ภาวะการค้าระหว่างไทยกับสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 18, 2011 11:37 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ภาวะการค้าระหว่างไทยกับสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ในช่วง 9 เดือน ของปี 2554

1. ภาวะการค้าระหว่างไทยกับสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ในช่วง 9 เดือนของปี 2554 (มกราคม — กันยายน 2554)

1.1 มูลค่าการค้ารวม : ในช่วง 9 เดือน ของปี 2554 (ม.ค.-ก.ย.) การค้ารวมของไทย-เวียดนาม มีมูลค่า 7,048.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.22 จากช่วงเดียวกันของปี 2553

1.2 การส่งออก : ไทยส่งออกไปเวียดนามในช่วง 9 เดือน มีมูลค่า 5,504.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.79 (เป้าหมายปี 2554 ร้อยละ 25)

1.3 การนำเข้า : ไทยนำเข้าจากเวียดนาม มีมูลค่า 1,544.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 51.04

1.4 ไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า จำนวน 3,959.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.08

1.5 สัดส่วนการส่งออก: การนำเข้า เท่ากับ ร้อยละ 78: 22

1.6 โครงสร้างสินค้าส่งออกของไทยไปเวียดนาม ช่วง 9 เดือน ของปี 2554 :

  • ร้อยละ 12.24 น้ำมันสำเร็จรูป
            มูลค่า            673.5          ล้านเหรียญสหรัฐ          เพิ่มขึ้นร้อยละ          64.13
  • ร้อยละ 6.55 เม็ดพลาสติก
            มูลค่า            360.8          ล้านเหรียญสหรัฐ          เพิ่มขึ้นร้อยละ          27.31
  • ร้อยละ 5.72 เคมีภัณฑ์
            มูลค่า            314.6          ล้านเหรียญสหรัฐ          เพิ่มขึ้นร้อยละ          51.20
  • ร้อยละ 5.31 เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์
            มูลค่า            292.3          ล้านเหรียญสหรัฐ          เพิ่มขึ้นร้อยละ          14.83
  • ร้อยละ 4.53 รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ
            มูลค่า            249.1          ล้านเหรียญสหรัฐ          เพิ่มขึ้นร้อยละ          54.92
  • ร้อยละ 4.43 ผลิตภัณฑ์ยาง
            มูลค่า            243.9          ล้านเหรียญสหรัฐ          เพิ่มขึ้นร้อยละ          76.43
  • ร้อยละ 3.90 เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ
            มูลค่า            214.5          ล้านเหรียญสหรัฐ          เพิ่มขึ้นร้อยละ          42.44
  • ร้อยละ 3.28 เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ
            มูลค่า            180.6          ล้านเหรียญสหรัฐ          เพิ่มขึ้นร้อยละ          38.33
  • ร้อยละ 3.00 รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ
            มูลค่า            165.3          ล้านเหรียญสหรัฐ          เพิ่มขึ้นร้อยละ          38.56
  • ร้อยละ 2.76 เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ
            มูลค่า            151.6          ล้านเหรียญสหรัฐ          เพิ่มขึ้นร้อยละ           0.52
  • รวม 10 รายการสินค้า
            มูลค่า            2,846.2        ล้านเหรียญสหรัฐ          เพิ่มขึ้นร้อยละ          41.83
  • ร้อยละ 48.28 อื่นๆ
            มูลค่า            2,657.9        ล้านเหรียญสหรัฐ          เพิ่มขึ้นร้อยละ          26.13
  • รวมทั้งสิ้น
            มูลค่า            5,504.1        ล้านเหรียญสหรัฐ          เพิ่มขึ้นร้อยละ          33.79

เมื่อพิจารณาถึงโครงสร้างสินค้าส่งออกของไทยไปยังเวียดนามจะพบว่า ในรายการสินค้า 10 รายการแรก เป็นสินค้าอุตสาหกรรมหนักและสินค้าที่เป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตเพื่อการส่งออกทั้งสิ้น ไม่มีสินค้าอุปโภคบริโภคแต่อย่างใด

1.7 โครงสร้างสินค้านำเข้า : ไทยนำเข้าสินค้าจากเวียดนามในช่วง 9 เดือน ของปี 2554 ดังนี้

