การค้าระหว่างประเทศของฟิลิปปินส์ เดือน กรกฎาคม 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 11, 2011 13:46 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. การค้าระหว่างประเทศในเดือนมกราคม — กรกฎาคม 2554 เปรียบเทียบกับปี 2553

มูลค่า : พันล้านเหรียญสหรัฐ

                    ม.ค.-ก.ค.54    ม.ค.—ก.ค.53     % Change
   การค้ารวม              64.686          59.311        9.07
   การส่งออก              29.186          28.246        3.33
   การนำเข้า                35.5          31.065       14.28
   ดุลการค้า               -6.314          -2.819      123.98

1.1 ปริมาณการค้า ปริมาณการค้ารวมเดือน มกราคม - กรกฎาคม 2554 มีมูลค่า 64.686 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.07 จาก 59.311 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในระยะเดียวกันของปี 2553 โดยเป็นการส่งออก 29.186 พันล้านเหรียญสหรัฐ และ นำเข้า 35.500 พันล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับเดือนกรกฎาคม 2554 มีปริมาณการค้ารวม 9.429 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.58 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2553 ส่วนมูลค่าส่งออกและนำเข้าเดือนกรกฎาคม 2554 เท่ากับ 4.430 และ 4.999 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ

1.2 การส่งออก ในช่วงเดือนมกราคม — กรกฎาคม 2554 ฟิลิปปินส์ส่งออกมูลค่า 29.186 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.33 จาก 28.246 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในระยะเดียวกันของปี 2553

สินค้าส่งออกที่สำคัญของฟิลิปปินส์ยังคงเป็นสินค้าอีเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีการส่งออกรวม 14.891 พันล้านเหรียญสหรัฐ (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 51.0 ของมูลค่าส่งออกรวม) ลดลงจาก 17.035 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งส่งออกได้ในระยะเดียวกันของปี 2553 คิดเป็นร้อยละ 12.58 สำหรับการส่งออกในเดือนกรกฎาคมนี้มีมูลค่าการส่งออก 4,430.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาร้อยละ 1.67 โดยที่สินค้าอีเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักมีมูลค่าส่งออก 2,253.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาซึ่งส่งออกได้ 2,861.8 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 21.26 เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ทำให้มียอดสั่งซื้อลดลง ผู้ประกอบการคาดว่ายอดส่งออกทั้งปีจะลดลงประมาณร้อยละ 10 ลำดับที่สองได้แก่เสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มส่งออกเป็นมูลค่า 189.0 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาซึ่งส่งออกได้ 145.3 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 30.0 ลำดับต่อมาได้แก่สินค้าหัตถกรรมและเฟอร์นิเจอร์ไม้ซึ่งมีมูลค่าส่งออก 166.1 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคมปีที่ผ่านมาซึ่งส่งออกได้ 98.3 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 68.9

ตั้งแต่มกราคม —กรกฎาคม 2554 ตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของฟิลิปปินส์ยังคงเป็นตลาดญี่ปุ่น ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 18.31 สหรัฐอเมริกามาเป็นลำดับที่สอง มีสัดส่วนร้อยละ 14.80 ลำดับต่อมาได้แก่ จีน สิงคโปร์ และฮ่องกง มีสัดส่วนร้อยละ 11.80, 10.07 และ 7.97 ตามลำดับ ส่วนประเทศไทยเป็นลำดับที่ 8 ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 4.04

1.3 การนำเข้า ในช่วงเดือนมกราคม — กรกฎาคม 2554 การนำเข้าของฟิลิปปินส์มีมูลค่า 35.50พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.28 จาก 31.06 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมา

