รายงานสถานการณ์การส่งออกสินค้าไทยไปอิตาลี ประจำเดือนกันยายน ๒๕๕๔

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 18, 2011 14:52 —กรมส่งเสริมการส่งออก

๑. สถานการณ์ส่งออก

ในช่วง ๙ เดือนแรก (มกราคม-กันยายน) ของปี ๒๕๕๔ ไทยส่งออกสินค้ามายังอิตาลีทั้งสิ้น ๑,๕๑๐.๖ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งส่งออกมูลค่า ๑,๒๖๓.๒ ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ ๑๙.๕๙ โดยมีสินค้าส่งออก ๕ อันดับแรก ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ ๑๕๖.๔ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (๒.๔๔%)ยางพารา ๑๔๑.๔ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (๗๐.๐๗%) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ๑๒๖.๑ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (๒.๔๔%) ปลาหมึกสดแช่เย็นแช่แข็ง ๙๑.๗ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (๓๕.๐๑%) และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ๗๐.๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-๒๖.๑๕%)

๒. การวิเคราะห์สถานการณ์โดยรวม

การส่งออกมาอิตาลีในช่วง ๙ เดือนแรก (มกราคม-กันยายน) ของปี ๒๕๕๔ เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๙.๕๙% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหากเปรียบเทียบเฉพาะเดือนกันยายน ๒๕๕๔ ซึ่งส่งออกมูลค่า ๑๘๐.๙๓ ล้านเหรียญสหรัฐฯ กับเดือนก่อนหน้าซึ่งส่งออกมูลค่า ๑๕๑.๗๗ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ไทยส่งออกเพิ่มขึ้น ๑๗.๙๒% วิเคราะห์ได้ดังนี้

๒.๑ สภาวะเศรษฐกิจในประเทศยังคงทรงตัว โดยธนาคารแห่งอิตาลีได้รายงานว่า แม้ว่าโดยภาพรวมจะเกิดความไม่แน่นอนในตลาดการเงิน แต่เศรษฐกิจอิตาลียังมีความมั่นคงเนื่องจากความเข้มแข็งของระบบธนาคาร การที่ประชาชนมีระดับการกู้ยืมต่ำแต่มีการออมสูง ในขณะที่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจยังคงอ่อนแออันเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะ ภาวะการว่างงานที่ยังคงสูง (ข้อมูล ณ เดือน สิงหาคม ๒๕๕๔ = ๗.๙%) และเศรษฐกิจในประเทศยังต้องพึ่งพิงการส่งออกเป็นหลัก

๒.๒ ความต้องการบริโภคภายในประเทศค่อนข้างต่ำ โดยสถาบันวิจัย PROMETEIA ได้เปิดเผยว่า ความสามารถในการหารายได้ของประชาชนลดลงอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าภายในสิ้นปี ๒๕๕๕ ประชาชนจะมีรายได้ในระดับเดียวกับเมื่อ ๑๒ ปีก่อน โดยคาดว่าตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี ๒๕๕๑ จนถึงสิ้นปี ๒๕๕๕ รายได้ประชาชนจะลดลง ๕.๖% ซึ่งเป็นผลจากการเก็บภาษีเพิ่มขึ้น และภาวะการว่างงานที่สูง

๒.๓ ISTAT ได้รายงานว่าในไตรมาส ๒ ของปี ๒๕๕๔ กำลังซื้อของประชาชนอิตาลีลดลง -๐.๒% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก และลดลง -๐.๓% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

๒.๔ CARITAS ได้รายงานว่าอิตาลีมีประชากรที่ยากจนถึง ๑๓.๘% ของจำนวนประชากรทั้งหมด หรือประมาณ ๘.๓ ล้านคน นอกจากนี้ สมาพันธ์ผู้ผลิตสินค้าอาหารเกษตร (Italian Confederation of Agro-FoodCOLDIRETTI) ได้เปิดเผยผลสำรวจว่า ประชาชนอิตาลี ๔๙% ที่แจ้งว่าไม่สามารถจ่ายค่าใช้จ่ายหลักและประจำวันได้, ๕-๑๐% ไม่สามารถรับประกันว่าจะมีรายได้ขั้นต่ำที่จำเป็น และ ๔๒% แจ้งว่าไม่มีปัญหาดังกล่าวแต่มีความกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจในอนาคตอย่างมาก