  • ร้อยละ 13.54 เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน
            มูลค่า            209.1 ล้านเหรียญสหรัฐ                    เพิ่มขึ้นร้อยละ           97.99
  • ร้อยละ 8.94 เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ
            มูลค่า            138.1  ล้านเหรียญสหรัฐ                   เพิ่มขึ้นร้อยละ            5.01
  • ร้อยละ 6.98 เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์
            มูลค่า            107.7  ล้านเหรียญสหรัฐ                   เพิ่มขึ้นร้อยละ          218.56
  • ร้อยละ 6.09 ด้ายและเส้นใย
            มูลค่า            94.0  ล้านเหรียญสหรัฐ                    เพิ่มขึ้นร้อยละ           34.22
  • ร้อยละ 5.89 น้ำมันดิบ
            มูลค่า            91.0 ล้านเหรียญสหรัฐ                     เพิ่มขึ้นร้อยละ           68.26
  • ร้อยละ 5.35 กาแฟ ชา เครื่องเทศ
            มูลค่า            82.7 ล้านเหรียญสหรัฐ                     เพิ่มขึ้นร้อยละ          285.38
  • ร้อยละ 4.30 เคมีภัณฑ์
            มูลค่า            66.5  ล้านเหรียญสหรัฐ                    เพิ่มขึ้นร้อยละ           83.41
  • ร้อยละ 3.58 เลนส์ แว่นตา และส่วนประกอบ
            มูลค่า            55.3 ล้านเหรียญสหรัฐ                     เพิ่มขึ้นร้อยละ           19.32
  • ร้อยละ 3.55 ถ่านหิน
            มูลค่า            54.8 ล้านเหรียญสหรัฐ                     เพิ่มขึ้นร้อยละ          239.81
  • ร้อยละ 3.54 เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การแพทย์
            มูลค่า            54.7  ล้านเหรียญสหรัฐ                    เพิ่มขึ้นร้อยละ            8.48

2. การส่งออกสินค้าจากไทยมายังสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เปรียบเทียบกับประเทศต่างในภูมิภาคอาเซียน :

จากสถิติการส่งออกสินค้าของไทย จำแนกรายประเทศ ในช่วง 9 เดือน ของปี 2554 พบว่า ไทยส่งออกมายังสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม มีมูลค่า 5,504.1 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือเท่ากับ 165,170.8 ล้านบาท) มีส่วนแบ่งร้อยละ 3.1 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย มากเป็นอันดับที่ 9 ของการส่งออกของไทยไปยังประเทศต่างๆในโลก ซึ่งเวียดนามครองอันดับที่ 9 มาตั้งแต่ปี 2552 ปรับขึ้นมาเป็นอันดับที่ 8 ในปี 2552 และกลับลงไปอยู่อันดับที่ 9 ในปี 2553

สำหรับในภูมิภาคอาเซียน ไทยส่งออกไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียน (9) มูลค่า 41,699.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.46 โดยส่งออกไปยัง มาเลเซีย มากเป็นอันดับ 1 (มูลค่า 9,679.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.53 ส่วนแบ่งร้อยละ 23.21) รองลงมา ได้แก่ สิงคโปร์ (มูลค่า 9,033.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.80 ส่วนแบ่งร้อยละ 21.66) อินโดนีเซีย (มูลค่า 7,784.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.56 ส่วนแบ่งร้อยละ 18.67) อันดับ 4 เวียดนาม (มูลค่า 5,504.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.79 ส่วนแบ่งร้อยละ 13.20) ฟิลิปปินส์ (มูลค่า 3,562.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 5.18 ส่วนแบ่งร้อยละ 8.55) กัมพูชา (มูลค่า 2,015.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.96 ส่วนแบ่งร้อยละ 4.83) พม่า (มูลค่า 2,011.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.38 ส่วนแบ่งร้อยละ 4.82) ลาว (มูลค่า 2,003.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.63 ส่วนแบ่งร้อยละ 4.81) และ บรูไน (มูลค่า 105.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.78 ส่วนแบ่งร้อยละ 0.25)

3. สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ในช่วง 9 เดือน ของปี 2554 :

3.1 จากการประชุมสภาแห่งชาติเวียดนาม สมัยที่ 13 ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 21 กรกฎาคม — 3 สิงหาคม 2554 นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ได้รายงานต่อที่ประชุมสรุปได้ว่า แม้ว่าจะได้มีการดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจต่างๆ ได้แก่ การรักษาอัตราเงินเฟ้อ การควบคุมราคาสินค้า การกำหนดอุปสงค์และอุปทาน ซึ่งมีส่วนช่วยให้ดัชนีราคาผู้บริโภคค่อยๆลดระดับลงอย่างช้าๆ แต่ดัชนีราคาผู้บริโภคในช่วง 9 เดือน ก็ยังคงเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 16.63 ทำให้เป็นที่คาดว่าในปี 2554 ดัชนีราคาผู้บริโภคจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 18 สำหรับภาคการผลิตและธุรกิจยังทรงตัวอยู่ ในขณะที่การส่งออกเพิ่มขึ้น และสามารถควบคุมการนำเข้าได้ในระดับหนึ่ง คาดว่าในปี 2554 เศรษฐกิจจะเติบโตร้อยละ 6-6.5 ทั้งนี้ รัฐบาลจะพยายามลดอัตราเงินเฟ้อให้เหลือต่ำกว่าร้อยละ 10 ในปี 2554 และร้อยละ 5-7 ในปี 2555 ลดการใช้จ่ายภาครัฐและรักษาระดับหนี้สาธารณะให้เหมาะสมกับสภาพทางเศรษฐกิจ ลดการขาดดุลการค้าให้เหลือ 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 10.5 ของมูลค่าการส่งออก สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจในปี 2555 รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะปรับโครงสร้างการลงทุนใน 3 สาขาหลัก ได้แก่ (1) การลงทุนภาคสาธารณะ (2) การลงทุนในรัฐวิสาหกิจ โดยให้ความสำคัญต่อการทบทวนประสิทธิภาพในการดำเนินการของรัฐวิสาหกิจต่างๆอย่างรอบด้าน (3) การลงทุนในระบบการเงินและการคลัง โดยรัฐบาลจะลดจำนวนธนาคารและสถาบันการเงินที่อ่อนแอ ยกระดับการให้สินเชื่อ และพัฒนาคุณภาพของระบบธนาคาร เพิ่มความเข้มงวดกับหนี้ค้างชำระ การประกันสภาพคล่องและความมั่นคงของระบบธนาคารพาณิชย์ ควบคุมการหมุนเวียนของเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ สภาแห่งชาติ ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า เวียดนามยังถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันต่ำ และยังล้าหลังในด้านเทคโนโลยีอีกมาก จึงเสนอให้รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการวิเคราะห์และประเมินปัญหาอย่างลึกซึ้ง เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม ประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ การพัฒนานิคมอุตสาหกรรม เขตเมือง ท่าเรือ ท่าอากาศยาน การรักษาเสถียรภาพของค่าเงินด่ง การใช้เทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการลงทุนจากต่างชาติ การแก้ไขปัญหาอาชญากรรม จราจร การศึกษา และฝึกอบรม ความแออัดของโรงพยาบาล และมลภาวะ นอกจากนี้ ยังได้เสนอให้รัฐบาลเพิ่มความพยายามในปี 2555 เพื่อรักษาระดับดัชนีราคาผู้บริโภคให้อยู่ในระดับต่พ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และสร้างเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพสำหรับปีต่อๆไป (สรุปจากรายงานของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย 2 พ.ย. 2554)

