การบริโภคอาหารทะเลของอิตาลี

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 18, 2011 12:05 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ความเปลี่ยนแปลงของการบริโภคจากอดีตถึงปัจจุบัน

ประเทศอิตาลีเป็นประเทศหนึ่งที่ขึ้นชื่อในเรื่องของอาหาร โดยชาวอิตาเลียนส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญและระมัดระวังในเรื่องของการเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์ โดยมีปัจจัยหลักในการเลือกคือ ความสะอาด ถูกหลักโภชนาการ และที่สำคัญผลิตภัณฑ์ต้องเป็นไปตามหลักอนามัย เป็นต้น

จากอดีตจนถึงปัจจุบันรวมระยะเวลากว่า 20 ปี ที่ผู้บริโภคชาวอิตาเลียนได้มีการพัฒนารูปแบบของการดำรงชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปแบบของการบริโภคที่เน้นให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่สามารถเก็บรักษาได้ยาวนาน ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปแบบของการแช่แข็ง การอบแห้ง การแช่เกลือ และการรมควัน เป็นต้น ซึ่งรูปแบบดังกล่าวสามารถช่วยืดระยะเวลาในการเก็บรักษาและคงคุณค่าของผลิตภัณฑ์ โดยในปัจจุบันจะพบว่าวิธีดังกล่าวได้มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น และกลายเป็นสิ่งจำเป็นในการเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์ของชาวอิตาเลียน โดยมีปัจจัยมาจากคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นในด้านเทคนิค ผลิตภัณฑ์ที่มีจำนวนให้เลือกหลากหลาย การคัดเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และการวางแผนในการจัดจำหน่ายอย่างทั่วถึงแก่ผู้บริโภค

พฤติกรรมการบริโภคอาหารทะเลของชาวอิตาเลียน

ชาวอิตาเลียนบริโภคอาหารทะเลโดยเฉลี่ยอาทิตย์ละ 2 ครั้งสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในเมือง หรือชานเมืองใหญ่ ส่วนผู้ที่อยู่อาศัยอยู่ในเขตชนบท หรือห่างจากตัวเมืองจะมีการบริโภคที่น้อยลงประมาณอาทิตย์ละครั้ง สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ตามแนวชายฝั่งหรือติดทะเล เช่นในเมืองทางใต้อย่าง Bari หรือ Catania กลับมีความถี่เพิ่มขึ้นสูงถึงอาทิตย์ละ 4-5 ครั้ง และเป็นที่น่าสังเกตว่าชาวอิตาเลียนมีพฤติกรรมในการบริโภคอาหารทะเลขึ้นอยู่กับระยะห่างจากทะเล ไม่ได้ขึ้นอยู่กับราคา ตัวอย่างเช่น ชาวมาเตร่า (Matera) ถึงแม้ว่าจะอยู่ทางตอนใต้ของอิตาลี แต่เมืองตั้งอยู่ห่างจากเขตทะเล จึงมีความเชื่อว่าตนเป็นชาวเมือง ไม่ใช่ชาวทะเล จึงเลือกรับประทานเนื้อสัตว์มากกว่าทานอาหารทะเล เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ชาวอิตาเลียนที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง และชานเมืองจะรับประทานอาหารทะเลอย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง โดยเฉพาะในวันศุกร์ด้วยเหตุผลทางศาสนา และลักษณะนิสัยการบริโภค ส่วนในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์จะมีการรับประทานอาหารทะเลสูงกว่าวันอื่นๆ เนื่องจากมีเวลาในการเตรียมและประกอบอาหาร เนื่องจากอาหารทะเลต้องการเวลามากในการประกอบอาหาร และมีวิธีการประกอบอาหารที่ซับซ้อนมากกว่าเนื้อสัตว์ประเภทอื่นๆ รวมทั้งมีกลิ่นตกค้างมากกว่าอีกด้วย

ส่วนผู้ที่อาศัยอยู่ตามแนวชายฝั่งทะเลนั้นมีการบริโภคอาหารทะเลอย่างมากในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ เนื่องจากอยู่ใกล้กับแหล่งจับ โดยเฉพาะมีความเชื่อว่าการประกอบอาหารทะเลเป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่ต้องการเวลา นอกจากนี้ ในช่วงวันเทศกาลสำคัญๆ จำเป็นจะต้องมีปลาดิบเสิร์ฟบนโต๊ะอาหาร เทียบได้กับภาคอื่นๆ ที่จำเป็นจะต้องมีของหวานคอยบริการหลังอาหาร

