อุตสาหกรรมการเลี้ยงจระเข้ไทยและโอกาสในตลาดสหรัฐ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 9, 2011 14:03 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ความต้องการของตลาดโลก

หนังจระเข้เป็นสินค้าที่ถูกจัดเป็น commodity ประเภทหนึ่งที่มีความต้องการในตลาดโลกสูงและมีราคาดีเป็นสินค้าหนัง (exotic skin) ที่สวยงามตามธรรมชาติ ราคาแพงและหายาก และมีความแข็งแรงทนทานเหมาะสำหรับผลิตเป็นของใช้เช่นกระเป๋า รองเท้า เข็มขัด หรือแม้กระทั่งใช้ในการผลิตสินค้าเคหะสิ่งทอสำหรับบ้านและรถยนต์ บริษัทผู้ผลิตที่เป็นยี่ห้อของนักออกแบบระดับโลกเช่น Hermes, Chanel, Balenciaga และ Mulberry เป็นต้นมีสินค้าที่ผลิตจากหนังจระเข้ออกวางจำหน่ายในราคาที่แพงมาก เช่น กระเป๋าหนังจระเข้ยี่ห้อ Yves Saint ราคา ๑๙,๙๕๐ เหรียญฯ ยี่ห้อ Dior ราคา ๒๙,๐๐๐ เหรียญฯ ยี่ห้อ Prada ราคา ๔๑,๔๐๐ เหรียญฯ กระเป๋าสะพายไหล่ยี่ห้อ Row ราคา ๓๙,๐๐๐ เหรียญฯ เป็นต้น และเมื่อเร็วๆนี้บริษัท LVMH Moet Hennessy-Louis Vuitton ได้ทุ่มเงิน ๑๒๕.๖ ล้านเหรียญสิงคโปร์ เพื่อซื้อและถือครองหุ้น (ร้อยละ ๕๑) บริษัท Heng Long International Ltd. ของสิงคโปร์ซึ่งเป็นบริษัทซัพพลายหนังจระเข้ฟอกแล้วที่ใหญ่ที่สุดหนึ่งในห้าของโลกโดยมีวัตถุประสงค์หลักก็เพื่อเป็นหลักประกันอุปทานหนังจระเข้คุณภาพสูง การที่หนังจระเข้มีราคาแพงมากเช่นนี้ เนื่องจากกระเป๋าหนังจระเข้คุณภาพสูงอาจจะต้องใช้หนังจระเข้ถึงสี่ตัวในการผลิตกระเป๋าหนึ่งใบ เพราะต้องเลือกเอาเฉพาะหนังส่วนที่ต้องการที่มีลวดลายตามต้องการ

สินค้ากลุ่ม “หนังจระเข้” ผลิตจากหนัง Alligator (แหล่งอาศัยสำคัญในสหรัฐฯ — American Alligator และ จีน — Chinese Alligator) หนัง Crocodile (แหล่งอาศัยสำคัญในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลียอาฟริกา และอเมริกา) และหนัง Caiman (แหล่งอาศัยในอเมริกากลางและอเมริกาใต้) สินค้าหนังจระเข้ที่ผลิตจากทั้งจระเข้ทั้งสามพันธุ์ถือเป็นสินค้าฟุ่มเฟื่อย (luxurious) และราคาแพงทั้งสิ้น แต่สินค้าที่ผลิตจากหนัง Alligator และ Crocodile จะมีคุณภาพสูงกว่าและได้ราคาที่สูงกว่าสินค้าที่ผลิตจากหนัง Caiman หนังจระเข้ที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดในตลาดโลกคือหนังส่วนท้อง และที่เป็นหนังจระเข้น้ำ เค็ม (Crocodylus porosus) ที่เป็นจระเข้พื้นเมืองในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลีย รองลงมาคือ Morelet’s crocodile (Crocodylus moreletii), American Alligator, Siamese crocodile (Crocodylus siamensis) และ Nile crododile (Crocodlus niloticus)

