การเจรจาเกี่ยวกับภาษีคาร์บอนของออสเตรเลีย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 15, 2011 15:22 —กรมส่งเสริมการส่งออก

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2554 รัฐสภาออสเตรเลียได้ผ่านกฎหมายเกี่ยวกับการเก็บภาษีคาร์บอน โดยการเก็บภาษีคาร์บอนนั้นจะถูกเริ่มใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2555 ด้วยราคาตายตัว (Fixed price) ที่ “23 เหรียญออสเตรเลีย ต่อตัน” และราคาจะเพิ่มขึ้น 2.5% จนกระทั่งปี 2558 โดยภายในปีเดียวกันนี้ ภาษีคาร์บอนจะถูกเปลี่ยนเป็นแผนการ Emission Trading Scheme (ETS) ซึ่งเป็นระบบที่ราคาคาร์บอนจะโยงกับราคาคาร์บอนระหว่างประเทศซึ่งถูกเสนอขึ้นตั้งแต่รัฐบาล จอห์น ฮาเวิร์ดในปี 2550 โดยจะมีการกำหนดราคาพื้น (Floor price) ที่ “15 เหรียญออสเตรเลียต่อตัน” และจำกัดปริมาณ carbon permit ที่อนุญาตให้บริษัทออสเตรเลียสามารถซื้อจากประเทศอื่น ทั้งนี้เพื่อเป็นการผลักดันให้ออสเตรเลียเลิกใช้พลังงานจากฟอสซิล

หากเทียบราคาคาร์บอนกับราคาโลก หรือของสหภาพยุโรป (EU) แล้ว จะเห็นได้ว่า ราคาคาร์บอนในออสเตรเลียอยู่ในระดับที่สูง ขณะที่ราคาคาร์บอนของ EU นั้นลดลงเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจากวิกฤต-การหนี้ของกรีซ ซึ่งส่งผลให้ราคาคาร์บอนของ EU นั้นเหลือเพียง 8.70 ถึง 12.60 เหรียญออสเตรเลีย ทั้งนี้ จากการที่ EU มีแผนที่จะขายอีกประมาณ 300 ล้าน carbon permit ภายใน 2 ปี ทำให้ราคาโลกยังตกลง และมีผลให้ราคาของ carbon permit ในปี 2558 มีมูลค่า 14.6 เหรียญออสเตรเลียต่อตัน

ผู้ประกอบการรายใหญ่ๆ ของออสเตรเลียหลายรายไม่พอใจกับแผนการนี้โดยกล่าวว่า แผนการ ETS ของรัฐบาลนั้นจะสร้างค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่มีราคาสูงเกินจำเป็นให้กับเศรษฐกิจของประเทศ โดยราคาคาร์บอนของออสเตรเลียไม่ควรสูงเกินกว่าราคาคาร์บอนระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ถึงแม้จะมีการกำหนดราคาพื้นที่ 15 เหรียญออสเตรเลียต่อตัน บริษัทของออสเตรเลียยังจ่ายค่าคาร์บอนสูงกว่าคู่แข่ง และถูกจำกัดผลประโยชน์ที่ควรจะได้รับจากการที่ราคาคาร์บอนของโลกต่ำกว่า

ภาษีคาร์บอนนี้จะไม่ถูกบังคับใช้กับการปลดปล่อยทางการเกษตรและยานพาหนะที่น้ำหนักรวมไม่เกิน 4.5 ตัน (Light on-road vehicles) แต่จะมีการบังคับใช้กับการผลิตไฟฟ้า การปล่อยพลังงานจากการใช้เชื้อเพลิงในการผลิต ก่อสร้าง การค้าและการผลิตไฟฟ้า (Stationary energy) การขนส่งทางธุรกิจบางประเภท การทิ้งของเสีย การปล่อยของเสียจากพลังงานฟอสซิล (Fugitive emission)

อย่างไรก็ตาม เพื่ออนาคตพลังงานสะอาดของประเทศ รัฐบาลออสเตรเลียเชื่อมั่นว่าจากแผนการนี้ ออสเตรเลียจะสามารถลดมลภาวะลงถึง 80% ภายในอีก 40 ข้างหน้า

ผลกระทบต่อผู้ประกอบการการค้าปลีกและห้างร้านของออสเตรเลีย

สมาคมการค้าปลีกหรือห้างร้านของประเทศออสเตรเลีย (The Australian Retailers Association- ARA) ได้กล่าวว่า การจ่ายภาษีคาร์บอนจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจการค้าปลีกโดยตรง เนื่องจากผู้ค้าปลีกต้องจ่ายค่าภาษีเพิ่มขึ้นพร้อมกับราคาของสินค้าและการผลิตอยู่แล้ว สำหรับผู้บริโภคนั้น นอกจากค่าใช้จ่ายประจำแล้ว ยังมีภาษีต่างๆ ที่เป็นภาระเพิ่มมากขึ้น ARA จึงเกรงว่าความมั่นใจของผู้บริโภค (Consumer Confidence) จะลดลง เนื่องด้วยค่าใช้จ่ายที่มากเกินกว่าที่จะรับไหว