ในช่วงวันหยุดฤดูร้อน ชาวอิตาเลียนจะรับประทานอาหารทะเลเป็นจำนวนมาก เนื่องจากให้ความรู้สึกถึงความสดชื่น และเป็นอาหารเบาเมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์ประเภทอื่นๆ นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อว่าในฤดูร้อนนั้นอาหารทะเลจะมีรสชาติที่เข้มข้นเป็นพิเศษ และเป็นฤดูกาลที่มีอาหารทะเลให้จับมากมาย ชาวอิตาเลียนที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองและชานเมืองจะเดินทางไปพักผ่อนที่เมืองตามแนวชายฝั่งทะเลเพื่อรับประทานอาหารทะเล เนื่องจากเชื่อว่ามีความสดกว่า ใกล้แหล่งจับมากกว่าและมีรสชาติดีกว่า

การบริโภคอาหารทะเลของชาวอิตาเลียน

การบริโภคอาหารทะเลของชาวอิตาเลียนในปี 2005-2010 มีอัตราการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นร้อยละ1.6 ถึงแม้ปี 2010 การบริโภคมีอัตราเปลี่ยนแปลงลดลงร้อยละ 2.4 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริโภคอาหารทะเลแบบสดที่มีอัตราลดลงร้อยละ 5.7 ในส่วนของการบริโภคอาหารทะเลแปรรูปพบว่ามีอัตราการเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 โดยเฉพาะอาหารทะเลประเภทตากแห้ง หมักเค็ม และรมควัน ซึ่งมีอัตราการบริโภคที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 แต่พบว่าอาหารทะเลแช่แข็งมีการบริโภคที่ลดลงร้อยละ 4.1 แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่าน ชาวอิตาเลียนมีการบริโภคอาหารทะเลมากกว่าเนื้อสัตว์ต่าง ๆ

จากระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา พบว่าชาวอิตาเลียนยังนิยมบริโภคอาหารทะเลแบบสดและแปรรูปมีมูลค่าและปริมาณที่ไม่แตกต่างกันมาก ถึงแม้ว่าวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปี 2008 ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบมากนักต่อการบริโภคอาหารทะเล โดยจะสังเกตุได้ว่าอาหารทะเลแปรรูปยังเป็นที่นิยมจากอดีตจนถึงปัจจุบันได้แก่ อาหารทะเลแช่เย็น แช่แข็งแบบกล่องบรรจุสำเร็จรูป ในปี 2010 มีประมาณการบริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.4 และอาหารทะเลประเภทที่ผ่านกระบวนการถนอมมีประมาณการบริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.9

ปัจจัยที่สนับสนุนให้ชาวอิตาลีบริโภคอาหารทะเลมากขึ้น

1.สุขภาพ การโน้มน้าวว่าการกินอาหารทะเล คือทางเลือกที่ดี สำหรับสุขภาพ โดยเป็นแหล่งสำคัญของกรดโอเมก้า 3 ที่ดีต่อร่างกาย

2.การขนส่ง ที่พัฒนาขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพทำให้สินค้าสด กระจายสู่ทุกภูมิภาคในซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ และซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป ทำให้ประชาชนได้มีตัวเลือกเพิ่มขึ้น รวมทั้งราคาสินค้าที่ลดลง

3.กระแสแฟชั่น การเติบโตของแฟชั่นการกินปลาดิบ ในบางภาค ของอิตาลีที่อยู่ในเขตเมดิเตอร์เรเนี่ยม

ปัจจัยที่สนับสนุนให้ชาวอิตาลีบริโภคอาหารทะเลน้อยลง

1.สภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ส่งผลให้ประชาชนต้องไตรตรองมาก ขึ้นในการบริโภค

2.ราคา ความเชื่อที่ว่าอาหารทะเลมีราคาแพงกว่าเนื้อสัตว์ประเภทอื่น เนื่องจากหารับประทานค่อนข้างยาก โดยเฉพาะเมืองที่ไม่ได้ติดกับทะเล

3.ความรวดเร็ว และสะดวกสบาย อาหารทะเลส่วนใหญ่ใช้เวลามากในการทำความสะอาดและปรุง

4.จำนวนสมาชิกในครอบครัวลดลง จึงทำให้รู้สึกยุ่งยากหากต้องปรุงอาหารทะเลเพื่อคนจำนวนน้อย รวมทั้งการแยกตัวจากครอบครัวที่อาศัยอยู่ตามแนวฝั่งทะเล เพื่อไปอาศัยอยู่ในเมืองเพื่อสะดวกต่อการทำงาน ทำให้มีเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารทะเลที่ลดน้อยลงไปด้วย

