ประเทศในกลุ่ม BRIC ที่น่าจับตามองเป็นพิเศษในปัจจุบันเห็นจะไม่มีใครเกินอินเดียและจีนไปได้ ปัจจุบันอินเดียและจีนติดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงอันดับต้นๆ ของโลกอีกทั้งทั้งสองก็ยังมีความหลากหลายทางเศรษฐกิจไม่แพ้กัน ในด้านประวัติศาสตร์ทั้งสองประเทศต่างก็เป็นอู่อารยธรรมเก่าแก่ของโลกตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ไม่ด้อยไปกว่ากันเลย ซึ่งแต่ละประเทศก็มีปัจจัยเกื้อหนุ่นทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจที่ต่างกัน ดังนั้นเราจะมาดูกันว่าทั้งสองประเทศมีข้อดีข้อด้อยอย่างไรในแง่ปัจจัยการแข่งขันด้านเศรษฐกิจและแนวโน้มตลาดของทั้งสองประเทศนี้ว่าต่างกันมากน้อยเพียงใด และประเทศไทยจะได้อะไรจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ
ในด้านดัชนีตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ จีนก็ทำได้ค่อนข้างดีและพัฒนาก้าวไกลไปมากกว่าอินเดียหลายเท่าตัว ปัจจุบันที่อินเดียมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 11 ของโลก ขณะที่จีนนั้นได้วิ่งขึ้นหน้าไปเป็นอันดับ 2 แซงหน้าอันดับ 3 อย่างญี่ปุ่นไปอย่างเฉียดฉิว นอกจากนั้นขนาดเศรษฐกิจของจีนก็ใหญ่กว่าอินเดียถึง 5 เท่าตัวโดยจีนมี GDP 4.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่อินเดียมีขนาด GDP 1.3123 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในด้านรายได้ต่อหัว จีนมีรายได้ต่อหัวมากกว่าอินเดียถึง 7 เท่าตัว
อินเดีย จีน GDP $1.3123 ล้านล้าน 4.9092 ล้านล้าน การขยายตัว GDP 8.90% 9.60% GDP ต่อหัว $1,124 $7,518 ประชากร 1.2 พันล้านคน 1.3 พันล้านคน อัตราเงินเฟ้อ 7.48% 5.10% แรงงาน 467 ล้านคน 813.5 ล้านคน อัตราการว่างงาน 9.40% 4.20% การขาดดุลการคลัง 5.50% 21.50% FDI(2009) $36.6 พันล้าน $95 พันล้าน FDI(ม.ค. —ก.ค. 2010) 10.78 พันล้าน $58.35 พันล้าน ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ $2.41 พันล้าน $2.65 ล้านล้าน ดัชนีความมั่งคั่ง (WPI) อันดับที่ 88 ของโลก อันดับที่ 58 ของโลก จำนวนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ 842 ล้านคน 687.71 ล้านคน จำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ต 123.16 ล้านคน 81 ล้านคน
อันทัตเปิดเผยว่าผลจากผลการสำรวจความเห็นของบริษัทชั้นนำทั่วโลกเมื่อเดือนกันยายน 2553 พบว่า จีนและอินเดียเป็นประเทศที่น่าลงทุนมากที่สุดเป็นอันดับ 1 และ 3 ตามลำดับ อย่างไรก็ตามในปี 2554 อินเดียได้แซงหน้าสหรัฐขึ้นเป็นอันดับ 2 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว นับเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่กำลังมาแรงเลยทีเดียว ปัจจัยเกื้อหนุนที่สำคัญก็หนีไม่พ้นเรื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วและมีเสถียรภาพ การมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ และกำลังซื้อที่ขยับตัวสูงขึ้นของทั้งสองประเทศ
ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นอีกว่าในช่วงปี 2010-12 แนวโน้ม FDI จะมีการไหลบ่าเข้าสู่เอเชียมากกว่าภูมิภาคอื่นๆ สอดคล้องกับเศรษฐกิจเชียที่โตวันโตคืน ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปและสหรัฐกำลังอยู่ในช่วงขาลง
(0=ไม่มีการเปลี่ยนแปลง, 1= เพิ่มขึ้นน้อยกว่า 10%, 2= เพิ่มขึ้น10-30%, 3= เพิ่มขึ้น30-40%, 4= เพิ่มขึ้นมากกว่า 50%)
และเมื่อมองกันในด้านประวัติศาสตร์ อินเดียเคยตกเป็นเมืองขึ้นอังกฤษกว่า 190 ปี เป็นผลให้ทรัพยากรธรรมชาติได้ถูกดูดไปจำนวนมหาศาลและร่อยหรอลงไปมาก และทำให้เกิดต้นทุนทางเศรษฐกิจของอินเดียสูงกว่าจีนซึ่งไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นต่างชาติ จึงจึงค่อนข้างมีฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งกว่าอินเดีย
