การเปลี่ยนแปลงของช่องทางจำหน่ายสินค้าแฟชั่นและเครื่องนุ่งห่มในออสเตรเลีย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 10, 2011 13:55 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในปี 2551 (Global financial crisis 2008) ส่งผลกระทบต่อทุกภาคเศรษฐกิจของออสเตรเลียรวมถึงอุตสาหกรรมแฟชั่นด้วย โดยความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (Consumer Confidence) ปรับตัวลดลง ประชาชนหันมาออมมากขึ้นส่งผลให้ผู้ประกอบการต่างๆ ทั้งผู้ค้าส่งและค้าปลีกประสบกับปัญหาความคล่องตัว และต้องปรับกลยุทธ์เพื่อดึงดูดผู้บริโภคให้บริโภคสินค้าของตน โดย 5 ปีที่ ผ่านมา อุตสาหกรรมแฟชั่นออสเตรเลียมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยเพียงร้อยละ 0.8 ต่อปีหรือที่ 9.2 พันล้านเหรียญออสเตรเลียในปี 2011/12 อย่างไรก็ดี คาดว่าอุตสาหกรรมค้าส่งเสื้อผ้าของออสเตรเลียจะมีอัตราการเติบโตที่ร้อยละ 1.3 ในปี 2011/12 และ IBIS World คาดการณ์ว่าในช่วง 5 ปีข้างหน้า อุตสาหกรรมจะมีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยที่ร้อยละ 1.5 และมีมูลค่า 9.9 พันล้านเหรียญออสเตรเลีย ทั้งนี้ อนาคตของผู้ค้าส่งสินค้าแฟชั่นขึ้นกับปริมาณการบริโภคสินค้าประเภทเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับในระดับค้าปลีกซึ่งขึ้นกับรายได้ ระดับการว่างงาน และอารมณ์ความรู้สึก (Sentiment) ของผู้บริโภค

ปัจจัยที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมแฟชั่น เครื่องแต่งกายของออสเตรเลีย ประกอบด้วย

1.) การระวังการใช้จ่ายของผู้บริโภค โดยผู้บริโภคมีความคุ้นเคยกับการลดราคาสินค้าและจะซื้อเมื่อมีการลดราคา มีการเปรียบเทียบราคาสินค้าโดยใช้ website และซื้อสินค้า online จาก ผู้ค้าปลีกภายในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้ค้าปลีกทั่วไปและผู้ค้าส่ง

2.) Wholesale bypass จะมีผลกระทบมากขึ้นต่ออุตสาหกรรมจากนี้ไปอีก 5 ปี เนื่องจากผู้ค้าปลีกเลือกที่จะซื้อสินค้าโดยตรงจากผู้ผลิตแทนที่จะซื้อจากผู้แทนขาย (agent) อย่างที่ ผ่านมาเพื่อเป็นการลดต้นทุนของสินค้าในภาวะที่การตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคมีความอ่อนไหวอย่างมากต่อราคาสินค้า ตัวอย่างเช่น Myer จะลดการซื้อจากผู้ค้าส่ง และจะซื้อตรงกับผู้ผลิตผ่านสำนักงานจัดซื้อที่อยู่ในเซี่ยงไฮ้ และฮ่องกง

3.) การเข้ามาเปิดตลาดของสินค้า international brands เช่น Zara และ Gap ที่ราคาสินค้าต่ำกว่าสินค้า local brands ค่อนข้างมาก

