การสร้างพันธมิตรการค้าด้วยการรวมกลุ่มเขตการค้าเสรี ซึ่งเรียกชื่อต่างๆ กัน เช่น Free Trade Agreement, Economic Partnership เป็นต้น ถือว่าเป็นการสร้างแต้มต่อของการขยายตลาดการค้าสินค้า บริการ และการลงทุน ญี่ปุ่นได้ประโยชน์อย่างมากจากระบบการค้าเสรี แต่กลับมีมาตรการปกป้องผู้ผลิตในประเทศสูง การเข้าร่วมเจรจาเขตการค้าเสรีจึงคืบหน้าไปอย่างเชื่องช้า และนับว่าล้าหลังกว่าคู่แข่งที่ตามมาติดๆ เช่น เกาหลีใต้ และจีน ญี่ปุ่นรู้สึกว่าต้องสูญเสียอำนาจการแข่งยิ่งขึ้นเมื่อเกาหลีประสบความสำเร็จในการเปิดตลาดยานยนต์และอิเลคทรอนิกส์ ในการลงนามการค้าเสรีกับสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปเมื่อช่วงกลางปีนี้ ทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมอิเลคทรอนิกส์และยานยนต์เร่งรัดให้รัฐบาลดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อมิให้ธุรกิจสำคัญของประเทศต้องสูญเสียอำนาจการข่งขันในตลาดโลกไปมากกว่านี้ หลายฝ่ายเปรียบเทียบ ความตกลง TransPacific Partnership Trade Agreement หรือ TPP ว่า เหมือนรถไฟเที่ยวสุดท้าย(ณ เวลานี้) ที่ญี่ปุ่นต้องตัดสินใจก่อนที่จะตกขบวนไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเส้นแบ่งเวทีการค้าโลก
ผู้นำพรรค Democratic Party of Japan หรือ DPJ ซึ่งบริหารประเทศอยู่ขณะนี้ เช่น นาย Naoto Kan อดีตนายกรัฐมนตรี และนาย Yoshihiko Noda นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ต่างก็สนับสนุนการเข้าร่วมเจรจา TPP แต่การตัดสินใจประกาศ ก็ต้องเลื่อนออกไป เพราะเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อเดือนมีนาคม รวมทั้งยังมีความคิดเห็นที่แตกแยกภายในพรรครัฐบาล และเสียงคัดค้านจากองค์กรการเกษตร และกลุ่มเกษตรกร ซึ่งได้รับการคุ้มครองจากรัฐบาลมายาวนาน และเป็นฐานเสียงสำคัญของรัฐบาลทุกยุคสมัย
ล่าสุด นายกรัฐมนตรี Yoshihiko Noda วางแผนจะประกาศเข้าร่วมเจรจา TPP โดยตัดสินใจจะแจ้งต่อนายกรัฐมนตรี สิงคโปร์ นาย Lee Hsien Loong เป็นคนแรก ในการหารือทวิภาคี กำหนดจะมีขึ้นในวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ ที่ฮอนโนลูลู รัฐฮาวาย ซึ่งเป็นวันแรกของการประชุมผู้นำ APEC เหตุที่เลือกประกาศในการหารือทวิภาคีกับสิงคโปร์ เพราะญี่ปุ่นถือว่าสิงคโปร์เป็น Key Player ของการเจรจา TPP และต้องการจะเข้าไปมีบทบาทนำในการร่วมวางกรอบการเจรจา นายกรัฐมนตรี Noda ตั้งใจจะแจ้งข่าวสารเดียวกันนี้ต่อผู้นำอื่นๆ ที่มีกำหนดจะพบหารือด้วยเช่นกัน