๒.๕ ผลการสำรวจของสมาพันธ์ผู้ผลิตสินค้าแฮนดิคราฟท์ (CONFRATIGIANATO) ปรากฎว่ามีการว่างงานของคนหนุ่มสาวในอิตาลีค่อนข้างสูง (๓๓% ของกำลังแรงงาน) โดยเฉพาะในทางตอนใต้ ในขณะที่การว่างงานเฉลี่ยของคนหนุ่มสาวในยุโรปเท่ากับ ๒๑% และคาดว่าในช่วงระหว่างปี ๒๕๕๑-๒๕๕๕ อิตาลีจะมีจำนวนคนว่างงาน (อายุต่ำกว่า ๓๕ ปี) เพิ่มขึ้นจาก ๙๒๖,๐๐๐ คน เป็น ๑.๑๓๘ ล้านคน

๒.๖ ข้อมูลจาก ISTAT ได้รายงานภาพรวมของเศรษฐกิจอิตาลี ดังนี้

๒.๖.๑ คำสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรม ในช่วง มกราคม - สิงหาคม ๒๕๕๔ เพิ่มขึ้น ๑๒% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (คำสั่งซื้อจากต่างประเทศ +๑๕.๑% และในประเทศ +๑๐.๑%) สินค้าที่มีแนวโน้มที่ดีได้แก่ เรือ ไม้และกระดาษ เสื้อผ้าและสินค้าแฟชั่น สินค้าที่มีแนวโน้มลดลง ได้แก่ สินค้าคอมพิวเตอร์ และอีเลคโทรนิคส์

๒.๖.๒ ยอดขายปลีก ในช่วง มราคม - สิงหาคม ๒๕๕๔ ลดลง ๖.๗% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (สินค้าไม่ใช่อาหาร -๑% และอาหาร +๐.๑%)

สินค้าที่มียอดขายปลีกลดลง ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน อีเลคโทรนิคส์ เฟอร์นิเจอร์ และสิ่งทอ สินค้าที่มียอดขายเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องใช้ในห้องน้ำ และเครื่องสำอาง ๒.๖.๓ ภาวะเงินเฟ้อ ในเดือนกันยายน ๒๕๕๔ อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น +๓% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน และคงที่เมื่อเทียบกับเดือนก่อน สูงสุดนับตั้งแต่ตุลาคม ๒๕๕๑ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขึ้นภาษี VAT จาก ๒๐% เป็น ๒๑% และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อในปี ๒๕๕๔ จะเท่ากับ +๒.๖% (ปี ๒๕๕๒ เท่ากับ +๐.๘% และ ปี ๒๕๕๓ เท่ากับ ๑.๕%)

สินค้าที่มีอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ได้แก่ การขนส่ง (ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น) ก๊าซที่ใช้ในบ้าน เครื่องดื่ม ๒.๗ ต้นทุนวัตถุดิบ ยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผลจากการสำรวจของ Prometeia ปรากฏว่า ในเดือน กันยายน ๒๕๕๔ เพิ่มขึ้น +๑๐% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะในสินค้าแฟชั่น และอุตสาหกรรมอาหาร นอกจากนี้ ค่าเงินยูโรที่ลดลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯส่งผลกระทบทางลบต่อผู้ประกอบการอิตาลีด้วย

