รายงานสถานการณ์การผลิต การค้า การบริโภค การส่งออกและการนำเข้าข้าว ของประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ระหว่างวันที่ 4-11 พฤศจิกายน 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 18, 2011 11:52 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1.สถานการณ์การผลิต :

แหล่งเพาะปลูกข้าวบริเวณที่ราบลุ่มปากแม่น้ำโขง ได้เริ่มปลูกข้าวฤดูการผลิตที่ 3 Autum-Winter ไปแล้วประมาณ 350,000 เฮ็คตาร์ หรือเท่ากับร้อยละ 54 ของพื้นที่ที่จะทำการเพาะปลูกทั้งสิ้นในฤดูนี้ (653,000 เฮ็คตาร์) ทั้งนี้ พื้นที่ปลูกข้าวฤดูที่ 3 ในปีนี้ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ซึ่งมีพื้นที่เพียง 142,000 เฮ็กตาร์

สำหรับพื้นที่เพาะปลูกข้าวในฤดูกาลปกติของบริเวณที่ราบลุ่มปากแม่น้ำโขง ในปี 2554 มีจำนวน 230,000 เฮ็คตาร์

2.ราคาข้าวภายในประเทศ :

ราคาข้าวเปลือกท้องถิ่นในแหล่งผลิตบริเวณ Mekong River Delta (ข้าวเปลือกเมล็ดสั้น) จะอยู่ระหว่าง 7,200-7,300 เวียดนามด่ง/กิโลกรัม ในขณะที่ราคาข้าวเปลือกสำหรับสีเป็นข้าวเมล็ดยาว อยู่ระหว่าง 7,350-7,450 เวียดนามด่ง/กก. สำหรับราคาข้าวกล้องชนิดสีเป็นข้าวหัก 5 % จะอยู่ระหว่าง 9,550 - 9,600 เวียดนามด่ง/กก และข้าวกล้องชนิดสีเป็นข้าวหัก 25 % อยู่ระหว่าง 9,450-9,550 เวียดนามด่ง/กก.

สำหรับข้าวสาร มีราคาจำหน่ายส่งดังนี้

          ข้าวหัก 5 %  (ไม่บรรจุถุง) กิโลกรัมละ          11,500-11,600          เวียดนามด่ง
          ข้าวหัก 15 %            กิโลกรัมละ          10,900-11,000          เวียดนามด่ง
          ข้าวหัก 25 %            กิโลกรัมละ          10,400-10,500          เวียดนามด่ง

(อัตราแลกเปลี่ยน 1 บาท = 798 เวียดนามด่ง)

ทั้งนี้ ข้าวสารทุกชนิดมีราคาลดลงประมาณกิโลกรัมละ 100 เวียดนามด่ง ในสัปดาห์นี้

3.การส่งออก :

ปริมาณส่งออกในช่วงระหว่างวันที่ 1-10 พฤศจิกายน 2554 มีจำนวน 159,500 ตัน มูลค่า 88.492 ล้านเหรียญสหรัฐ แยกเป็น

          -          ข้าวหัก 5% - 10 %      ปริมาณ 15,933 ตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9.9 ของการส่งออกทั้งหมดในสัปดาห์นี้
          -          ข้าวหัก 15 % - 20 %    ปริมาณ 113,220 ตัน         คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 70.98
          -          ข้าวหัก 25 %           ปริมาณ  6,375ตัน            คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.0
          -          ข้าวอื่นๆ               ปริมาณ 12,495 ตัน           คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7.83
          -          ข้าวเหนียว             ปริมาณ 11,205ตัน            คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7.02
          -          ข้าวหักอื่นๆ             ปริมาณ 272  ตัน             คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.17

สำหรับปริมาณส่งออกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม — 10 พฤศจิกายน 2554 มีจำนวน 6.479 ล้านตัน มูลค่า 3.147 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ตลาดส่งออกที่สำคัญ (1-11 พฤศจิกายน 2554)ได้แก่

          ตลาดเอเชีย              ปริมาณ 138,792 ตัน           คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 87.02
          ตลาดอัฟริกา              ปริมาณ 18,765  ตัน           คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.76
          ตลาดยุโรป               ปริมาณ 695  ตัน              คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.44
          ตลาดอเมริกา             ปริมาณ 668  ตัน              คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.42
          ตลาดออสเตรเลีย          ปริมาณ 668  ตัน              คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.42

4. สถานการณ์ข้าวในเวียดนาม/สถานการณ์ข้าวโลก :