สถานการณ์อุตสาหกรรมแฟชั่นของออสเตรเลียส่งผลให้ผู้ประกอบการพยายามแสวงหาแหล่งผลิตในต่างประเทศที่ค่าแรงและต้นทุนการผลิตอื่นๆ ต่ำกว่าค่าแรงและต้นทุนท้องถิ่นเพื่อลดต้นทุนการผลิตให้ได้มากที่สุด โดยประเทศที่ผู้ประกอบการชาวออสเตรเลียให้ความสนใจเลือกเป็นแหล่งผลิตสินค้า นอกเหนือจากประเทศจีนที่เป็นแหล่งผลิตที่สำคัญที่สุดในปัจจุบัน ประกอบด้วย บังกลาเทศ กัมพูชา อินเดีย เวียดนาม และประเทศไทย ซึ่งคุณสมบัติร่วมกันที่ดึงดูดนักลงทุน คือ ค่าแรงที่ต่ำกว่าค่าแรงท้องถิ่นออสเตรเลียอย่างมาก ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินว่าผู้ประกอบการจะเลือกประเทศใดนั้น คือความพร้อมในการผลิต การขนส่ง และความน่าเชื่อถือในเรื่องการควบคุมคุณภาพของแต่ละประเทศ ทั้งนี้ ประเทศจีนยังคงเป็นตัวเลือกที่น่า สนใจที่สุด เนื่องจากประสบการณ์ในการประกอบธุรกิจกับออสเตรเลียมาเป็นเวลานานส่งผลให้ผู้ประกอบการชาวออสเตรเลียมีความเชื่อมั่นว่าผู้ผลิตจีนรู้และเข้าใจเกี่ยวกับความต้องการด้านคุณภาพของสินค้าและเรื่องเวลาและช่องทางการขนส่งสินค้ามายังออสเตรเลีย นอกจากนี้ รัฐบาลจีนได้ขยายเขตอุตสาหกรรมไปทางตะวันตกของประเทศ เช่น นินโบ (Ninbo) และดงกวาน (Dongguan) พร้อมทั้งสร้างสาธารณูปโภคเพื่อรองรับการเป็นแหล่งผลิตของบริษัทต่างชาติ และพัฒนาระบบขนส่งทั้งในและระหว่างประเทศเพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตของประเทศอีกด้วย

ข้อมูลจาก: Ragtrader, August 26, 2011

ความเห็น

1.) การที่ออสเตรเลียเลือกการแสวงหาแหล่งผลิตต่างชาติเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการลดต้นทุนการผลิต ถือเป็นโอกาสดีของประเทศไทยที่จะเสนอตัวเป็นแหล่งผลิตสินค้า ทั้งนี้ มีปัจจัยสนับสนุนหลายประการในการเลือกไทยเป็นฐานการผลิต เช่น ระยะทางที่ไม่ไกลนักระหว่างไทยและออสเตรเลียซึ่งจะส่งผลดีต่อการ ขนส่งสินค้าและบริการ ค่าแรงและต้นทุนการผลิตต่ำกว่าออสเตรเลีย ความรู้และความชำนาญในการผลิตสินค้าประเภทเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มของไทย และมีความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างกัน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ต้นทุนการผลิตของไทยยังสูงกว่าประเทศคู่แข่งอื่นๆ เช่น เวียดนาม ปากีสถาน อินเดีย ซึ่งผู้ประกอบการไทยต้องพยายามหาข้อได้เปรียบหรือจุดเด่นที่จะทำให้ได้รับความสนใจจากออสเตรเลีย

2.) เนื่องจากรูปแบบการค้ามีการเปลี่ยนแปลง มีการตัดพ่อค้าคนกลางออกจากระบบเพื่อลดต้นทุน ดังนั้น ผู้ผลิตและส่งออกของไทยต้องปรับแนวทางในการเสนอขายสินค้าของตน โดยไม่พึ่งเพียงผู้นำเข้าแต่ต้องพยายามเสนอขายสินค้าโดยตรงกับผู้บริโภค เช่น ขายสินค้า online หรือการขายตรงถึงร้านค้า และห้างสรรพสินค้า

3.) ความนิยมของ Online shopping ของผู้บริโภคในออสเตรเลียเป็นการเพิ่มโอกาสในการขายสินค้าของ ผู้ผลิตไทย ซึ่งผู้ผลิตและผู้ประกอบการของไทยควรใช้ online shopping websites เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการขยายตลาดสินค้าและบริการมายังออสเตรเลีย ทั้งนี้ ควรสร้างและออกแบบ website ให้เป็นที่ น่าสนใจ สามารถเข้าถึงลูกค้าได้โดยง่าย เช่น การเชื่อมต่อกับ website อื่นที่เป็นที่นิยมและการจัดการที่มีประสิทธิภาพและง่ายต่อลูกค้าที่จะสั่งสินค้า

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครซิดนีย์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