หนังสือพิมพ์ The Straits Times ฉบับวันที่ 22 และ 24 ตุลาคม 2554 รายงาน ดังนี้
1. นาย Lee Yi Shyan, Minister of State for Trade and Industry ของสิงคโปร์ กล่าวในรายงานของ หนังสือพิมพ์ The Straits Times ฉบับวันที่ 22 ตุลาคม 2554 เกี่ยวกับอุทกภัยในประเทศไทย ซึ่งจะไม่เป็นสาเหตุสำคัญที่จะทำให้ราคาจำหน่ายข้าวในตลาดสิงคโปร์สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์ยังคงต้องพึงเฝ้าระวังการเก็บเกี่ยวในเดือนหน้า เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการจัดหาข้าว และในขณะเดียวกัน สิงคโปร์นำเข้าข้าวจากประเทศอื่นๆ เช่น เวียดนาม อินเดีย และสหรัฐฯ ด้วย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา หากราคาข้าวหอมมะลิไทยที่เป็นที่นิยมของชาวสิงคโปร์มีราคาเพิ่มสูงขึ้นอีก ทั้งนี้ สิงคโปร์นำเข้าข้าวจากไทยคิดเป็นร้อยละ 50 ของการนำเข้ารวม และคิดเป็นอัตราน้อยกว่าร้อยละ 2 ของการส่งออกข้าวรวมของไทย และนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2554 ราคาข้าวหอมมะลิไทยที่ส่งออกมีราคาสูงขึ้นประมาณร้อยละ 9
สิงคโปร์มีแผนการในการรองรับเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลนข้าวและมีราคาสูงขึ้น ได้แก่ (1) การนำเข้าข้าวจากแหล่งผลิตอื่นๆทั่วโลก (2) นโยบายสต๊อคไพล์ข้าว ที่ผู้นำเข้าต้องเก็บสำรองข้าวไว้ในโกดังอย่างน้อยเป็นเวลา 2 เดือนก่อนนำออกจำหน่าย (3) ความร่วมมือกับซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำและผู้ค้าปลีกเพื่อที่จะนำเสนอข้าวชนิดอื่นๆที่มีรสชาดอร่อยและมีคุณภาพดี รวมถึงอาหารประเภทอื่นๆที่ทดแทนได้ ให้แก่ผู้บริโภคพิจารณาเป็นทางเลือกในการบริโภคแทนข้าว
2. ข่าวจาก The Straits Times ฉบับวันที่ 24 ตุลาคม 2554 รายงานว่า การนำเข้าข้าวของสิงคโปร์จากไทยและกัมพูชาจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ถึงแม้ว่าอุทกภัยทำให้พื้นที่เกษตรกรรมเสียหาย และเอกอัครราชทูตของทั้งสองประเทศได้ให้ความมั่นใจว่า ยังมีข้าวปริมาณเพียงพอในการส่งออก
เอกอัครราชทูตไทยในสิงคโปร์ กล่าวว่า ปริมาณผลผลิตจะลดลงอย่างแน่นอน แต่ยังคงมีเพียงพอสำหรับการบริโภคในประเทศและการส่งออก อีกทั้งผู้เชี่ยวชาญในไทยกล่าวว่า หากน้ำลดลงเร็ว การเก็บเกี่ยวข้าวสามารถทำได้ในเดือนธันวาคม โดยไม่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ คาดว่า น้ำท่วมคงจะลดลงภายใน 1 เดือน
ในส่วนของเอกอัครราชทูตกัมพูชาในสิงคโปร์ กล่าวว่า พื้นที่เพาะปลูกข้าวได้รับความเสียหายจากอุทกภัยเพียงร้อยละ 10 ของพื้นที่รวม และเกษตรกรบางรายได้เปลี่ยนไปปลูกข้าวที่ทนทานต่อน้ำท่วมซึ่งสามารถปลูกได้ในพื้นที่ที่มีน้ำท่วม นอกจากนี้ กัมพูชาสามารถส่งออกข้าวได้ตามปริมาณที่ตกลงกับซุปเปอร์มาร์เก็ต NTUC FairPrice
ปัญหาอุทกภัยเกิดในประเทศแหล่งผลิตข้าวอื่นๆด้วย ซึ่งจะทำให้ผลผลิตน้อยลง ประเทศผู้นำเข้าข้าวรวมถึงสิงคโปร์อาจได้รับผลกระทบที่ความต้องการภายในประเทศอยู่ในระดับสูงกว่าการนำเข้า อย่างไรก็ดี สิงคโปร์พยายามดำเนินการในด้านต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค ไม่ให้เกิดความหวั่นวิตก
การผลิต : ไม่มี
- สิงคโปร์นำเข้าข้าวจากประเทศต่างๆทั่วโลก ปีละประมาณ 288,000-327,000 ตัน
- ปี 2553 สิงคโปร์นำเข้าข้าวรวม 249,287 ตัน มูลค่าการนำเข้า 249.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.4 เมื่อเทียบกับปี 2552 โดยนำเข้าจากไทยเป็นอันดับ 1 ปริมาณ 164,219 ตัน มูลค่า 149.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 60 ซึ่งลดลงร้อยละ 4 จากปี 2552 และส่วนแบ่งตลาดข้าวไทยตั้งแต่ปี 2551-2553 ลดลงอย่างต่อเนื่อง (ร้อยละ 73, 65 และ 60 ตามลำดับ)
ผู้บริโภคชาวสิงคโปร์นิยมบริโภคข้าวหอม (Fragrant Rice) และข้าวหอมมะลิ (Hom Mali Rice) ร้อยละ 84 (15,000 ตัน/เดือน) ที่เหลือบริโภคข้าวบาสมาติและข้าวนึ่ง (5,000 ตัน/เดือน)
ประเทศคู่แข่งสำคัญ : เวียดนาม และอินเดีย
- ปี 2553 สิงคโปร์นำเข้าข้าวจากเวียดนาม 81,392 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 99.33 เมื่อเทียบกับปี 2552 มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 16 และส่วนแบ่งตลาดข้าวเวียดนามตั้งแต่ปี 2551-2553 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (ร้อยละ 8, 9 และ 16 ตามลำดับ)
- ปี 2553 สิงคโปร์นำเข้าข้าวจากอินเดีย 42,854 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.78 เมื่อเทียบกับปี 2552 ซึ่งอินเดียมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นตามลำดับตั้งแต่ปี 2551-2553 (ร้อยละ 9, 18 และ 17 ตามลำดับ
- การนำเข้าข้าวจากแหล่งผลิตอื่นๆ
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ สิงคโปร์
ที่มา: http://www.depthai.go.th