ผลกระทบจากวิฤตการเงินกลุ่มยูโรโซนในฮังการี

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 17, 2011 13:51 —กรมส่งเสริมการส่งออก

  • แม้ว่าค่า GDP ของประเทศเติบโตขึ้นในช่วงไตรมาสแรก แต่กลับถดถอยลงในช่วงไตรมาสที่สอง ทั้งนี้สืบเนื่องจากวิกฤติทางการเงินของกลุ่มยูโรโซน ที่ยังคงส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออก แรงขับ เคลื่อนหลักของเศรษฐกิจฮังการี ความต้องการภายในประเทศยังคงซบเซา เนื่องจากปัญหาเรื้อรังของหนี้สกุลต่างประเทศ และอัตราคนว่างงานยังคงสูง
  • ค่าเงินโฟรินท์อ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง จนถึงร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบกับยูโร ( 296.56 โฟรินท์/ ยูโร)
  • ธนาคารกลางประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (แบบสองสัปดาห์) ที่ร้อยละ 6 เป็นเดือนที่ 9
  • สัญญาประกันความเสี่ยง (Credit-default swaps) เพิ่มสูงที่สุดในรอบสองปีครึ่ง
  • อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลแบบ 5 ปี (Yield on 5 years bond) สูงที่สุดในรอบเกือบ 2 ปี (ตั้งแต่เดือน มกราคม 2010) ที่ 7.97% ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
  • ยืดระยะเวลาการใช้เงินยูโร จากปัญหาหนี้สินต่างประเทศที่แผ่ขยายอย่างเป็นวงกว้างในกลุ่มยูโรโซน ทำให้ผู้นำประเทศฮังการี มีความเห็นว่าควรจะยืดระยะเวลาการปรับใชัเงินยูโรไปจนกระทั่งปี 2014 เพราะนอกจากกฎเกณฑ์การเข้าร่วมเป็นสมาชิกแล้ว ทางยูโรโซนเองคงต้องปรับบทบาทและควบคุมประเทศสมาชิกให้มีความรัดผิดชอบ ปฎิบัติตามกฎเกณฑ์ให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น

มาตรการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

จากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา ทางรัฐบาลฮังการีจึงได้ประกาศใช้มาตรการรักษาเสถียรภาพทางการเงินและเศรษฐกิจ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2011โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • ปรับขึ้นภาษีสรรพสามิต สินค้าต่างๆ เช่น น้ำมันดีเซล เครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ และสินค้ายาสูบ
  • ปรับเพิ่มเงินสนับสนุนการประกันสุขภาพในส่วนที่นายจ้างจะต้องรับผิดชอบเพิ่มขึ้นอีก 1.5%
  • เรียกเก็บภาษีอุบัติเหตุ (accident tax) จากบริษัทประกันภัย
  • ปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 25% เป็น 27% ซึ่งนักวิเคราะห์และธนาคารกลางต่างคาดการณ์ว่าจะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อของประเทศให้สูงขึ้นในปี 2012
  • กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินแบบตายตัวที่ 180โฟรินท์ ต่อ สวิส ฟรังก์ (เป็นอัตราเมื่อปี 2008 ของการทำสัญญากู้ยืม) เพื่อลดภาวะหนี้สินสกุลต่างประเทศของครัวเรือนที่มีอยู่ถึง 100,000 ราย ทางรัฐบาลเชื่อว่าจะเป็นทางออกที่ดีและสามารถกระตุ้นให้เกิดการชำระหนี้ ที่มูลค่า 5 พันล้านยูโร หรือร้อยละ 5 ของ GDP แต่อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบทันทีต่อเศรษฐกิจโดยรวม ค่าเงินโฟรินท์อ่อนตัวมากยิ่งขึ้นจนถึงร้อยละ 5.4 เมื่อเทียบกับยูโร

นโยบายเศรษฐกิจปี 2012

จากการแถลงนโยบายของรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ Mr. Matolcy หลังจากฮังการีเข้าร่วมเป็นสมาชิกอียู ปีนี้เป็นครั้งแรกที่การขาดดุลของรัฐบาลอยู่ต่ำกว่า 3% ของ GDP และในปี 2012 คาดว่าจะยังคงลดลงต่อเนื่องที่ 2.5%

นโยบายปี 2012 จะถูกวางขึ้นด้วยโครงสร้างแบบใหม่ ที่มุ่งเน้นให้เศรษฐกิจมีศักยภาพในการแข่งขันมากยิ่งขึ้น เป้าหมายที่สำคัญได้แก่

  • การปรับโครงสร้างระบบการศึกษาของแรงงานมีฝีมือ
  • บุคคลที่ว่างงานจะได้รับความช่วยเหลือในการจ้างงานแทนเงินสงเคราะห์
  • การปรับระบบโครงสร้างเบี้ยบำนาญ
  • ปฏิรูประบบประกันสุขภาพ เพื่อลดการขาดดุล
  • ยืดระยะเวลาการใช้ระบบภาษีอัตราเดียว (flat tax system 16%)
  • การสร้างสถานที่ทำงานใหม่ที่เรียกว่า โครงการเริ่มต้น (START program)
  • เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี

ที่มา: Napi VG, FN, Portfolio, Government Portal, Ministry of Economic

สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


แท็ก การส่งออก   GDP  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