ตลาดสินค้าข้าวในประเทศสาธารณรัฐเช็ก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 9, 2011 15:33 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. ขนาดของตลาดและความต้องการสินค้าข้าว

จากสำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานว่าการบริโภคข้าวของประชากรในประเทศสาธารณรัฐเช็กประมาณ 4-5 กก./คน/ปี เป้าหมายของผู้บริโภคข้าวคือกลุ่มครัวเรือนที่ซื้อสินค้าผ่านทางซุปเปอร์มาร์เกต และกลุ่มธุรกิจอาหาร (โรงแรม, ภัตตาคาร, ร้านอาหาร, โรงเรียน, โรงพยาบาล, โรงอาหารในบริษัท) ดังนั้น ผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่คาดการณ์ ว่าจะมีการนำเข้าสินค้าข้าว 60 เปอร์เซนต์สำหรับครัวเรือน และ 40 เปอร์เซนต์สำหรับกลุ่มธุรกิจอาหาร รวมทั้งหมดมีความต้องการข้าวอยู่ระหว่าง 60,000-70,000 ตัน/ปี

2. ศักยภาพในการแข่งขันและอันดับของประเทศไทยในตลาดสินค้าข้าวของประเทศสาธารณรัฐเช็ก

ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา (-2550-2554) ประเทศไทยยังครองตำแหน่งอันดับ 2 ของผู้ส่งออกมายังประเทศสาธารณรัฐเช็ก รองจากประเทศอิตาลี ส่วนแบ่งทางการตลาดของประเทศไทยอยู่ที่ 15 เปอร์เซนต์ในปี 2553 คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 18.2 เปอร์เซนต์ในปี 2554 แต่ประเทศอิตาลีมีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงถึง 60 เปอร์เซนต์ของทั้งหมด ในปี 2552 เกิดวิกฤติทางด้านเศรษฐกิจทำให้ประเทศสาธารณรัฐเช็กได้มองหาข้าวที่มีราคาถูกมาสนองความต้องการของผู้บริโภค ทำให้บริโภคการนำเข้าข้าวจากไทยลดลงเป็นอย่างมาก แต่เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นก็มีการเพิ่มปริมาณการนำเข้าข้าวของไทยสูงขึ้นตามลำดับ เพราะข้าวของไทยมีความน่าเชื่อถือในเรื่องข้าวคุณภาพดี

ตั้งแต่ประเทศสาธารณรัฐเช็กเข้าร่วมกลุ่มเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปในปี 2547 ประเทศสาธารณรัฐเช็กหันไปทำการค้ากับผู้ผลิตข้าวในยุโรป เนื่องจากเป็นเขตการค้าเสรี ดังนั้นจึงทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาดของประเทศอิตาลีเพิ่มขึ้นทุกปี อยู่ระหว่าง 64-67 เปอร์เซนต์ของส่วนแบ่งการตลาดสินค้าข้าวทั้งหมดในประเทศสาธารณรัฐเช็ก และครองอันดับหนึ่ง ประเทศไทยเป็นอันดับสองส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ระหว่าง 12-17 เปอร์เซนต์ รองลงมาคือ โปแลนด์ อินเดีย กรีซ เนเธอร์แลนด์ กัมพูชา และเบลเยียม ด้วยสภาพอากาศที่ไม่เหมาะสมของประเทศสาธารณรัฐเช็กทำให้ไม่สามารถเพาะปลูกข้าวได้ ดังนั้น ปริมาณสินค้าข้าวทั้งหมดที่บริโภคในประเทศต้องพึ่งพาการนำเข้าเพียงอย่างเดียวประมาณ 60,000-70,000 ตันต่อปี

3. ช่องทางการกระจายสินค้า

การส่งสินค้าข้าวมายังประเทศสาธารณรัฐเช็กส่วนใหญ่ส่งมาทางเรือที่ท่า HAMBURG หรือมีบางกรณีใช้ท่าเรือ ROTTERDAM และขนส่งมายังประเทศสาธารณรัฐเช็กโดยทางรถยนต์

การบรรจุภัณฑ์ของผู้นำเข้ารายใหญ่จะมีการนำเข้าข้าวมาแล้วบรรจุภัณฑ์เอง ส่วนใหญ่จะบรรจุเป็นชนิดกล่องหรือถุง อยู่ที่ 0.5 กก. หรือ 1 กก. โดยแยกตามยี่ห้อสินค้า เช่น ผู้นำเข้าข้าว PODRAVKA-LAGIS นำเข้าข้าวมาบรรจุภัณฑ์ส่งจำหน่ายให้ห้างซุปเปอร์มาร์เกต TESCO ภายใต้ยี่ห้อ TESCO และผู้นำเข้าข้าว PODRAVKA-LAGIS Co. ยังจำหน่ายข้าวภายใต้ยี่ห้อ LAGIS อีกชนิดหนึ่งด้วย ส่วนผู้นำเข้าข้าว VITANA ใช้ยี่ห้อสินค้า BASK หรือ VITANA ทั้งสองชื่อ ในการขายสินค้าของบริษัท