ในต้นปี 2011 การสำรวจความคิดเห็นของผู้ค้าปลีกและห้างร้านมากกว่า 500 รายพบว่า “85% ของผู้ค้ารีเทลในประเทศออสเตรเลียเห็นด้วยว่า ภาษีคาร์บอนส่งผลกระทบทางลบต่อการทำกำไรของธุรกิจ” และ “1 ใน 3 กล่าวว่า อาจจะต้องมีการตัดจำนวนพนักงานออกเพื่อต่อสู้กับปัญหาการขาดทุนทางการค้า”

นอกจากนี้การสำรวจของสภาอาหารและเครื่องอุปโภคบริโภคของออสเตรเลีย (The Australian Food and Grocery Council-AFGC) ในวันที่ 14 ตุลาคมนั้นพบว่า “กำไรจากการประกอบการของผู้ผลิตอาหารและเครื่องอุปโภคบริโภคโดยเฉลี่ยจะตกลงถึง 4.4% ในปี 2012-2013 ซึ่งเป็นผลกระทบจากการเก็บภาษีคาร์บอน” อีกหนึ่งการสำรวจของ KT Kearney กล่าวว่าการเก็บภาษีคาร์บอน 23 เหรียญออสเตรเลียต่อตันนี้ ผู้ผลิตรายใหญ่ๆ จะขาดทุนมากถึง 15.6% สำหรับสินค้าประเภทกระดาษและมากถึง 11% สำหรับสินค้าเกี่ยวกับนมและเนื้อสัตว์ AFGC กล่าวว่า ต้นทุนการผลิตสินค้าของออสเตรเลียจะเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่สินค้านำเข้าไม่ได้รับผลกระทบซึ่งโดยปกติราคาสินค้านำเข้าก็ถูกกว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศอยู่แล้ว เนื่องจากค่าเงินออสเตรเลียที่สูงเพิ่มขึ้น และในที่สุดแล้วภาษีคาร์บอนจะทำให้สินค้ามีราคาสูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อการว่าจ้าง การพัฒนาและการลงทุนของผู้ผลิต

ผู้ผลิตจะต้องพัฒนากระบวนการผลิตให้มีการปล่อยคาร์บอนออกมาน้อยที่สุด เพื่อที่จะสู้กับการแข่งขันในตลาดได้ ในขณะนี้ถึงแม้มีผู้ผลิตหลายๆ รายวางแผนการพัฒนาการผลิตเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนให้ออกมาน้อยที่สุด แต่แผนการเหล่านี้ยังคงถูกจำกัดด้วยความสามารถในการบริหารจัดการของราคาที่สูงขึ้นของปัจจัยการผลิตและบริการต่างๆ อย่างไฟฟ้า เชื้อเพลิง การขนส่ง และการแพคเกจสินค้า

ข้อคิดเห็น

1. จากการที่ผู้ประกอบของออสเตรเลียต้องการที่จะลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้ได้มากเท่าที่จะทำได้เพื่อต่อสู้กับปัญหาต่างๆที่ประเทศกำลังประสบอยู่ เช่น ต้นทุนการผลิตที่สูง ค่าเงินออสเตรเลียที่แข็ง รวมทั้งต้นทุนทางการค้าจากการเก็บภาษีคาร์บอน อาจมีผลกระทบให้หันมานำเข้าจากสินค้าที่มีราคาต่ำกว่าจากต่างประเทศอย่างประเทศไทยมากขึ้น

2. การเก็บภาษีคาร์บอนส่งผลให้ความมั่นใจของผู้บริโภคมีแนวโน้มลดลง โดยผู้บริโภคชาวออสเตรเลียตระหนักและระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น แต่ก็เป็นอีกโอกาสหนึ่งในการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคไทยที่มีราคาถูกกว่าสินค้าผลิตในออสเตรเลีย

3. การที่ผู้ผลิตและครัวเรือนของออสเตรเลียตระหนักถึงการลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้มากที่สุด ดังนั้นเป็นโอกาสของผู้ส่งออกของไทยที่จะพัฒนาการผลิตและส่งออกสินค้าที่สามารถควบคุมหรือลดมลภาวะมายัง ออสเตรเลีย

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