ชนิดของอาหารทะเลที่นิยมนำมาประกอบอาหาร

1. เปรียบเทียบสัตว์ทะเลและสัตว์น้ำจืด

ชาวอิตาเลียนนั้นนิยมรับประทานปลาทะเลมากกว่าปลาน้ำจืด เนื่องจากมีรสชาติที่ดีกว่า ส่วนปลาน้ำจืดนั้นมีไขมันมากและมีปริมาณเนื้อที่น้อยกว่า รวมทั้งมีสายพันธุ์ให้เลือกไม่หลากหลายเท่าปลาทะเลอีกด้วย ชาวอิตาเลียนที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองเห็นว่าอาหารทะเลเป็นอาหารที่หรูหราและดีต่อสุขภาพ มักจะประกอบอาหารทะเลเนื่องในโอกาสสำคัญๆ หรือเพื่อต้อนรับแขกเท่านั้น ส่วนผู้ที่อาศัยอยู่ตามแนวชายฝั่งทะเลนั้นจะไม่ค่อยสนใจรับประทานปลาน้ำจืด

2. เปรียบเทียบสัตว์ทะเลที่จับตามแหล่งธรรมชาติ และการเพาะพันธุ์

ชาวอิตาเลียนเห็นว่าปลาที่เลี้ยงในฟาร์มนั้นมีความน่าเชื่อถือในเรื่องความสะอาด และมาตรฐาน เนื่องจากมีการควบคุมการเลี้ยงทุกขั้นตอน ส่วนปลาที่จับตามแหล่งธรรมชาตินั้นอาจไม่ได้มาตรฐาน เช่น มีขนาดเล็กเกินไป หรือน้ำหนักเบาเกินไป และอาจมีสารปนเปื้อนจากมลพิษในน้ำ นอกจากนี้ปลาเลี้ยงยังมีราคาที่ถูกกว่า แต่ก็มีเนื้อที่เหลวกว่าปลาทะเลที่จับตามแหล่งธรรมชาติซึ่งจะมีเนื้อที่กระชับมากกว่า รวมทั้งรสชาติของปลาเลี้ยงจะด้อยกว่า และมีกลิ่นหอมที่น้อยกว่าปลาที่จับตามแหล่งธรรมชาติ ดังนั้นจึงต้องมีการใส่เครื่องปรุงที่เพิ่มขึ้น และสูญเสียรสชาติของปลาไป

ส่วนปลาทะเลที่จับตามแหล่งธรรมชาตินั้น ชาวอิตาเลียนเชื่อว่าจะอุดมไปด้วยสารอาหาร โดยเฉพาะวิตามิน และมีรสชาติที่ดีกว่า จึงมักจะประกอบอาหารด้วยปลาที่จับตามแหล่งธรรมชาติสำหรับเด็กๆ

ความคิดเห็นของผู้บริโภคในการเลือกบริโภคอาหารทะเลแบบสด และอาหารทะเลแปรรูป

1. ผลิตภัณฑ์แช่เย็น แช่แข็งแบบเฉียบพลันมีข้อได้เปรียบในเรื่องราคา สามารถเก็บได้นาน ทำให้ผู้บริโภคชาวอิตาเลียนสามารถหาซื้อมารับประทานได้ไม่ลำบาก แต่ไม่เป็นที่นิยมในพื้นที่ใกล้ทะเล ส่วนใหญ่จะบริโภคในกรณีจำเป็นเท่านั้น สำหรับผู้บริโภคชาวอิตาเลียนทั่วไปนั้นเห็นว่าอาหารทะเลแช่แข็งแบบเฉียบพลัน จะมีคุณภาพด้อยกว่าอาหารทะเลแบบสด เนื่องจากรสชาติไม่เข้มข้น และเชื่อว่าโรงงานใช้วัตถุดิบที่ไม่มีคุณภาพในการผลิต

2. ผลิตภัณฑ์แช่แข็งมีข้อได้เปรียบทางด้านราคาไม่ต่างจากผลิตภัณฑ์แช่แข็งแบบเฉียบพลัน แต่ก็มีข้อด้อยกว่าในเรื่องรสชาติ คุณค่าทางอาหาร และความสะอาด