๒.๘ การส่งออก (ข้อมูลจาก EUROSTAT ล่าสุด) ในช่วง ๗ เดือนแรกของปี ๒๕๕๔ อิตาลีส่งออกสินค้าไปทั่วโลกมูลค่า ๓๑๔,๕๗๓ ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน ๒๒.๗๓% โดยมีประเทศที่อิตาลีส่งออกสำคัญ ๕ อันดับแรก ได้แก่ เยอรมนี(สัดส่วน ๑๓%) ฝรั่งเศส (๑๒%) สหรัฐอเมริกา(๖%) สเปน (๕%) และสวิสเซอร์แลนด์ (๕%) โดยไทยอยู่ในอันดับที่ ๕๒ (สัดส่วน ๐.๓๑%)

สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องจักร ยานพาหนะ เครื่องจักรไฟฟ้า แร่และน้ำมัน พลาสติก เหล็กและเหล็กกล้า ผลิตภัณฑ์ยา

๒.๙ การนำเข้า ในช่วง ๗ เดือนแรกของปี ๕๔ อิตาลีนำเข้าสินค้ามูลค่า ๓๔๓,๒๕๘ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน ๒๕.๒๙% โดยมีประเทศที่อิตาลีนำเข้าสำคัญ ๕ อันดับแรก ได้แก่ เยอรมนี (สัดส่วน ๑๕%) ฝรั่งเศส (๘%) จีน (๗%) เนเธอแลนด์ (๕%) และสเปน (๔%) โดยไทยอยู่ในอันดับที่ ๔๖ (สัดส่วน ๐.๓๖%)

สินค้าที่อิตาลีนำเข้าสำคัญ ได้แก่ แร่และน้ำมัน เครื่องจักรไฟฟ้า ยานพาหนะ เครื่องจักร เหล็กและเหล็กกล้า พลาสติก และผลิตภัณฑ์ยา

ประเทศคู่แข่งสำคัญได้แก่ จีน (เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักร เสื้อผ้าสำเร็จรูปแบบถักทอ เหล็กและ เหล็กกล้า หนัง รองเท้า) , อินเดีย สัดส่วน ๑.๒๑% (แร่และน้ำมัน ยานพาหนะ เหล็กและเหล็กกล้า เคมีภัณฑ์ชีวภาพ เครื่องจักร), ญี่ปุ่น สัดส่วน ๑.๐๙% (เครื่องจักร ยานพาหนะ เครื่องจักรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ชีวภาพ อุปกรณ์แว่นตา) เกาหลีใต้ สัดส่วน ๐.๙๔% (เรือ เหล็กและเหล็กกล้า เครื่องจักรไฟฟ้า ยานพาหนะ เครื่องจักร), อินโดนีเซีย สัดส่วน ๐.๖๓% (แร่และน้ำมัน เคมีภัณฑ์ ไขมันและน้ำมัน ยางพารา รองเท้า), ไต้หวัน สัดส่วน ๐.๕๓% (เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องจักร เหล็กและเหล็กกล้า ยานพาหนะ พลาสติก ยางพารา)

๓. ทั้งนี้ วิเคราะห์แยกรายสินค้าที่มีการส่งออกลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ได้ดังนี้

๓.๑ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ

การส่งออกในช่วง ๙ เดือนแรก (มกราคม-กันยายน) ของปี ๒๕๕๔ มีมูลค่า ๗๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งส่งออกมูลค่า ๙๔.๘ ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ -๒๖.๑๕ และหากพิจารณาเฉพาะเดือนกันยายน ๒๕๕๔ ไทยส่งออกลดลง -๓๖.๘๐% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า เนื่องจาก

๑. ตลาดยังคงซบเซา เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจอย่างมาก สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอิตาลี (ANFIA) ได้รายงานว่าในช่วง ๙ เดือน (มกราคม-กันยายน) ของปี ๒๕๕๔ มีรถยนต์จดทะเบียน ๑,๓๖๙,๕๔๕ คัน ลดลง ๑๑% จากช่วงเดียวกันปีก่อน รถยนต์หลักๆ ที่มีการจดทะเบียนลดลงได้แก่ รถยนต์นั่งส่วนบุคคล (๖๖% ของตลาด) ลดลง -๑๘.๕๘% รถยนต์ที่ใช้ก๊าซและมอเตอร์ (๕% ของตลาด) ลดลง -๖๖%