การบริโภคและความต้องการเฉพาะในตลาดสหรัฐฯ

๑. มีการเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ดีความต้องการในแต่ละปีขึ้นอยู่กับตัวแปรหลายอย่างรวมถึงสภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้มแฟชั่น ในช่วงสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำของสหรัฐฯความต้องการบริโภคหนังจระเข้อยู่ในสภาวะชะลอตัวในขณะที่ความต้องการบริโภคเนื้อจระเข้ (Alligator) ยังคงเพิ่มสูงขึ้น เนื้อ Alligator จะถูกส่งเข้าสู่ตลาดการบริโภคทั้งภายในประเทศและในต่างประเทศ ในตลาดสหรัฐฯปกติแล้วส่วนใหญ่จะขายเป็นสินค้าแช่เยือกแข็งทั้งที่ยังติดกระดูก ถอดกระดูกแล้ว หรือถอดกระดูกและทำให้นิ่ม นอกจากจะขายเป็นชิ้นเนื้อแล้วยังมีการนำไปผลิตเพิ่มมูลค่าเป็นสินค้าอื่นๆเช่น ไส้กรอก หรือเนื้อบดปั้นเป็นก้อน

๒. ส่วนใหญ่ของการบริโภคสินค้าหนังจระเข้ในตลาดสหรัฐฯจะเป็นสินค้าสำหรับผู้ชายเช่นกระเป๋าสตางค์และรองเท้าเคาบอย แตกต่างจากการบริโภคในตลาดยุโรปส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าสำหรับผู้หญิง เช่น กระเป๋าถือ

๓. ภาคธุรกิจและภาครัฐที่เกี่ยวข้องในสหรัฐฯทำความพยายามที่จะสร้างภาพพจน์สินค้าที่ทำจากหนังจระเข้ว่ามาจากระบบการผลิตที่ช่วยอนุรักษ์ค้ำจุนประชากรจระเข้ซึ่งดูเหมือนว่าจะประสบผลสำเร็จสามารถส่งผลกระทบในทางที่ดีกับทัศนะคติของผู้บริโภคสหรัฐฯ

กฎระเบียบการส่งออก/การนำเข้าของสหรัฐฯ

การส่งออกและการนำเข้าสินค้าผลิตภัณฑ์จระเข้ อยู่ภายใต้การควบคุมของกฎระเบียบระหว่างประเทศของหน่วยงาน Convention of International Trade in Endangered Species — CITES และภายใต้กฎหมายของสหรัฐฯคือ Endangered Species Act (ESA) และ Lacey Act (ห้ามการนำเข้าผลิตภัณฑ์สัตว์ป่าที่ได้มาหรือส่งออกอย่างผิดกฎหมายจากประเทศแหล่งกำเนิดสินค้า)

หน่วยงาน U.S. Fish & Wildlife Service (FWS) ทำหน้าที่ควบคุมการค้าสินค้าผลิตภัณฑ์จากจระเข้ระบุห้ามนำเข้าเพื่อวัตถุประสงค์ทางการค้าจระเข้ในตระกูล “Crocodylidae” ที่มีชื่ออยู่ใน Appendix I ของ CITES และในกฎระเบียบการนำเข้าแยกตามประเภทสายพันธุ์จระเข้ (U.S. Regulation of Crocodilians Under CITES and the ESP www.fws.gov/international/DMA_DSA/..../crocodile_reg_table.pdf ) ระบุว่าจระเข้ สายพันธุ์ Crocodylus siamensis ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่เลี้ยงกันมากที่สุดในประเทศไทยว่าเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธ์ (endangered) และห้ามนำเข้าสหรัฐฯเพื่อวัตถุประสงค์ทางการค้า กฎระเบียบนนี้ FWS กระทำไว้ตั้งแต่ปี ๑๙๗๖ และยังไม่เคยมีการยื่นคำร้องขอให้มีการแก้ไขให้ทันสมัยแต่อย่างใด ส่งผลให้จระเข้ไทยยังคงไม่สามารถถูกนำเข้าไปยังประเทศสหรัฐฯได้

ปัจจุบันสหรัฐฯอนุญาตการนำเข้าหนังจระเข้เฉพาะที่เป็น Alligator mississipiensis, Crocodylus novaeguineae novaeguineae (จระเข้นิวกีนี), C. porosus (จากปาปัวนิวกินี), Caiman crocodiles, dwarf Caiman Paleosuchus palpebrosus, Schneider’s Smooth-fronted Caiman P. trigonatus, C. niloticus (เฉพาะจาก Zimbabwean) Nile crocodile (Crocodylus niloticus ถูกระบุไว้ใน Appendix II ของ CITES) และ Australian crocodile (c. porosus ถูก ESA — Endangered Species Act- ระบุว่าเป็นสัตว์ถูกคุกคามอันตราย - threatended) การนำเข้าจะต้องกระทำภายใต้กฎระเบียบต่างๆที่มีกำหนดไว้สำหรับแต่ละประเภทของจระเข้ เช่นอาจจะต้องมีใบอนุญาตการค้าจาก CITES หรือใบอนุญาตนำเข้าจากหน่วยงาน U.S. Fish and Wildlife Service หรือใบอนุญาตส่งออกจากประเทศต้นสังกัดสินค้า เป็นต้น

