สถานการณ์สินค้ายานยนต์และยางรถยนต์ในประเทศญี่ปุ่น เดือนตุลาคม 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 7, 2011 14:39 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สถานการณ์รถยนต์ในประเทศญี่ปุ่น

โตโยต้า มอเตอร์ มีจำนวนการผลิตรถยนต์ในประเทศ ในเดือนสิงหาคมจำนวน 252,374 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 11.9 ส่วนด้านการส่งออกก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.8 หรือจำนวน 137,977 คัน

โตโยต้ามีการปรับลดกำลังการผลิตในประเทศลงราวร้อยละ 10 หรือ 6,000 คัน เนื่องจากไม่มีชิ้นส่วนประกอบฯ เพียงพอ สืบเนื่องมาจากปัญหาน้ำท่วมในประเทศไทย ซึ่งโรงงานในไทยไม่สามารถส่งชิ้นส่วนประกอบฯ ถึงกว่า 1,000 รายการให้โรงงานที่ประเทศญี่ปุ่นได้ เป็นที่น่าสังเกตว่าภายหลังจากเหตุแผ่นดินไหวที่ประเทศญี่ปุ่นในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา บริษัทญี่ปุ่นมีการเพิ่มการลงทุนที่ประเทศไทยอย่างเห็นได้ชัดเพื่อทดแทนโรงงานที่ถูกทำลายลงในแถบโทโฮกุ แต่ในเดือนนี้โรงงานญี่ปุ่นที่ประเทศไทยก็ถูกกระแสน้ำพัดท่วมสร้างความเสียหายเป็นมูลค่านับหมื่นล้านอีก ทำให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่ทำท่าว่าจะดีขึ้นต้องตกลงสู่ความไม่แน่นอนอีกครั้งหนึ่ง

ฮอนด้ามอเตอร์ มีจำนวนการผลิตรถยนต์ในประเทศ ในเดือนสิงหาคมจำนวน 56,356 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 17.2 ส่วนด้านการส่งออกก็ปรับตัวลดลงถึงร้อยละ 37.8 หรือเหลือเพียงจำนวน 17,154 คัน

ฮอนด้า มอเตอร์ เป็นบริษัทที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากภาวะน้ำท่วมโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ โดยน้ำได้เข้าท่วมโรงงานในวันที่ 8 ตุลาคม 2554 แม้ว่าทางบริษัทจะได้เตรียมพร้อมรับมือกับอุทกภัยในครั้งนี้แล้วก็ตาม เนื่องจากปริมาณน้ำจำนวนมากพังกำแพงดินกั้นน้ำเข้าท่วมโรงงานทำความเสียหายกับรถยนต์ที่ประกอบเสร็จรอส่งมอบจำนวนมาก ขณะนี้บริษัทก็ได้สั่งซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการซ่อมแซมความเสียหายมาเตรียมพร้อมไว้แล้ว รอว่าน้ำลดเมื่อ่ใดก็จะเข้าไปซ่อมแซมในทันที และจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือนในการเริ่มสายการผลิตอีกครั้งหนึ่ง โดยบริษัทให้คำยืนยันว่ารถยนต์ฮอนด้าที่ได้รับความเสียหายจะไม่ถูกนำกลับมาขายอีกจะส่งไปทำลายอย่างเดียว

ฮอนด้าจะต้องปรับลดเป้าหมายกำไรจากผลประกอบการในปีนี้อย่างแน่นอน นอกจากนั้นสัดส่วนในตลาดโลกก็อาจได้รับผลกระทบอย่างมากด้วย เนื่องจากไม่สามารถจัดหาสินค้าให้เข้าสู่ตลาดในช่วงปลายปีซึ่งเป็นช่วงที่ผู้บริโภคมีการจับจ่ายเงินได้ทัน

นิสสัน มอเตอร์ มีจำนวนการผลิตรถยนต์ในประเทศ ในเดือนสิงหาคมจำนวน 89,262 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 2.5 ส่วนด้านการส่งออกก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.1 หรือจำนวน 57,848 คัน