3.2 จากรายงานของธนาคารโลก “Doing Business 2012” เกี่ยวกับการจัดลำดับประเทศน่าลงทุน พบว่า ความน่าสนใจในการลงทุนของเวียดนามลดลงจากอันดับที่ 90 เป็นอันดับที่ 98 ในขณะที่ความน่าเชื่อถือในระบบการปล่อยสินเชื่อของเวียดนามอยู่อันดับที่ 24 การคุ้มครองนักลงทุนอยู่อันดับที่ 166 ระบบการจัดเก็บภาษีอยู่อันดับที่ 152 และการแก้ไขปัญหาการล้มละลาย อยู่อันดับที่ 142 สำหรับกลุ่มประเทศอาเซียนที่ได้รับการจัดอันดับว่ามีบรรยากาศเอื้อต่อการลงทุนมากที่สุด คือ สิงคโปร์ ไทย มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม ปัจจัยที่ใช้ในการจัดอันดับดังกล่าว ประกอบด้วย ขั้นตอนการขออนุญาตในการดำเนินธุรกิจ ขั้นตอนการขออนุญาตดำเนินโครงการก่อสร้าง ปริมาณการผลิตไฟฟ้า ขั้นตอนการจดทะเบียนอสังหาริมทรัพย์ กระบวนการปล่อยสินเชื่อ การคุ้มครองนักลงทุน การจัดเก็บภาษี การค้าชายแดน การปฏิบัติตามสัญญาธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และการแก้ไขปัญหาล้มละลาย

3.3 ธนาคาร HSBC เวียดนามเปิดเผยผลวิจัยเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจโลก ว่าในอนาคตเวียดนามจะเป็น 1 ใน 5 ผู้ผลิตรายใหญ่ซึ่งมีอิทธิพลมากที่สุดในตลาดโลก อันประกอบด้วย อินเดีย อินโดนีเซีย จีน และอียิปต์ ในขณะที่ จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลี จะเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญในอันดับแรกของเวียดนาม โดยปริมาณการค้ากับจีนจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 17.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 53.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2568 และประเทศสวิสเซอร์แลนด์ อียิปต์ แอฟริกาใต้ และซาอุดิอาระเบีย จะทวีความสำคัญในฐานะผู้นำเข้าเหล็กและเหล็กกล้า สำหรับปัญหาด้านการลงทุนในเวียดนามที่นักลงทุนเป็นกังวลมากที่สุด คือความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และการเพิ่มขึ้นของต้นทุนค่าขนส่งและคลังเก็บสินค้า

3.4 กระทรวงการคลังเวียดนามเตรียมเสนอร่างอัตราภาษีส่งออกและนำเข้าฉบับใหม่ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในปี 2555 การปรับลดอัตราภาษีดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้สำหรับสินค้าประเภทถ่านหิน ซึ่งปัจจุบันมีอัตราภาษีส่งออกร้อยละ 20 แต่คาดว่าจะมีการปรับลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น สำหรับการปรับลดอัตราภาษีนำเข้าสำหรับสินค้ากว่า 1,000 รายการ เป็นไปตามพันธกรณีภายใต้องค์การการค้าโลก โดยภาษีนำเข้าเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ จะลดลงร้อยละ 1-3 การอัตราภาษีเดิม ซึ่งอยู่ระหว่างร้อยละ 12-26

3.5 แนวโน้มอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของเวียดนามในปี 2555 จะชะลอตัวลงเนื่องจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกจะอยู่ที่ประมาณ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ/เดือน ในช่วง 9 เดือน ของปี 2554 มูลค่าการส่งออกของภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ สูงสุดในรอบสี่ปีที่ผ่านมา คาดว่าไนไตรมาสที่ 3 มูลค่าการส่งออกจะลดลงประมาณร้อยละ 10-15 เนื่องจากสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นตลาดหลักลดปริมาณการนำเข้า สำหรับมูลค่าการนำเข้าวัตถุดิบในการผลิต คิดเป็น 9.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ รัฐบาลเวียดนามจะสนับสนุนอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มให้เป็นสินค้าส่งออกหลักของประเทศ โดยตั้งเป้าอัตราการขยายตัวต่อปีไว้ที่ร้อยละ 12-15 และเป้าหมายการผลิตปีละ 5 แสนตัน ซึ่งจะสามารถสร้างงานได้ 2.75 ล้านตำแหน่ง ปัจจุบันเวียดนามมีโรงงานผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มกว่า 3,700 แห่ง ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตกรุงฮานอย และนครโฮจิมินห์

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงฮานอย

ที่มา: http://www.depthai.go.th


แท็ก เวียดนาม  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