การค้าระหว่างประเทศสินค้าจระเข้ของสหรัฐฯ

การค้าส่งออก

ตลาดส่งออกหนังจระเข้ที่สำคัญที่สุดของสหรัฐฯคือฝรั่งเศสที่ถือครองส่วนแบ่งตลาดไว้ประมาณร้อยละ ๒๑ รองลงมาเป็นการส่งออกไปยังอิตาลี สิงคโปร์ สวิสเซอร์แลนด์ เม๊กซิโก และเยอรมัน ซึ่งถือครองส่วนแบ่งตลาดร้อยละ ๒๐, ๑๙, ๓, ๓ และ ๑ ตามลำดับ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ ๘๐ ของสินค้าจระเข้ที่ส่งออกมาจากจระเข้ที่เลี้ยงที่ฟาร์มในรัฐหลุยเซียน่า

การค้านำเข้า

สหรัฐฯเป็นตลาดนำเข้าสินค้าจากสัตว์เลื้อยคลานที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประมาณร้อยละ ๓ ของการนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้เป็นการนำเข้าสินค้าหนังจระเข้และส่วนใหญ่จะเป็นผลิตภัณฑ์จากจระเข้สายพันธุ์ Caiman crocodiles รองลงมาคือ Alligator mississipiensis อย่างไรก็ดีสหรัฐฯไม่มีตัวเลขการนำเข้า จระเข้หรือผลิตภัณฑ์จากจระเข้

อุตสาหกรรมการเลี้ยงจระเข้และการผลิตสินค้าจากจระเข้ในสหรัฐฯ

สายพันธุ์จระเข้ในสหรัฐฯ

สหรัฐฯมีจระเข้อยู่สองสายพันธุ์คือ

๑. American Crocodile ถือเป็นสัตว์กำลังจะสูญพันธุ์ (endangered) ทั้งนี้ยกเว้นเฉพาะที่รัฐฟลอริด้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคใต้ของรัฐฟลอริด้าจะถูกระบุว่าเป็นสัตว์ที่ถูกคุกคาม (threatened) และได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายรัฐบาลกลาง รัฐฟลอริด้าเป็นรัฐเดียวที่มี American Crocodile อาศัยอยู่เป็นจำนวนมากที่สุด ร้อยละ ๙๕ ของแหล่งที่อยู่อาศัยของ American Crocodile ในรัฐฟลอริด้าได้รับการคุ้มครองและอนุรักษ์

๒. จระเข้ตีนเป็ดหรือ American Alligator (Alligator mississippiensis) คือจระเข้ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในรัฐในเขตตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯเช่นฟลอริด้า หลุยเซียน่า ตอนใต้ของรัฐเท๊กซัส รัฐจอร์เจีย อลาบาม่านอร์ทแคโรไลน่าและเซ้าท์แคโรไลน่า เนื่องจากความคล้ายคลึงระหว่าง American Crocodile และ American Alligator (American Crocodile แตกต่างจาก American Alligators ที่ขนาดหัว หัวของ American Crocodile ยาวกว่าและแคบกว่าและฟันล่างที่สามารถเห็นได้ชัดเจนแม้ว่าจระเข้จะหุบปากอยู่ หัวของ American Alligators จะมีรูปร่างกลมมนกว่า) หน่วยงาน U.S. Fish and Wildlife Service ของสหรัฐฯเคยจัดประเภท American Alligator ว่าเป็น “threatened” หรือสัตว์ที่ถูกคุกคามอันตราย ต่อมาได้ยื่นคำร้องต่อ Convention of International Trade in Endangered Species (CITES) ขอเปลี่ยนเป็น“threatened due to similarity in appearance” หรือสัตว์ที่ถูกคุกคามเนื่องจากความคล้ายคลึงในรูปร่าง