4.1 จากรายงานของสมาคมอาหารเวียดนาม ระบุว่า ปี 2554 เวียดนามสามารถส่งออกข้าวหอมมะลิได้กว่า 369,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 115 โดยราคาส่งออกข้าวหอมมะลิของเวียดนาม (700 เหรียญสหรัฐ/ตัน) ต่ำกว่าราคาส่งออกข้าวหอมมะลิของไทย (1,000 เหรียญสหรัฐ/ตัน) ทำให้เริ่มมีผู้ส่งออกข้าวของไทยบางรายหันมาซื้อข้าวหอมมะลิเวียดนามเพื่อส่งออกไปจีนภายใต้เครื่องหมายการค้าของไทย ทั้งนี้ ข้าวหอมมะลิของเวียดนามเริ่มเป็นที่รู้จักในตลาดโลกมากขึ้น และเริ่มเข้ามามีส่วนแบ่งทางการตลาดแทนที่ข้าวไทยในบางตลาด เช่น ฮ่องกง เป็นต้น

4.2 เกษตรกรภาคใต้ของเวียดนามสามารถผลิตข้าวได้ 25.2 ล้านตัน โดยในจำนวนนี้ เป็นผลผลิตจากเกษตรกรในที่ราบลุ่มปากแม่น้ำโขง จำนวน 23 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2553 จำนวน 1.52 ล้านตัน ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นมาจากการปรับปรุงรูปแบบการผลิต “นาข้าวขนาดใหญ่” ซึ่งเป็นการรวมที่ดิน กำลังคน และบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรม โดยบริษัทเป็นผู้จัดหาเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ระบบชลประทาน และเทคโนโลยีในการผลิต รวมทั้งหาตลาดให้ด้วย การใช้รูปแบบ “นาข้าวขนาดใหญ่” เป็นการช่วยเพิ่มความสามารถในการผลิต และลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกร ปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการดังกล่าว 6,400 ครัวเรือน พื้นที่เพาะปลูก 8,000 เฮ็กตาร์ ทำการเพาะปลูก 2 ฤดูกาลผลิต คือ ฤดูหนาว-ฤดูใบไม้ผลิ และฤดูร้อน-ฤดูใบไม้ร่วง ทั้งนี้ รัฐบาลเวียดนามมีแผนที่จะขยายพื้นที่เพาะปลูกตามแนวทางดังกล่าวให้ครอบคลุมพื้นที่ 50,000 เฮ็กตาร์ ในปี 2555 และ 100,000 เฮ็กตาร์ ในปี 2556

4.3 นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการเพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวอย่างมีคุณภาพ สำหรับฤดูกาลที่ 3 (ฤดูหนาว-ฤดูใบไม้ผลิ) โดยเฉพาะในแหล่งผลิตบริเวณที่ราบลุ่มปากแม่น้ำโขง โดยมอบหมายให้คณะกรรมการประชาชน พัฒนาด้านเทคนิคการเพาะปลูกข้าวด้วยการประสานร่วมกันระหว่างภาครัฐ เกษตรกร นักวิทยาศาสตร์ และนักธุรกิจ รวมถึงคณะกรรมการประชาชนในแต่ละจังหวัดต้องมั่นใจถึงตารางการเพาะปลูกที่จัดทำขึ้นโดยกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท และควบคุมคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ข้าว และวัสดุที่ใช้ในการปลูกข้าว

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะต้องตรวจสอบระดับน้ำ และซ่อมแซมเขื่อนกั้นน้ำ รวมถึงเขตชลประทานและสถานีสูบน้ำและระดมกำลังสูบน้ำฝนและน้ำท่วมออกจากนาข้าว ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะอนุมัติเงินช่วยเหลือชาวนาที่ได้รับผลกระทบจากเหตุน้ำท่วม (พื้นที่นาเสียหายประมาณ 57,000 ไร่)

4.4 สมาคมอาหารเวียดนาม ได้เปิดเผยในที่ประชุมงาน Vietnam Rice Festival ครั้งที่ 2 ที่จัดขึ้นที่จังหวัด SOC Trang ตอนใต้ของเวียดนาม ว่าในปี 2554 เวียดนามจะส่งออกข้าวได้กว่า 7 ล้านตัน หรือกว่าร้อยละ 20 ของปริมาณการค้าข้าวทั่วโลก และภายในปี 2558 เวียดนามจะสามารถผลิตข้าวได้ปีละ 44-45 ล้านตัน ซึ่งจะทำให้มีข้าวสำหรับการส่งออกปีละกว่า 9 ล้านตัน

