รายงานข้อมูลศักยภาพการค้าการลงทุนระหว่างประเทศไทยกับเดนมาร์ก

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 18, 2011 14:02 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศไทย- เดนมาร์ก

หน่วย : ล้านเหรียญสหรัฐฯ

    มูลค่า          ม.ค. — ธ.ค.     ม.ค. — ส.ค.   ม.ค. — ส.ค.                % เพิ่ม/ลด
                      ปี 2553         ปี 2553         ปี 2554     ปี 2554   ม.ค. — ส.ค.
  การค้ารวม               952            569            712                     25.2
  การส่งออก               723            425            549                     29.2
  การนำเข้า               229            144            163                     13.4
   ดุลการค้า               494            281            386                     37.2

เดนมาร์กนับเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญลำดับที่ 40 ของไทย โดยในรอบ 8 เดือนแรกของปี 2554 (ม.ค.-ส.ค.) การค้ารวมมีมูลค่าทั้งสิ้น 712.39 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.1 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2553 แยกเป็นการส่งออกจากไทยมูลค่า 549.18 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.15 เทียบกับในช่วงเดียวกันของปี 2553 และการนำเข้าจากเดนมาร์ก มูลค่า 163.20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.35 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2553 ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ารวมทั้งสิ้นมูลค่า 385.98 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.24 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2553

2. ข้อมูลพื้นฐาน

2.1 เดนมาร์กจัดเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็ก เป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางด้านอุตสาหกรรม มีเทคโนโลยีสูง มีจำนวนประชากรประมาณ 5.5 ล้านคน (ปี 2553) การเจริญเติบโตของจีดีพีที่แท้จริงของเดนมาร์กในปี 2554 อยู่ที่ประมาณร้อยละ 1.2 ประชากรมีรายได้ต่อหัวประมาณ 36,764 เหรียญสหรัฐ/ปี (ปี 2553) เดนมาร์กมีข้อได้เปรียบด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านระบบสาธารณูปโภค การคมนาคมขนส่ง ระบบเทคโนโลยี่สารสนเทศ ระบบการเงินการธนาคาร ตลาดทุน รัฐบาลไม่มีข้อกีดกันการลงทุนต่างชาติ บริษัทต่างชาติได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกันกับบริษัทเดนมาร์ก เดนมาร์กมีเสถียรภาพทางการเมือง ภาวะความมั่นคงทางการเมืองมีความชัดเจนมากขึ้น หลังจากนาง Helle Throning-Schimdt หัวหน้าพรรค Social Democrats ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านชนะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2554

2.2 เดนมาร์กถือว่าเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรป และการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก แต่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในยุโรปแล้ว เดนมาร์กยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี โดยที่อัตราการเจริญเติบโตที่แท้จริงในปี 2554 คาดว่าอยู่ที่ร้อยละ 1.2 คาดว่าจีดีพีจะเพิ่มขึ้นจาก 309.9 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2553 เป็น 344.9 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2554 หนี้สาธารณะในปี 2554 คาดว่าอยู่ที่ร้อยละ 46.6 ของจีดีพี การขาดดุลรัฐบาลคาดว่าอยู่ที่ร้อยละ 3.9 ในปี 2554 เงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ที่ 76.5 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2553 จากนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ คาดว่าอัตราการว่างงานจะลดลงอยู่ที่ร้อยละ 1.6 อัตราเงินเฟ้อปี 2554 คาดว่าอยู่ที่ร้อยละ 2.8 IMD World Competitiveness Report ได้จัดอันดับให้เดนมาร์กมีเสถียรภาพทางการเงินมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในโลกในปี 2552 เดนมาร์กเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปแต่ยังไม่ได้เข้าร่วมใช้เงินสกุลยูโร เดนมาร์กนับว่ายังคงเป็นประเทศที่มีสภาพเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งที่สุดอีกประเทศหนึ่งในสหภาพยุโรป และในโลก Forbes ได้จัดอันดับให้เดนมาร์กเป็นประเทศที่ดีที่สุดในโลกสำหรับการดำเนินธุรกิจ (Best Countries for Business) 3 ปีติดต่อกัน ตั้งแต่ปี 2551 — 2553 และ World Bank จัดอันดับให้เดนมาร์กอยู่ในอันดับที่ 6 ของโลกในปี 2554 ใน Ease of Doing Business Ranking และในปี 2553 เดนมาร์กได้รับการจัดอันดับจาก Transparency International เกี่ยวกับการทุจริตให้อยู่ที่ระดับ 9.3 ร่วมกับนิวซีแลนด์ และสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีการทุจริตน้อยที่สุดในโลก และเดนมาร์กเป็นผู้ลงนามของอนุสัญญา OECD ว่าด้วยการต่อต้านการให้สินบนระหว่างประเทศ (OECD Convention on Combating Bribery)