3. ผลิตภัณฑ์แช่แข็งละลายมีข้อได้เปรียบในเรื่องของราคาเท่านั้น โดยผลิตภัณฑ์แช่แข็งละลายมีคุณสมบัติด้อยที่สุดเมื่อเทียบกับอาหารทะเลสด แช่แข็ง และแช่เย็น แช่แข็งแบบเฉียบพลัน เนื่องจากผู้บริโภคชาวอิตาลีเห็นว่าเป็นสินค้าคุณภาพต่ำ มีสารอาหารน้อย และยังน่ากังขาถึงวิธีการแช่แข็งและนำมาละลาย รวมทั้งยังไม่สะดวกต่อการบริโภค

แหล่งซื้อ

ผู้บริโภคชาวอิตาเลียนเลือกซื้ออาหารทะเลจากแหล่งจำหน่ายที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศที่อาศัยอยู่ โดยผู้บริโภคที่อาศัยอยู่ในตัวเมืองหรือชานเมือง ซึ่งไม่มีพื้นที่ติดทะเลนั้น นิยมเลือกซื้ออาหารทะเลจากร้านค้าขนาดใหญ่อย่างเช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต หรือไฮเปอร์มาร์เก็ตมากกว่าร้านค้าย่อย เนื่องจากมีสินค้าทุกประเภทให้เลือกสรร ไม่ว่าจะเป็นอาหาร อุปกรณ์/เครื่องใช้ภายในบ้าน เสื้อผ้า ทำให้ประหยัดเวลาโดยไม่ต้องเสียเวลาไปซื้อตามร้านขายอาหารทะเลโดยเฉพาะ นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังเชื่อมั่นในมาตรฐานของอาหารทะเลที่จำหน่ายใซูเปอร์มาร์เก็ต ระบบการขนส่งที่ปลอดภัย ระบบการเก็บรักษาความสดของอาหารที่สะอาดและทันสมัย รวมทั้งการจัดวางอาหารทะเลในซูเปอร์มาร์เก็ต มีการแบ่งประเภทของสินค้าที่จับ/เลี้ยงในอิตาลี และสินค้านำเข้าไว้อย่างชัดเจน ทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อได้ตามความต้องการ และราคาที่พึงพอใจ

เมื่อเปรียบเทียบปริมาณการซื้ออาหารทะเลจากแหล่งจำหน่ายต่างๆ ในอิตาลีของปี 2005 และปี 2010 พบว่าร้านจำหน่ายอาหารทะเลโดยเฉพาะนั้น มียอดจำหน่ายที่ลดลงจาก 34.5% อยู่ที่ 28.9% ในทางกลับกันช่องทางการจัดจำหน่ายแบบใหม่อย่างซูเปอร์มาร์เก็ตกลับมีการขยายตัวถึง 10%

กฎระเบียบการติดฉลากบนอาหารทะเล

นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2002 สหภาพยุโรปได้ออกกฎระเบียบใหม่ในการติดป้ายฉลากบนสินค้าอาหารทะเลเป็นผลิตภัณฑ์สด ผลิตภัณฑ์แช่เย็น ผลิตภัณฑ์แช่แข็ง ผลิตภัณฑ์ตากแห้ง ผลิตภัณฑ์หมักเค็ม และผลิตภัณฑ์ดอง เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อหาได้อย่างสะดวก และเข้าใจถึงสายพันธุ์ แหล่งที่มา และวิธีการจับเพียงแค่อ่านฉลากที่ติดมาด้วย ระบบการติดฉลากตามกฎหมายการค้าหมายเลข 104/2000 ในกระทรวงปฏิรูปการประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำตามกฎหมายการค้าหมายเลข 2065/2001 ได้ถูกนำมาใช้ในอิตาลีตามพระราชกำหนดการบริหารกระทรวงเกษตรและป่าไม้ลงวันที่ 27 มีนาคม 2002 ดังนี้

