เมื่อต้องการทำสัญญาซื้อขาย กับคู่ค้าในประเทศจีน ผู้ประกอบการไทยมักอาศัยความน่าเชื่อถือระหว่างคู่สัญญาเป็นหลักในการชำระหนี้ตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญา แต่การที่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ตามที่กำหนดไว้ในสัญญานั้น มักส่งผลให้การซื้อขายหยุดชะงักลง และเกิดความเสียหายต่อผู้ประกอบการอีกฝ่ายหนึ่งในทันที
ผู้ประกอบการไทยหลายรายที่ได้รับความเสียหายจากการทำนิติกรรมสัญญาซื้อขายกับจีนโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือเพราะไว้ใจคู่ค้ามากเกินไป ส่งผลให้ไม่ระมัดระวังในเรื่องการทำนิติกรรมสัญญา ก่อนอื่นควรรู้ก่อนว่าสัญญาแบบไหนที่มีผลบังคับใช้สมบูรณ์ ต้องอ่านให้ละเอียดก่อนที่จะเซ็นลงไปในสัญญานั้นเพื่อที่จะได้ไม่เสียเปรียบผู้อื่น หนังสือสัญญานั้น อาจทำขึ้นเองหรือซื้อจากที่เขาทำจำหน่าย ควรปรึกษานักกฎหมายอาชีพ เช่น ทนายความ หรือ ว่าที่ปรึกษากฏหมายเสียก่อน เพื่อให้แน่ใจว่าครอบคลุมใจความสมบูรณ์ รายละเอียดของสัญญาควรมีดังนี้
- สถานที่วันเดือน ปีที่ทำสัญญา
- ชื่อ นามสกุล อายุ ตำบล ที่อยู่ อาชีพ ตลอดจนหลักฐานแสดงตัวบุคคลควรระบุไว้ด้วย
- ข้อความในสัญญาเป็นเรื่องอะไร มีรายละเอียดอย่างไร เช่น การชำระเงิน การไปโอนเงินเมื่อไร ข้อความอาจแยกย่อยๆเพื่อความเข้าใจง่ายหรือให้รายละเอียดก็ได้
- กำหนดความรับผิดชอบเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญา
- ค่าเสียหาย หรือเบี้ยปรับ เมื่อมีการผิดสัญญา ควรระบุให้ชัดเจน
- ค่าธรรมเนียม ภาษี ฝ่ายใดจะเป็นผู้รับผิดชอบ หรือให้รับผิดชอบร่วมกัน
- พยานที่รู้เห็นการทำสัญญา แม้กฎหมายจะไม่บังคับให้ต้องมีพยาน แต่ก็ควรมีพยานไว้ เพื่อเบิกความยืนยันการทำสัญญาเมื่อมีกรณีพิพาทเกิดขึ้น
- การลงลายมือชื่อคู่สัญญา ลงลายมือชื่อพยาน นักธุรกิจชาวจีนมักใช้ชื่อภาษาอังกฤษในการติดต่อเจรจาการค้าแต่ชื่อดังกล่าวไม่ตรงกับชื่อในบัตรประชาชนและหนังสือเดินทางซึ่งไม่มีผลทางกฎหมายใดใดทั้งสิ้น
-ก่อนลงลายมือชื่อต้องอ่านดูข้อความให้ดีเสียก่อนว่าเป็นไปตามที่ต้องการหรือไม่เมื่อถูกต้องตามความต้องการแล้วจึงลงชื่อ
1. ต้องรู้วัตถุประสงค์ในการทำสัญญา ว่าจะทำอะไร ต้องการอะไร และต้องระบุให้ชัดเจนอย่าให้ต้องตีความเด็ดขาด
2. ชื่อ - สกุล สถานที่อยู่ของคู่สัญญา ต้องระบุให้ชัดเจน ควรแนบบัตรประจำตัว/หรือหนังสือรับรองฐานะของคู่สัญญาเพื่อประโยชน์ในการ ติดตามบังคับให้ปฏิบัติตามสัญญา
3. ต้องพิจารณาความสามารถของคู่สัญญาเสียก่อนว่า กฎหมายให้สิทธิกระทำได้หรือไม่ เช่น
(3.1) เป็นผู้เยาว์หรือไม่ คือ อายุยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ แต่หากสมรสกัน (จดทะเบียนสมรส)เมื่ออายุ ครบ17 ปีบริบูรณ์ ก็ไม่เป็นผู้เยาว์ต่อไป
(3.2) เป็นคนไร้ความสามารถหรือไม่ เช่น ศาลสั่งเป็นคนไร้ความสามารถ คือ คนประเภท บ้าวิกลจริต เป็นต้น
