กรมส่งออกฯ เห็นด้วยศก.ฟูหลังน้ำลด ชี้แผนขับเคลื่อนเอื้อให้ต่างชาติลงทุน ระดมสมองรักษาฐานการผลิตอาหาร “สมุทรสาคร-สมุทรปราการ”แหล่งผลิตอันดับ 1 ของโลก ส่วนสถานการณ์การค้าอิงกระแสสิ่งแวดล้อม “ออสเตรเลีย”เรียกเก็บภาษีคาร์บอน เผบเป็นโอกาสดีของสินค้าไทย ต้นทุนต่ำเข้าจับตลาด
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก เปิดเผยภายหลังการติดตามสถานการณ์การค้าในตลาดโลกตามนโยบายของรมช.พาณิชย์ ศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ ที่มุ่งส่งเสริม พัฒนาสินค้า และกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการขึ้นทะเบียนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ว่า สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลียรายงาน กฎหมายเกี่ยวกับการเก็บภาษีคาร์บอนจะถูกนำมาใช้ โดยมีอัตราราคาตายตัว (Fixed price) ที่ 23 เหรียญออสเตรเลียต่อตัน และราคาจะเพิ่มขึ้น 2.5% จนกระทั่งปี 2558 เพื่อผลักดันให้ออสเตรเลียเลิกใช้พลังงานจากฟอสซิล เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2555 เป็นต้นไป
“ภายในปีเดียวกันนี้ ภาษีคาร์บอนจะถูกปรับเปลี่ยนเป็นแผนผนวนโครงการลดมลพิษจากการซื้อขาย ( Emission Trading Scheme -ETS) ซึ่งเป็นระบบที่ราคาคาร์บอนจะเชื่อมโยงกับราคาคาร์บอนระหว่างประเทศ โดยจะมีการกำหนดราคาพื้น (Floor price) ที่ 15 เหรียญออสเตรเลียต่อตัน และจำกัดปริมาณการอนุญาตให้คาร์บอนกับบริษัทออสเตรเลียสามารถซื้อจากประเทศอื่นได้ ทั้งนี้ เพื่ออนาคตพลังงานสะอาดของประเทศ รัฐบาลออสเตรเลียเชื่อมั่นว่า จากแผนการนี้ออสเตรเลียจะสามารถลดมลภาวะลงถึง 80% ภายในอีก 40 ข้างหน้า” นางนันทวัลย์ กล่าว
ทั้งนี้จากการที่ผู้ประกอบของออสเตรเลียต้องการที่จะลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้ได้มากเท่าที่จะทำได้ เพื่อต่อสู้กับปัญหาต่างๆที่ประเทศกำลังประสบอยู่ เช่น ต้นทุนการผลิตที่สูง ค่าเงินออสเตรเลียที่แข็งค่าขึ้น รวมทั้งต้นทุนทางการค้าจากการเก็บภาษีคาร์บอน อาจมีผลกระทบให้หันมานำเข้าจากสินค้าที่มีราคาต่ำกว่าจากต่างประเทศอย่างประเทศไทยมากขึ้น การเก็บภาษีคาร์บอนส่งผลให้ความมั่นใจของผู้บริโภคมีแนวโน้มลดลง โดยผู้บริโภคชาวออสเตรเลียตระหนักและระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น แต่ก็เป็นอีกโอกาสหนึ่งในการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคไทยที่มีราคาถูกกว่าสินค้าผลิตในออสเตรเลีย สำหรับหลังน้ำท่วมลดลงแล้ว คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว เนื่องจากจะมีการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย อาคาร ขณะที่โรงงานจะเร่งการผลิตสินค้าเพื่อทดแทนสินค้าที่เสียหายจากน้ำลด การบริโภคเกิดขึ้นอย่างแน่นอนประกอบกับภาครัฐจะดำเนินการในนโยบายที่ประกาศไว้ เพื่อใช้เป็นตัวขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของประเทศ และแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังน้ำลด รวมถึงแผนการบริหารจัดการน้ำ เศรษฐกิจไทยจะเดินหน้าอย่างตามเป้าหมายอย่างแน่นอน
“กรมฯรับรู้ถึงปัญหาและได้ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงโรงงานในแถบจังหวัดสมุทรสาคร และสมุทรปราการ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหารอันดับ 1 ของโลกนำรายได้เข้าสู่ประเทศปีละกว่า 150,000 ล้านบาท โดยเฉพาะอาหารทะเลแปรรูป ที่ตั้งอยู่ในบริเวณดังกล่าวจำนวนมาก ซึ่งกรมฯจะพยายามผลักดันแผนช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ครอบคลุมทั้งระบบ อาทิ วงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารออมสินที่เอกชนร้อง ครม.ได้มีมติเห็นชอบแล้ว เป็นต้น”นางนันทวัลย์ กล่าว