1. ประเภทของสินค้าที่ต้องมีการติดฉลากสินค้าที่ต้องมีการติดฉลากคือ สินค้าประเภทปลา ปลาแล่เนื้อ หอย กุ้ง ที่ยังมีชีวิต สด แช่เย็น แช่แข็ง ตากแห้ง หมักเค็ม ดอง รวมทั้งปลาตัดหัว หรือแล่แบ่งส่วน หรือปลาบด ทั้งประเภทจับตามแหล่งธรรมชาติ และเลี้ยงเป็นฟาร์มเพาะพันธุ์ ซึ่งต้องระบุถึงแหล่งที่มาของสินค้า หรือประเทศที่นำเข้า โดยในตารางบนฉลากต้องระบุรายละเอียดของสินค้านั้นตามที่กำหนดในระเบียบ และในช่องข้างๆ จำเป็นต้องระบุพิกัดศุลกากรที่เป็นหลักสากลด้วย

ในกรณีนี้ยกเว้นสินค้าที่ปรุงสุก ปรุงสำเร็จ หรือสินค้าบรรจุกระป๋อง เช่น ปลากระป๋องในน้ำมัน ปลาทูน่ากระป๋อง หรือปลาซาดีนกระป๋อง เป็นต้น รวมทั้งสินค้าที่มีส่วนประกอบของส่วนผสมอื่นๆ เช่นซอส ซูริมิ คาร์เวียร์ เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้จะถูกจัดอยู่ในกลุ่ม 16 ของพิกัดศุลกากร 1604 (ปลาปรุงสำเร็จ หรือผ่านการถนอมอาหาร คาร์เวียร์ และการปรุงด้วยไข่ของปลา) และพิกัดหมายเลข 1605 (กุ้ง หอย และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่นๆที่ผ่านการปรุง หรือถนอมอาหาร)

2. ข้อมูลที่จำเป็นต้องระบุในฉลากสินค้าสำหรับการขายปลีก

2.1 ชื่อสามัญทางการค้าของสายพันธุ์ (ตามรายชื่อที่กำหนดโดยสมาชิกในสหภาพ ซึ่งรายชื่อที่ใช้ใน อิตาลีสามารถพบได้ในพระราชกำหนดการบริหารกระทรวงเกษตรและป่าไม้ลงวันที่ 27 มีนาคม 2002

2.2 วิธีการผลิตสินค้า - จับตามแหล่งธรรมชาติ - จับตามแหล่งน้ำจืดธรรมชาติ- การทำฟาร์มเพาะพันธุ์ 2.3 แหล่งที่จับ

  • หากจับจากทะเล จะต้องระบุโซนตามตารางของ FAO - หากจับจากแหล่งน้ำจืด จะต้องระบุประเทศผู้ผลิต - หากทำฟาร์มเลี้ยง จะต้องระบุประเทศผู้ผลิตในขั้นตอนสุดท้ายก่อนส่งสินค้าออกขาย และประเทศ ผู้ผลิตในขั้นตอนการเลี้ยงก่อนจะได้ขนาดที่ขายในตาด

3. การติดฉลากสำหรับสินค้าอาหารทะเลประเภทสด

รายชื่อสินค้าอาหารทะเลที่ต้องติดฉากตามกฎหมายการค้าหมายเลข 104/2000

  พิกัดศุลกากร                                ประเภทของสินค้า
0301      ปลาเป็น
0302      ปลาสด หรือปลาแช่เย็น ยกเว้นปลาแล่เนื้อ และเนื้อปลาประเภทอื่นตามพิกัดศุลกากร 0304
0303      ปลาแช่แข็ง ยกเว้นปลาแล่เนื้อ และเนื้อปลาประเภทอื่นตามพิกัดศุลกากร 0304
0304      ปลาแล่เนื้อ และเนื้อปลาประเภทอื่นๆ (รวมทั้งประเภทบด) แบบสด แช่เย็น และแช่แข็ง
0305      ปลาแห้ง ปลาเค็ม หรือปลาดอง ลารมควัน รวมทั้งการทำให้สุกก่อน หรือระหว่างการรมควัน

การชุบแป้ง หรืออัดเม็ด เพื่อเป็นอาหารมนุษย์ 0306 กุ้ง กุ้งทั้งตัวรวมเปลือกแบบเป็น แบบสด แช่เย็น แช่แข็ง แบบแห้ง หมักเค็ม หรือดอง กุ้ง

แกะเปลือกทำให้สุกด้วยวิธีการต้ม หรือนึ่งทั้งแช่เย็น แช่แข็ง แบบแห้ง หมักเค็ม หรือดอง

การชุบแป้ง หรืออัดเม็ด เพื่อเป็นอาหารมนุษย์ 0307 หอย แบบแกะเปลือก แบบเป็น แบบสด แช่เย็น แช่แข็ง แบบแห้ง หมักเค็ม หรือดอง