รัฐบาลญี่ปุ่นวิเคราะห์ว่า ในภาวะที่ญี่ปุ่นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจหดตัว การเข้าร่วม TPP จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ GDP ของประเทศได้อีกร้อยละ ๐.๕๔ หรือเป็นมูลค่า ๒.๗ ล้านล้านเยนในช่วงเวลา ๑๐ ปีข้างหน้า โดยส่วนใหญ่มาจากการส่งออกไปสหรัฐฯที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น แต่หากญี่ปุ่นล้มเหลวไม่เข้าร่วม ก็อาจต้องสูญเสียส่วนแบ่งในตลาดโลกไปถึงร้อยละ ๑.๕๓ และแรงงานจำนวน ๘๑๒,๐๐๐ อาจต้องตกงาน ขณะที่กระทรวงเกษตร ป่าไม้และประมง ซึ่งคัดค้านการเข้าร่วม TPP ประมาณว่า TPP จะทำให้ผลผลิตเกษตรของญี่ปุ่นสูญเสียอำนาจการแข่งขัน มูลค่าผลผลิตเกษตรในมูลค่า GDP รวม จะลดลง ๗.๙ ล้านล้านเยน ยิ่งกว่านั้นจะทำให้ญี่ปุ่นต้องสูญเสียอัตราการพึ่งพาตนเองด้านอาหาร (Food Self-sufficient) จากระดับที่เป็นอยู่ขณะนี้ ที่ร้อยละ ๔๐ ของปริมาณแคลอรี่ที่บริโภค ลดลงเหลือเพียงร้อยละ ๑๓ หลังการเข้าร่วม TPP
ภาคธุรกิจ ที่สนับสนุนการเข้าร่วม TPP ได้แก่ กลุ่มผู้ประกอบการผลิต และองค์กรเศรษฐกิจสำคัญ เช่น Keidanren ซึ่งย้ำว่า การเปิดตลาดเป็นสิ่งจำเป็น และก็เป็นเงื่อนไขขั้นต่ำสำหรับบริษัทญี่ปุ่นที่จะออกไปดำเนินธุรกิจผ่านห่วงโซ่อุปทานของโลก (Minimum requirement for conducting business through global supply chain) ขณะที่ กลุ่มผู้คัดค้าน ได้แก่ เกษตรกร ธุรกิจประมง สหกรณ์การเกษตร และ Japan Medical Association ที่กังวลว่ามาตรฐานด้านอาหารของประเทศต้องสูญเสียไปเพราะการเพิ่มขึ้นของอาหารนำเข้าราคาถูกจากต่างประเทศ และการหลั่งไหลเข้ามาของแรงงานไร้ฝีมือ
ในการสำรวจความคิดเห็นของผู้ว่าราชการจังหวัด ทั่วญี่ปุ่น ๔๗ จังหวัด พบว่า มีเพียง ๖ จังหวัด ที่เห็นว่าญี่ปุ่นควรเข้าร่วม TPP จำนวน ๑๔ จังหวัดคัดค้าน และ ๒๗ จังหวัดไม่คัดค้านหรือสนับสนุน จังหวัดที่เห็นด้วยเช่น โอซากา โออิตะ ชิซึโอกะ และไออิชิ ต่างก็เป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ เมื่อแบบสำรวจถามในประเด็นว่า สาขาใด ที่คิดว่าจะได้รับผลเสียจากการเข้าร่วม TPP ผู้ว่าราชการ ๓๑ คนเห็นว่าภาคเกษตรและเกษตรกรจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จังหวัดเหล่านี้ เช่น ฮอกไกโด จังหวัดในเขตโทโฮกุ เขตชิโกกุ และกิวชู ซึ่งมีพื้นฐานเศรษฐกิจที่พึ่งพาภาคเกษตรเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าราชการทุกคนให้ข้อสรุปว่า สาธารณะชนยังขาดความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเปิดตลาดภายใต้ TPP และรัฐบาลไม่ได้สร้างความเข้าใจที่เพียงพอ
เพื่อเตรียมมาตรการเยียวยาให้แก่ภาคเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดตลาดภายใต TPP รัฐบาลกำลังยกร่างกรอบนโยบายและแผนปฎิบัติการด้วยการสร้างความแข็งแกร่งในภาคเกษตร และส่งเสริมการผลิตในฟาร์มขนาดใหญ่ โดยเน้นการเพิ่มรายได้ของครัวเรือนเกษตร และการจัดหาแหล่งเงินเพื่อการลงทุนในภาคเกษตร วางเป้าหมายจะเพิ่มพื้นที่เกษตรเฉลี่ยต่อครัวเรือน จากขนาดเฉลี่ยน ๒ เฮกตาร์ ต่อครัวเรือนในปัจจุบัน ให้เป็น ๑๐ เท่าจากปัจจุบัน หรือมีขนาด ๒๐-๓๐ เฮกตาร์ ภายใน ๕ ปี เป็นการลดต้นทุน และเพิ่มอำนาจการแข่งขัน เพื่อบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ มาตรการที่กำหนดจะดำเนินการ เช่น
