หลังการลาออกของนายกรัฐมนตรีแบร์ลุสโคนีอิตาลีจะผ่านวิฤกตหนี้หรือไม่

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 18, 2011 12:07 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ความกังวลต่อปัญหาเศรษฐกิจและหนี้สาธารณะของอิตาลี

นับตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2011 ที่เกิดเหตุการณ์ Black Fridayในตลาดซื้อขายพันธบัตรและตลาดหุ้นอิตาลี เนื่องจากทั่วโลกมีความวิตกอย่างมากว่าอิตาลีจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต่อจากกรีซ ดูเหมือนว่ารัฐบาลอิตาลีภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีแบร์ลุสโคนี จะไม่สามารถสร้างความน่าเชื่อถือกลับมาให้กับคนในประเทศและทั่วโลกได้อีก แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามผลักดันมาตรการต่าง ๆ เพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจออกมาภายใต้การผลักดันจากสหภาพยุโรป จนนายแบร์ลุสโคนีต้องประกาศว่าจะยอมลาออกหากมาตรการปฎิรูปเศรษฐกิจผ่านมติรัฐสภา

ตั้งแต่เกิดวิฤกตหนี้กรีซปี 2010 ก็ได้ส่งผลกระทบต่อประเทศสมาชิกยุโรปอื่นๆ ด้วยโดยเฉพาะอิตาลีที่ถูกมองว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเป็นรายต่อไป แม้ว่ารัฐบาลจะออกมาตรการรัดเข็มขัดในปี 2010 เพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ เนื่องจากอัตราหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังคงสูงเป็นอันดับ 2 รองจากกรีซ และมีมูลค่ามากกว่าถึง 8 เท่า เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลได้ใช้จ่ายเงินงบประมาณอย่างฟุ่มเฟือยในการปรับโครงสร้างทางสังคม และสถานการณ์เศรษฐกิจมีการขยายตัวต่ำกว่าประเทศอื่นในยุโรปนับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2008 ประกอบกับปัญหาทางการเมืองที่กำลังได้รับความสนใจอยู่ในขณะนี้ เพราะรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีแบร์ลุสโคนีในช่วงปีที่ผ่านมา มีความอ่อนแอในการบริหารประเทศ รัฐบาลแตกแยกออกเป็นหลายฝ่าย ส่งผลให้การออกมาตรการที่จำเป็นต่าง ๆ เป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะมาตรการรัดเข็มขัดเพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ตัวของนายแบร์ลุสโคนีเองก็อยู่ในช่วงขาลงตั้งแต่กลางปี 2010 สืบเนื่องมาจากข่าวอื้อฉาวส่วนตัว และการตกเป็นจำเลยในคดีต่างๆ เช่น การใช้อำนาจในทางมิชอบ สินบน และการฉ้อโกงภาษี ส่งผลให้ขาดความน่าเชื่อถือจากประชาชนและคะแนนนิยมตกต่ำ

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2554 ที่ผ่านมา เป็นวันชี้ชะตาของนายแบร์ลุสโคนี นายกรัฐมนตรีอิตาลี โดยได้มีการลงมติอนุมัติงบประมาณหลังจากไม่ผ่านความเห็นชอบมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ในครั้งนี้ผลปรากฎว่างบประมาณผ่านการอนุมัติจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบเพียง 308 คะแนนเสียง ต่ำกว่ากึ่งหนึ่งของสภาฯ (315 เสียง) แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลผสมของนายแบร์ลุสโคนี หัวหน้าพรรคพีดีแอล (PDL) ไม่ได้รับเสียงข้างมากอีกต่อไป นายกรัฐมนตรีแบร์ลุสโคนีจึงตัดสินใจประกาศลาออกจากตำแหน่งแต่ต้องภายหลังที่มีการอนุมัติกฎหมายปฎิรูปเศรษฐกิจจากรัฐสภาอิตาลี ส่งผลให้สถานการณ์ตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรของอิตาลีถูกเทขายอย่างหนักหน่วงในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2554ที่ผ่านมา โดยอัตราผลการตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ถูกปรับเพิ่มพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่เริ่มมีการใช้เงินสกุลยูโรคือ 7.25% โดยค่าความต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอิตาลีเมื่อเทียบกับเยอรมนีสูงขึ้นเหนือ 5.52% (552 จุด) ซึ่งเป็นอัตราที่อันตรายและสะท้อนให้เห็นว่าอิตาลีจะต้องแบกรับภาระหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล นอกจากนี้ หลายฝ่ายมองว่าเป็นอัตราที่ยากที่จะปรับลดลง เนื่องจากอัตราดังกล่าวเป็นอัตราที่กรีซได้ขอความช่วยเหลือทางการเงินจากสภายุโรป

จากสถานการณ์หนี้จำนวนมหาศาลที่ไม่มีแนวโน้มว่าจะลดลง ส่งผลให้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ 3 สถาบัน คือ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (เอสแอนด์พี) มูดีส์ และฟิทช์ ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือหนี้สาธารณะอิตาลีในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งการปรับลดอันดับของอิตาลีอาจส่งผลกระทบถึงเยอรมันและฝรั่งเศส โดยเฉพาะฝรั่งเศสที่มีการลงทุนในประเทศในกลุ่ม PIGS สูงมาก ประกอบกับหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้นจากการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศที่เดือดร้อน

การเรียกร้องของสภายุโรปต่ออิตาลีในการเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