รวมทั้งสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังชนิดอื่นที่ไม่ใช่ประเภทกุ้งและหอยแบบเป็น แบบสด แช่เย็น

แช่แข็ง แบบแห้ง หมักเค็ม หรือดอง การชุบแป้ง หรืออัดเม็ด เพื่อเป็นอาหารมนุษย์

รายชื่อแหล่งที่มาของสินค้า

               แหล่งที่มา                                   โซน FAO
          มหาสมุทรแอตแลนติก ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ                 n.21
          มหาสมุทรแอตแลนติก ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ*               n.27
          ทะเลบอลติก                                        n.27 IIId
          มหาสมุทรแอตแลนติก ทิศตะวันตกตอนกลาง                  n.31
          มหาสมุทรแอตแลนติก ทิศตะวันออกตอนกลาง                 n.34
          มหาสมุทรแอตแลนติก ทิศตะวันตกเฉียงใต้                   n.41
          มหาสมุทรแอตแลนติก ทิศตะวันออกเฉียงใต้                  n.47
          ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน                           n.37.1, 37.2, 37.3
          ทะเลดำ                                         n.37.4
          มหาสมุทรอินเดีย                                  n.51, 57
          มหาสมุทรแปซิฟิก                            n.61, 67, 71, 77, 81, 87
          แอนตาร์คติก                                     n.48, 58, 88

*ยกเว้นทะเลบอลติก

4. การลงวันที่บนฉลากสินค้า

การระบุวันที่เป็นข้อมูลเบื้องต้นที่ผู้บริโภคให้ความสนใจเป็นอันดับแรก ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าผู้บริโภคชาวอิตาเลียนในแต่ละภาคให้ความสำคัญของวันที่แตกต่างกัน โดยผู้บริโภคที่อาศัยอยู่ในภาคกลางจะสนใจวันที่ที่จับสินค้านั้นขึ้นมาได้ เพื่อเป็นปัจจัยในการตัดสินใจซื้อ ส่วนผู้บริโภคในภาคใต้นั้นกลับไม่ให้ความสำคัญกับวันที่ของสินค้าเลย แต่เน้นความเชื่อถือของผู้ค้าที่ซื้อขายกันเป็นประจำมากกว่า เพราะเชื่อว่าวันที่ที่ระบุในฉลากสามารถระบุวันที่เท็จได้ ผู้บริโภคในภาคเหนือจะให้ความสำคัญกับวันหมดอายุของสินค้าเป็นหลัก โดยไม่สนใจว่าจะจับได้เมื่อไหร่ แต่สนใจว่าจะบริโภคได้ถึงวันที่เท่าไหร่มากกว่า

ความนิยมของอาหารทะเลที่จับได้ในแต่ละภูมิภาค

จากการสำรวจของISMEA ( Institution of service for food and agricultural market) และ Fondo Europeo per il Pesce พบว่าผู้บริโภคชาวอิตาเลียนให้ความสนใจกับแหล่งที่มาของอาหารทะเลไม่แพ้วันที่ที่จับ และเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญในการตัดสินใจเลือกสินค้าเพื่อบริโภค โดยเฉพาะหากผลิตภัณฑ์นั้นมาจากแหล่งใกล้ๆ เช่น ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน หรือจะดียิ่งขึ้นหากมาจากทะเลอิตาลี เพราะให้ความรู้สึกว่าเป็นผลิตภัณฑ์ของท้องถิ่น เนื่องจากผู้บริโภคจำนวนมากมีความรู้สึกห่วงแหนในความเป็นชาติของตน และเหตุผลทางอารมณ์ที่มีความชื่นชอบ ผลิตภัณฑ์จากทะเลเมดิเตอร์เรเนียน หรือทะเลเอเดรียติก ยกเว้นปลาบางสายพันธ์เท่านั้นที่ผู้บริโภคนิยมหากจับมาจากมหาสมุทรแอตแลนติก หรือทะเลทางเหนือ

อีกเหตุผลหนึ่งของความนิยมอาหารทะเลจากทะเลใกล้ๆ หรือทะเลอิตาลี เนื่องจากไม่ต้องผ่านกระบวนการขนส่งที่ใช้เวลานาน ทำให้สินค้ามีความสดกว่า และมีราคาที่ต่ำกว่านำเข้าจากทะเลอื่นๆ รวมทั้งเหตุผลทางด้านความสะอาด เนื่องจากอาหารทะเลที่จับจากทะเลที่อยู่ไกลออกไป จำเป็นต้องผ่านการฆ่าเชื้อ และถนอมสินค้า ก่อนส่งถึงมือผู้บริโภค ทำให้มีความเชื่อว่ามีสารเคมีเจือปนอยู่มาก และสารอาหารที่สำคัญลดลงไป