การเกษตรจีนมีการพัฒนาก้าวล้ำหน้ากว่าอินเดียไปไกล เกษตรกรอินเดียยังคงใช้วิธีเพาะปลูกแบบดึกดำบรรพ์ เทคโนโลยีการเกษตรดูจะเป็นสิ่งที่ไกลเกินเอื้อมสำหรับเกษตรกรจนๆ ของอินเดีย เครื่องสีข้าวอินเดียก็มีประสิทธิภาพต่ำกว่าของไทยหลายเท่าตัว เจ้าพนักงานส่งเสริมการเกษตรก็นิยมอยู่กันในห้องแอร์มากกว่าไปพบประเกษตรกรทุ่งนา ส่วนในด้านการจัดการด้านการขนส่งสินค้าเกษตรอินเดียก็ยังล้าหลังมาก ธุรกิจห้องเย็นมีไม่มากทำให้ผลผลิตการเกษตรเสียหายถึง 40% ระหว่างการขนส่ง ผลผลิตอินเดียจึงใช้เพื่อการบริโภคในประเทศเป็นหลักมากกว่าส่งออก ขณะที่การผลิตสินค้าเกษตรของจีนทำได้ดีกว่า และผลผลิตต่อพื้นที่เพาะปลูกก็สูงกว่า ส่งผลให้จีนเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญประเทศหนึ่ง
การบริการด้าน IT/BPO (เช่น call-center, outsourcing, programmer) เป็นสาขาที่อินเดียเหนือกว่าจีนมาก และดูจะถูกโฉลกกับคนอินเดียดีเพราะเป็นงานที่อยู่กับห้องแอร์ มือไม่เปื้อนและไม่เสียเหงื่อ จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าเมือง IT/BPO อันดับต้นๆ ของโลกจะกระจุกตัวอยู่ที่อินเดีย ไม่ว่าจะเป็น บังกะลอร์ เจนไน ไฮเดอราบัด มุมไบ นิวเดลี โกลกัตตา อาเมดาบัด ปูเน่ สุรัติ และกานปูร์ ในปี 2010 อุตสาหกรรม IT/BPO เพียงสาขาเดียวสามารถทำรายได้ให้กับอินเดียสูงถึง 49.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่จีนมีรายได้ด้านดังกล่าวเพียง 35.76 พันล้านเหรียญสหรัฐโดยมีเมือง IT/BPO ชั้นนำเพียงเมืองเดียว
แม้จุดเริ่มตนของจีนและอินเดียจะเป็นประเทศสังคมนิยมเช่นเดียวกันในอดีต แต่จีนเปิดประเทศสู่ระบบทุนนิยมก่อนหน้าอินเดียหลายปีขณะที่อินเดียค่อนข้างเชื่องช้าในการเปิดประเทศ โดยอินเดียเปิดตัวสู่ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดในราวปี 1990 แต่จีนเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศตั้งแต่ปี 1980 อีกทั้งจีนเองก็เป็นเผด็จการสังคมนิยมตัดสินใจได้รวดเร็ว ขณะที่อินเดียเป็นประชาธิปไตยแบบเชื่องช้า และมีความหลากหลายด้านเชื้อชาติ ภาษา และวัฒนธรรมซึ่งนับเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาประเทศของอินเดีย
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของจีนดูน่าตื่นตาตื่นใจเป็นพิเศษเนื่องจากสามารถพัฒนาได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ขณะที่อินเดียยังคงนั่งรถหวานเย็นสบายๆ ไปเรื่อยๆ ปัญหาความไม่เพียงพอด้านไฟฟ้า น้ำเพื่อการเกษตรและการบริโภคในอินเดียรุนแรงขึ้นทุกขณะ การขนส่งตามลำน้ำ และการรถไฟที่ยังล้าหลัง การจัดการด้านชลประทาน การพัฒนาฝีมือแรงงาน การรักษาพยาบาลและสุขอนามัย การสื่อสารโทรคมนาคม การบริการสาธารณะอยู่ในสถานะรอการเยียวยา ตรงกันข้ามกับจีนซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้รับการพัฒนาอย่างดีและจีนอีกก็มีเป้าหมายที่ชัดเจนที่จะเป็นเลิศในด้านโครงสร้างพื้นฐานทุกด้าน
การส่งเสริมการลงทุนด้วยสิทธิพิเศษด้านภาษีในจีนยังด้อยกว่าของอินเดีย นอกจากนั้นตลาดเงินทุนในจีนก็ยังด้อยในแง่ของความโปร่งใสและความชัดเจนแน่นอน นักลงทุนส่วนใหญ่เห็นว่าตลาดทุนอินเดียมีความน่าเชื่อถือมากกว่า ตลาดหุ้นอินเดีย “Bombay Stock Exchange หรือ BSE” เป็นตลาดหุ้นที่เก่าแก่ที่สุดของเอเชีย ส่วนจีนเองมีตลาดหุ้นถึง 2 แห่ง คือ ที่เลินเจิ้น และ เซี่ยงใฮ้ (SSC) แม้ว่าตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ของจีนจะใหญ่กว่าอินเดียโดยมีมูลค่าหุ้นในตลาด 1.