ส่วนด้านโรงงานนิสสันในประเทศไทยแม้ว่าจะตั้งอยู่ในเขตจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งไม่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยฯ ก็ถูกปิดจนถึงวันที่ 28 ตุลาคม เนื่องจาก Supplier กว่า 20 ราย ไม่สามารถส่งมอบชิ้นส่วนประกอบฯสำคัญในการประกอบรถยนต์ได้ สืบเนื่องจากปัญหาอุทกภัย

มิตซูบิชิ มอเตอร์ มีจำนวนการผลิตรถยนต์ในประเทศ ในเดือนสิงหาคมจำนวน 40,431 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 29.2 ส่วนด้านการส่งออกก็ปรับตัวลดลงร้อยละ 19.4 หรือ

จำนวน 30,916 คัน มิตซูบิชิ มอเตอร์ปิดโรงงานที่จังหวัดชลบุรี แม้ว่าไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม แต่ต้องปิดเนื่องจากไม่มีวัตถุดิบป้อนโรงงาน

มาสด้า มอเตอร์ มีจำนวนการผลิตรถยนต์ในประเทศ ในเดือนสิงหาคมจำนวน 68,449 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 5.6 ส่วนด้านการส่งออกก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงรร้อยละ 21.3 หรือจำนวน 58,475 คัน โรงงานมาสด้าในประเทศไทยเป็นการร่วมมือกันกับฟอร์ดจากอเมริกา บริษัทประกาศหยุดการผลิตและปิดโรงงานเนื่องจากขาดแคลนชิ้นส่วนประกอบฯ แต่ได้เร่งสั่งซื้อจากประเทศญี่ปุ่นและจีนแล้ว แต่จะเริ่มทำ

การผลิตเมื่อไรจะต้องคอยดูสถานการณ์น้ำในเขตกรุงเทพฯในระยะ 2-3 วันนี้ก่อน ซูซูกิ มอเตอร์ มีจำนวนการผลิตรถยนต์ในประเทศ ในเดือนกรกฎาคมจำนวน 86,215 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 5.9 ส่วนด้านการส่งออกก็ปรับตัวลดลงร้อยละ 2 หรือจำนวน 20,002 คัน จากความขัดแย้งระหว่างซูซูกิกับ โฟล์ค-สวาเก้น ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่จากประเทศเยอรมัน ยังไม่มีทีท่า