๒. ข้อมูลจากสมาพันธ์อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอิตาลี (ANFIA) แจ้งว่า ในช่วง ๓ ไตรมาส (มกราคมกันยายน) ของปี ๒๕๕๔ ยอดรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่จดทะเบียนใหม่ ลดลง -๒๓% รถยนต์ที่ใช้ก๊าซลดลง -๑๓% รถยนต์ที่ใช้มอร์เตอร์ลดลง -๕.๘% และคาดว่าในไตรมาสสุดท้ายของปี ๒๕๕๔ แนวโน้มของรถยนต์จดทะเบียนใหม่จะลดลงเช่นกัน โดยทั้งปี ๒๕๕๔ จะมียอดรถยนต์จดทะเบียน ๑,๗๘๘,๐๐๐ คัน ลดลง -๘.๘% จากปีก่อนซึ่งถือว่าเลวร้ายที่สุดตั้งแต่ปี ๒๕๓๙ และในปี ๒๕๕๕ จะมียอดรถยนต์จดทะเบียน ๑,๗๔๐,๐๐๐ คัน หรือลดลง -๒.๗%

นอกจากนี้ ณ เดือน ส.ค. ๕๔ อิตาลีมียอดการผลิตรถยนต์ -๓๔๘,๐๐๙ คันลดลง -๑๐.๗% เมื่อเทียบ กับช่วงเดียวกันปีก่อน

๓.ปัญหาจากราคาน้ำมันที่ยังคงเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบทำให้ผู้บริโภคชะลอการซื้อรถยนต์ และใช้ระบบขนส่งอื่นแทน

๔.รถยนต์มือสองยังคงเป็นที่นิยมของผู้บริโภค เนื่องจากมีราคาถูก โดยในช่วง ๙ เดือน (มกราคมกันยายน) ของปี ๒๕๕๔ มียอดการโอนรถยนต์ ๓,๔๑๗,๕๗๐ คัน เพิ่มขึ้น ๓.๓% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

๕. ANFIA ได้เปิดเผยว่ารัฐบาลจำเป็นต้องออกมาตรการช่วยเหลือเพื่อกระตุ้นยอดซื้อในตลาดรถยนต์ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมหลักที่มีคนงานถึง ๑.๒ ล้านคน และก่อให้เกิดรายได้คิดเป็น ๔.๔% ของ GDP โดยได้เสนอให้รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือ ได้แก่ ลดภาษีที่เกี่ยวข้อง การยกเว้นภาษีหรือช่วยอำนวยความสะดวกในการซื้อรถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (green Vehicles) ของหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนหรือการให้ผู้ซื้อรถใหม่ที่เป็น green Vehicles สามารถนำค่าใช้จ่ายไปหักลดหย่อนในการเสียภาษีรายได้ประจำปีได้ เป็นต้น

๖. สถิติข้อมูลการนำเข้าจาก WTA ล่าสุดในช่วง ๗ เดือน (มกราคม-กรกฎาคม) ของปี ๒๕๕๔ เฉพาะรถยนต์นั่งและชิ้นส่วน (พิกัด ๘๗๐๓) อิตาลีนำเข้าจากทั่วโลกเพิ่มขึ้น +๔.๕๗% โดยนำเข้าจากประเทศ ๕ อันดับแรกคือ เยอรมนี (สัดส่วน ๓๘.๔%) สเปน (สัดส่วน ๑๐.๗๒%) ฝรั่งเศส (๙.๓๔%) โปแลนด์ (๙.๙๒%) และสหราชอาณาจักร (๖.๑๖%) โดยไทยอยู่ในอันดับที่ ๒๓ (สัดส่วน ๐.๐๗%)

ประเทศคู่แข่งสำคัญอื่นๆ ได้แก่ ญี่ปุ่น (อันดับที่ ๗ สัดส่วน ๓.๔๖%) เกาหลีใต้ (อันดับที่ ๑๑ สัดส่วน ๒.๓๓%) อินเดีย (อันดับที่ ๑๔ สัดส่วน ๑.๑๗%) และจีน (อันดับที่ ๑๙ สัดส่วน ๐.๒๙%)

