สถานการณ์การผลิตและการค้าข้าวของเวียดนาม (รายงาน ณ วันที่ 24 ตุลาคม 2554)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 3, 2011 15:36 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. การผลิต

ปีนี้ เกษตรกรในเขตแม่โขงเดลต้าทำการเพาะปลูกข้าวฤดู autumn — winter ซึ่งเป็นฤดูการผลิตที่ 3 เร็วกว่าปกติและทุกจังหวัดต่างขยายพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้นแม้จะได้รับคำเตือนเรื่องน้ำท่วมก็ตาม เพราะข้าวมีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ผลจากน้ำท่วมในเขตแม่โขงเดลต้าทำลายพื้นที่เพาะปลูกฤดูการผลิตนี้ประมาณ 22,700 เฮคตาร์ จากพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั้งหมด 630,000 เฮกตาร์ และนำไปสู่การถกเถียงกันว่าในปีหน้าควรมีการปรับโซนการผลิตเพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพข้าว เพราะจังหวัดด่องทับและจังหวัดอานยางเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่กว้างและน้ำท่วมสูงทุกปี ผลจากน้ำท่วมใหญ่มักนำตะกอนทับถมอย่างมากเป็นการเพิ่มศักยภาพการเพาะปลูกข้าวมากขึ้นซึ่งจะทำให้ข้าวฤดู autumn — winter ได้ผลดีกว่าและมีคุณภาพกว่าข้าวฤดู summer — autumn ซึ่งเป็นช่วงที่มีโรคระบาด

กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทของเวียดนามคาดว่าปี 2554 เวียดนามเก็บเกี่ยวข้าวได้ 41.6 ล้านตันข้าวเปลือก ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วประมาณ 1.5 ล้านตัน หักการบริโภคในประเทศจำนวน 27.5 ล้านตันแล้วจะยังคงมีจำนวนข้าวเหลือสำหรับการส่งออกประมาณ 14 ล้านตันข้าวเปลือก หรือประมาณ 7- 8 ล้านตันข้าวสาร

ต้นทุนการผลิต ราคาข้าวเปลือกแห้งสำหรับการส่งออกของเกษตรกรเขตแม่โขงเดลต้าโดยเฉลี่ย 9 เดือนแรกของปี 2554 เป็น 6,114 ด่ง ( 0..29 USD ) /กก. โดยต้นทุนการผลิตข้าวฤดู winter — spring เป็น 2,800 — 3,200 ด่ง ( 0.13 — 0.15 USD) / กก. และต้นทุนการผลิตฤดู summer — autumn เป็น 3,760 ด่ง (0.18 USD) /กก. ทำให้เกษตรกรมีผลกำไรจากฤดูเพาะปลูกนี้อย่างมาก ส่วนต้นทุนการผลิตข้าวในฤดู autumn — winter จะสูงขึ้น เนื่องจากเกษตรกรต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำเข้าออกจากนา

2. การค้าข้าวในประเทศ

เมื่อนโยบายรับจำนำข้าวในราคา 15,000 บาท / ตันของรัฐบาลไทยเริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา ทำให้ราคาข้าวในประเทศเวียดนามเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2554 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 3 ปี แม้การค้าข้าวในท้องถิ่นจะไม่คึกคักเหมือนช่วงเดือนกรกฎาคม — สิงหาคมก็ตาม คาดว่าราคาจะยังคงสูงขึ้นต่อไปจนถึงปลายปีเพราะแรงกดดันจากราคาข้าวไทยที่สูงขึ้น ส่งผลให้ความต้องการข้าวจากเวียดนามสูงขึ้น

ราคาข้าวในเขตแม่โขงเดลต้า (โดยเฉลี่ย ) ณ วันที่ 9 ตุลาคม 2554

หน่วย: ด่ง/กิโลกรัม

26 กันยายน 2554 9 ตุลาคม 2554

ข้าวเปลือกพันธุ์ IR 50404  แห้ง               6,400 — 6,750      7,350 — 7,500
ข้าวเปลือกพันธุ์ IR 50404  เปียก              5,750 — 5,900      6,300 — 6,450
ข้าวเปลือกแห้งชนิดธรรมดา                    6,000 — 6,200      7,050 — 7,200
ข้าวเปลือกพันธุ์เมล็ดยาว                      6,800 — 6,900      7,600 — 7,800
(OM 5451, OM 4218, OM 1490)
ข้าววัตถุดิบ
ข้าวเปลือกใช้สีข้าว  5%                      9,200 — 9,250    10,100 — 10,150
ข้าวเปลือกใช้สีข้าว  25%                      9,000 -9,050      9,600 — 9,750
ข้าวสาร
ข้าวสาร 5%                             10,950 — 11,050    11,900 — 12,000
ข้าวสาร 15%                            10,600 — 10,700    11,200 — 11,300
ข้าวสาร 25%                            10,100 — 10,200    10,800 — 10,900
ที่มา :  Saigon Time Daily, ฉบับ 26 กันยายนและ 19 ตุลาคม 2554
(อัตราแลกเปลี่ยน ณ  วันที่  24  ตุลาคม 2554 :  1 USD  = 20,955  VND )

