รายงานสำรวจตลาดผลไม้สด ในสาธารณรัฐเช็ก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 9, 2011 15:32 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. ขอบเขตการสำรวจตลาดผลไม้สด

ขอบเขตการสำรวจตลาดเน้นสินค้า ผลไม้สดในตลาดสาธารณรัฐเช็ก ซึ่งมีเมืองหลวงที่สวยงามชื่อกรุงปราก เป็นประเทศหนึ่งที่มีเศรษฐกิจเข้มแข็งในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจยุโรป ตั้งอยู่ใจกลางของทวีปยุโรป สามารถเชื่อมโยงการค้าและการขนส่งไปยังยุโรปกลาง ตะวันตก และตะวันออก ซึ่งมีประชากรรวมกันกว่า 360 ล้านคน ใน 27 ประเทศ แหล่งข้อมูลการสำรวจตลาด ประกอบด้วยข้อมูลภาคสถิติ จากกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมและกระทรวงการคลัง สาธารณรัฐเช็ก ,ข้อมูลสำรวจตลาดและข้อคิดเห็นจากผู้แทนการค้า ผู้นำเข้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ตและผู้บริโภคในสาธารณรัฐเช็ก

2. สถานการณ์การตลาดในปัจจุบัน

2.1 กลุ่มลูกค้าเป้าหมายและพฤติกรรมผู้บริโภค กล่าวได้ว่า กลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่มีศักยภาพสำหรับตลาดผลไม้สด คือเท่ากับ จำนวนของประชากรของประเทศ ซึ่งมีรวม 10.5 ล้านคน โดยกลุ่มใหญ่ร้อยละ 70 อายุระหว่าง 15-64 ปี โดยเฉพาะ ครอบครัวที่มีเด็กๆจะเป็นกลุ่มผู้บริโภคหลักรายใหญ่ ที่มีการซื้อผลไม้สดบริโภคสูงสุด

นอกจาก กลุ่มผู้บริโภคที่ซื้อโดยตรงจากตลาดค้าปลีก ยังมีกลุ่มลูกค้าโรงแรมและธุรกิจการจัดเลี้ยงต่างๆ ซึ่งโรงแรมระดับนานาชาติ จะมีความต้องการผลไม้เขตเมืองร้อนมากที่สุด

จากสถิติทางราชการ รายงานว่า ปริมาณการบริโภคผลไม้ต่อคนของชาวเช็กต่อปี ประมาณ 90.4กิโลกรัม เพิ่มขึ้นร้อยละ 29 จาก10 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่ปริมาณการบริโภคผักสดต่อคนต่อปี ประมาณ80-82 กิโลกรัม ทั้งนี้ ร้อยละ 38.4 และ ร้อยละ 13.5 ของประชากร บริโภคผลไม้สด และ ผักสดทุกวันตามลำดับ

ประเภทผลไม้ส่วนใหญ่เป็นผลไม้เมืองหนาว ประมาณร้อยละ 60ของการบริโภคและแอปเปิลเป็นผลไม้ที่มีความนิยมสูงสุด คิดเป็นร้อยละ 50 ของผลไม้กลุ่มนี้ สำหรับผลไม้เขตร้อน มีอัตราการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นตลอดในระยะ 10 ปีที่ผ่านมาเช่นกัน ปัจจุบันปริมาณการบริโภคกลุ่มผลไม้เขตร้อน 35 กิโลกรัมต่อคนต่อปี

ข้อสรุป การบริโภคผลไม้ท้องถิ่นที่ผลิตได้ตลอดปี ได้แก่แอปเปิลและพีช ช่วงเวลาที่มีความต้องการบริโภคผลไม้สด จะสูงสุดคือช่วงฤดูร้อน ซึ่งเป็นฤดูกาลผลไม้ออกเต็มที่ และมีราคาไม่แพง สำหรับการเลือกซื้อ ผลไม้เขตร้อน เช่น กล้วยหอม ส้ม เกรฟฟรุต และกีวี่ ได้กลายเป็นผลไม้ที่ผู้บริโภคคุ้นเคยและนิยมเลือกซื้อเป็นประจำ ส่วนผลไม้ประเภทอื่นๆ เช่น มะม่วง สับปะรด จะนิยมมอบเป็นของขวัญช่วงคริสมาสต์ ในขณะที่ผลไม้เขตร้อนใหม่ๆ เช่น เงาะ มังคุด เสาวรส มะละกอ ลิ้นจี่ ขนุน ส่วนใหญ่ยังไม่คุ้นเคยและประการสำคัญราคาค่อนข้างสูงกว่ามาก เนื่องจากส่วนใหญ่จะใช้การขนส่งทางอากาศ

