาคม ปี 2553 โดยสินค้าเกือบทุกหมวดปรับตัวลดลง ได้แก่ เครื่องเสียงลดลงร้อยละ 24.2 เครื่องมืออิเล็คทรอนิกส์ ลดลงร้อยละ 15.8 อะไหล่และส่วนประกอบ ลดลงร้อยละ 12.6

ส่วนสินค้าที่เพิ่มขึ้น เช่น อุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ส่วนบุคคล วีดิโอ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 ระบบโทรคมนาคม เพิ่มขึ้นร้อยละ 65.2 เครื่องจักรธุรกิจ เพิ่มขึ้นร้อยละ 75.5

ส่วนการนำเข้าสินค้าอิเล็คทรอนิกส์ในเดือนกรกฎาคม 2554 ปรับตัวลงในทิศทางเดียวกันมีมูลค่า 6.66 แสนล้านเยน โดยลดลงร้อยละ 4.5 จากเดือนกรกฎาคม ปี 2553 สินค้าเกือบทุกหมวดปรับตัวลดลง ได้แก่ เครื่องเสียงลดลงร้อยละ 25.7 ส่วนประกอบอิเล็คทรอนิกส์ลดลงร้อยละ 21.8 แผงวงจรลดลง ลดลงร้อยละ 23.2 ส่วนสินค้าที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ระบบสื่อสารวิทยุ เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.6 คอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.8

สำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ นครโอซากา

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