นโยบายเศรษฐกิจของเดนมาร์กของรัฐบาลนาง Helle Throning-Schimdt ในปัจจุบันเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อสร้างความเจริญเติบโต และดำเนินนโยบายขาดดุลงบประมาณในช่วงปี 2554-2555 เพื่อให้เกิดความมั่นใจในเสถียรภาพทางการเงิน เพิ่มค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคม เช่น การศึกษา ส่วนลดภาษีสำหรับการซื้อบ้าน การปรับปรุงบ้านและสำหรับธุรกิจใหม่ เพิ่มการจ้างงานและเพิ่มชั่วโมงการทำงาน เน้นการส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนจากเชื้อเพลิงฟอสซิล เพิ่มแรงจูงใจในการทำงานโดยการเปลี่ยนแปลงนโยบายสวัสดิการและการปฏิรูปตลาดแรงงาน

3. อุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มโดดเด่นของเดนมาร์กในปัจจุบัน

3.1 ผู้นำทางด้านพลังงานสีเขียว

บริษัทเดนมาร์กควบคุมตลาดพลังงานลมถึง 1 ใน 3 ของตลาดพลังงานลมโลก โดยมีบริษัททางด้านพลังงานลมที่สำคัญ คือ Vestas ซึ่งลงทุนในหลายประเทศทั่วโลก เช่น จีน อินเดีย สิงคโปร์และไทย เป็นต้น พลังงานไฟฟ้าในเดนมาร์กประมาณร้อยละ 20 มาจากพลังงานลม และเดนมาร์กยังเป็นประเทศแรกที่ใช้ประโยชน์จากเชื้อเพลิงชีวภาพรุ่นที่ 2 ในเชิงพาณิชย์ และเป็นผู้นำโลกในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพเมื่อเปรียบเทียบกับจีดีพี นอกจากนี้ ในเดนมาร์กมี บริษัททางด้านไบโอดีเซลที่สำคัญ เช่น Daka Biodiesel และ Biofuel Express เป็นต้น

3.2 ศูนย์กลางทางด้านยาและเวชภัณฑ์

เดนมาร์กมีบริษัทเภสัชกรรมระดับโลกหลายแห่งด้วยกัน เช่น Novo Nordisk, Lundbeck และ Leo Pharma และบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อยอีกหลายแห่งที่มีการลงทุนทางด้านการวิจัยสูง การลงทุนทางด้านการวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพของเดนมาร์กสูงถึง 3,860 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมากเป็นอันดับ 2 ในยุโรป ซึ่งผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรมเป็นสินค้านำเข้าจากเดนมาร์กที่สำคัญอันดับที่ 2 ของเมืองไทยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2554 นี้

3.3 ผู้นำอุตสาหกรรมไอซีที

เดนมาร์กมีโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศในระดับต้นๆ ของโลก ด้วยการเข้าถึงระบบบรอดแบรนด์ที่ดีที่สุดในโลก เดนมาร์กยังคงรั้งตำแหน่งที่ 4 ของโลกในปี 2554 ในด้านโครงสร้างเทคโนโลยี่จากการจัดอันดับของ IMD World Competitiveness Report โดยมีบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft เข้ามาตั้งศูนย์การค้นคว้าและวิจัย (Research & Development Center) ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป และ DELL เข้ามาตั้งศูนย์กลางทางยุโรปตอนเหนือ (Nordic Business Center) ในเดนมาร์ก บริษัทในอุตสาหกรรมไอซีทีจากเดนมาร์กอื่นๆ ที่โดดเด่นในตลาดโลก เช่น Bang & Olufsen (บริษัทผู้ผลิตและให้บริการเครื่องเสียง วีดีโอ และผลิตภัณฑ์มัลติมิเดียอื่นๆ) และ GN ReSound Group (กลุ่มบริษัทให้บริการเครื่องมือช่วยเหลือด้านการได้ยินและเครื่องมือการวินิจฉัยการได้ยินที่ใหญ่ที่สุดในโลก) เป็นต้น