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และมีบริษัทในตลาด 849 ราย ขณะที่ BSE มีมูลค่าหุ้น 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ มีบริษัทในตลาด 4,833 ราย แต่ขนาดก็มิใช่ประเด็นสำคัญ สิ่งที่สร้างความเชื่อมันกับนักลงทุนเป็นกลไกการบริหารมากกว่า สำหรับอินเดียการบริหารตลาดหุ้นเป็นไปตามกฏเกณฑ์มาตรฐานสากลและบริษัทในตลาดหุ้นก็เป็นบริษัทที่มีคุณภาพแลเชื่อถือได้ ขณะที่บริษัทในตลาดหุ้นของจีนที่สำคัญส่วนใหญ่มีรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นและดำเนินการตามที่รัฐบาลกำหนดนโยบายไว้ ความโปร่งใสในการลงทุนและการแข่งขันที่เป็นธรรมในอินเดียจึงมีความชัดเจนกว่าในจีน
อินเดียมีความเชี่ยวชาญยิ่งยวดในการบริหารธุรกิจเอกชนเมื่อเทียบกับบริษัทของจีนที่ค่อนข้างเป็นแบบระบบราชการ (เพราะถูกครอบงำโดยรัฐ)โดยเห็นได้จากอินเดียมีบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกจำนวนมาก อาทิเช่น ทาทา และ แรมแบคซี่ ขณะที่ประเทศจีนเพิ่งเริ่มมีการบริหารเชิงธุรกิจเมื่อ 30 มานี้เอง แต่ปัจจุบันธุรกิจเอกชนจีนก็ยังไปไม่ถึงไหนยังคงต้องได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลทั้งโดยตรงและโดยอ้อมอยู่เช่นเดิมและในบางครั้งกลับมากกว่าเดิมเสียอีก
นอกจากนั้นบริษัทจีนก็ยังไม่สามารถก้าวขึ้นมาโดดเด่นในตลาดโลกได้เนื่องจากการลงทุนของต่างชาติในจีนก็ไปผลิตแบรนด์ของตนเองเป็นหลัก การส่งออกของจีนจึงเป็นการส่งออก ”แบรนด์ต่างชาติ” มิใช่แบรนด์จีน ในส่วนของอินเดียการขยายตัวของธุรกิจเกิดจากความสามารถของนักบริหารเอกชนล้วนๆ อาทิเช่น เมื่อไม่นานมานี้ Tata Steel ได้สวนกระแสไปซื้อ Corus บริษัทเหล็กยักษ์ใหญ่ของอังกฤษมูลค่า 1.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และ Tata Tea ได้เข้าซื้อหุ้นบริหารของ Tetley บริษัทชาเลิศรสของอังกฤษมูลค่า 4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนั้น Rambacksyบริษัทยายักษ์ใหญ่แรมแบคซี่ของอินเดียได้ซื้อ Terapia บริษัทยายักษ์ใหญ่ของโรมาเนีย ซึ่งไม่ธรรมดาเลยสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่จะไปซื้อบริษัทในประเทศที่พัฒนาแล้ว และก็เป็นธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีสูงและสูงมากเสียด้วย
ไม่ว่าบทสรุปของการแข่งขันทางเศรษฐกิจของอินเดียและจีนจะเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่แน่นอนก็คือทั้งสองประเทศต้องนำเข้าปัจจัยการผลิตและวัตถุดิบไปป้อนสายการผลิตของตนเองมากขึ้น หลายบริษัทของทั้งสองประเทศก็ได้เลือกประเทศไทยเป็นประตูในการเจาะตลาดของอีกฝ่ายหนึ่งแล้ว อาทิเช่น ทาทามอเตอร์เข้ามาตั้งฐานในไทยรถยนต์และชิ้นส่วนฯ เพื่อเตรียมเจาะตลาดจีนโดยใช้ประโยชน์จากความตกลง FTA ไทย-จีน และความตกลง FTA อาเซียน-จีน ในส่วนของจีนเองก็กำลังมองประเทศไทยในการเป็นฐานเจาะตลาดอินเดียในสินค้าอิเล็คทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนฯ ที่ราคาในอินเดียสูงกว่าในไทยถึง 2-3 เท่าตัวโดยอาศัยประโยชน์จาก FTA ไทย-อินเดีย และอาเซียน-อินเดีย แม้แต่ในสินค้าชิ้นส่วนยานยนต์อินเดียก็ยังเลือกประเทศไทยเป็น Supplier อันดับ 1 เพื่อป้อนสายการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ด้วย ดังนั้น ในช่วง 2-3 ปีต่อไปนี้ ขณะที่ตลาดยุโรปและสหรัฐกำลังอยู่ในช่วงขาลง ตลาดอินเดียและจีนที่มีประชากรเกินพันล้านคน จะเป็นตลาดที่ไทยจะต้องรุกตลาดให้หนักเป็นพิเศษเพื่อใช้ประโยชน์ให้เต็มที่จากความตกลง FTA ที่ไทยมีกับทั้งสองประเทศและจะยังมีส่วนช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังปัญหาน้ำท่วมของไทยได้เป็นอย่างดี
ดร. ไพศาล มะระพฤกษ์วรรณ
ผอ. สำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ เมืองเจนไน
ที่มา: http://www.depthai.go.th