สินค้านำเข้าอันดับหนึ่งคือ สินค้าอีเล็กทรอนิกส์ นำเข้ามูลค่า 11.108 พันล้านเหรียญสหรัฐ (มีสัดส่วนร้อยละ 31.2 ของการนำเข้ารวม) นำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 จากปีที่ผ่านมาซึ่งนำเข้า 10.400 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลำดับที่สองได้แก่น้ำมันเชื้อเพลิง นำเข้ามูลค่า 7.255 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.11 จาก 5.492 พันล้านเหรียญสหรัฐของเดือนกรกฎาคมปีที่ผ่านมา ส่วนเดือนกรกฎาคมนี้มีการนำเข้า 4,999.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาซึ่งนำเข้า 4,687.7 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 6.6 โดยที่ร้อยละ 33.6 เป็นการนำเข้าวัตถุดิบ และร้อยละ 25.9 เป็นการนำเข้าสินค้าทุน ที่สำคัญได้แก่ อุปกรณ์ด้านโทรคมนาคมและไฟฟ้า ซึ่งมีสัดส่วนนำเข้าร้อยละ 49.6 มีการนำเข้าลดลงร้อยละ 13.9 ลำดับต่อมาได้แก่ อุปกรณ์เกี่ยวกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 22.0 มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.8 ส่วนน้ำมันเชื้อเพลิงนำเข้า 1,312.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 82.5 สำหรับสินค้าข้าวตั้งแต่มกราคม - กรกฎาคม 2554 มีการนำเข้าแล้วเป็นมูลค่า 292.95 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมาซึ่งนำเข้า 1,405.56 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 79.1

1.4 ดุลการค้า

ตั้งแต่มกราคม — กรกฎาคม 2554 ฟิลิปปินส์มีการนำเข้ามากกว่าการส่งออกทำให้มีการขาดดุล 6.314 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งขาดดุลสูงกว่าปีที่ผ่านมาที่ขาดดุล 2.819 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 123.98

1.5. ประเทศคู่ค้าสำคัญของฟิลิปปินส์

คู่ค้าที่สำคัญของฟิลิปปินส์ในเดือนนี้ ญี่ปุ่นกลับขึ้นมาเป็นคู่ค้าลำดับที่หนึ่งของฟิลิปปินส์ซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 13.64 และสหรัฐอเมริกาเลื่อนลงมาเป็นลำดับที่สองมีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 12.73 ส่วนอันดับที่ 3, 4และ5 คงเดิม ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน สิงคโปร์ และสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 10.63, 9.30 และ 6.09 ตามลำดับ สำหรับประเทศไทยคงเป็นคู่ค้าลำดับที่ 7 มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 5.07

2. การค้าระหว่างไทยกับฟิลิปปินส์เปรียบเทียบกับระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมา

มูลค่า : ล้านเหรียญสหรัฐ

                    ม.ค.- ก.ค 54     ม.ค.- ก.ค.53       % Change
การค้ารวม                 4,213.4          4,171.7           1.29
ไทยส่งออกไปฟิลิปปินส์         2,616.5          2,854.5          -8.34
ไทยนำเข้าจากฟิลิปปินส์        1,596.9          1,317.2          21.24
ดุลการค้า                  1,019.6          1,537.3         -33.68

2.1 ปริมาณการค้า

ปริมาณการค้าระหว่างไทยกับฟิลิปปินส์ในช่วงเดือนมกราคม - กรกฎาคม 2554 มีมูลค่า 4,213.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 จาก 4,171.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ในระยะเดียวกันของปี 2553 โดยเป็นการส่งออก 2,616.5 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้า 1,596.9 ล้านเหรียญสหรัฐ

ในเดือนกรกฎาคม 2554 มีปริมาณการค้ารวม 589.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2553 ส่วนการส่งออกและนำเข้าเดือนนี้มีมูลค่า 406.6 และ 183.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ

2.2 การส่งออก

ในช่วงเดือนมกราคม — กรกฎาคม 2554 ไทยส่งสินค้าออกไปฟิลิปปินส์เป็นมูลค่า 2,616.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 8.34 จาก 2,854.5 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2553 เมื่อเปรียบเทียบมูลค่าสินค้าไทยส่งไปฟิลิปปินส์กับมูลค่าที่ฟิลิปปินส์นำเข้าจากทุกประเทศ คิดเป็นร้อยละ 7.3