ส่วนราคาขายปลีกในตลาดบริเวณจังหวัดแม่โขงเดลต้าได้เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน หากเทียบกับราคาเมื่อเดือนสิงหาคมซึ่งเป็นช่วงการค้าคึกคัก จะมีราคาเพิ่มขึ้นประมาณ 1,000 — 1,500 ด่ง (0.05 — 0.07 USD)/กก. เช่น ข้าวกล้องกะเทาะเปลือก IR 50404 เป็น 13,000 — 13,500 ด่ง ( 0.62 - 0.64 USD) / กก. ข้าวพันธุ์เมล็ดยาวเป็น 14,000 — 15,000 ด่ง ( 0.67 — 0.71 USD ) / กก. ข้าวคุณภาพดี ( OM 4900 และจัสมิน ) เป็น 16,000 — 18,000 ด่ง 07.6 — 0.86 USD) / กก.

การรักษาเสถียรภาพราคาข้าวในประเทศ

ราคาข้าวในประเทศสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในนครโฮจิมินห์ซึ่งเป็นตลาดที่รับซื้อข้าวที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนามที่ตั้งใกล้แม้โขงเดลต้า จนนักวิชาการเตือนว่าอาจส่งผลต่อภาวะเงินเฟ้อในประเทศที่รัฐบาลพยายามควบคุมไม่ให้เกิน 18% สมาคมอาหารเวียดนาม (VFA) จึงให้คำมั่นว่าจะไม่ให้เกิดภาวะวิกฤติด้านอาหารเช่นในอดีต เพราะปริมาณข้าวในประเทศนอกจากจะไม่ขาดแคลนแล้วยังมีปริมาณเหลือเพียงพอต่อการส่งออกตามเป้าหมาย ขณะนี้ ปริมาณข้าวสำรองในคลังสินค้าสำหรับ ไตรมาส 1 ปี 2555 เป็น 0.8 — 1.0 ล้านตัน และอยู่ในโกดังของผู้ค้าธัญพืชอีกประมาณ 1.5 ล้านตัน จึงสามารถมั่นใจได้ว่ามีปริมาณข้าวเพียงพอในประเทศ สำหรับในนครโฮจิมินห์ซึ่งมีความอ่อนไหวด้านราคาข้าวมากที่สุด VFA ได้สั่งการให้บริษัทค้าธัญพืช 2 รายที่ได้ลงนามกับนครโฮจิมินห์ในโครงการรักษาเสถียรภาพด้านราคาทำการสำรองข้าว หากราคาข้าวในตลาดสูงเกินไปต้องกระจายสินค้าออกมาด้วยราคาต่ำกว่าท้องตลาด 15% นอกจากนี้ หากกรณีจำเป็น โกดังข้าว 2 แห่งที่เป็นของ Vietnam Southern Food Corporation (Vinafood 2) ที่ตั้งในจังหวัดลองอานและจังหวัดเตียนแยงต้องพร้อมส่งสินค้าเข้าเมืองทันที

3. การส่งออก

กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทของเวียดนาม คาดว่าปี 2554 เวียดนามอาจส่งออกข้าวได้มากถึง 7.5 ล้านตัน ซึ่งสูงขึ้นกว่าที่เคยตั้งเป้าไว้เพียง 7 ล้านตันเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา หลังพบว่าการส่งออกข้าว 10 เดือนแรกเป็น 6.38 ล้านตัน มูลค่า 3.22 พันล้านเหรียญสหรัฐ ( FOB ) ปริมาณและมูลค่าส่งออก

เพิ่มขึ้นถึง 8.5% และ 17.3 % ( เทียบปีต่อปี ) ตามลำดับ หากการส่งออกได้จำนวนดังกล่าวจะทำให้เวียดนามมีรายได้จากการส่งออกข้าวปีนี้มากกว่า 3.7 พันล้านเหรียญสหรัฐราคาส่งออกโดยเฉลี่ย ( FOB )

        ขนิด                                ราคา (เหรียญสหรัฐ)
                                  กันยายน 2554            กลางตุลาคม 2554
ข้าว 5%                       545 - 550 USD/ตัน                575 USD/ตัน
ข้าว 25%                            500 USD/ตัน          515 — 520 USD/ตัน

ทั้งนี้ นักวิชาการเวียดนามมองว่าตลาดข้าวขณะนี้แยกเป็น 2 ส่วน คือ

  • ข้าวระดับล่าง มีราคาถูก แหล่งผลิตที่สำคัญ คืออินเดีย
  • ข้าวคุณภาพสูง มีราคาแพง แหล่งผลิตที่สำคัญ คือ ไทยและเวียดนาม เมื่อราคาข้าวไทยกำหนดให้สูงขึ้น ข้าวเวียดนามจะได้อานิสงส์ตามด้วย เพราะคุณภาพข้าวของเวียดนามมีการพัฒนาขึ้นมากแล้ว แต่ราคาส่งออกจะได้เปรียบอย่างมาก คาดว่าราคาข้าวส่งออกและข้าวเปลือกในเวียดนามจะมีราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงเดือนมิถุนายน 2555