2.2 ผลผลิตผลไม้ท้องถิ่น

การทำสวนผลไม้ถือเป็นงานภาคเกษตรกรรมที่ดั้งเดิมเก่าแก่ของสาธารณรัฐเช็กมีการพัฒนา และเพิ่มผลผลิตทั้งปริมาณและชนิดของผลไม้หลากหลายมากขึ้น ปัจจุบันพื้นที่สวนผลไม้รวมประมาณ 50,000 เฮคเตอร์ ส่วนหนึ่งผลผลิตผลไม้จากสวนที่ปลูกเพื่อบริโภคเอง และเพื่อโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งมีปริมาณรวม 250,000 ตัน

สำหรับผลผลิตผลไม้เพื่อจำหน่ายในตลาดผลไม้สดของประเทศ มีพื้นที่ปลูกรวม 20,000 เฮคเตอร์ ผลผลิตเฉลี่ย 200,000 ตันต่อปี ยกเว้นในปี 2553 ที่ผ่านมาอากาศหนาวยาวนานกว่าปกติ ทำให้ผลผลิตลดลงเหลือเพียง 120,000 ตัน และคาดว่าในปี 2554 จะมีผลผลิตใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา

ประเภทของผลไม้ที่มีความสำคัญ ได้แก่

  • แอปเปิ้ล เป็นผลไม้ที่มีผลผลิตมากที่สุด กว่าร้อยละ 70 ของผลผลิตผลไม้ทั้งหมด พันธุ์ที่นิยมมากได้แก่ Idared, Golden Delicious, Jonagold, Gloster, Champion และ Ruby
  • เชอร์รี่ เป็นผลไม้ที่มีความสำคัญชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะพันธุ์สีเข้มดำ(Dark Cherry) เป็นพันธ์ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมมาก และมีผลผลิดตเชอร์รี่เปรี้ยว เพื่อส่งออกสำหรับอุตสาหกรรมทำแยมผลไม้
  • แอปปริคอทและพีช เป็นพืชที่มีผลผลิตดีในเขตอากาศอบอุ่น เช่น เขตโมริเวียตอนใต้จะได้ผลผลิตดี ปีละเกือบหมื่นตัน
  • แพร์ พลัม และเคอเรนต์ มีผลผลิตรองลงมาและเป็นผลไม้ฤดูกาลท้องถิ่น ที่ได้รับความนิยมมากเช่นกัน

นอกจากนี้มีผลผลิตองุ่น ถือเป็นผลไม้ดั้งเดิมของสาธารณรัฐเช็ก โดยเฉพาะในเขตโมริเวีย ผลผลิตต่อปีประมาณ 60,000 ตัน โดยเฉพาะองุ่นเขียว มีผลผลิตที่มีคุณภาพดี เหมาะสำหรับการทำไวน์ขาวที่ดี ได้แก่พันธุ์ Veltlin Green, Mueller-Thurgau และ Italian Riesling มีการส่งออกไวน์คุณภาพสูงไปต่างประเทศ

3. การนำเข้าผลไม้และคู่แข่ง

สาธารณรัฐเช็กนำเข้าผลไม้สดปริมาณกว่า 7 แสนตัน คิดเป็นมูลค่า 649 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี (ประมาณ 20,000 ล้านบาทต่อปี) และมีอัตราขยายตัวเฉลี่ยปีละ 5-10 %

แหล่งนำเข้าผลไม้สดของสาธารณรัฐเช็ก ส่วนใหญ่มาจากประเทศแถบยุโรปใต้ ได้แก่ อิตาลี, สเปน และกรีซ ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดผลไม้นำเข้าหนึ่งในสามของทั้งหมด

สำหรับกล้วยหอมแหล่งนำเข้าที่สำคัญจาก 3 ประเทศ ได้แก่ โคลัมเบีย, ไอเวอรี่ โคสต์ และเอควาดอร์