ทั้งนี้ สินค้าหลักที่นำเข้าจากไทยเป็นรถยนต์ดีเซลขนาดมากกว่า ๒๕๐๐ ซีซี ส่วนรถนำเข้าจากจีน และอินเดียเป็นรถยนต์เบนซินขนาดต่ำกว่า ๑,๕๐๐ ซีซี และรถที่นำเข้าจากเกาหลีใต้เป็นรถยนต์ดีเซลขนาดต่ำกว่า ๒,๕๐๐ ซีซี

๓.๒ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป

การส่งออกในช่วง ๙ เดือนแรก (มกราคม-กันยายน) ของปี ๒๕๕๔ มีมูลค่า ๓๘ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งส่งออกมูลค่า ๔๒.๙ ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ -๑๑.๒๗ เนื่องจาก

๑.เป็นสินค้าที่มีวงจรการนำเข้า เนื่องจากสามารถเก็บได้นาน และมีปริมาณการบริโภคสูงสุดในช่วงฤดูร้อน ผู้นำเข้ามักจะนำเข้าในปริมาณมากแต่น้อยครั้งเพื่อลดต้นทุน

๒. ผู้นำเข้าได้นำเข้าสินค้าตั้งแต่ช่วงก่อนหน้า โดยจะเห็นได้ว่าการส่งออกในเดือนสิงหาคม ๒๕๕๔ มีมูลค่า ๕.๐๔ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าถึง +๓๙.๓๐%

๓. ผลการวิจัยของ ISMEA รายงานว่าตลาดสินค้าอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปในอิตาลีมีปริมาณกว่า ๑๑๐,๐๐๐ ตัน โดยมีปลาทูน่ากระป๋องเป็นตัวหลักที่เข้าถึงผู้บริโภคได้ถึง ๙๕% เนื่องจากสามารถนำไปประกอบอาหารได้หลากหลาย ราคาไม่แพง และดีต่อสุขภาพ

นอกจากนี้ ผลการสำรวจในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา (ปี ๒๕๔๔-๒๕๕๔) อิตาลีมีการผลิตอาหารทะเล ลดลงเฉลี่ยปีละ -๓.๔% มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ ๒.๔% (อาหารทะเลสด +๓.๒% และแปรรูป/แช่แข็ง +๒.๒%) และมีการส่งออกเฉลี่ยเพิ่มขึ้น +๐.๒% (อาหารทะเลสด +๐.๑% และแปรรูป +๐.๔%)

๔. ข้อมูลจากสมาพันธ์ผู้ผลิตสินค้าเกษตรแห่งอิตาลี (COLDDIRETTI) ปรากฏว่าผลจากวิกฤตเศรษฐกิจทำให้ผู้บริโภคร้อยละ ๒๕ เปลี่ยนไปซื้อสินค้าจากร้านค้าที่ลดราคา ในขณะที่ ๓๘% จะลดการซื้อจากร้านดั้งเดิม ส่วนการซื้อจากซุปเปอร์มาร์เก็ตยังคงที่

๕. สถิติการนำเข้าอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (พิกัด ๑๖) จาก Eurostat ล่าสุด (มกราคมกรกฎาคม) ของปี ๒๕๕๔ ไทยครองอันดับที่ ๗ โดยมีประเทศที่อิตาลีนำเข้าสำคัญ ๕ อันดับแรก ได้แก่ สเปน (สัดส่วน ๒๔.๗๕%) เยอรมัน (๑๑.๒๒%) เอควาดอร์ (๖.๒๘%) เนเธอร์แลนด์ (๕.๐๒%) และโคลัมเบีย (๔.๕๓%)