อย่างไรก็ตามการที่ผู้ผลิตและครัวเรือนของออสเตรเลียตระหนักถึงการลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้มากที่สุด ดังนั้นเป็นโอกาสของผู้ส่งออกของไทยที่จะพัฒนาการผลิตและส่งออกสินค้าที่สามารถควบคุม หรือ ลดมลภาวะมายัง ออสเตรเลีย โดยไทยส่งออกสินค้าไปสหรัฐในช่วง 9 เดือนแรก(มกราคม-กันยายน2554)มีมูลค่า6,416 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 11% สินค้าสำคัญ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 2,263 ลดลง 10% อัญมณีและเครื่องประดับ 630 ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลง 44% เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ 293 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 28% เม็ดพลาสติก 252 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 19% อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป 211 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 19%
อนึ่ง ภาษีคาร์บอนนี้จะไม่ถูกบังคับใช้กับการปลดปล่อยทางการเกษตรและยานพาหนะที่น้ำหนักรวมไม่เกิน 4.5 ตัน (Light on-road vehicles) แต่จะมีการบังคับใช้กับการผลิตไฟฟ้า การปล่อยพลังงานจากการใช้เชื้อเพลิงในการผลิต ก่อสร้าง การค้าและการผลิตไฟฟ้า (Stationary energy) การขนส่งทางธุรกิจบางประเภท การทิ้งของเสีย การปล่อยของเสียจากพลังงานฟอสซิล (Fugitive emission)
สมาคมการค้าปลีกหรือห้างร้านของประเทศออสเตรเลีย (The Australian Retailers Association- ARA) ได้กล่าวว่า การจ่ายภาษีคาร์บอนจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจการค้าปลีกโดยตรง เนื่องจากผู้ค้าปลีกต้องจ่ายค่าภาษีเพิ่มขึ้นพร้อมกับราคาของสินค้าและการผลิตอยู่แล้ว สำหรับผู้บริโภคนั้น นอกจากค่าใช้จ่ายประจำแล้ว ยังมีภาษีต่างๆ ที่เป็นภาระเพิ่มมากขึ้น ARA จึงเกรงว่าความมั่นใจของผู้บริโภค (Consumer Confidence) จะลดลง เนื่องด้วยค่าใช้จ่ายที่มากเกินกว่าที่จะรับไหว
นอกจากนี้การสำรวจของสภาอาหารและเครื่องอุปโภคบริโภคของออสเตรเลีย (The Australian Food and Grocery Council-AFGC) เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมานั้น พบว่า “กำไรจากการประกอบการของผู้ผลิตอาหารและเครื่องอุปโภคบริโภคโดยเฉลี่ยจะตกลงถึง 4.4% ในปี 2555-2556 สำหรับสินค้าเกี่ยวกับนมและเนื้อสัตว์ AFGC ต้นทุนการผลิตสินค้าของออสเตรเลียจะเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่สินค้านำเข้าไม่ได้รับผลกระทบซึ่งโดยปกติราคาสินค้านำเข้าก็ถูกกว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศอยู่แล้ว เนื่องจากค่าเงินออสเตรเลียที่สูงเพิ่มขึ้นและในที่สุดแล้วภาษีคาร์บอนจะทำให้สินค้ามีราคาสูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อการว่าจ้าง การพัฒนาและการลงทุนของผู้ผลิต
ผู้ผลิตจะต้องพัฒนากระบวนการผลิตให้มีการปล่อยคาร์บอนออกมาน้อยที่สุด เพื่อที่จะสู้กับการแข่งขันในตลาดได้ ในขณะนี้ถึงแม้มีผู้ผลิตหลายๆ รายวางแผนการพัฒนาการผลิตเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนให้ออกมาน้อยที่สุด แต่แผนการเหล่านี้ยังคงถูกจำกัดด้วยความสามารถในการบริหารจัดการของราคาที่สูงขึ้นของปัจจัยการผลิตและบริการต่างๆ อย่างไฟฟ้า เชื้อเพลิง การขนส่ง และการแพคเกจสินค้า
ที่มา: http://www.depthai.go.th