การนำเข้าผลไม้สดจากไทย มีอัตราขยายตัวต่อเนื่องทุกปี ในปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.77 และในช่วง 4 เดือนแรกปี 2554 มีอัตราเพิ่มการนำเข้าผลไม้ประเภท ฝรั่ง มะม่วง มังคุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 และมะละกอนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 95 แต่มีผลไม้บางชนิดนำเข้าลดลงได้แก่ มะขามหวาน ลิ้นจี่ เงาะ ขนุน และแก้วมังกร

สำหรับคู่แข่งขันตลาดผลไม้เขตร้อนของไทย ในสาธารณรัฐเช็กที่สำคัญในแต่ละประเภทผลไม้ ได้แก่

  • สับปะรด นำเข้าจากคอสตาริก้า (42.7 %) ไอเวอร์โคสต์ (7.2 %) และกานา (5 %) ส่วนไทยมีส่วนแบ่งในตลาดร้อยละ 0.3
  • มะม่วง นำเข้ากว่าร้อยละ 47 จากบราซิล รองลงมาคือนำเข้าจากเยอรมัน (15.1 %) เปรู (13.3 %) และสเปน (7.2 %) ส่วนไทยมีส่วนแบ่งในตลาดร้อยละ 7 ได้แก่ มะม่วงน้ำดอกไม้สุกเป็นที่นิยม แม้ราคาจะสูงกว่ามะม่วงจากบราซิล เกือบ 3 เท่าตัว เนื่องจากมีสีเหลืองทอง และรสหวานหอมกว่า

อย่างไรก็ดี การนำเข้าผลไม้สดจากไทย เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านการขนส่งทางอากาศ ไม่มีเครื่องบินตรงจากเมืองไทย จึงมีการสั่งซื้อนำเข้าต่อจากเนเธอร์แลนด์ หรือเยอรมัน ทำให้มีต้นทุนการจัดการค่อนข้างสูง และส่วนหนึ่งในตลาดชุมชนที่คุ้นเคยกับผลไม้ไทย สามารถซื้อผลไม้สดจากไทยในช่วงฤดูกาลจากตลาดค้าส่งของชุมชนเวียดนาม ซึ่งมีเครื่องบินตรงจากเวียดนามทุกวัน ผักผลไม้สดของไทยส่วนหนึ่งนำเข้าโดยผ่านช่องทางนี้ เป็นแหล่งจำหน่ายผลไม้ไทยแห่งใหญ่แห่งหนึ่งที่เป็นที่รู้จักกันดี โดยเฉพาะในกรุงปราก

ทั้งนี้ตลาดหลักสำหรับผลไม้ไทย ส่วนใหญ่สำหรับธุรกิจโรงแรม ภัตตาคาร และธุรกิจการจัดเลี้ยงจะเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สำคัญ

4. ช่องทางการจัดจำหน่าย

ในสาธารณรัฐเช็กผู้มีบทบาทสำคัญในธุรกิจนำเข้าผักผลไม้สดจากต่างประเทศ ประกอบด้วย บริษัท HORTIM, CEROZFRUCHT, EFEZ, E-SANDERA, ABASTO และ VVIS

การนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศ ส่วนใหญ่ผู้นำเข้าจะเป็นผู้ขายส่งด้วย โดยมีคลังสินค้าห้องเย็นเพื่อคัดแยกและตัดแต่ง รวมถึงการบรรจุภัณฑ์เพื่อธุรกิจค้าปลีกต่อไป สำหรับการนำเข้าผลไม้จากเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น เงาะ, มะละกอ และสับปะรด ผู้นำเข้าจะสั่งซื้อจากเนเธอร์แลนด์หรือเยอรมัน แต่ยังมีปริมาณไม่สูงมาก

ผลไม้โซนร้อนนำเข้าจากประเทศต่างๆ เช่น ไทย, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, ศรีลังกา และฟิลิปปินส์ ส่วนหนึ่ง เช่น มะม่วง, มะละกอ นำเข้าจากอัฟริกาและอเมริกาใต้ เช่น บราซิล

การจำหน่ายผลไม้สด ผู้บริโภคจะจัดซื้อจากไฮเปอร์มาร์เก็ต และซุปเปอร์มาร์เก็ต คิดเป็นสัดส่วน 2 ใน 3 ของผู้บริโภค ในขณะที่ผู้บริโภคอีกส่วนซื้อผลไม้จากร้านขายผลไม้โดยตรง หรือตามหน้าห้าง หรือตามสวนสาธรณะที่เปิดขายผลไม้ ให้สำหรับเกษตรกร