ประชากรส่วนใหญ่ของที่นี่นิยมบริโภคข้าวสำเร็จรูปซึ่งสามารถทำได้ง่ายโดยการนำข้าวมาต้มในน้ำเดือดประมาณ 10-25 นาที เสร็จแล้วสามารถแกะทานได้เลย ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมจะเป็นยี่ห้อ PODRAVKA-LAGIS หรือ VITANA ที่มีการบรรจุข้าวสำเร็จรูป 4 ห่อเล็กใน 1 กล่อง ส่วนหม้อหุงข้าวประชากรยังไม่เป็นที่นิยมในการใช้งาน เนื่องจากว่าไม่มีการประชาสัมพันธ์หรือเผยแพร่วิธีการใช้หม้อหุงข้าวในการหุงข้าวไทย ทางด้านการตลาดหม้อหุงข้าวพบว่าปี 2551 ได้มีการนำผลิตภัณฑ์หม้อหุงข้าวมาจำหน่าย ได้แก่ ยี่ห้อ SOLAC, MORPHY RICHARDS, KENWOOD, OBH NORDICA, TEFAL ส่วนการสนับสนุนจากทางรัฐบาลเช็กให้ความสำคัญกับการวางยุทธศาสตร์ความมั่นคงในอาหารสำหรับสินค้าประเภทข้าว ได้แก่ ข้าวสาลี, ข้าวไรย์, ข้าวโพด และข้าวบาร์เลย์ มากกว่าสินค้าข้าวไทย

4. พฤติกรรมของผู้บริโภค

การบริโภคข้าวไทยของประชากรเช็กภายในระยะเวลา 12 ปีมีการเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยประมาณครึ่งกิโลกรัมต่อคนต่อปี จาก 4.3 กก./คน ปี 2536 เป็น 4.9 กก./คน ปี 2552 การบริโภคข้าวส่วนใหญ่เป็นเพียงอาหารประกอบอาหารหลัก เช่นเดียวกับพาสต้าที่มีการบริโภคเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ส่วนมันฝรั่งมีการบริโภคที่ลดลดง ทางด้านราคาของสินค้าทั้ง 3 ชนิดมีการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องประมาณ 10 เปอร์เซนต์จากปี 2536-2552

5. ผู้นำเข้าสินค้าข้าวที่สำคัญมายังประเทศสาธารณรัฐเช็ก

บริษัท LAGIS Co. นำเข้าข้าวจากยุโรป มาบรรจุภัณฑ์จำหน่ายในประเทศสาธารณรัฐเช็ก และส่งออกไปยังประเทศสโลวัก, โปแลนด์, รัสเซีย ซึ่งบริษัทนี้ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของ PODRAVKA GROUP และได้มีการขยายศักยภาพการส่งออกในต่างประเทศภายใต้ผลิตภัณฑ์ของ LAGIS

บริษัท VITANA Co. อยู่ในกลุ่ม RIEBER AND SON ของประเทศนอร์เวย์ การนำเข้าข้าวส่วนใหญ่มาจากอิตาลี และสเปน มีบางส่วนมาจากอินเดียและไทย เป็นข้าวชนิดยาวและข้าวสำเร็จรูป ส่วนข้าวหอมมะลิจากไทยเป็นสินค้าเกรดเอจำหน่ายภายใต้ยี่ห้อ VITANA

บริษัทอื่นๆ ที่นำเข้าสินค้าข้าวจากยุโรป

บริษัท MEDISTCZECH Co, Ltd. นำเข้าข้าวจากประเทศสเปน ภายใต้ยี่ห้อ SOS

บริษัท CANO Co. นำเข้าข้าวจากประเทศสเปน ภายใต้ยี่ห้อ ARROZ และ LAPERDIZ ส่วนข้าวหอมมะลิของไทยอยู่ภายใต้ยี่ห้อ LAPERDIZ ด้วยเช่นเดียวกัน โดยผ่านผู้นำเข้าจากประเทศสเปน

บริษัท ESSA Co. นำเข้าข้าวจากประเทศอิตาลี บางส่วนจากอินเดีย, ปากีสถาน, ไทย และเวียดนาม

บริษัทที่มีเจ้าของเป็นคนเวียดนาม

บริษัทที่มีเจ้าของเป็นคนเวียดนาม ได้แก่ TIHA, THUSFOODS, DALAT ส่วนใหญ่นำเข้าข้าวจากไทยมาจำหน่ายในประเทศสาธารณรัฐเช็กที่ตลาดเวียดนาม การบรรจุภัณฑ์มี 3 ขนาด คือ 5, 10, 20 กก.ต่อถุง ซึ่งเป็นข้าวคุณภาพดีสำหรับขายให้คนเวียดนามที่อาศัยอยู่ในประเทศสาธารณรัฐเช็ก