4. ต้องพิจารณาว่า เป็นผู้มีสิทธิหรือมีอำนาจทำสัญญาได้หรือไม่ เช่น
(4.1) หากเป็นผู้รับมอบอำนาจ มีหลักฐานการรับมอบอำนาจหรือไม่
(4.2) เป็นผู้แทนนิติบุคคล เช่น ของห้างหุ้นส่วนบริษัทสมาคมจริงหรือไม่ และมีหนังสือกำหนดว่า ในการจะทำอะไรต้องมีกรรมการกี่คน ลงชื่อต้องประทับตราหรือไม่ วิธีง่าย ๆ ก็ต้องขอดูหลักฐานจากทางราชการให้แน่นอนเสียก่อน
5. ถูกต้องตามแบบหรือไม่ เช่นซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ คือ ที่ดิน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน กู้เงินต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ เป็นต้น
6. ต้องพิจารณาตัวบุคคลด้วย ถึงแม้ว่าจะเป็นผู้มีสิทธิหรือมีอำนาจทำสัญญาได้ เช่น เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้น เป็นกรรมการบริษัทที่มีอำนาจหรือเป็นผู้รับมอบอำนาจว่าจะเชื่อถือได้แค่ไหนเพียงไร
7. การเข้าทำสัญญา จำต้องอ่านข้อความในสัญญาให้ดีว่าเอารัดเอาเปรียบกันหรือไม่ มีข้อที่จะทำให้เสียหาย หรือไม่ ไม่แน่ใจควรปรึกษาผู้รู้กฎหมายเสียก่อน เช่น ปรึกษาทนายความ นิติกร และผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายอื่น ๆ เป็นต้น เมื่อแน่ใจแล้วจึงทำสัญญา
8. การลงมือทำสัญญา เช่น กรอกข้อความควรให้ชัดเจน ที่ไหนไม่ต้องการก็ขีดออกไปโดยคู่สัญญาลงชื่อกำกับไว้ ตรวจดูให้เรียบร้อยว่าถูกต้องตรงกับความประสงค์หรือไม่ เมื่อถูกต้องตรงกับความประสงค์แล้ว จึงลงลายมือชื่อในช่องคู่สัญญา
1. ควรมีหลักฐาน แม้นิติกรรมสัญญานั้นกฎหมายจะให้ทำได้ด้วยวาจา ก็ควรทำเป็นหนังสือเนื่องจากชัดเจน แน่นอนและโต้แย้งได้ยาก
2. อย่าไว้วางใจใคร คืออย่าเชื่อใจว่าเขาจะไม่โกง เพราะหากเขาโกงเราจะแก้ไม่ทัน อย่าเซ็นชื่อในกระดาษเปล่าหรือแบบพิมพ์ที่มิได้กรอกข้อความ หรือกรอกไม่ครบถ้วนเด็ดขาด ทุกครั้งที่มีการชำระหนี้การขอใบเสร็จหรือหลักฐานการรับชำระหนี้ หรือขอหลักฐานแห่งหนี้คืนมา หรือขีดฆ่าทำลายหลักฐานแห่งหนี้เสีย
3. อย่าเห็นแก่ประโยชน์ที่มากจนผิดปกติ หรือทำสัญญากับทรัพย์ที่ราคาต่ำผิดปกติ ผิดวิสัย หรือทำในเวลาผิดปกติ เช่น กลางคืน หรือในวันหยุด ท่านอาจมีความผิดฐานรับของโจร หรือทำนิติกรรมสัญญาโดยไม่ชอบก็ได้
4. ข้อความในสัญญาควรระบุให้ชัดเจน ไม่ใช้คำที่คลุมเครือหรือแปลได้หลายนัย เราอาจจะคิดว่าใช้คำหรือประโยคให้คลุมเคลือเพื่อผลประโยชน์ของเราแต่อย่าลืมว่า คู่สัญญาก็มีสิทธิ์ใช้ข้อความ คำ หรือประโยชน์เหล่านั้นเป็นประโยชน์ของเขาได้เช่นกัน
5. ควรมีคู่ฉบับ เพื่อตรวจสอบความถูกต้องตรงกัน ป้องกันมิให้ฝ่ายใดแก้ไขสัญญาเพียงฝ่ายเดียว
6.การเปลี่ยนแปลงแก้ไขสัญญาภายหลัง อย่าตกลงด้วยวาจาควรให้คู่สัญญาบันทึกไว้เป็นหลักฐานทุกครั้ง มิฉะนั้น อีกฝ่ายอาจอ้างได้ว่าไม่มีการตกลงแก้ไข
ข้อมูลจาก: www.lawheal.com
เรียบเรียงโดย สคต.เซี่ยเหมิน
ที่มา: http://www.depthai.go.th