สินค้าไทยส่งออกไปฟิลิปปินส์ที่สำคัญได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มีมูลค่า 440.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (คิดเป็นร้อยละ 16.8 ของมูลค่าการส่งออกรวมจากไทยไปฟิลิปปินส์) ลดลงจากระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 23.2 ลำดับที่สองคือแผงวงจรไฟฟ้า มีมูลค่าส่งออก 270.4 ล้านเหรียญสหรัฐ (คิดเป็นร้อยละ 10.3 ของมูลค่าการส่งออกรวม) เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 14.7 ลำดับต่อมาได้แก่น้ำมันเชื้อเพลิงส่งออกได้ 223.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากระยะเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 29.2

2.3 การนำเข้า

ในช่วงเดือนมกราคม — กรกฎาคม 2554 ไทยนำเข้าจากฟิลิปปินส์มูลค่า 1,596.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.24 จากระยะเดียวกันของปีที่แล้วซึ่งนำเข้ามูลค่า 1,317.2 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าสินค้าที่ฟิลิปปินส์ส่งมายังไทยคิดเป็นร้อยละ 5.4 ของมูลค่าส่งออกรวมของฟิลิปปินส์

สินค้านำเข้าจากฟิลิปปินส์ที่สำคัญอันดับแรกคือสินแร่โลหะและเศษโลหะนำเข้าเป็นมูลค่า 278.7 ล้านเหรียญสหรัฐ (คิดเป็นร้อยละ 17.4 ของมูลค่านำเข้ารวม) เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมาซึ่งนำเข้ามูลค่า 170.6 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 63.4 ลำดับต่อมาคือแผงวงจรไฟฟ้ามีมูลค่า 261.4 ล้านเหรียญสหรัฐ (คิดเป็นร้อยละ 16.3 ของมูลค่านำเข้ารวม) เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมาซึ่งนำเข้ามูลค่า 237.1 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 10.2

2.4 ดุลการค้า

เนื่องจากไทยส่งออกไปฟิลิปปินส์มากกว่านำเข้าสินค้าจากฟิลิปปินส์ ในช่วงเดือนมกราคม — กรกฎาคม 2554 ฟิลิปปินส์ขาดดุลการค้ากับไทยเป็นมูลค่า 1,019.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งขาดดุลน้อยกว่าระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่ขาดดุล 1,537.3 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 33.68

3. การคาดการณ์ภาวะการค้า

รัฐบาลได้คาดการอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศประจำไตรมาสที่ 3 ปี 2011 เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 5 และได้มีการปรับอัตราประเมินการเติบโตทางเศรษฐกิจของปีนี้ใหม่ จากร้อยละ 7-8 เป็นร้อยละ 4.5 ซึ่งเป็นผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำ และการใช้จ่ายของของภาครัฐที่ต่ำกว่าประมาณการ ซึ่งใช้ไปเพียงร้อยละ 55.35 การส่งออกปี 2011คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากที่เคยคาดการไว้ที่ร้อยละ 10 สำหรับสินค้าไทยที่ยังมีศักยภาพในการส่งออกไปฟิลิปปินส์ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แม้ว่าจะมีแนวโน้มส่งออกได้ลดลงเพราะผลกระทบจากภัยพิบัติในญี่ปุ่น แต่ก็ยังคงเป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของไทย สินค้าอื่นที่มีศักยภาพรองลงมา ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า เม็ดพลาสติกและเครื่องสำอาง ส่วนเรื่องการนำเข้าสินค้าข้าวโดยรัฐบาลฟิลิปปินส์ คาดว่าอาจจะมีการนำเข้าข้าวในช่วงต้นปีหน้า ส่วนจำนวนที่จะนำเข้าจะต้องพิจารณาถึงผลกระทบของพายุใต้ฝุ่นต่อผลผลิตข้าวในช่วงครึ่งหลังของปี

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