ปริมาณการจำหน่ายอาหารทะเลที่จับจากแหล่งต่างๆ ในตลาดอิตาลี

ประเทศอิตาลีมีการนำเข้าอาหารทะเลอยู่เป็นจำนวนมาก หากเปรียบเทียบปริมาณการนำเข้าและการบริโภคของชาวอิตาลีนั้นพบว่ามีอัตราถึง 73% ในปี 2010 อิตาลีจำหน่ายอาหารทะเลในประเทศจำนวน 941,000 ตัน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นผลิตภัณฑ์สดคิดเป็นสัดส่วน 21% และอิตาลีได้ส่งออกอาหารทะเลไปยังตลาดต่างประเทศจำนวน 136,000 ตัน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นผลิตภัณฑ์สดคิดเป็นสัดส่วน 52%

เมื่อเทียบเป็นมูลค่าการนำเข้าและส่งออกอาหารทะเล พบว่าอิตาลีส่งออกมีมูลค่ากว่า 520 ล้านยูโร และนำเข้ามีมูลค่ากว่า 4 พันล้านยูโร ซึ่งทำให้อิตาลีขาดดุลการค้าประมาณ 3.5 พันล้านยูโร โดยมีอัตราขาดดุลเพิ่มขึ้น 11.9% เมื่อเทียบกับปี 2009

เป็นที่น่าสังเกตว่า การนำเข้าสินค้าทั้งประเภทผลิตภัณฑ์สด และผลิตภัณฑ์แปรรูปนั้นมีจำนวนมากขึ้น ในปี 2010 การนำเข้าอาหารทะเลแปรรูปมีปริมาณเพิ่มขึ้น 2.5% และมูลค่าเพิ่มขึ้น 9.7% ในขณะเดียวกันการส่งออกของอิตาลีมีปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้น 0.8% และ 4% ตามลำดับ

การนำเข้าอาหารทะเลของอิตาลี

ในปี 2010 สินค้าที่อิตาลีนำเข้าอันดับต้นๆ เรียงตามมูลค่า ประเภทปลาสด ได้แก่ ปลาแซลมอน ปลา Spigole ปลา Orate นอกจากนี้ ยังมีปลาทูน่าในน้ำมัน และปลาแปรรูปแช่แข็ง เช่น ปลาหมึกยักษ์ ปลาหมึก กุ้ง เป็นต้น ส่วนสินค้าที่นำเข้าเรียงตามปริมาณอันดับต้นๆ ประเภทปลาสด ได้แก่ หอยแมลงภู่ (12.3%) ปลา Orate และ ปลา Spigole (11.3% และ 10.9%) ปลาแซลมอน (10.3%)

ประเทศสเปนเป็นผู้ส่งออกหอยแมลงภู่รายใหญ่แก่อิตาลี ซึ่งอิตาลีนำเข้าเป็นจำนวนถึง 82% และนำเข้าปลา Orate และปลา Spigole มาจากประเทศกรีซ เป็นจำนวนถึง 76% และ 77% ตามลำดับ นอกจากนี้ยังนำเข้าปลาแซลมอนมาจากประเทศสวีเดนและเดนมาร์ครวม 87% ในปี 2010 อิตาลีนำเข้าปลาหมึกแช่แข็งจากไทยมีมูลค่า 95 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.3 โดยไทยเป็นแหล่งนำเข้าปลาหมึกแช่แข็งอันดับ 1 ของอิตาลี และรองลงมาได้แก่ สเปน เวียดนาม จีน อินเดีย และแอฟริกาใต้ เป็นต้น

ในส่วนของวิธีการจับอาหารทะเลนั้น พบว่ามีการบริโภคสินค้าที่มาจากฟาร์มเพาะพันธุ์เพิ่มขึ้น โดยมีปริมาณเพิ่มขึ้น 4.9% หรือคิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้น 4.7% ส่วนการเพาะพันธุ์ผสมกับการจับตามแหล่งธรรมชาตินั้น มีปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้น 4.3% และ 4.1% ตามลำดับ