อุตสาหกรรมการเลี้ยง American Alligator เพื่อการพาณิชย์ของสหรัฐฯ

การเลี้ยง American alligator ในสหรัฐฯมีการขยายตัวอย่างมากในระยะสองทศวรรษที่ผ่านมา แม้ว่าจำนวนผู้เลี้ยงจะลดลงแต่ขนาดของแต่ละแหล่งเลี้ยงจะใหญ่ขึ้น แหล่งเลี้ยงสำคัญคือรัฐหลุยเซียน่าและรัฐฟลอริด้า (ที่เหลือเป็นการเลี้ยงในรัฐเท๊กซัส และ จอร์เจีย) ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงจนกว่าจะถึงเวลาฆ่าเกินกว่า ๑๐๐ เหรียญฯต่อตัว วัตถุประสงค์ในการเลี้ยงก็เพื่อเอาหนังและเนื้อ ในขณะที่ผู้เลี้ยงจระเข้เพื่อขายหนังมีจำนวนลดลงความต้องการบริโภคหนังยังคงมีระดับสม่ำเสมอ มีประมาณการณ์ว่าในแต่ละปีรัฐเหล่านี้สามารถผลิตหนัง American Alligator ออกสู่ตลาดรวมกันได้เกินกว่าสี่หมื่นผืน (ขนาดระหว่าง ๖ — ๗ ฟุต)

สหรัฐฯมองว่าการเลี้ยงจระเข้สร้างโอกาสให้แก่ผู้เลี้ยงที่จะผลิตสินค้าได้ตลอดปี เป็นสินค้าที่ได้ราคาสูง มีตลาดทั้งในประเทศแลในต่างประเทศ ใช้พื้นที่ในการผลิตไม่มากและไม่ส่งผลกระทบในทางลบต่อสิ่งแวดล้อมแต่กลับจะช่วยอนุรักษ์พื้นที่ที่เป็น wetland ดังนั้นภาครัฐจึงเข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้เลี้ยงจระเข้เท่าที่มีโอกาสจะทำได้ในขณะเดียวกันก็ตั้งกฎระเบียบต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงและการจับจระเข้เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อจำนวนประชากรจระเข้และสิ่งแวดล้อม

การเลี้ยงจระเข้ในสหรัฐฯแบ่งออกเป็นสองลักษณะคือ (ก) เป็นฟาร์มเลี้ยง (ข) จับในน่านน้ำธรรมชาติจระเข้ในน่านน้ำธรรมชาติจะมีขนาดตัว (ประมาณ ๗ ฟุต) ใหญ่กว่าจระเข้เลี้ยงที่มีขนาดตัวเฉลี่ยประมาณ ๔ ฟุต ราคาจระเข้เลี้ยงเฉลี่ยประมาณตัวละ ๗๗ เหรียญฯ และราคาจระเข้จับในน่านน้ำธรรมชาติเฉลี่ยประมาณตัวละ ๓๑๑ เหรียญฯ ราคาหนังจระเข้ขนาดระหว่าง ๖ — ๗ ฟุตเฉลี่ยประมาณ ๓๐๐ เหรียญต่อผืน ทั้งนี้ราคาจะแตกต่างกันในแต่ละปีขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดและอุปทานจระเข้

ลักษณะของการประกอบอุตสาหกรรมการเลี้ยงจระเข้เพื่อการค้าในสหรัฐฯโดยทั่วไปสรุปได้ดังนี้คือ

๑. เจ้าของที่ดินได้รับใบอนุญาต (permit) ให้เป็นแหล่งอยู่อาศัยของจระเข้

๒. เจ้าของที่ดินจะต้องปล่อยให้จระเข้วางไข่ตามธรรมชาติ การเก็บไข่จะต้องมีใบอนุญาตจากรัฐที่ออกให้เจ้าของที่ดิน ผู้เลี้ยงจระเข้จะต้องทำสัญญาขอเก็บไข่จากเจ้าของที่ดินหรือซื้อจากผู้เก็บไข่รายอื่นจำนวนไข่ที่จะเก็บได้จะเป็นเพียงแค่ส่วนเดียวของที่มีอยู่ในแหล่งที่อยู่อาศัยของจระเข้และเป็นจำนวนที่มาจากการคำนวนโดยใช้กฎเกณฑ์ต่างๆที่รัฐเป็นผู้กำหนดขึ้นเป็นเงื่อนไขที่รวมถึงจำนวนรังจระเข้ จำนวนประชากรจระเข้ และระดับ (rating) ของแหล่งที่อยู่ของจระเข้ ปริมาณไข่ที่เก็บได้แต่ละฤดูกาลปกติเฉลี่ยว่าเท่ากับสามแสนฟองคิดเป็นมูลค่าประมาณ ๑.๘ ล้านเหรียญฯ