4.5 ประธานาธิบดีเวียดนาม กล่าวในที่ประชุมคณะกรรมาธิการธุรกิจเวียดนาม-ฟิลิปปินส์ ที่กรุงมะนิลา ว่า ข้อเสนอจัดตั้งองค์การประเทศผู้ส่งออกข้าว (Organization of Rice Exporting Countries — OREC) ไม่ใช่ความคิดริเริ่มจากเวียดนาม และหากเวียดนามเข้าร่วมเป็นสมาชิก ORECก็จะไม่ทำให้เกิดกลไกผูกขาดการกำหนดราคาข้าวอย่างแน่นอน ทั้งนี้ ยังได้กล่าวในระหว่างการเยี่ยมชมสถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (International Rice Research Institute — IRRI) ว่าเวียดนามและ IRRI จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อปรับปรุงสายพันธุ์ข้าวเวียดนาม รักษาความหลากหลายของสายพันธุ์ข้าว รวมถึงการพัฒนาทรัพยากรบุคคล

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยทางการเกษตรระหว่างประเทศของออสเตรเลียระบุว่า สายพันธุ์ข้าวจากการวิจัยของ IRRI ช่วยให้ผลผลิตข้าวในพื้นที่ภาคใต้ของเวียดนามเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 ในช่วงปี 2528-2542

4.6 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 ผู้ส่งออกข้าวเวียดนามยังไม่ทำสัญญาส่งออกข้าวรอบใหม่ เนื่องจากมีข้าวราคาถูกจากอินเดียและปากีสถานเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาด โดยในเดือนพฤศจิกายน 2554 ราคาข้าวหัก 5 % ของเวียดนาม ตันละ 570 เหรียญสหรัฐ ในขณะที่ข้าวอินเดีย ราคาตันละ 470 เหรียญสหรัฐ และข้าวปากีสถาน ราคาตันละ 450 เหรียญสหรัฐ

ประธานสมาคมอาหารเวียดนาม เปิดเผยว่า ความต้องการข้าวเวียดนามลดลงตั้งแต่อินเดียเริ่มส่งออกข้าวในเดือนสิงหาคม 2554 เป็นต้นมา ข้าวอินเดีย โดยเฉพาะข้าวคุณภาพต่ำ ส่งออกไปยังตลาดแอฟริกา ในขณะที่เวียดนามส่งออกข้าวคุณภาพดีไปยังตลาดประเทศเพื่อนบ้าน

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีการแข่งขันจากประเทศในกลุ่มเอเชียใต้ แต่ประธานสมาคมอาหารเวียดนามเชื่อว่าการสั่งซื้อข้าวจำนวนมากจากตลาดเดิมจะช่วยให้ราคาข้าวเวียดนามยังคงอยู่ในระดับสูง ดังนั้นผู้ค้าท้องถิ่นยังสามารถซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาในราคาที่เหมาะสมได้ ประกอบกับโครงการรับจำนำข้าวของไทยยังไม่ได้ดำเนินการ จึงยังไม่ส่งผลกระทบกับราคาข้าวในตลาดโลก

ในช่วง 10 เดือน ของปี 2554 เวียดนามส่งออกข้าวมากกว่า 6.3 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2554 เวียดนามจะส่งออกข้าวเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 700,000 ตัน ทำให้การส่งออกข้าวในปีนี้มีปริมาณกว่า 7 ล้านตัน ขณะนี้ผู้ส่งออกข้าวเวียดนามยังไม่ตัดสินใจที่จะเซ็นต์สัญญาข้าวรอบใหม่ เนื่องจากกำลังรอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับตลาดข้าวในประเทศอินเดียและไทย ในช่วงนี้ผู้ค้าท้องถิ่นได้เก็บข้าวจำนวน 1.2 ล้านตันไว้ในโกดังเพื่อรอการส่งออก ข้าวจำนวนดังกล่าวมีปริมาณเกือบ 2 เท่าของข้าวที่จะส่งออกในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี และแม้ภาวะน้ำท่วมจะทำความเสียหายให้กับพื้นที่นาแกือบ 8,500 เฮ็กตาร์ ซึ่งเท่ากับร้อยละ 1.3 ของพื้นที่เพาะปลูกในฤดูใบไม้ร่วง-ฤดูหนาว แต่ก็ไม่ส่งผลกระทบต่ออุปทานข้าวจากแหล่งผลิตบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง เพียงแต่จะทำให้ต้นทุนข้าวสูงขึ้นในช่วงปลายปีนี้

สำหรับข้าวหอมมะลิ ประธานสมาคมอาหารเวียดนามเห็นว่าข้าวหอมมะลิของเวียดนามได้มีการปรับปรุงคุณภาพข้าวมากขึ้น ทำให้สามารถแข่งขันกับข้าวหอมมะลิของไทยได้ จึงขอให้ผู้ค้าท้องถิ่นเร่งซื้อข้าวหอมมะลิจากตลาดในประเทศรวมทั้งจากกัมพูชามาเก็บสำรองไว้เพื่อเตรียมสำหรับการทำสัญญาส่งออกในปี 2555/

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงฮานอย

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