สินค้าหลักที่อิตาลีนำเข้าจากไทยได้แก่ ปลาทูน่ากระป๋อง (๙๐% ของการนำเข้าจากไทย) และอื่นๆ ได้แก่ ปลาซาร์ดิน แองโชวี่ แมคเคอเรล หอย และกุ้ง โดยเฉพาะสินค้าปลาทูน่ากระป๋อง ไทยยังคงเป็นผู้นำตลาดในกลุ่มประเทศเอเซียนด้วยกัน โดยครองตลาดเป็นอันดับที่ ๔ (สัดส่วน ๗.๓๒%)

ประเทศคู่แข่งสำคัญได้แก่ จีน (ปลาทูน่ากระป๋องและแปรรูป และหอย) เวียดนาม (หอย และกุ้ง) ฟิลิปปินส์ (ปลาทูน่า) และ อินโดนีเซีย (หอย และกุ้ง)

๓.๓ ผ้าผืน

การส่งออกในช่วง ๙ เดือนแรก (มกราคม-กันยายน) ของปี ๒๕๕๔ มีมูลค่า ๒๓.๒ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งส่งออกมูลค่า ๒๘.๑ ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ -๑๗.๖๐ เนื่องจาก

๑. เป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเสื้อผ้าและสิ่งทอที่เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจค่อนข้างมาก แม้ว่าในเดือน กรกฎาคม ๒๕๕๔ จะมีการฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยจากการจัดเทศกาลลดราคาก็ตาม แต่หลังจากนั้นยอดขายกลับลดลง เนื่องจากผู้บริโภคชะลอการซื้อและจะซื้อเท่าที่จำเป็น

๒. ISTAT ได้รายงานข้อมูลล่าสุดว่า ในช่วง ๘ เดือน (มกราคม-สิงหาคม) ของปี ๒๕๕๔ การผลิตและการบริโภคเสื้อผ้าและสิ่งทอของอิตาลีลดลง -๖.๕% และ -๐.๘% ตามลำดับเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดย ๕๑% ของคนอิตาลี แจ้งว่าลดการซื้อเสื้อผ้าลงเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจ และคาดว่าในปี ๒๕๕๔ จะมีคนงานที่ตกงานราว ๙,๐๐๐ ราย

๓. อย่างไรก็ดี Sistema Moda Italia ได้คาดการณ์ว่า ณ สิ้นปี ๒๕๕๔ กลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่นของอิตาลี (สิ่งทอ, เสื้อผ้า, เครื่องหนัง และรองเท้า) จะมีมูลค่าการค้า ๕๒ พันล้านยูโร หรือเพิ่มขึ้น ๔.๘% จากปีก่อน แต่ยังคงต่ำกว่าระดับก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี ๒๕๕๐ ซึ่งมีมูลค่า ๕๖ พันล้านยูโร

๔. ตลาดสิ่งทอและผ้าผืนในอิตาลีสามารถแบ่งสัดส่วนออกได้เป็นกลุ่มๆ ดังนี้ ประเภทขนสัตว์ (wool) ๓๔.๓% ประเภทฝ้าย ๒๓.๘% ประเภทผ้าไหม ๘.๓% ประเภทเครื่องใช้และตกแต่งบ้าน ๖.๖% และประเภทเคมีสังเคราะห์ ๒๖.๙%

๕. ผู้ประกอบการอุสาหกรรมสิ่งทอยังคงมีความกังวลสูงต่อราคาวัตถุดิบ โดยเฉพาะราคาฝ้ายและใยสังเคราะห์ ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยข้อมูลจากสำนักวิจัย Prometeia รายงานว่าราคาวัตถุดิบสิ่งทอในเดือน กันยายน ๒๕๕๔ เพิ่มขึ้น ๒๘% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ทำให้ผู้ประกอบการหันไปนำเข้าจากจีนแทน (๓๑.๔% ของการนำเข้าทั้งหมด) โดยการหาคู่ค้าที่เป็นผู้ผลิตในจีนเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าจะได้วัตถุดิบในราคาที่แน่นอน