ในปัจจุบัน ชุมชนเวียดนามในสาธารณรัฐเช็ก จะเป็นผู้จัดจำหน่ายปลีกและขายส่งผักผลไม้สด มีร้านขายของชำชาวเวียดนามเล็กๆเกือบทุกถนนและมุมเมืองย่านชุมชน สามารถหาซื้อได้สะดวกทุกวัน โดยมีเครื่องบินตรงจากเวียดนามมายังกรุงปรากทุกวัน เช่นกัน

5. กฎระเบียบและอัตราภาษีการนำเข้า

ภายหลังจากสาธารณรัฐเช็ก เข้าร่วมเป็นสมาคมสมาชิกกลุ่มประชาคมยุโรป (EU) ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2547 กฎระเบียบและอัตราภาษีนำเข้าจะเช่นเดียวกันในด่านศุลกากรทุกประเทศของกลุ่ม EU การเข้าร่วมเป็นสมาคมสมาชิกกลุ่มประชาคมยุโรป (EU) ทำให้สาธารณรัฐเช็กได้รับผลประโยชน์ในการค้าขายแบบไร้พรมแดน และไม่มีการเก็บภาษีนำเข้าซ้ำซ้อนภายใน 27 ประเทศสมาชิก

ภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับจับจ่ายสินค้าอาหารและผลผลิตการเกษตร ในสาธารณรัฐเช็ก กำหนดในอัตราร้อยละ 10 มีผลตั้งแต่ 1 มกราคม 2553 เพิ่มขึ้นจากปี 2552 มีอัตราเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 9

กฎระเบียบขั้นตอนการส่งออกผลไม้ไทยไปยังสาธารณรัฐเช็ก สำหรับสินค้าประเภทผักผลไม้สด จะต้องมีใบรับรองปลอดศัตรูพืชจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทย และผ่านการตรวจปลอดศัตรูพืชอีกครั้งที่ผ่านด่านเข้าตลาดกลุ่ม EU

6. เงื่อนไขการขายและการชำระเงิน

ธุรกิจการนำเข้าผลไม้ต่างประเทศ ในตลาดสาธารณรัฐเช็กปกติคู่ค้าให้กำหนดการชำระเงินค่าสินค้าภายใน 60-90 วัน ขึ้นกับการแข่งขันทางการค้าซึ่งปัจจุบันถูกกำหนดโดยไฮเปอร์มาร์เก็ตและโมเดิร์นเทรด แต่ยังมีความเสี่ยงสำหรับผู้ค้ารายย่อย มักจะถูกลูกค้าไม่รับผิดชอบในการชำระเงินค่าสินค้า หลังจากรับสินค้าไปจำหน่ายต่อแล้ว ผู้ที่นำเข้าในธุรกิจใหม่ๆ แนะนำควรเสนอเงื่อนไขการชำระเงินโดยผ่านเลตเตอร์ออฟเครดิต ผ่านธนาคารในสาธารณรัฐเช็ก ซึ่งมีความมั่นคงและเชื่อถือได้เป็นอย่างดี

7. ข้อเสนอแนะ

ผลการจัดกิจกรรมภายใต้โครงการTASTE THAI สำนักงานที่ปรึกษาการพาณิขย์ณ. กรุงปราก ร่วมกับ บริษัทซีโรฟรุต (CEROZ FRUCHT)ผู้นำเข้าผลไม้ต่างประเทศรายใหญ่ และห้างไฮเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ อินเตอร์สปา (INTERSPAR Hypermarkets ) ได้รับผลสำเร็จอย่างดี ในการร่วมกันจัดกิจกรรมเชิญชิมผลไม้ไทย ภายใต้โครงการTASTE THAI โดยบริษัทเคซีเฟรช ผู้ส่งออกผลไม้รายใหญ่ จากไทย ส่งผลไม้บินตรงร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ทั้งผลไม้สดและพร้อมรับประทาน ซึ่งตัดแต่งใส่กล่องใสเห็นเนื้อผลไม้สดที่น่ารับประทาน ผู้บริโภคชาวเช็กให้ความสนใจ ชิมผลไม้สดโซนร้อนจากไทย ให้ความเห็น ผลไม้มีความหลากหลายและรสชาติแปลกใหม่ดี พร้อมทั้งพอใจกับการสาธิตการปลอกผลไม้ไทยและการเลือกซื้อผลไม้จากไทย มะม่วงน้ำดอกไม้สุก ได้รับความนิยมมาก ผลสุกสีทองสวยงาม รสชาติหวาน รวมถึงแก้วมังกร มีความแปลกที่เมล็ดภายในเนื้อสีขาว และเปลือกนอกสีชมพูเข้ม นอกจากนี้ ยังชอบเงาะ มังคุดและขนุน ส่วนทุเรียนจัดจำหน่ายในกล่องเฉพาะเนื้อที่แกะเปลือกออกแล้ว จะเป็นที่ชื่นชอบของผู้ที่เคยได้ทานเมื่อมาเที่ยวเมืองไทย

