ข้าวเวียดนาม : ความท้าทายที่ต้องเผชิญในปี 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 10, 2011 14:55 —กรมส่งเสริมการส่งออก

เมื่อวันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม 2554 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและนักวิชาการด้านข้าวได้ร่วมกันประชุมทบทวนเกี่ยวกับการผลิตและการส่งออกข้าวในปี 2554 และหารือแผนสำหรับการเพาะปลูกฤดูการผลิต winter — spring ซึ่งเป็นการผลิตฤดูแรกของปี 2555 โดยการประชุมดังกล่าวจัดขึ้น ณ จังหวัดเหายาง ( Hau Giang ) ซึ่งเป็นจังหวัดหนึ่งในเขตแม่โขงเดลต้าที่เพิ่งแยกตัวออกมาจากนครเกิ่นเทอ

ปี 2554 : การเพาะปลูกได้ผลดี การส่งออกมากเป็นประวัติการณ์

นายฟาม วัน ยือ ( Pham Van Du ) ผู้ช่วยผู้อำนวยการกรมการเพาะปลูก รายงานผลการเพาะปลูกข้าวในปี 2554 นี้ว่า แม้จะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศและน้ำท่วม แต่ผลผลิตข้าวที่ได้รับเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศเป็น 4.5 ล้านเฮกตาร์ เพิ่มขึ้นจากปี 2553 ประมาณ 135,000 เฮกตาร์ ได้รับผลผลิตข้าว 24.933 ล้านตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นประมาณ 1.3 ล้านตัน เฉพาะในเขตแม่โขงเดลต้าสามารถผลิตข้าวได้ถึง 23 ล้านตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากผลผลิตปีที่ผ่านมาถึง 1.165 ล้านตัน ทั้งนี้ เนื่องจากได้มีการนำข้าวพันธุ์ใหม่ที่มีคุณภาพดีมาใช้

นายเหงียน วัน ด่ง ( Nguyen Van Dong ) ผู้อำนวยการกรมการเกษตรและพัฒนาชนบทของจังหวัด เหายางกล่าวว่าเขตแม่โขงเดลต้าเป็นแหล่งผลิตข้าวเพื่อการส่งออกที่สำคัญ ดังนั้นเมื่อชาวนาในเขตแม่โขงเดลต้าสามารถผลิตข้าวได้เพิ่มขึ้น จึงสามารถทำให้การส่งออกเพิ่มมากขึ้นด้วย

นาย ฟาม วัน บ๋าย ( Pham Van Bay ) รองประธานสมาคมอาหารเวียดนาม ( VFA ) กล่าวว่าตั้งแต่ต้นปีจนบัดนี้ เวียดนามส่งออกข้าวได้ 6.2 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 3.06 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น 7.9% และ 23% (เทียบปีต่อปี ) โดยมีราคาส่งออกเฉลี่ยตันละ 482 เหรียญสหรัฐ ซึ่งสูงกว่าปีที่ผ่านมา 8% ( เทียบปีต่อปี ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้เวียดนามได้ส่งออกข้าวหอมแล้วจำนวน 400,000 ตัน ในราคาเฉลี่ยตันละ 700 เหรียญสหรัฐ ด้วยราคาที่ได้เปรียบและคุณภาพข้าวไม่ได้ด้อยกว่าข้าวหอมไทย ทำให้ข้าวหอมเวียดนามเริ่มครองตลาดข้าวหอมในฮ่องกงซึ่งครั้งหนึ่งเป็นตลาดของผู้ส่งออกไทย เวียดนามหวังว่าในปี 2555 จะสามารถส่งออกข้าวหอมได้ 500,000 — 600,000 ตัน ส่วนอินเดียจะเป็นคู่แข่งสำคัญของเวียดนามใน segment ของข้าวราคาถูก โดยราคาส่งออกข้าวของอินเดียจะต่ำกว่าข้าวเวียดนามประมาณตันละ 100 เหรียญสหรัฐ

ปี 2555 : ความท้าทายรออยู่ข้างหน้า

นาย บุ๋ย บ๊า บง ( Bui Ba Bong ) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเวียดนามเรียกร้องให้แต่ละจังหวัดคงพื้นที่เพาะปลูกและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวในฤดูการผลิต 2554 / 2555 นี้ แต่ผู้เข้าร่วมประชุมหลายรายต่างกังวลว่าผลผลิตข้าวของเวียดนามในปีหน้าอาจจะต้องเผชิญกับความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ แมลงและโรคพืช