นาย Jereny Zwinger CEO ของ The Rice Trader ได้กล่าวในการประชุมข้าวเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2554 ณ นครโฮจิมินห์ ว่าราคาข้าวส่งออกอาจสูงขึ้นเป็น 700 USD / ตันในปี 2555 แม้ว่าอินเดียจะกลับเข้ามาสู่ตลาดข้าวโลกแล้วก็ตาม

ลูกค้าสำคัญ

VFA คาดว่าความต้องการข้าวจะยังคงเสถียรต่อไปจนถึงไตรมาสที่ 1 ของปี 2555

อินโดนีเซีย : ได้กลายเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ที่สุดของเวียดนามตั้งแต่ต้นปี 2554เป็นต้นมาและคาดว่าในปี 2555 อินโดนีเซียจะนำเข้าข้าวจากเวียดนามเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ในปี 2554 เวียดนามมีสัญญาส่งออกข้าวทั้งปีให้อินโดนีเซียจำนวน 1.75 ล้านตันข้าวสาร ราคาส่งออกอยู่รหว่าง 517 — 520 เหรียญสหรัฐ / ตัน

ฟิลิปปินส์ : เป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ของเวียดนามได้ตกลง privatize กิจการเกี่ยวกับการนำเข้าข้าว จึงมีผลต่อสัญญาซื้อขายระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล ปีนี้ ฟิลิปปินส์ประสบอุทกภัยซึ่งคาดว่าอาจสูญเสียข้าวไป 100 ล้านตันเนื่องจากน้ำท่วม อาจต้องการนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะนำเข้าข้าวจำนวน 5 แสนตันในปี 2555 และเวียดนามจะเป็นแหล่งข้าวแหล่งแรกที่ฟิลิปปินส์ให้ความสนใจ

ฮ่องกง : เริ่มเป็นตลาดสำคัญต่อการส่งออกข้าวของเวียดนามมากขึ้นโดยเฉพาะข้าวจัสมินที่ปัจจุบันเกษตรกรได้หันมาปลูกเพื่อส่งออกมากขึ้น แม้คุณภาพข้าวจะเป็นรองข้าวไทยแต่เป็นที่ต้องการของลูกค้าเพราะมีราคาถูกกว่า โดยราคาข้าวหอมไทยตันละ 1,000 เหรียญสหรัฐ ขณะที่ข้าวจัสมินเวียดนามขายเพียงตันละ 700 เหรียญสหรัฐ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 ข้าวจัสมินเวียดนามส่งออกไปฮ่องกงได้ 110,000 ตัน จากการส่งออกข้าวจัสมินทั้งหมดของเวียดนามจำนวน 369,000 ตัน

4. นโยบายการส่งออกข้าว

เวียดนามได้ออกกฤษฎีกาเลขที่ 109 เพื่อการจัดการด้านการค้าข้าวและการปรับโครงสร้างผู้ส่งออกข้าว ในประเทศโดยกำหนดคุณสมบัติผู้ส่งออกข้าวที่สามารถได้รับใบอนุญาตในการส่งออกต้องเป็นบริษัทที่มีโกดังเก็บข้าวเปลือกความจุ 5,000 ตัน และต้องมีโรงสีข้าวกำลังการผลิต 10 ตัน / ชั่วโมง ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกัน เพื่อลดการสูญเสียหลังการสีข้าวลงให้เหลือ 5% จากปัจจุบัน 15% รวมทั้งต้องมีเครื่องอบแห้งข้าวด้วย ผู้ประกอบการที่ไม่มีคุณสมบัติดังกล่าวกระทำได้เพียงแต่การจัดหาข้าวไม่สามารถส่งออกข้าวได้ ทั้งนี้ เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2554

แต่เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจเวียดนามที่ซบเซา อัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ในระดับสูง ทำให้ผู้ส่งออกหลายรายไม่มีคุณสมบัติสามารถได้รับใบอนุญาต กระทรวงการค้าและการลงทุนของเวียดนามเกรงว่าหากเข้มงวดเกินไปการส่งออกจะไม่สามารถเป็นไปตามเป้าหมาย จึงผ่อนผันเงื่อนไขที่กำหนดให้โรงสีข้าวต้องตั้งในพื้นที่เดียวกับโกดังข้าว โดยจะเริ่มใช้บังคับอย่างเคร่งครัดในเดือนตุลาคม 2555

หลังการผ่อนผันปรากฏว่า ณ วันที่ 18 ตุลาคม 2554 รัฐบาลได้ออกใบอนุญาตให้ผู้ส่งออกที่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีคุณสมบัติเป็นไปตามกฤษฎีกา จำนวน 129 ราย โดยในจำนวนมี 4 รายเป็นการร่วมทุนกับต่างชาติ

สคต.นครโฮจิมินห์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