Mr. Olli Rehn ประธานกรรมาธิการฝ่ายการเศรษฐกิจและการเงินยุโรป มีความกังวลเป็นอย่างมากต่อสถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินของอิตาลีที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ ส่งผลให้วันที่ 4 พฤศจิกายน 2554 ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยุโรปได้เรียกร้องให้อิตาลีชี้แจงถึงมาตรการรัดเข็มขัดอย่างชัดเจนที่ทางรัฐบาลอิตาลีได้มีการปรับเปลี่ยนในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2554 ที่ผ่านมา ภายในวันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2554 และได้เรียกร้องให้รัฐบาลอิตาลีขายทรัพย์สิน/แปรรูปรัฐวิสาหกิจกิจการต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของรัฐบาล ให้ภาคเอกชนเข้ามาเป็นเจ้าของแทน เพื่อที่รัฐบาลจะได้มีเงินไปลดหนี้สาธารณะที่มีอยู่อย่างมหาศาล นอกจากนี้ ยังให้อิตาลียกเลิกการให้สิทธิเกษียณการทำงานจากอายุงาน ควรนับอายุผู้เกษียณ ซึ่งในปี 2026 อายุเกษียณอยู่ที่ 67 ปี ทั้งนี้ ทางคณะกรรมาธิการยุโรปได้ส่งตัวแทนไปสังเกตการณ์ที่กรุงโรมในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2554 เพื่อติดตามว่าอิตาลีจะปฎิบัติตามแนวทางในการลดหนี้สาธารณะหรือไม่

การประกาศลาออกของนายแบร์ลุสโคนี

นายแบร์ลุสโคนี นายกรัฐมนตรีอิตาลี ได้ลงนามลาออกจากตำแหน่งตามที่เคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้แล้วในช่วงดึกของวันเสาร์ที่ 12 พฤศจิกายน 2554 ภายหลังที่กฎหมายปฎิรูปเศรษฐกิจที่เค้าเสนอต่อรัฐสภาได้รับคะแนนเสียง 380 คะแนนเสียงจากสภาผู้แทนราษฎร และได้รับการอนุมัติจากวุฒิสภาในวันศุกร์ที่ 11 ที่ผ่านมา ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 156 คะแนนเสียง ซึ่งบรรยกาศในกรุงโรมมีประชาชนนับพันมารวมตัวกันหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อเฉลิมฉลองกับการลาออกของนายแบร์ลุสโคนี โดยวันอาทิตย์ที่ผ่านมาประธานาธิบดี จอร์โจ นาโปลีตาโน ได้แต่งตั้งให้นายมาริโอ มอนติ นักเศรษฐศาสตร์ และอดีตกรรมาธิการยุโรปเข้ารับตำแหน่งผู้นำรัฐบาลชั่วคราว ด้วยนายมอนติเป็นนักเจรจาและมีความสัมพันธ์อันกว้างขวางในสหภาพยุโรป จึงเป็นที่เชื่อว่าจะช่วยให้อิตาลีสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดอย่างรวดเร็ว แนวทางของกฎหมายปฎิรูปเศรษฐกิจมีวัตถุประสงค์เพื่อลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐ และเพิ่มภาษี โดยได้รวมมาตรการที่สภายุโรปเรียกร้องเข้าไว้ด้วย เช่น การแปรรูปรัฐวิสาหกิจและแก้ไขสิทธิเกษียณ คาดว่าจะส่งผลให้ภาวะการขาดดุลการคลังในปี 2013 คงเหลือเพียงศูนย์ สำหรับการจัดตั้งคณะรัฐบาลจะทราบผลภายในอาทิตย์นี้

คาดการณ์เศรษฐกิจอิตาลีภายใต้นายกรัฐมนตรีคนใหม่

สคต. มิลาน เห็นว่าอิตาลีต้องหาทางเพิ่มรายได้จำนวนมากเพื่อมาลดหนี้จำนวนมหาศาล ซึ่งเป็นไปได้ยากที่จะมาจากการช่วยเหลือจากแหล่งเงินทุนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น IMF หรือสภายุโรป ดังนั้น รัฐบาลอิตาลีควรที่จะปฎิบัติตามคำแนะนำของสภายุโรปในการยอมขายทรัพย์สินของรัฐให้กับภาคเอกชน เพื่อที่จะได้นำเม็ดเงินมาใช้ในการชำระหนี้ได้อย่างตรงจุดและรวดเร็ว

สำหรับการที่บริษัทจำนวนมากมีแนวโน้มปิดตัวลงเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจ ถือเป็นผลเสียต่ออิตาลีและยุโรปเอง ถ้าอิตาลีสามารถปรับเปลี่ยนตัวเองเช่นย้ายไปผลิตในประเทศอื่น อาจช่วยให้บริษัทต่างๆยังคงอยู่รอดได้ รวมทั้งชาวอิตาเลียนเองควรที่จะให้ความร่วมมือกับการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล เพื่อจะทำให้มาตรการรัดเข็มขัดมีประสิทธิภาพสูงสุดและตอบโจทย์ได้เร็วที่สุด

สคต. มองว่าการส่งออกสินค้าไทยมายังอิตาลียังคงมีโอกาสในกลุ่มสินค้าอาหาร สินค้าทุน และสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้ทดแทนสินค้าของอิตาลี แต่สำหรับสินค้าฟุ่มเฟือย-ของตกแต่งบ้าน และเฟอร์นิเจอร์ น่าจะมีการนำเข้าจากอิตาลีลดลง

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมิลาน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