รายงานสถานการณ์การผลิต การค้า การบริโภค การส่งออกและการนำเข้าข้าว ของประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 11, 2011 13:58 —กรมส่งเสริมการส่งออก

รายงานสถานการณ์การผลิต การค้า การบริโภค การส่งออกและการนำเข้าข้าว ของประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

ระหว่างวันที่ 14-20 ตุลาคม 2554

1.สถานการณ์การผลิต :

จนถึงวันที่ 20 ตุลาคม 2554 แหล่งผลิตข้าวบริเวณ Mekong Delta ได้ทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตในฤดู Summer-Autum เสร็จสิ้นแล้ว รวมพื้นที่เก็บเกี่ยวทั้งสิ้น 1,662,426 เฮ็กตาร์ ผลผลิตเฉลี่ย 5.21 ตัน/เฮ็กตาร์ ผลผลิตรวม 8.66 ล้านตัน

ในส่วนของการเพาะปลูกข้าว ฤดูการผลิตที่ 3 Autum-Winter คาดว่าจะมีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 641,000 เฮ็กตาร์

สำหรับในพื้นที่ภาคเหนือ แหล่งผลิตข้าวในบางจังหวัดกำลังอยู่ในระหว่างการเก็บเกี่ยวผลผลิต เนื่องจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ ทำให้การเก็บเกี่ยวล่าช้า แต่ไม่มีพื้นที่นาได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม

2.ราคาข้าวภายในประเทศ :

ราคาข้าวเปลือกท้องถิ่นในแหล่งผลิตบริเวณ Mekong River Delta (ข้าวเปลือกเมล็ดสั้น) จะอยู่ระหว่าง 7,150-7,300 เวียดนามด่ง/กิโลกรัม ในขณะที่ราคาข้าวเปลือกสำหรับสีเป็นข้าวเมล็ดยาว อยู่ระหว่าง 7,350-7,500 เวียดนามด่ง/กก. ราคาข้าวกล้องชนิดสีเป็นข้าวหัก 5 % จะอยู่ระหว่าง 9,500 - 9,650 เวียดนามด่ง/กก และข้าวกล้องชนิดสีเป็นข้าวหัก 25 % อยู่ระหว่าง 9,350-9,500 ทั้งนี้ ราคาข้าวเปลือกในสัปดาห์นี้มีราคาสูงกว่าสัปดาห์ที่ผ่านมาประมาณกิโลกรัมละ 50-100 เวียดนามด่ง

สำหรับข้าวสาร มีราคาจำหน่ายส่งดังนี้

          ข้าวหัก 5 %  (ไม่บรรจุถุง) กิโลกรัมละ            11,550-11,700          เวียดนามด่ง
          ข้าวหัก 15 %            กิโลกรัมละ           10,950-11,0500          เวียดนามด่ง
          ข้าวหัก 25 %            กิโลกรัมละ            10,400-10,550          เวียดนามด่ง

(อัตราแลกเปลี่ยน 1 บาท = 798 เวียดนามด่ง)

3.การส่งออก :

ปริมาณส่งออกในช่วงระหว่างวันที่ 1-20 ตุลาคม 2554 มีจำนวน 232,773 ตัน มูลค่า 125.583 ล้านเหรียญสหรัฐ แยกเป็น

          -          ข้าวหัก 5% - 10 % ปริมาณ 28,851 ตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12.37 ของการส่งออกทั้งหมดในสัปดาห์นี้
          -          ข้าวหัก 15 % - 20 %           ปริมาณ 187,425 ตัน           คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 80.52
          -          ข้าวอื่นๆ                      ปริมาณ 12,412 ตัน            คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.33
          -          ข้าวเหนียว                    ปริมาณ 2,729 ตัน             คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.17
          -          ข้าวหักอื่นๆ                    ปริมาณ 1,355 ตัน             คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.58

สำหรับปริมาณส่งออกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม — 20 ตุลาคม 2554 มีจำนวน 6.111 ล้านตัน มูลค่า 2.942 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่

          ตลาดเอเชีย              ปริมาณ 181,681 ตัน    คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 78.05
          ตลาดอเมริกา             ปริมาณ 26,970 ตัน     คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.59
          ตลาดอัฟริกา              ปริมาณ 15,043ตัน      คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.46
          ตลาดออสเตรเลีย          ปริมาณ 8,239 ตัน      คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.54
          ตลาดยุโรป               ปริมาณ 715 ตัน        คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.31
          ตลาดตะวันออกกลาง        ปริมาณ 125 ตัน        คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.05

4. สถานการณ์ข้าวในเวียดนาม/สถานการณ์ข้าวโลก :

4.1 รายงานข่าวแจ้งว่า เวียดนามได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับ Padiberar Nasional Bhd (Bernas -สังกัดกระทรวงการคลังของมาเลเซีย) เพื่อเป็นหลักประกันว่ามาเลเซียจะไม่ขาดแคลนข้าว จำนวนที่สามารถใช้บริโภคได้นานกว่า 4 เดือน (ความต้องการบริโภคข้าวเดือนละ 180,000 ตัน) ทั้งนี้ เมื่อปี 2553 Bernas นำเข้าข้าวทั้งสิ้น 935,000 ตัน และตั้งเป้าหมายนำเข้าเพิ่มเพื่อจัดทำระบบสำรองอาหารแห่งชาติในอนาคต โดยจะสำรองข้าวประมาณ 1 ล้านตัน เนื่องจากราคาข้าวในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่กลางปี 2554 และการเกิดอุทกภัยในไทยและอินโดจีน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญ ทั้งนี้มาเลเซียจะนำเข้าข้าวจากเวียดนามร้อยละ 49 ไทย ร้อยละ 33 ปากีสถาน ร้อยละ 16 และจากประเทศอื่นๆ ร้อยละ 2

