สรุปภาวะตลาดผลิตภัณฑ์ทำด้วยยางของไทยในเยอรมนีเดือนตุลาคม 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 9, 2011 15:51 —กรมส่งเสริมการส่งออก

อุตสาหกรรมในประเทศ

การผลิตและส่งออกรถยนต์ยังคงเป็นอุตสาหกรรมแขนงสำคัญสำหรับสินค้าทำด้วยยาง ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2554 นี้ ในเยอรมนีมีการจดทะเบียนรถใหม่จำนวน 2.4ล้านคันเพิ่มขึ้นจากปีก่อนระยะเดียวกันร้อยละ 10.8 นอกจากนี้ ความต้องการสินค้าจากประเทศในเอเชียและตะวันออกกลางยังคงมีอยู่และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จึงทำให้ความต้องการยางและผลิตภัณฑ์ทำด้วยยางเพิ่มขึ้น สำหรับผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ เช่น ใช้ในการผลิตเครื่องจักรกล ในด้านการแพทย์ เช่น ถุงมือยาง เป็นต้น ก็ยังคงมีความต้องการมากเช่นกัน

ในช่วง 7 เดือนแรกปี 2554 ยอดการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทำด้วยยางของผู้ผลิตในประเทศเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 9,962 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.4 การขายในประเทศมีมูลค่า 6,128 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.7 และในต่างประเทศมูลค่า 3,834 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.5 โดยเป็นยางรถยนต์ มูลค่า 4,119 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.2 ในจำนวนนี้เป็นการจำหน่ายในประเทศมูลค่า 2,822 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.3 และในต่างประเทศมูลค่า 1,298 ล้านยูโร ลดลงร้อยละ 7.4 สำหรับผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆที่สำคัญๆ ได้แก่ แท่นยาง ปะเก็น และยางผสมสารเคมีสำหรับการใช้งานพิเศษต่างๆ เป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 5,842 ล้านยูโร มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.6 เป็นการจำหน่ายในประเทศมูลค่า 3,306 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.5 การขายในต่างประเทศมูลค่า 2,536 ล้านยูโร มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.3

สินค้าส่งออกของไทย

ความต้องการสินค้าผลิตภัณฑ์ทำด้วยยางในตลาดเยอรมนียังคงมีสูงอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ไทยสามารถส่งออกสินค้ารายการนี้ไปตลาดเยอรมนีมูลค่าที่เพิ่มขึ้น จะมีเฉพาะยางยานพาหนะลดลงเล็กน้อย และผลิตภัณฑ์ยางใช้ทางเภสัชกรรม โดยในช่วง 9 เดือนแรกปี 2554 (ม.ค.-ก.ย.) ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์ทำด้วยยางไปเยอรมนีเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 172.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.9 ที่สำคัญๆ ได้แก่

  • ถุงมือยางใช้ในด้านการแพทย์ มูลค่า 90.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.8 คิดเป็นส่วนแบ่งร้อยละ 52.7 ของการส่งออกสินค้ารายการนี้ไปเยอรมนี คิดเป็นส่วนแบ่งในตลาดเยอรมนีร้อยละ 14 แหล่งนำเข้าสำคัญอื่นๆ ได้แก่ มาเลเชีย เนเธอร์แลนด์ และเบลเยี่ยม มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 38, 10 และ 8 ตามลำดับ
  • ยางใหม่สำหรับยานพาหนะ มูลค่า 63.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 4.4 คิดเป็นส่วนแบ่งร้อยละ 36.8 ของการส่งออกสินค้ารายการนี้ไปเยอรมนี ในเยอรมนีไทยมีส่วนแบ่งตลาดเล็กน้อยประมาณร้อยละ 1.1 แหล่งนำเข้าสำคัญอื่นๆ ได้แก่ ฝรั่งเศสมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 14 เช็กร้อยละ 8.9 สโลเวเกียร้อยละ 7
  • ผลิตภัณฑ์ยางใช้ทางเภสัช มูลค่า 5.5 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นส่วนแบ่งร้อยละ 3.2 ของการส่งออกสินค้ารายการนี้ไปเยอรมนี มูลค่าลดลงร้อยละ 14.0 ในเยอรมนีไทยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 5 แหล่งนำเข้าสำคัญๆ ได้แก่ ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม และอิตาลี มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 19, 14 และ 10 ตามลำดับ

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