๖. แนวโน้มล่าสุดของผ้าผืนและสิ่งทอในตลาดอิตาลีจะเป็นสินค้าที่นำไปใช้สำหรับเสื้อผ้ากีฬาซึ่ง สามารถช่วยดูดซับความชื้นและกระจายสารเคมีบนผิวหนังได้ดี นอกจากนี้ยังควรมีสองหน้าเพื่อใช้ประโยชน์ได้หลากหลายในสินค้าตัวเดียว รวมทั้งเป็นสินค้าที่ใช้นวัตกรรมใหม่ๆที่สามารถวัดอุณหภูมิของร่างกายและการเต้นของหัวใจได้ด้วย ในขณะที่สีสันของผ้าจะผสมสีหลากหลายโดยเฉพาะสีทองกับสีน้ำตาล และสีขาวกับสีเทาเป็นต้น

๗. ข้อมูลการนำเข้าผ้าผืน (พิกัด ๕๒๐๘) ล่าสุดของ EUROSTAT ในช่วง ๗ เดือน (มกราคมกรกฎาคม) ของปี ๒๕๕๔ อิตาลีนำเข้าจากทั่วโลกเพิ่มขึ้น ๔๔.๓๑% โดยมีประเทศที่อิตาลีนำเข้า ๕ อันดับแรก ได้แก่ จีน (สัดส่วน ๓๔.๒๔%) ปากีสถาน (สัดส่วน ๑๔.๖๐%) อินเดีย (สัดส่วน ๘.๒๖%) ตุรกี (๕.๖๑%) และเช็ครีพับลิก (๕.๕๘%) โดยนำเข้าจากไทยเป็นอันดับที่ ๑๓ (สัดส่วน ๑.๔๐%) ซึ่งสินค้านำเข้าหลัก (๕๖%)เป็นผ้าผืนที่ทำจากฝ้าย

ประเทศคู่แข่งสำคัญอื่นๆ ได้แก่ อินโดนีเซีย (สัดส่วน ๐.๙๓%) ญี่ปุน (๐.๔๐%)

๔.ข้อคิดเห็น

๔.๑ คาดว่าเศรษฐกิจอิตาลีในช่วง ๒ เดือนที่เหลือ (พฤศจิกายน - ธันวาคม) ของปี ๒๕๕๔ จะค่อนข้างทรงตัว เนื่องจากประชาชนยังไม่มั่นใจต่อสภาวะเศรษฐกิจในอนาคตและระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น โดย ISTAT ได้รายงานผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่น (Trust Index) ในเดือนตุลาคม ๒๕๕๔ ได้ลดลงแทบทุกปัจจัย ได้แก่ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในด้านความคาดหวังต่อเศรษฐกิจในระยะสั้น ความเชื่อมั่นของผู้ผลิตในด้านความคาดหวังต่อคำสั่งซื้อ และความเชื่อมั่นของผู้จัดจำหน่ายทั้งรายใหญ่และร้านค้าแบบดั้งเดิมที่มีต่อยอดขาย ในขณะที่ภาวะเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น และตลาดแรงงานยังคงไม่ฟื้นตัว นอกจากนี้ สมาพันธ์ผู้ค้าปลีกแห่งอิตาลี (CONFCOMMERCIO) ได้แสดงความกังวลว่าเศรษฐกิจอิตาลีจะเข้าสู่สภาวะถดถอยอีกครั้งหนึ่งหากรัฐบาลไม่ดำเนินมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเร่งด่วน

๔.๒ ผลการประชุมร่วมระหว่างผู้ประกอบการค้าหน่วยปลีก และผู้บริโภคของอิตาลีเมื่อเร็วๆนี้ ได้ คาดการณ์การบริโภคในช่วง ๒ ปีข้างหน้าว่าหากรัฐบาลไม่ออกมาตราการช่วยเหลือเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจะทำให้การบริโภคลดลง ยกเว้นการบริโภคในสิ่งที่จำเป็น เช่น ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและอนามัย สรุปได้ดังนี้