นาย เตริ่น ยา ขาม ( Tran Gra Kham ) หัวหน้าสำนักงานตัวแทนภาคใต้ของกรมชลประทาน กล่าวว่าระดับน้ำท่วมในปีนี้สูงเท่ากับที่เคยท่วมสูงสุดเมื่อปี 2543 แต่มีปัญหาที่ระยะเวลาการท่วมนานกว่า แม้ภาวะน้ำท่วมจะนำมาซึ่งตะกอนที่ทับถมและเป็นประโยชน์ต่อการเพาะปลูกข้าว แต่ความเสียหายของคันกั้นน้ำอาจทำให้

การเพาะปลูกข้าวฤดูการผลิต winter — spring ต้องล่าช้าออกไป และส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกข้าวในฤดูการผลิตถัดไป ทั้งนี้ ได้มีข้อเสนอในที่ประชุมให้มีการปลูกข้าวฤดู winter — spring ในเขตแม่โขงเดลต้าเป็น 2 ช่วง ช่วงแรก ควรเริ่มปลูกวันที่ 5 — 30 พฤศจิกายน 2554 เป็นจำนวนพื้นที่ 700,000 เฮคตาร์ ส่วนช่วงที่สอง เริ่มปลูกวันที่ 5 — 30 ธันวาคม 2554 เป็นจำนวนพื้นที่ 600,000 เฮคตาร์ แต่เกษตรกรเห็นแย้งว่าการเพาะปลูกในเดือนพฤศจิกายนได้ผลผลิตดีกว่าและได้ผลกำไรมากกว่าการปลูกเดือนธันวาคมซึ่งจะเผชิญความแห้งแล้ง

ในฤดูการผลิต 2554 / 2555 จะมีการเพาะปลูกข้าว 4 ครั้ง คือ winter — spring ( 1.65 ล้านเฮคตาร์ )

summer — autumn ( 1.8 ล้านเฮคตาร์ ) autumn — winter ( 600,000 เฮคตาร์ ) และฤดูการเพาะปลูกตามท้องถิ่น ( 380,000 เฮคตาร์ ) ทั้งนี้ เขตใดที่การเพาะปลูกในฤดู summer — autumn ไม่ได้ผล ควรปรับเปลี่ยนมาเพาะปลูกในฤดู autumn — winter

นาย เหงียน หิว ฮวน ( Nguyen Huu Huan ) ผู้ช่วยผู้อำนวยการกรมคุ้มครองพืช กล่าวเตือนว่าเขตแม่โขงเดลต้าต้องเผชิญปัญหาใหญ่ 2 ประการที่มีผลต่อการผลิต คือ แมลงและโรคพืช และการใช้ยาฆ่าแมลงมากเกินไปจนมีผลต่อความสมดุลทางนิเวศวิทยาและฤดูการผลิตข้าวในปีหน้า

นาย เหงียน วัน บ๋าย ( Nguyen Van Bay ) รองประธานสมาคมอาหารเวียดนาม ( VFA ) กล่าวว่า เวียดนามมีโอกาสชนะการส่งออกข้าวของไทยในปี 2555 แต่สิ่งสำคัญมากกว่าคือวิธีที่จะทำให้การส่งออกมีความยั่งยืน นั่นคือข้าวเวียดนามควรต้องมีการพัฒนา trademark ให้เป็นที่รู้จักของตลาดโลก และควรต้องได้รับมาตรฐาน GAP ของโลก คาดว่าการส่งออกข้าวของเวียดนามในปี 2555 อยู่ระหว่าง 6.5 — 7 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม VFA แสดงความกังวลว่า การที่กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ( MoIT ) ออกใบอนุญาตการส่งออกให้บริษัทผู้ส่งออกมากเกินไป อาจมีผลทำให้ตลาดข้าวในประเทศเกิดความโกลาหล ควรต้องมีการทบทวนรายชื่อบริษัทผู้ส่งออกที่ได้รับใบอนุญาตการส่งออกให้รอบคอบและคัดกรองให้เหลือเฉพาะรายที่มีศักยภาพทางการค้าและการส่งออกเท่านั้น

นายเหวียน วัน ด่ง ผู้อำนวยการกรมการเกษตรและพัฒนาชนบทจังหวัดเหายาง แสดงความเห็นว่า ความท้าทายที่ต้องเร่งแก้ไขภายในปีหน้าคือ การเก็บรักษาหลังการเก็บเกี่ยวที่ยังล้าหลัง และการขาดความใกล้ชิดในการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐบาล นักวิทยาศาสตร์ นักธุรกิจและเกษตรกร

สคต.นครโฮจิมินห์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