ปัญหาและข้อเสนอแนะ

ในปัจจุบันผู้บริโภคอิตาเลียนส่วนใหญ่มีปัญหาในเรื่องของเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด ดังนั้น แนวโน้มการเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแช่แข็งแบบกล่องบรรจุสำเร็จรูปมีปริมาณเพิ่มขึ้น เนื่องจากการประหยัดเวลาในการทำความสะอาดและการปรุง อีกทั้งรสชาติยังคงคุณค่าธรรมชาติและสะอาดถูกหลักอนามัย นอกไปจากนั้น สำหรับผู้บริโภคที่มีข้อจำกัดทางด้านการเงิน แต่ยังมีความต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแช่แข็ง อาจเลือกบริโภคชนิดธรรมดา ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีราคาถูกกว่าผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแช่แข็งที่ปรุงสำเร็จพร้อมประกอบอาหาร เพราะต้องใช้ระยะเวลาในการปรุงเพิ่มมากขึ้น นอกจากนั้นอาหารทะเลแช่แข็งก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้บริโภคที่ไม่ได้อาศัยติดชายทะเล ดังนั้น จึงมีข้อเสนอแนะไปยังผู้ประกอบการธุรกิจการส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งของไทยดังนี้ ได้แก่

1. การตอบสนองความต้องการชาวอิตาเลียนที่มีข้อจำกัดในเรื่องของเวลา ผู้ประกอบการไทยควรหันมาให้ความสนใจในการปรับปรุงและพัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์ให้มีหน้าตาหลากหลาย

ข้อเสนอแนะ

1)การเน้นรูปแบบของความสะดวกในการบริโภค เช่น ผลิตภัณฑ์กุ้งแช่แข็ง ควรทำความสะอาด โดยตัดหัวกุ้ง หางกุ้ง และปอกเปลือก เป็นต้น ผู้บริโภคสามารถประหยัดเวลาในการทำความสะอาด

2)การเน้นรูปแบบของความหลากหลาย เช่น มีการบรรจุผลิตภัณฑ์อาหารทะเลหลายชนิดในกล่องเดียวกัน

2. ระยะทางของการขนส่งที่ยาวไกล

ข้อเสนอแนะ ผู้ประกอบการไทยควรเลือกผลิตภัณฑ์บรรจุกล่องที่ได้มาตราฐานและสามารถปิดได้อย่างมิดชิด ผลิตภัณฑ์ที่มีการบรรจุอย่างเรียบร้อยชาวอิตาเลียนมองว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตราฐาน และถือเป็นสิ่งแรกที่ผู้บริโภคพบเห็น

3. ไทยถือว่าเป็นแหล่งนำเข้าผลิตภัณฑ์ปลาหมึกแช่แข็งอันดับต้น ๆ ของตลาดอิตาลีมาโดยตลอด จากตัวเลขของการนำเข้าระหว่างปี 2005-2010 มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นเกือบทุกๆ ปี เพื่อเป็นการตอบโจทย์ที่ชาวอิตาเลียนมีจำนวนการบริโภคที่เพิ่มขึ้น

ข้อเสนอแนะ ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญในการเลือกผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน สะอาด ถูกหลักอนามัย และที่สำคัญสะดวกในการบริโภค

4. ไทยมีการส่งออกกุ้งไปยังตลาดอิตาลีในปริมาณน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเอกวาดอร์ อินเดีย อาจเป็นไปได้ที่ปริมาณของกุ้งในทะเลไทยมีปริมาณน้อย เนื่องจากความไม่สมบรูณ์ของทะเลไทย ดังนั้นทำให้เกิดการเพาะเลี้ยงกุ้งเอง หรือมีการนำเข้าจากแหล่งอื่น ๆ

ข้อเสนอแนะ

1) ควรรักษาดูแลแหล่งน้ำในทะเลให้สะอาด เพื่อส่งเสริมให้สัตว์น้ำในทะเลมีการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้น

2) ควรทำการตกผลิตภัณฑ์ทะเล (กุ้ง) จากแหล่งทะเลไทย สรุป

จากที่ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูปในตลาดอิตาลีมีปริมาณการบริโภคที่เพิ่มขึ้น จึงถือเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ประกอบการไทย ที่จะทำการการผลักดันและส่งเสริมให้การส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแช่แข็งของไทยมีปริมาณและมูลค่าเพิ่มมากขึ้นในตลาดอิตาลี โดยผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแช่แข็งและระบบการส่งออกของไทยให้มีประสิทธิภาพ

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมิลาน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