- จัดหาแหล่งเงินสนับสนุนแก่เกษตรกรที่ต้องการขาย หรือให้เช่าที่ดินแก่เกษตรกรที่พร้อมจะเข้ามาดำเนินการ รวมทั้งรัฐบาลจะมีมาตรการอุดหนุน เพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่สนใจเข้าสู่อาชีพเกษตรกร
- กระทรวงเกษตร ป่าไม้และประมง ได้ขอเงินงบประมาณ วงเงิน ๖.๖ พันล้านเยน เพื่อจัดตั้งกองทุน ช่วยเหลือเกษตรกรที่ต้องการเลิกผลิต หรือเกษียณตัวเอง โดยจะให้มีการรวมกลุ่มพื้นที่เกษตรเป็นฟาร์มขนาดใหญ่เพื่อเพิ่มอำนาจการแข่งขัน และเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดตลาดภายใต้ TPP
นักวิชาการบางรายมองว่า สหรัฐฯ ซึ่งเป็น player สำคัญของ TPP ต้องการให้ญี่ปุ่นเข้าร่วม เพราะจะทำให้สหรัฐฯ สามารถผลักดันความพยายามที่จะขยายตลาดสินค้าของตนในเอเชีย-แปซิฟิก ด้วยการเคลื่อนย้าย Economic Paradigm ที่อาเซียนเป็นอยู่ในปัจจุบัน ไปสู่การทำให้เอเชีย-แปซิฟิกเป็นศูนย์กลางแทน อำนาจและขนาดเศรษฐกิจของสหรัฐและญี่ปุ่นที่รวมกันมีสัดส่วนถึงร้อยละ ๔๐ ของ GDP โลก และเมื่อรวมกลุ่ม TPP ทั้งสองประเทศก็จะมีสัดส่วน GDP รวมกันมากถึงร้อยละ ๙๐ ของ GDP รวมของสมาชิก TPP โอกาสที่สหรัฐฯจะวางระเบียบใหม่ๆ ทางการค้า การลงทุนผ่าน TPP ก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น
กลุ่มผู้คัดค้านการเข้าร่วม TPP และผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายระหว่างประเทศบางราย มองว่า การเจรจาได้ผ่านไปถึง ๙ รอบ มีการสรุปประเด็นไปมากแล้ว ผลประโยชน์ที่ญี่ปุ่นจะได้รับจึงมีเพียงเล็กน้อย ในแง่ของขั้นตอนปฎิบัติ สภาคองเกรสของสหรัฐฯ จำเป็นต้องใช้เวลานานถึง ๖ เดือนในการผ่านความเห็นชอบให้ญี่ปุ่นเข้าร่วมเจรจา เมื่อถึงเวลานั้น ญี่ปุ่นคงไม่สามารถเข้าไปเปลี่ยนแปลงแก้ไข หรือปกป้องประโยชน์ของตนเองได้ ท้ายที่สุดญี่ปุ่นก็คงต้องรับเอาสิ่งที่ตกลงกันไว้แล้วมาปฎิบัติ และสหรัฐฯ ก็จะได้ประโยชน์มากที่สุด ยิ่งกว่านั้น พบว่ายังมีความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ร่วมเจรจาที่ต่างก็ต้องการปกป้องรักษาประโยชน์บนพื้นฐานของอุตสาหกรรมในประเทศตน ทำให้การเจรจารอบที่ ๙ เมื่อปลายเดือนตุลาคม ที่เปรู ไม่มีความคืบหน้า นำมาสู่การหารือเรื่อง Sensitive list ยกเว้นสินค้าบางรายการออกจากการเปิดตลาด รวมทั้งมีแนวโน้มว่าการสรุปผลเจรจาอาจต้องเลื่อนออกไปถึงปีหน้า
2. Pacific trade pact could help consumers: expert By KAZUAKI NAGATA Staff writer, The Japan Times on Nov. 7, 2011/
3. Timing may be everything in TPP : Is Japan rushing headlong into bad deal or does it risk getting left out?, The Japan Times, 3 November 2011
4. Supporters seek swift decision to join TPP, Kyodo, Thursday, Oct. 27, 2011 5. Large-scale agriculture key; more state aid to win support for TPP : Farm-sector reform plan set, Kyodo, 27 October 2011
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว
ที่มา: http://www.depthai.go.th