๓. เมื่อจระข้ฟักออกจากไข่จะถูกขายให้แก่ผู้เลี้ยงที่จะเลี้ยงจนได้ขนาดที่ตลาดต้องการคือประมาณ ๔ ฟุตซึ่งปกติแล้วจะใช้เวลาประมาณ ๑๕ เดือน กฎหมายบังคับว่าจระเข้ที่โตขึ้นมาส่วนหนึ่งจะต้องถูกนำไปปล่อยในที่ที่เก็บๆไข่มาเพื่อรักษาจำนวนประชากรจระเข้ไว้ ส่วนหนึ่งจะถูกฆ่าเพื่อเอาหนังและเนื้อ

๔. เมื่อจระเข้ถูกฆ่าจะต้องติดป้าย (tag) ที่ออกโดยภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และ Tag นี้จะต้องติดอยู่กับหนังและกับเนื้อจระเข้ไปตลอดจนถึงจุดที่กลายเป็นสินค้าสำเร็จรูป

๕. หนังเมื่อถูกถลกแล้วจะถูกนำเข้าขบวนการเพื่อขายและส่งให้แก่ลูกค้า ราคาขายเฉลี่ยในปี ๒๐๑๐ คือ ๒๕ เหรียญฯต่อหนึ่งฟุต การขายอาจจะกระทำผ่านทางหลายช่องทาง เช่น (ก) หนังที่ถูกทาเกลือจะถูกวัดและถูกจัดลำดับตามขนาดและคุณภาพก่อนถูกนำไปประมูลขายทั้งที่เป็นการประมูลเปิด การประมูลที่เป็นส่วนบุคคล และที่เป็นการขายตรง (ข) หนังบางส่วนอาจจะถูกขายให้แก่คนกลาง (broker) ที่จะนำไปเก็บและจัดลำดับตามที่คุณสมบัติที่ลูกค้าต้องการ และ (ค) หนังบางส่วนจะถูกขายให้แก่โรงงานฟอกหนัง

๖. เนื้อจระเข้จะถูกตัดและทำบรรจุภัณฑ์ภายใต้กฎข้อบังคับเดียวกันกับที่ใช้การผลิตเนื้อสัตว์อื่นๆของสหรัฐ

๗. ร้อยละ ๓๓ ของหนังจระเข้ที่เป็นหนังดิบในตลาดสหรัฐฯมาจากการเลี้ยงในรัฐหลุยเซียน่า ส่วนใหญ่เป็นการขายให้แก่คนกลาง (broker) เพื่อนำไปขายต่อหรือขายตรงให้แก่โรงงานผลิตที่ส่วนใหญ่จะอยู่ในรัฐจอร์เจียและฟลอริด้า

๘. หนังที่ถูกฟอกแล้วจะถูกขายต่อให้แก่โรงงานผลิตสินค้าเครื่องหนัง

๙. การแข่งขันในตลาดสหรัฐฯปัจจุบันเป็นการแข่งขันระหว่างจระเข้ที่เลี้ยงในฟาร์มกับจระเข้ที่จับในน่านน้ำธรรมชาติ และ การแข่งขันกับ crocodiles ที่มาจากอเมริกาใต้และเอเซีย