4.2 กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเวียดนาม รายงานเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2554 ว่า ในปี 2554 คาดการณ์ว่าเวียดนามจะส่งออกข้าว จำนวน 7.5 ล้านตัน มูลค่ากว่า 3,700 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยราคาข้าวเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากปัญหาน้ำท่วมบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ปัจจุบันราคาข้าวเกรด 1 ของเวียดนาม ตันละ 438-444 เหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 4 เมื่อเปรียบเทียบกับราคาในเดือนกันยายน 2554 และคาดว่าราคาข้าวจะยังสูงจนถึงเดือนมิถุนายน 2555 ทั้งนี้ อินโดนีเซียเป็นประเทศที่นำเข้าข้าวจากเวียดนามรายใหญ่ที่สุด โดยปริมาณการส่งออกไปอินโดนีเซียคิดเป็นร้อยละ 17 ของการส่งออกทั้งหมดในช่วงตั้งแต่เดือนมกราคม — สิงหาคม 2554 รองลงมาได้แก่ฟิลิปปินส์ ร้อยละ 16

4.3 ประธานกลุ่มผู้ค้าข้าวได้แถลงการณ์ในโอกาสเข้าร่วมการประชุมข้าวโลกประจำปี 2554 ระหว่างวันที่ 19-21 ตุลาคม 2554 ที่นครโฮจิมินห์ เวียดนาม โดยระบุว่า ความต้องการข้าวในตลาดโลกจะสูงขึ้น และในอนาคตอันใกล้จะมีพืชชนิดอื่นเข้ามาแทนที่ข้าว เนื่องจาการแข่งขันด้านราคาและคุณภาพ อีกทั้งยังคาดว่า ราคาข้าวในปี 2554 อาจสูงถึงตันละ 700 เหรียญสหรัฐ ปัจจุบัน อินเดียจะเริ่มส่งออกข้าวอีกครั้ง การส่งออกข้าวของประเทศผู้ผลิตรายใหญ่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2554 เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ไตรมาสที่ 2 ร้อยละ 17 และไตรมาสที่ 3 ร้อยละ 11.5 สำหรับปัจจัยที่ทำให้ข้าวมีราคาสูงขึ้น เป็นผลมาจาก 1) ปัญหาอุทกภัยในกัมพูชา เวียดนาม และไทย 2) การผลิตข้าวที่ลดลงร้อยละ 15 ของประเทศในอเมริกาใต้ และ 3) ราคาข้าวไทยที่เพิ่มสูงขึ้นจากนโยบายการรับจำนำข้าว

4.4 องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ( FAO ) แสดงความกังวลถึงปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นกับหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2554 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งจะก่อให้เกิดภาวะการขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง เนื่องจากพื้นที่นาได้รับความเสียหาย อีกทั้งยังมีอุปสรรคในการขนส่งข้าวออกจากพื้นที่เพาะปลูก FAO คาดว่า ร้อยละ 12 ของพื้นที่ปลูกข้าวของไทยจะได้รับความเสียหายจากอุทกภัย ขณะที่เวียดนามจะได้รับความเสียหายร้อยละ 0.4 กัมพูชา ร้อยละ 12 ลาว ร้อยละ 7.5 และฟิลิปปินส์ ร้อยละ 6

4.5 ข่าวจากสำนักข่าว MarketWatch ของเวียดนาม รายงานว่า นโยบายรับจำนำข้าวของไทยจะส่งผลให้ข้าว อย่างน้อย 2.5 ล้านตัน จากกัมพูชา ลาว และ พม่า หลั่งไหลเข้าไทย เพื่อสวมสิทธิ์ เนื่องจากราคาข้าวไทยกับประเทศเพื่อนบ้านแตกต่างกันมาก ทั้งนี้ ปกติข้าวจากกัมพูชาจะเข้าสู่ไทยประมาณ 1 ล้านตัน ผ่านทางชายแดน และข้าวจากพม่าอีกปีละ 500,000 ตัน คาดว่าในปี 2554 พ่อค้าจะนำเข้าข้าวจากกัมพูชาเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1 เท่า ซึ่งน่ากังวลว่าข้าวในโครงการรับจำนำจะมีทั้งข้าวที่นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน และข้าวในประเทศที่ผลิตเมื่อปี 2553 ถึงแม้รัฐบาลจะเข้มงวดในการรับจำนำข้าวเฉพาะข้าวที่ผลิตในปี 2554 ก็ตาม ทั้งนี้ จะส่งผลให้ข้าวในคลังของรัฐมีจำนวนมาก ในขณะที่การส่งออกลดลง และจะมีผลกระทบต่อปริมาณข้าวในตลาดโลก

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงฮานอย

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