3.4 อุตสาหกรรมทางด้านการออกแบบ

เดนมาร์กนับเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำทางด้านการออกแบบซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่า “ DANISH DESIGN”และ “ SCANDINAVIAN DESIGN ” ซึ่งจะเน้นรูปแบบเรียบหรู ดูดี มีสไตล์ โดยเฉพาะในสินค้าเฟอร์นิเจอร์ ของประดับตกแต่งบ้าน เครื่องประดับตกแต่งร่างกาย เช่น เครื่องประดับอัญมณี เสื้อผ้า เป็นต้น นอกจากนี้ สถาปัตยกรรมที่มีชื่อเสียงของโลกหลายแห่งก็ออกแบบโดยชาวเดนมาร์ก เช่น Sydney Opera House รัฐบาลเดนมาร์กจึงพยายามผลักดันให้โคเปนเฮเกนเป็นศูนย์รวมแห่งการออกแบบของกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียนและยุโรป ปัจจุบันบริษัทเดนมาร์กได้ตั้งศูนย์ออกแบบและวิจัยผลิตภัณฑ์ในเดนมาร์ก และไปตั้งโรงงานในไทยรวมทั้งประเทศเอเชียอื่น และใช้เป็นฐานส่งสินค้าออกไปจำหน่ายทั่วโลก เช่น อัญมณีเครื่องประดับ PANDORA, เครื่องประดับเงินและของประดับตกแต่งบ้าน George Jensen รองเท้า ECCO เครื่องถ้วยชาม Royal Copenhagen เป็นต้น

นอกจากนี้ เดนมาร์กยังมีอุตสาหกรรมๆเด่นๆอื่นอีก ได้แก่ อุตสาหกรรมทางด้านโลจิสติกส์การขนส่งทางเรือ ( Maersk Line) อุตสาหกรรมนมและผลิตภัณฑ์ (Dairy and dairy products) อุตสาหกรรมเกษตรอาหารแปรรูป ฯลฯ

4. การเข้าสู่ตลาดเดนมาร์ก

มีบริษัทข้ามชาติเข้ามาลงทุนในเดนมาร์กมากมาย เช่น Unilever, DELL, Microsoft, Pfizer (บริษัทเภสัชกรรมจากสหรัฐอเมริกา), Nokia, IKEA, Siemens Wind Power และ Biogen Idec (บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพจากสหรัฐอเมริกา) เป็นต้น การเข้าสู่ตลาดเดนมาร์กเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเข้าสู่ตลาดอื่นๆ ในสหภาพยุโรป เนื่องจากเดนมาร์กเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ใช้มาตรฐานกฎระเบียบเดียวกับสหภาพยุโรป ผู้บริโภคมีพฤติกรรมการบริโภคที่ยอมรับสินค้าใหม่ๆ โดยง่าย นิยมสินค้าที่มีนวัตกรรม ดีไซน์ที่แปลกใหม่ รักษ์สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ โดยเฉพาะสินค้าที่อำนวยความสะดวกสำหรับสังคมสูงวัยหรือชะลอความแก่ ภาษาที่ใช้โดยทั่วไปในเดนมาร์กคือ ภาษาเดนนิช แต่ประชากรส่วนใหญ่เข้าใจภาษาอังกฤษจนสามารถนับเป็นภาษาที่สองได้ เดนมาร์กจึงเป็นอีกประเทศหนึ่งที่น่าสนใจในการทดลองตลาดสำหรับผู้ส่งออก กรุงโคเปนเฮเกนถือว่าเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ และการค้าในยุโรปเหนือ มีการคมนาคมขนส่งที่สะดวกทันสมัย สนามบินโคเปนเฮเกนได้รับการยกย่องให้เป็นสนามบินที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในยุโรปในปี 2554 จากการจัดอันดับของ Air Transport Research Society