๑๐. อุตสาหกรรมจระเข้ของรัฐหลุยเซียน่า ผลิตหนังจระเข้ที่มาจากธรรมชาติ (wild) และที่มาจากฟาร์มเลี้ยง มูลค่าอุตสาหกรรมในปี ๒๐๑๐ เท่ากับ ๒๘.๗ ล้านเหรียญฯ ประมาณการณ์ว่ามีคนที่มีใบอนุญาตเป็นเจ้าของแหล่งเลี้ยงจระเข้อยู่ประมาณ ๓๐ คน มีจระเข้เลี้ยงประมาณหนึ่งแสนตัวอยู่ภายใต้การควบคุมของ หน่วยงาน Land and Wildlife Management Programs (ประชากรจระเข้ทั้งรัฐประมาณสองล้านนตัว) การจับและฆ่าจระเข้จะสามารถกระทำได้เฉพาะผู้ที่มีใบอนุญาตจากรัฐเท่านั้น ปัจจุบันรัฐหลุยเซียน่ามีพรานล่าจระเข้ที่มีใบอนุญาตประมาณสองพันรายและจับจระเข้ปีละระหว่างสามหมื่นถึงสามหมื่นห้าตัว พรานล่าจระเข้จะต้องเป็นเจ้าของผืนดินที่อยู่อาศัยของจระเข้หรือเป็นบุคคลที่มีใบอุญาตล่าจระเข้ในผืนดินที่ถูกระบุตามกฎหมายว่าเป็น wetland จะต้องซื้อและมีป้าย (tag) ที่ Louisiana Department of Wildlife and Fisheries ออกให้กับพรานล่าที่ได้รับสัมปะทานที่ระบุจำนวนจระเข้ที่มีสิทธิล่าได้ไว้พร้อม โดยจะต้องเสียค่าธรรมเนียม ๒๕ เหรียญฯเพื่อรับใบอนุญาต ผู้ช่วยพรานล่าจระเข้ที่ทำหน้าที่ล่าจระเข้ด้วยจะต้องมีใบอนุญาตและต้องเสียค่าธรรมเนียม ๒๕ เหรียญฯเช่นกัน การล่าจระเข้เพื่อการกีฬาสามารถทำได้โดยต้องมีพรานล่าจระเข้หรือผู้ช่วยพรานล่าจระเข้อยู่ด้วย ฤดูกาลล่าแบ่งออกเป็นสองโซนคือโซนตะวันออกเริ่มต้นวันพุธสุดท้ายของเดือนสิงหาคม และโซนตะวันตกเริ่มต้นวันพุธแรกของเดือนกันยายน ฤดูกาลล่าของทั้งสองโซนนานสามสิบวันนับตั้งแต่วันเริ่มต้นฤดู เครื่องมือในการล่าคือตะขอและเชือก (เป็นวิธีที่ใช้มากที่สุด) ธนู และอาวุธปืน (ยกเว้นปืนสั้น)

๑๑. อุตสาหกรรมการเลี้ยงจระเข้ในรัฐฟลอริด้า มีประมาณการณ์ว่าในปี ๒๐๐๙ รัฐฟลอริด้ามีฟาร์มจระเข้ที่มีใบอนุญาตประกองการอยู่ ๑๔ แห่งมีจระเข้ประมาณห้าหมื่นกว่าตัว มูลค่าอุตสาหกรรมเกินกว่า ๕ ล้านเหรียญสหรัฐฯ หนังจระเข้จากฟลอริด้าส่วนใหญ่จะเป็นในรูปของ “green form” คือหมักเกลือและม้วน ขายส่งต่อให้กับโรงงานผลิตทั้งในสหรัฐฯและยุโรป กฎระเบียบในการทำธุรกิจเลี้ยงจระเข้คล้ายคลึงกับของรัฐหลุยเซียน่า

การผลิตในประเทศไทย

ประเทศไทยเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงจระเข้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีฟาร์มเลี้ยงจระเข้ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมประมงอยู่ประมาณ ๒๒ ฟาร์มที่ได้รับอนุญาตให้ทำธุรกิจส่งออกสินค้าที่เกี่ยวกับจระเข้ได้ และมีผู้เลี้ยงรายย่อยอยู่ประมาณ ๙๒๙ ราย มีจำนวนประชากรจระเข้ทั่วประเทศไทยประมาณ ๗ แสนตัว สินค้าที่สามารถผลิตได้จากจระเข้มีทั้งเนื้อ หนัง (หนังจระเข้ขนาด ๑ เมตรจะมีราคาประมาณ ๓,๐๐๐ —๔,๐๐๐ บาท) และแม้กระทั่งเลือด จระเข้ที่มีทำวิจัยเพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ จระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทย จระเข้น้ำเค็ม และ ตะโขง เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมายไทยที่กฎหมายยินยอมให้มีการเพาะเลี้ยงในเชิงพาณิชย์และจระเข้ที่มาจากการเพาะเลี้ยงในเชิงพาณิชย์จะไม่อยู่ภายใต้การคุ้มครองตามพระราชบัญญัติ การค้าจระเข้ที่มาจากการเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์ถือว่าถูกต้องตามกฎหมาย