แต่ละปี ชาวเช็กเลือกจะมาเที่ยวเมืองไทยในระหว่างหยุดยาวภาคฤดูร้อน และได้รับการประกาศจากสมาคมการท่องเที่ยวชองสาธารณรัฐเช็กว่า ชาวเช็กนิยมมาท่องที่ยวเมืองไทยมากเป็นอันดับสองรองจากตุรกี แต่ละปี มีนักท่องเที่ยวกว่าปีละ 3-4 หมื่นคนจากสาธารณรัฐเช็ก เลือกมาเที่ยวไทย ส่วนหนึ่งผลไม้ไทย จึงเป็นที่ชื่นชอบและรู้จักบ้างแล้ว การนำมาเปิดตลาดครั้งนี้จะช่วยให้ ชาวเช็กที่ถือว่า เป็นประเทศหนึ่งที่รายได้ประชากรสูงและมีฐานะทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งในภูมิภาคยุโรปประเทศหนึ่ง ได้มีโอกาสเลือกซื้อและทานผลไม้เมืองร้อนจากไทย ในช่วงฤดูร้อนที่ทุกคนรอคอย ได้เป็นอย่างดี

สำหรับข้อแนะนำในการเข้ามาจำหน่ายในตลาดผลไม้สด ที่มีการแข่งขันและความหลากหลายของผลไม้ในฤดูกาลที่ผู้บริโภคชาวเช็กจะเลือกซื้อ

ประการแรกคือ การรักษาลักษณะเด่นของรสชาติผลไม้สดจากไทย ควรจัดการด้านความสุกของผลไม้ให้ตรงกับเวลาการวางจำหน่ายได้ในระยะ 5-7 วัน ไม่ควรให้สุกมากหรือดิบ ทำให้เสียรสผลไม้ที่แท้จริง และลูกค้าจะไม่กลับมาซื้ออีก เพราะจุดขายที่สำคัญคือรสชาติผลไม้ที่แท้จริงตามธรรมชาติ

ประการที่สองคือ การจัดการระบบการขนส่ง ถ้าใช้การขนส่งทางเรือ จะใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ ราคาต้นทุนจะต่ำกว่า และสามารถขนส่งได้ปริมาณมาก สำหรับการขนส่งทางเครื่องบิน จะมีต้นทุนที่สูงกว่ามาก จะเหมาะสำหรับผลไม้ที่มีการตัดแต่งพร้อมรับประทาน เป็นผลไม้กลุ่มพรีเมี่ยม ซี่งจะมีลูกค้าเฉพาะกลุ่ม ทั้งนี้ หากมีการจัดการ ที่ดี เช่น การใช้บรรจุภัณฑ์ และการควบคุมอุณหภูมิ เป็นต้น และควรศึกษาการใช้ระบบการขนส่งต่อเนื่องทางเรือ-เครื่องบิน และทางรถ ( ภายในยุโรป ) จะช่วยให้คุณภาพและต้นทุนผลไม้นำเข้าจากไทย แข่งขันกับประเทศอื่นๆได้

จากการสำรวจข้อมูลตลาด เปรียบเทียบราคาการจำหน่ายปลีก ของผลไม้ไทย ซึ่งใช้การขนส่งทางอากาศ เพราะเน้นความสดและคุณภาพที่ดีของสินค้าที่พร้อมรับประทาน ทำให้ราคาจำหน่ายปลีกสูงกว่าผลไม้ในฤดูกาลในภูมิภาคยุโรป หรือนำเข้าจากต่างประเทศอื่นๆ ถึง มากกว่า 3 — 5 เท่า อาทิเช่น