ว่าจะยุติลงโดยง่ายหลังจากที่ซูซูกิประกาศขอยุติการเป็นพันธมิตรกับโฟล์คลง และขอซื้อหุ้นบริษัทคืน แต่ทว่าผูผลิตรถยนต์สัญชาติเยอรมันยังคงเงียบเฉยต่อข้อเรียกร้องของซูซูกิ ส่วนด้านการผลิตที่ประเทศไทยนั้น ซูซูกิมอเตอร์ก็มีโรงงานอยู่ในจังหวัดปทุมธานี และต้องปิดโรงงานลงเนื่องจากเหตุผลที่คล้ายคลึงกันกับผู้ผลิตรายอื่นๆ โดยสรุป ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา การผลิตรถยนต์ ของประเทศญี่ปุ่นมีจำนวน 704,096 คัน เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาซึ่งมีจำนวน 691,649 คัน พบว่าปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 1.8 หรือจำนวน 12,447 คัน ยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศญี่ปุ่นลดลงราว ร้อยละ 25.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ยืนยันว่าแม้เวลาผ่านมา 5 เดือนภายหลังเหตุภัยพิบัติในเดือนมีนาคมแล้ว ผลกระทบต่อตลาดก็ยังคงมีอยู่ สัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักพิมพ์นิเกอิได้นำเสนอบทความในวันที่ 12 ตุลาคม 2554 เสนอให้บริษัทญี่ปุ่นกระจายการลงทุนในหลายๆประเทศแทนที่จะทุ่มเทให้ประเทศหนึ่งประเทศใดที่เดียว จะเป็นการรวมศูนย์ความเสี่ยงไว้อย่างที่เคยได้รับบทเรียนจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อต้นปีที่ผ่านมา บทความดังกล่าวยังได้กล่าวถึงประเทศไทยซึ่งเปรียบเสมือนโรงงานผลิตของประเทศญี่ปุ่น เป็นตัวอย่างถึงปัญหาในครั้งนี้ด้วย ทว่าหลังวันที่ 12 ตุลาคมได้มีการนำเสนอข่าวที่เกี่ยวกับน้ำท่วมประเทศไทยมาโดยตลอด โดยรายการต่างๆ มีการแสดงออกถึงความกังวลถึงชีวิตและความปลอดภัยของคนญี่ปุ่นที่พำนักอยู่ในประเทศไทย ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก ชาวญี่ปุ่นที่อยู่ในประเทศไทยก็เริ่มสังเกตว่าเริ่มมีการกักตุนอาหารและสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน โดยส่วนใหญ่เริ่มขาดแคลนจากตลาดสด/ซุปเปอร์มาร์เก็ตแล้ว อย่างไรก็ตามการนำเสนอข่าวในช่วงนี้มักเป็นการหารือว่าจะให้การช่วยเหลือประเทศไทยอย่างไรทั้งในระดับภาครัฐและเอกชนหรือแม้แต่ตัวบุคคล โดยจะมีการนำเสนอข่าวควบคู่ไปว่าประเทศไทยนั้นเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆที่ได้ระดมเงินและสิ่งของส่งไปช่วยญี่ปุ่นในระหว่างที่ญี่ปุ่นเผชิญกับภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิในช่วงต้นปี 2554 เป็นการแสดงออกถึงความเป็นมิตรระหว่างคนของทั้ง 2 ประเทศ และเข้าใจซึ่งกันและกันในช่วงที่ยากลำบาก Moody'sได้คาดการณ์ว่าน้ำท่วมในครั้งนี้อาจฉุดรั้งจีดีพีของประเทศไทยลงมาถึง 2 จุด เหลือเพียงเติบโตร้อยละ 2.8 จากปีที่ผ่านมา และยังได้วิเคราะห์ต่ออีกว่าจีดีพีของไทยจะค่อยๆขยับตัวขึ้นจนถึงร้อยละ 4 ในปี 2013 นับว่าเป็นการคาดการณ์ที่ดีมากซึ่งสื่อในต่างประเทศคำนึงถึงความมีเสถียรภาพมากขึ้นของรัฐบาลเพื่อไทย บริษัทญี่ปุ่นที่ถูกน้ำท่วมกว่า ร้อยละ 70 ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะสามารถกลับไปซ่อมแซมโรงงานได้เมื่อไร ในขณะที่ร้อยละ 80 ได้ทำการสั่งชิ้นส่วนประกอบฯจาก Supplier รายอื่นแล้วหรือกระทั่งย้ายการผลิตชั่วคราวไปยังโรงงานที่ไม่ได้รับผลกระทบ

อนึ่ง ผลกระทบต่อสถานการณ์วิกฤตยังคงส่งผลช้ากว่าในประเทศไทย เนื่องจากที่ประเทศไทยมีการสต๊อกชิ้นส่วนไว้ผลิตราว 3 สัปดาห์หรือ 1 เดือน เมื่อเทียบกับโรงงานผลิตฯในประเทศญี่ปุ่นซึ่งเก็นสต๊อกชิ้นส่วนฯไว้เพียง 3 วัน (Just-in-time ตามแนวคิดในการผลิตของโตโยต้า) แต่หากปัญหาน้ำท่วมยังคงยืดเยื้อต่อไปจะทำให้การผลิตรถยนต์ของประเทศไทย มีการสูญเสียการผลิตถึง 6,000 คัน/เดือน ปัญหาอุทกภัยในประเทศไทยในช่วงปลายปีทำให้ประเทศไทยพลาดเป้าหมายการส่งออกรถยนต์จำนวน 1.8 ล้านคันในปี 2554 ไปอย่างน่าเสียดาย

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นคร โอซากา

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