หน่วยงาน Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora (CITES) สังกัด United Nations ระบุชื่อจระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทย (Crocodylus siamensis) จระเข้น้ำเค็ม (Crocodylus porosus — crocodylidae) และตะโขง (Tomistoma schlegelii — Gavialidae) ที่พบในประเทศไทยไว้ใน Appendix 1 ห้ามทำเป็นสินค้าเพื่อการค้าระหว่างประเทศ ทั้งนี้ยกเว้นว่าจะสามารถทำการเพาะเลี้ยงได้จนถึงรุ่นที่ ๒ จระเข้เพาะเลี้ยงตั้งแต่รุ่นที่ ๒ เป็นต้นไปสามารถได้รับการปฏิบัติเหมือนสัตว์ต่างๆที่มีรายชื่ออยู่ใน Appendix 11 คือสามารถเข้าสู่การค้าระหว่างประเทศได้ภายใต้การควบคุมของ CITES ปัจจุบันมีฟาร์มจระเข้ใน ประเทศไทยที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจาก CITES ให้สามารถส่งออกหนังดิบ หนังฟอก และผลิตภัณฑ์ จากจระเข้ที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นจระเข้ที่มาจากฟาร์มเลี้ยงเพื่อการพาณิชย์ จระเข้ที่ถูกนำมาผลิตเป็นสินค้านี้จะต้องมีการฝังไมโครชิพ คือ

๑. ฟาร์มจระเข้สมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ

๒. บริษัทศรีราชาฟาร์ม จำกัด จังหวัดชลบุรี

๓. บริษัทฟาร์มจระเข้สวนสัตว์รีสอร์ท (ฟาร์มจระเข้หนองใหญ่) จังหวัดชลบุรี

๔. บริษัทฟาร์มจระเข้พัทยา จำกัด จัวหวัดชลบุรี

๕. บริษัทฟาร์มจระเข้วัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท

๖. บริษัทฟาร์มจระเข้สามพราน จำกัด จังหวัดนครปฐม

๗. ฟาร์มจระเข้และสวนสัตว์อุทัย รัตน์ จังหวัดอุทัยธานี

๘. ฟาร์มจระเข้หวาบิน จังหวัดสมุทรปราการ

๙. ประสิทธิ์ฟาร์ม จังหวัดสระบุรี

๑๐. คุ้มพนัต ฟาร์ม จังหวัดสมุทรสาคร

๑๑. เจ อาร์ ฟาร์ม จังหวัดราชบุรี

๑๒. บริษัท Golden Crocodile Agriculture, Co., Ltd. จังหวัดนครปฐม

๑๓. รุ่งทวีชัย ฟาร์มจระเข้ จังหวัดนครปฐม

การบริโภคหนังและเนื้อจระเข้ในประเทศไทยยังน้อยอยู่ ตลาดหลักของสินค้าจึงเป็นการส่งออกไปยังต่างประเทศ จระเข้ไทยไม่สามารถส่งออกไปยังประเทศสหรัฐฯเนื่องจากสหรัฐฯยังไม่แก้กฎระเบียบที่กระทำไว้ตั้งแต่ปี ๑๙๗๖ เพื่อให้สอดคล้องและยอมรับกฎระเบียบของ CITES และยังกำหนดให้จระเข้สายพันธุ์ Crocodylus siamensis ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่เลี้ยงกันมากที่สุดในประเทศไทยและอยู่ใน Appendix 1 ของ CITES ว่าเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธ์และห้ามนำเข้าสหรัฐฯเพื่อวัตถุประสงค์ทางการค้า ประเทศผู้นำเข้าสินค้าไทยหลายประเทศนำสินค้าไทยไปผลิตเพิ่มมูลค่าเป็นรองเท้า กระเป๋าใส่เอกสาร กระเป๋าถือ กระเป๋าสตางค์ และเข็มขัดส่งออกไปจำหน่ายในตลาดสหรัฐฯ หากผู้ผลิตและผู้ส่งออกไทยสามารถส่งสินค้าตรงเข้าสหรัฐฯได้จะเป็นการขยายตลาดส่งออกและเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการไทย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการดำเนินการหารือกับหน่วยงาน U.S. Fish & Wildlife Service (FWS) ถึงวิธีการที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์จากจระเข้เข้าตลาดสหรัฐฯได้ เท่าที่ผ่านมายังไม่มีการยื่นคำร้องเพื่อขอยกจระเข้สายพันธุ์ Crocodylus siamensis ออกจากรายชื่อสัตว์สูญพันธุ์ของ FWS

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ นครลอสแอนเจลิส

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