แอปเปิล จากอิตาลี ราคาจำหน่ายกก,ละ 30 เช็กคราวน์ ( ประมาณ 60 บาท )

มะม่วง จากบราซิล ขนาด ผลละ 150 กรัม ราคาจำหน่ายผลละ 20 เช็กคราวน์(ประมาณ 40บาท)

สับปะรดจากปานามา ราคาจำหน่ายผลละ 30 เช็กคราวน์ ( ประมาณ 60 บาท )

และโดยเฉลี่ย ผลไม้จากท้องถิ่นและจากภายในยุโรป เช่น แอปเปิล เชอรี่ แอปริคอต สตรอเบอรี่ และองุ่น ราคาจำหน่ายเฉลี่ยกิโลกรัมละ 30 - 60 เช็กคราวน์ ( ประมาณ 60 — 120 บาท )

สำหรับการเปรียบเทียบ ราคาจำหน่ายของผลไม้ไทย ในห้างอินเตอร์สปา ไฮเปอร์มาร์เก็ต ดังนี้ มะม่วงน้ำดอกไม้สุก ขนาดผลละ 250 กรัม ราคาจำหน่ายผลละ 130 เช็กคราวน์( ประมาณ 260 บาท )

แก้วมังกร ขนาดผลละ 150 กรัม ราคาจำหน่ายผลละ 45 เช็กคราวน์ ( ประมาณ 90 บาท )

เงาะ ราคาจำหน่าย กิโลกรัมละ 250 เช็กคราวน์ ( ประมาณ 500 บาท )

มังคุด ขนาดกลาง ราคาจำหน่าย กก.ละ 300 เช็กคราวน์ ( ประมาณ 600 บาท )

ในส่วนของการจำหน่ายสินค้าผลไม้ตัดแต่งพร้อมรับประทาน เช่น ขนุน ฝรั่ง มะละกอ และทุเรียน ราคาเฉลี่ย ต่อกล่อง ขนาดน้ำหนัก 250 กรัม ราคากล่องละ 100 — 170 เช็กคราวน์ ( ประมาณ 200 — 340 บาท ) ซึ่งมีสินค้าลักษณะใกล้เคียงของท้องถิ่น เป็นกล่องผลไม้ตัดแต่งชิ้นเล็ก แต่สำหรับทำเป็นฟรุตสลัด หรือ ทำผลไม้สดปั่น ขนาด 350 — 500 กรัม เช่น สับปะรด +สตรอเบอรี่ , แคนตาลูป + แตงโม ราคาเฉลี่ยกล่องละ 40 — 45 เช็กคราวน์ ( ประมาณ 80 - 90 บาท )

การคำนวณราคาจำหน่ายปลีก จะบวกจากราคานำเข้า จัดส่งจากเมืองไทยถึงสนามบินมิวนิคในประเทศเยอรมัน และเมื่อผ่านพิธีการศุลกากรและด่านตรวจสินค้าเกษตรแล้ว จะขนส่งถึงกรุงปรากโดยทางรถยนต์ ราคาจำหน่ายปลีก จะเป็นราคานำเข้าถึงกรุงปราก และบวกค่าการตลาดเพิ่มร้อยละ 30 และมีภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 10 สำหรับกลุ่มอาหาร (ปกติภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 20 )

3. ข้อแนะนำอีกประการคือ

การวางแผนการตลาด สร้างเครือข่ายและกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน โดยเน้นการทำตลาดเฉพาะกลุ่ม จะสามารถให้ผลไม้โซนร้อนจากไทย มีโอกาสเพิ่มปริมาณจำหน่ายได้มากขึ้น ทั้งนี้ จากการสร้างความคุ้นเคยและจากการที่ผู้นิยมและรู้จักผลไม้ไทย สามารถหาซื้อได้ตามฤดูกาล จะทำให้ขยายความต้องการได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบัน สธารณรัฐเช็ก โดยเฉพาะ กรุงปราก มีนักท่องเที่ยว ปีละกว่า 10 ล้านคน และยังสามารถขยายตลาดไปยังกลุ่มยุโรปกลางและตะวันออกที่ใกล้เคียง

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ.กรุงปราก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


แท็ก ยุโรป   ผลไม้  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