รายงานผลการพบกับคณะจากวิทยาลัยพาณิชยนาวีนานาชาติ ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 16, 2011 14:40 —กรมส่งเสริมการส่งออก

รายงานผลการพบกับคณะจากวิทยาลัยพาณิชยนาวีนานาชาติ ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา

วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๔

ณ สถานทูตไทยประจำกรุงโรม ประเทศอิตาลี

ตามที่สคร.โรมได้รับแจ้งจากสถานทูตไทยประจำกรุงโรมว่า คณบดีวิทยาลัยพาณิชย์นาวีนานาชาติ (พล.ร.อ. สุพิทย์ อำนวย) และคณะ ๑๒ คน มีกำหนดเดินทางมาศึกษาดูงานที่ประเทศอิตาลีระหว่างวันที่ ๑๘ - ๒๔ กันยายน ๒๕๕๔ ตามโครงการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการ SMEs ต้นแบบและความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนสาขาอู่ต่อเรือ-ซ่อมเรือ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เฉพาะกลุ่มเรือสำราญ และขอความร่วมมือสคร.โรมในการเข้าร่วมประชุมหารือให้ข้อมูลแก่คณะฯ ในวันจันทร์ที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๔ นั้น

ผลจากการประชุมสามารถสรุปได้ดังนี้

๑. ออท. ได้กล่าวต้อนรับและให้ข้อมูลด้านเศรษฐกิจของอิตาลี โดยกล่าวว่า เศรษฐกิจอิตาลีแม้จะมีเงินกู้แต่ก็มีเงินออมอยู่ โดยอิตาลีมีผู้ประกอบการ SMEs จำนวนมากและเป็นผู้ดำเนินธุรกิจส่วนใหญ่ในอิตาลีจึงเป็นผู้ที่มีความสำคัญต่อประเทศอิตาลีมาก ซึ่งในปัจจุบันยังเห็นว่า อิตาลีจะยังคงมีเศรษฐกิจที่มั่นคงและจะสามารถฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจไปได้

๒. หัวหน้าคณะได้ให้ข้อมูลเรื่องโครงการเรือสำราญของสสว. โดยแนะนำดร.ยอดชาย ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการ ทั้งนี้ได้เล่าความเป็นมาของโครงการดังกล่าว คือเป็นโครงการที่มีเป้าหมายในการสร้างอาชีพให้แก่ผู้ประกอบการไทยแต่ยังขาดการผลักดันสนับสนุนจากภาครัฐ ในขณะที่มก. มีการเรียนการสอนด้านการต่อเรือเป็นแห่งเดียวในประเทศไทย ประกอบการกับการเปิดเสรีฝั่งอันดามัน (ภูเก็ต/ประจวบคีรีขันธ์) และสสว.ต้องการสร้างคลัสเตอร์ผู้ประกอบการดังกล่าวตามนโยบายรัฐบาลด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ได้เล่งเห็นว่ากลุ่มผู้ประกอบการส่วนดังกล่าวมีการทำธุรกิจด้านนี้แต่ยังไม่เชื่อมต่ออกันจึงมอบหมายให้มก.ทำหน้าที่ในการสร้างเครือข่ายดังกล่าวขึ้น

๓. โครงการสร้างเครือข่ายได้สนับสนุน ๓ ภูมิภาคเพื่อสร้างคลัสเตอร์ ได้แก่ ภาคกลาง - กทม. นนทบุรี ภาคตะวันออก - พัทยา ภาคใต้ - ภูเก็ต การเดินทางมาศึกษาดูงานในครั้งนี้เพื่อเป็นการเก็บประสบการณ์และพัฒนาเครือข่าย เนื่องจากประเทศไทยมีทะเลทั้งสองด้านจึงมีโอกาสสุงที่จะทำให้คนยุโรป/อเมริกาเดินทางไปเล่นเรือได้ อย่างไรก็ดีปัญหาและอุปสรรคของอุตสาหกรรมดังกล่าวคือ ยังขาดฝีมือแรงงานอยู่และการเก็บภาษีของเจ้าของเรือยอร์ชในอัตราสูง และต้องการให้อิตาลีถ่ายทอดเทคโนโลยีในลักษณะการร่วมทุนหรือไปลงทุนอู่ต่อเรือในประเทศไทย

