รายงานสถานการณ์การผลิต การค้า การบริโภค การส่งออกและการนำเข้าข้าว ของประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 11, 2011 14:25 —กรมส่งเสริมการส่งออก

รายงานสถานการณ์การผลิต การค้า การบริโภค การส่งออกและการนำเข้าข้าว ของประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

ระหว่างวันที่ 20-27 ตุลาคม 2554

1.สถานการณ์การผลิต :

การเพาะปลูกข้าว ฤดูการผลิตที่ 3 Autum-Winter ในแหล่งปลูกข้าวบริเวณ Mekong River Delta คาดว่าจะมีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 653,000 เฮ็กตาร์

สำหรับภาคเหนือ การปลูกข้าวฤดูที่3 มีปริมาณน้อยมาก เนื่องจากสภาพภูมิอากาศไม่อำนวย พื้นที่นาส่วนใหญ่จะถูกแปรสภาพเป็นพื้นที่ปลูกผักแทน จนกว่าจะพ้นฤดูหนาว

2.ราคาข้าวภายในประเทศ :

ราคาข้าวเปลือกท้องถิ่นในแหล่งผลิตบริเวณ Mekong River Delta (ข้าวเปลือกเมล็ดสั้น) จะอยู่ระหว่าง 7,100-7,250 เวียดนามด่ง/กิโลกรัม ในขณะที่ราคาข้าวเปลือกสำหรับสีเป็นข้าวเมล็ดยาว อยู่ระหว่าง 7,300-7,450 เวียดนามด่ง/กก. ทั้งนี้ ราคาลดลงเล็กน้อย เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นข้าวที่ถูกฝน มีความชื้นสูง สำหรับราคาข้าวกล้องชนิดสีเป็นข้าวหัก 5 % จะอยู่ระหว่าง 9,550 - 9,700 เวียดนามด่ง/กก และข้าวกล้องชนิดสีเป็นข้าวหัก 25 % อยู่ระหว่าง 9,450-9,600 เวียดนามด่ง/กก. ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาณความต้องการมากขึ้น ในขณะที่ข้าวเปลือกที่ยังไม่ได้สีมีปริมาณเข้าสู่ตลาดน้อยลง เพราะเป็นช่วงปลายฤดูการเก็บเกี่ยว

สำหรับข้าวสาร มีราคาจำหน่ายส่งดังนี้

          ข้าวหัก 5 %  (ไม่บรรจุถุง) กิโลกรัมละ          11,550-11,700          เวียดนามด่ง
          ข้าวหัก 15 %            กิโลกรัมละ          11,000-11,150          เวียดนามด่ง
          ข้าวหัก 25 %            กิโลกรัมละ          10,450-10,600          เวียดนามด่ง

(อัตราแลกเปลี่ยน 1 บาท = 798 เวียดนามด่ง)

ทั้งนี้ ข้าวสารทุกชนิดมีราคาสูงขึ้นในสัปดาห์นี้

3.การส่งออก :

ปริมาณส่งออกในช่วงระหว่างวันที่ 1-27 ตุลาคม 2554 มีจำนวน 348,567 ตัน มูลค่า 189.438 ล้านเหรียญสหรัฐ แยกเป็น

          -          ข้าวหัก 5% - 10 % ปริมาณ 44,445 ตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12.76 ของการส่งออกทั้งหมดในสัปดาห์นี้
          -          ข้าวหัก 15 % - 20 %           ปริมาณ 255,296 ตัน          คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 73.25
          -          ข้าวอื่นๆ                      ปริมาณ 16,748 ตัน           คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.80
          -          ข้าวเหนียว                    ปริมาณ 19,149 ตัน           คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.49
          -          ข้าวหักอื่นๆ                    ปริมาณ 12,355  ตัน          คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.54

สำหรับปริมาณส่งออกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม — 27 ตุลาคม 2554 มีจำนวน 6.226 ล้านตัน มูลค่า 3.006 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่

          ตลาดเอเชีย              ปริมาณ 264,490 ตัน           คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 75.88
          ตลาดอเมริกา             ปริมาณ 49,748 ตัน            คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14.27
          ตลาดอัฟริกา              ปริมาณ 23,977  ตัน           คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.88
          ตลาดออสเตรเลีย          ปริมาณ 8,449  ตัน            คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.42
          ตลาดยุโรป               ปริมาณ 1,318  ตัน            คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.38
          ตลาดตะวันออกกลาง        ปริมาณ 582  ตัน              คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.17

4. สถานการณ์ข้าวในเวียดนาม/สถานการณ์ข้าวโลก :

จากการประชุม World Rice Conference ณ นครโฮจิมินห์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ในระหว่างวันที่ 19-21 ตุลาคม 2554 สื่อมวลชนของเวียดนามได้รายงานข่าว สรุปได้ดังนี้