บริษัท INTER AREAL Co. เป็นผู้นำเข้าข้าวจากไทย ศักยภาพในการนำเข้าประมาณ 1,000 ตันต่อปี บริษัทมีการบรรจุภัฑ์ภายใต้ยี่ห้อ ARAX บริษัทนี้ในอดีตได้นำเข้าข้าวจากอิตาลี แต่ด้วยความไม่น่าเชื่อถือของผู้ผลิตข้าวในอิตาลี ทำให้หันมาให้ความสนใจกับผู้ผลิตข้าวจากไทย เริ่มตั้งแต่ปี 2552 หลังจากที่ได้ไปร่วมงาน THAIFEX และได้มีการนำเข้าข้าวจากไทยตั้งแต่นั้นมา

6. กฎระเบียบในการนำเข้าและภาษี

ตั้งแต่ประเทศสาธารณรัฐเช็กเข้าร่วมกลุ่มเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปในปี 2547 ประเทศสาธารณรัฐเช็กหันไปทำการค้ากับผู้ผลิตข้าวในยุโรป เนื่องจากเป็นเขตการค้าเสรี ส่วนภาษีการค้าส่งผลทำให้ราคาสินค้าข้าวสูงขึ้นในประเทศผู้ผลิตที่อยู่นอกกลุ่มยุโรป

ผู้บริโภคที่นำเข้าสินค้าข้าวจากไทยต้องแบกรับภาระในการจ่าย 175 ยูโร/1,000 กก. ตามกฎระเบียบ HS 1006 30 สำหรับข้าวเม็ดยาว แต่ภายใต้โควต้าการนำเข้าข้าวไทยไม่ต้องเสียภาษี ตามกฎระเบียบ HS 1006 40 สำหรับข้าวหักเม็ดต้องจ่าย 65 ยูโร/1,000 กก. แต่ภายใต้โควต้าการนำเข้าข้าวไทยจ่ายเพียง 45 ยูโร/1,000 กก. แม้ว่าราคาที่ได้รับต่ำกว่าเมื่อหลายปีก่อนซึ่งจ่าย 416 ยูโร/1,000 กก. แต่ประเทศอิตาลียังคงได้เปรียบทางการค้าเนื่องจากไม่ต้องเสียภาษีการค้าสำหรับสินค้าข้าวเนื่องจากอยู่ในสหภาพยุโรป และประเทศอิตาลีอยู่ใจกลางยุโรปทำให้มีความได้เปรียบทางด้านการขนส่งที่สามารถส่งสินค้าให้มือผู้บริโภคในระยะทางสั้นและรวดเร็ว

ในปี 2554 ภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับอาหารและสินค้าเกษตรในประเทศสาธารณรัฐเช็กอยู่ที่ 10 เปอร์เซนต์ และจะมีการเพิ่มขึ้นในปี 2555 เป็น 14 เปอร์เซนต์

สรุป ศักยภาพทางด้านการค้า

เนื่องจากประเทศสาธารณรัฐเช็กมีสภาพภูมิอากาศที่ไม่เหมาะสมในการปลูกข้าว ดังนั้นจึงต้องมีการนำเข้าข้าวมาบริโภคภายในประเทศ ประมาณ 60,000-70,000 ตันต่อปี และการบริโภคข้าวประมาณ 4-5 กก./คน/ปี การพิจารณาศักยภาพการเจริญเติบโตในอนาคตของสินค้าข้าวจากประเทศไทยในสาธารณรัฐเช็กยังคงเป็นตลาดผู้บริโภครายใหญ่ โดยจะต้องตระหนักในเรื่องราคาเป็นสำคัญ และควรพิจารณาทางด้านการค้าของข้าวราคาถูกร่วมด้วย อย่างไรก็ตามเมื่อสภาพเศรษฐกิจดีขึ้น ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้บริโภคดีขึ้น ทำให้มีความต้องการข้าวคุณภาพดีเพิ่มขึ้น

ทางด้านการใช้หม้อหุงข้าวในการหุงข้าวไทยนั้น ยังไม่เป็นที่นิยมแพร่หลายในประเทศสาธารณรัฐเช็ก ต้องมีการประชาสัมพันธ์และแนะนำวิธีการหุงข้าวให้น่ารับประทานสำหรับข้าวไทย ทางด้านผู้ส่งออกอาหารของไทยควรจะมีการจัดตั้งกลุ่มเพื่อเรียนรู้และศึกษาตลาดสินค้าในตลาดประเทศสาธารณรัฐเช็กเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มช่องทางการขยายสินค้าในอนาคต

ทางด้านบริษัทผู้เข้าข้าวจากเอเชีย มองว่าประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่มีความน่าเชื่อถือในด้านข้าวที่มีคุณภาพจากประเทศต่างๆในเอเชีย เช่น เวียดนาม, อินเดีย เป็นต้น เนื่องจากว่าข้าวที่มีคุณภาพดีส่งผลให้ราคาสูง ซึ่งเป็นอุปสรรคทางด้านการค้าอย่างหนึ่งของไทย

ส่วนแบ่งทางการตลาดของสินค้าข้าวไทย ยังครองอันดับ 2 รองจากอิตาลี การพัฒนาศักยภาพทางการตลาดในอนาคตขึ้นอยู่กับมาตรฐานการดำรงชีวิต และความรู้ของผู้บริโภคข้าวไทยที่เพิ่มขึ้นในประเทศสาธารณรัฐเช็ก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