๔. สคร.โรมได้ให้ข้อมูลแก่คณะโดยสรุปดังนี้ ข้อมูลจากสมาคมอุตสาหกรรมทางน้ำของอิตาลี UCINA รายงานว่า ในปี ๒๕๕๒ ทั่วโลกมีการต่อเรือยอร์ชทั้งสิ้น ๑,๑๐๙ ลำซึ่งเป็นเรือที่มีขนาดความความยาวกว่า ๘๐ ฟุต/๒๔ เมตร ซึ่งในอิตาลีมีการต่อเรือจำนวน ๕๒๓ ลำ โดยอิตาลีมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ ๔๗ จากทั่วโลก ทั้งนี้มีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปีตั้งแต่ปี ๒๕๔๓

ตั้งแต่ปี ๒๕๔๓ อิตาลีครองความเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมต่อเรือยอร์ช (ตามด้วยสหรัฐอเมริกา) โดยในปี ๒๕๕๒ อิตาลีได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๗ เมื่อเทียบกับปี ๒๕๕๑ (ในปี ๒๕๕๑ มีจำนวนเรือที่สร้างขึ้น ๔๒๗ ลำ, ปี ๒๕๕๐ มีจำนวน ๓๔๗ ลำ) อย่างไรก็ดีอัตราการขยายตัวระหว่างปี ๒๕๔๓ - ๒๕๕๓ เพิ่มขึ้นร้อยละ ๓๐๐

ผู้นำด้านการต่อเรือยอร์ช ๑๐ อันดับของโลก ได้แก่ อันดับหนึ่งคือ อิตาลี ตามด้วย สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ เยอรมัน ไต้หวัน สหราชอาณาจักร ตุรกี ออสเตรเลีย จีนและนิวซีแลนด์ ทั้งนี้ประเทศที่กำลังมีแนวโน้มการทำธุรกิจต่อเรือที่ดีในกลุ่มประเทศทางตะวันออกไกลคือ ไต้หวัน (ปี ๒๕๕๒ มีการต่อเรือทั้งสิ้น ๗๑ ลำ เมื่อเทียบกับจีน ๒๓ ลำ)

เยอรมันถือเป็นประเทศที่มีการต่อเรือที่มีขนานยาว ๒๙๔ ฟุต ตามด้วยเนเธอร์แลนด์ ๑๖๑ ฟุตและตุรกี ๑๓๗ ฟุต

งานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องได้แก่ งานแสดงสินค้า Genao International Boat Show จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑-๙ ตุลาคม ๒๕๕๔ ที่ Fiera di Genova (เอกสารแนบ)

ทั้งนี้เมืองที่ถือเป็น hub ของเรื่องการต่อเรือคือเมืองเจนัว เปสคารา อังกอนา และผู้ใช้เรือยอร์ชในอิตาลีมีจำนวนมากเนื่องจากมีภูมิประเทศที่เป็นทะเลและทะเลสาปกระจายอยู่ทั่วประเทศ หากต้องการประชาสัมพันธ์ให้คนอิตาเลี่ยนเดินทางไปเล่นเรือในประเทศไทยก็ยังมีโอกาสและลู่ทางสูง โดยอาจให้การท่องเที่ยวเป็นตัวนำ

สรุปผลการหารือ

คณะขอให้สคร.โรมหาผู้ลงทุนในไทยเพื่อลงทุนสร้างอู่ต่อเรือและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับผู้ประกอบการ ทั้งนี้ออท. ขอให้ทางคณะจัดส่งข้อมูลพื้นฐานด้านการลงทุนและสิทธิประโยชน์ให้แก่สคร.โรมเพื่อให้เป็นข้อมูลในการประชาสัมพันธ์หาผู้ร่วมทุนต่อไป

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโรม

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