เป็นที่คาดว่า ราคาข้าวในตลาดโลกจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น ตันละ 700 เหรียญสหรัฐในปี 2555 อย่างแน่นอน ทั้งนี้ มีเหตุการณ์หลายอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ ได้แก่ การเกิดอุทกภัยในแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญของโลกหลายแห่ง เช่น ไทย เวียดนาม กัมพูชา เป็นต้น, ปริมาณการผลิตข้าวในอเมริกาใต้ลดลง ร้อยละ 15 , นโยบายการรับจำนำข้าวของไทย ที่กำหนดราคารับจำนำข้าวไว้ตันละ 15,000 บาท (500 เหรียญสหรัฐ) ,ผลกระทบจากภัยธรรมชาติ ทำให้ฟิลิปปินส์ต้องซื้อข้าวในเดือนธันวาคม 2554 และส่งมอบในเดือนมกราคม 2555 ,อินโดนีเซียก็ต้องการข้าวเพิ่มขึ้นเช่นกัน, คิวบากำลังจะซื้อข้าวจากเวียดนาม ฯลฯ เหล่านี้เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการค้าข้าวของโลก ทั้งสิ้น

จนถึงวันที่ 11 ตุลาคม 2554 ไทยส่งออกข้าวได้ 9.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 45.16 จากปีที่ผ่านมา ในขณะที่เวียดนาม ส่งออก จำนวน 5.99 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 อินเดียส่งออก จำนวน 2.13 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.38

ในฤดูการผลิต ปี 2011-12 อินเดียมีแผนที่จะเก็บสำรองข้าวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าว นายกสมาคมผู้ค้าข้าวไทย ให้ความเห็นว่า การที่อินเดียกลับมาเป็นผู้ส่งออกข้าว Non-Basmati ผนวกกับนโยบายการรับจำนำข้าวของรัฐบาลไทย จะส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดข้าวของไทยหดตัวลง โดยเฉพาะในส่วนของข้าวนึ่ง ที่อินเดียเสนอราคาต่ำกว่า ทั้งนี้ การส่งออกข้าวนึ่งของไทยในตลาดอัฟริการใต้ในปีนี้ขยายตัวค่อนข้างสูง ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าไทยจะเสียตลาดในส่วนนี้ให้กับอินเดียเท่าไร แต่หวังว่าเหตุการณ์จะไม่เป็นเช่นนี้ตลอดไป และถึงแม้ไทยจะประสบกับปัญหาน้ำท่วม แต่ไทยจะไม่ขาดแคลนข้าว เนื่องจากยังคงมีข้าวสำรองอีกประมาณ 4 ล้านตันใน สต๊อกของภาคเอกชน และประมาณ 1 ล้านตันในสต๊อกของภาครัฐ

ในส่วนของเวียดนาม รัฐบาลเวียดนามถือว่าข้าวเป็นพืชอาหารที่สำคัญที่สุดของประเทศ เวียดนามปลูกข้าวปีละประมาณ 4.1 ล้านเฮ็กตาร์ ซึ่งคิดเป็นพื้นที่ร้อยละ 44 ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมด ข้าวสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรประมาณ 10 ล้านครัวเรือนในชนบท ในปี 1990 เวียดนามผลิตข้าวได้เพียง 19 ล้านตัน และเพิ่มขึ้นเป็น 40 ล้านตันในปีที่ผ่านมา ทั้งๆที่พื้นที่ทำการเพาะปลูกลดลง 280,000 เฮ็กตาร์ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผลผลิตเฉลี่ย เพิ่มขึ้นจาก 3.18 ตัน/เฮ็กตาร์ ในปี 1990 เป็น 5.3 ตัน/เฮ็กตาร์ ในปี 2010 ซึ่งนับว่าสูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน การลดลงของพื้นที่ปลูกข้าว เนื่องมาจากการแปรรูปอุตสาหกรรม การพัฒนาพื้นที่เมือง การขาดแคลนแรงงาน และสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไป เวียดนามเริ่มส่งออกข้าวในปี 1989 ในปริมาณ 1 ล้านตัน และเพิ่มขึ้นเป็น 6.8 ล้านตันในปี 2010

เวียดนามคาดว่าจะมีพื้นที่ปลูกข้าวคงเหลือ 3.8 ล้านเฮ็กตาร์ ในปี 2020 ลดลงจากปี 2010 ประมาณ 300,000 เฮ็กตาร์ ดังนั้น เพื่อให้การปลูกข้าวยังประโยชน์สูงสุด เวียดนามจำเป็นต้องควบคุมพื้นที่ปลูกข้าว เพิ่มผลผลิตต่อเฮ็กตาร์ และใช้เทคโนโลยี เพื่อลดความสูญเสียในช่วงการเก็บเกี่ยว โดยเฉพาะการพัฒนาข้าวพันธุ์ใหม่ ที่สามารถทนได้กับกับสภาพภูมิอากาศที่แห้งแล้ง ความเค็มของดิน การจมน้ำ และศัตรูพืช นอกจากนี้ การบริหารจัดการแผนใหม่ เช่น GAP จะช่วยเพิ่มผลผลิตต่อเฮ็กตาร์ ปรับปรุงคุณภาพข้าว และลดต้นทุนการผลิต สำหรับนโยบายการส่งออกข้าว จะต้องสร้างความมั่นใจว่าจะเกิดประโยชน์ต่อทั้งประเทศ เกษตรกร และคุ้มครองผู้มีส่วนได้เสียทุกรายในอุตสาหกรรมข้าว

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงฮานอย

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