5. สรุปและข้อคิดเห็น

5.1 จากแนวโน้มผู้บริโภคเดนมาร์กที่เข้าสู่สังคมสูงวัย นิยมสินค้าเพื่อสุขภาพ ใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อสังคม การซื้อสินค้าและบริการผ่านออนไลน์เพิ่มสูงขึ้น และนิยมสินค้าอิเลคทรอนิกส์ที่ทันสมัย ผู้ส่งออกไทยจึงต้องเน้นสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคดังกล่าวนี้ เช่น ในภาคการประกอบธุรกิจร้านอาหารและภัตตาคาร จากแนวโน้มที่ผู้บริโภคนิยมบริโภคอาหารออร์แกนิกส์ ผู้ประกอบการจึงต้องใช้วัตถุดิบที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ สถานที่ประกอบการต้องมีมาตรฐานความสะอาดสูง เป็นระเบียบเรียบร้อย ในปัจจุบันมีภัตตาคารอาหารไทยอยู่หลายแห่งในเดนมาร์ก เช่น KLIN KIN และ Blue Elephant เป็นต้น บริษัทไทยที่เข้ามาลงทุนในเดนมาร์ก เช่น CPF Denmark A/S (บริษัทในเครือบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ตัวอย่างผู้ประกอบการร้านอาหารจากต่างชาติที่เข้ามาลงทุน และขยายสาขาในเดนมาร์ก เช่น ร้านเบเกอรี่ ANDERSEN จากญี่ปุ่น ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวเดนมาร์กอย่างมาก และในทางกลับกันในปัจจุบัน มีบริษัทเดนมาร์กเข้าไปลงทุนในประเทศไทยมากมาย เช่น PANDORA, George Jensen, Royal Copenhagen ECCO, Bang & Olufsen, Novo Nordisk และ Maersk Line เป็นต้น

5.2 สินค้าที่สามารถเข้ามาตีตลาดในเดนมาร์กได้ ควรมีจุดเด่นและมีการใส่ใจด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยการเพิ่มมาตรฐานสากลที่เป็นที่ยอมรับทั่วโลกกับสินค้า เช่น มีตราสัญญลักษณ์ของตน มีมาตรฐานคุณภาพได้รับการยอมรับ หรือเลือกใช้สัญลักษณ์หรือตรารับรองเกษตรอินทรีย์ของอียู (EU Organic Logo) หรือสัญลักษณ์เกษตรอินทรีย์ของเดนมาร์ก สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแช่แข็ง ผู้ส่งออกสามารถหาตราสัญลักษณ์ Marine Stewardship Council ซึ่งจะทำให้สามารถเพิ่มความเชื่อมั่นกับลูกค้าได้ ซึ่งตราสัญลักษณ์นี้แสดงถึงวิธีการจับปลา และสัตว์ทะเลด้วยวิธีการยั่งยืน (Sustainable Fishing Methods)

5.3 ความร่วมมือทางด้านการค้าและการลงทุนกับเดนมาร์ก สามารถทำได้หลายแขนง เช่นอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ พลังงานสีเขียว (Green Energy &Green Technology) เป็นจุดเด่นของเดนมาร์ก และประเทศไทยยังคงขาดแคลนความรู้ ความชำนาญในด้านนี้ เช่น นวัตกรรมทางด้านเครื่องช่วยการได้ยิน การกระจายเสียง และอุปกรณ์ทางด้านเสียงต่างๆ เป็นต้น อีกทั้งการดีไซน์ของเดนมาร์กยังเป็นจุดเด่นที่สำคัญ สามารถพัฒนาไปยังอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศไทยได้อีกมาก เช่น เครื่องประดับอัญมณี รองเท้าและเครื่องหนัง เฟอร์นิเจอร์ ของใช้ในบ้าน และเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งสินค้าเหล่านี้เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยไปยังเดนมาร์ก อีกทั้งผู้บริโภคยังสนใจการด้านห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืนด้วย (Supply Chain Sustainability) มีบริษัทของเดนมาร์กหลายแห่งที่เข้าไปลงทุนในประเทศไทย และช่วยพัฒนาสังคมในประเทศไทย

5.4 ในเดนมาร์กยังมีสินค้าเหลือใช้อื่นๆ หลายประเภทที่ผลิตภายในประเทศแต่ผู้บริโภคเดนมาร์กไม่นิยมบริโภค หรือใช้หรือมีข้อจำกัดต่างๆ ในการผลิตในขั้นต่อไป เช่น เครื่องในสัตว์ ไขมันสัตว์ นำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตไส้กรอกในไทยและส่งไปยังญี่ปุ่น หรือ เศษไม้ และเศษขยะหรือชิ้นส่วนประกอบจากอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นต้น จึงเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยสามารถนำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ต่อไปได้ เนื่องจากสินค้าจากเดนมาร์กเป็นสินค้าที่มีมาตรฐานคุณภาพสูง จึงเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปจากตลาดโลก นอกจากนี้ เดนมาร์กยังเป็นตลาดของเก่าหรือของเก่าวัตถุโบราณ ( Antiques and Collection )ที่ใหญ่และเป็นที่นิยมแห่งหนึ่งในยุโรป

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโคเปนเฮเกน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