            รายละเอียด              ปี ๒๕๕๔            ปี ๒๕๕๕                ปี ๒๕๕๖
๑. แยกตามประเภทการใช้จ่าย
- ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน                   ๐.๕%              ๑.๑%                  ๑.๐%
- ค่าใช้จ่ายเพื่อสุขภาพ                    ๑.๐%              ๑.๘%                  ๑.๕%
๒. แยกรายสินค้า
- อาหารและเครื่องดื่ม                   -๐.๓%             -๐.๔%                 -๐.๔%
- การคมนาคมและขนส่ง                  -๑.๘%             -๐.๖%                 -๐.๖%
- เสื้อผ้าและรองเท้า                    -๐.๙%             -๑.๐%                 -๑.๑%
- เฟอร์นิเจอร์/เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน        -๐.๙%             -๐.๖%                 -๐.๘%

๔.๓ นอกเหนือจากการดำเนินมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาล (แผนงบประมาณ ๓ ปี ระหว่างปี ๒๕๕๔-๒๕๕๖) ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากกรรมาธิการยุโรป โดยการตัดลดการใช้จ่าย ๔,๐๐๐ ล้านยูโร และเพิ่มการจัดเก็บรายได้ ๔๕,๐๐๐ ล้านยูโร ผ่านมาตรการต่างๆ เช่น การตัดลดงบประมาณของหน่วยงานราชการและท้องถิ่น การลดจำนวนหน่วยงาน การแปรรูปวิสาหกิจ การปฏิรูประบบบำนาญ และการเพิ่มการเก็บภาษี ทำให้ประชาชนมีภาวะภาษีรวมกันแล้วสูงถึง ๔๒.๖% แล้วรัฐบาลอิตาลียังได้จัดทำแนวทางการปฏิรูปเศรษฐกิจในอนาคตเพื่อสร้างความมั่นใจว่ารัฐบาลจะสามารถลดการขาดดุลงบประมาณและทำให้สมดุลย์ได้ในปี ๒๕๕๖ ซึ่งหมายถึงเศรษฐกิจอิตาลีจะมีความมั่นคง สรุปได้ดังนี้

(๑) เพิ่มระยะเวลาการเกษียณอายุทั้งชายและหญิง จาก ๖๕ ปี เป็น ๖๗ ปี (เริ่มตั้งแต่ ปี ๒๕๖๙) ส่วนมาตรการเดิมที่กำหนดให้ผู้หญิงเกษียณอายุเมื่อ ๖๕ ปี (เดิม ๖๐ ปี) ก็จะเริ่มต้นบังคับใช้ตั้งแต่ปี ๒๕๕๕ (เดิมกำหนดเริ่มต้นใช้ปี ๒๕๕๗)

(๒) ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่แรงงานที่ถูกเลิกจ้างโดยเฉพาะในธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงที่จะ ล้มละลาย (เริ่มต้นตั้งแต่ พ.ค. ๒๕๕๕)

(๓) การขายทรัพย์สินของรัฐบาลมูลค่า ๕ พันล้านยูโร

(๔) เร่งรัดการสร้างสาธารณูปโภคต่างๆที่ลงทุนโดยภาคเอกชน และจัดระบบบริหารงานเพื่อ อำนวยความสะดวกให้แก่บริษัทผู้ประกอบการและประชาชน

๔.๔ ตัวชี้วัดเศรษฐกิจอิตาลี ณ วันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๔ (โดยกระทรวงการคลังอิตาลี)

                               ปี ๒๕๕๔      ปี ๒๕๕๕      ปี ๒๕๕๖      ปี ๒๕๕๗
(๑) GDP growths                  ๐.๗%        ๐.๖%        ๐.๙%        ๑.๒%
(๒) GDP Value (ล้านยูโร)      ๑,๕๘๒,๒๑๖   ๑,๖๒๒,๓๗๕   ๑,๖๖๕,๐๑๘   ๑,๗๑๔,๐๑๓
(๓) GDP ต่อหัว (ยูโร)             ๒๖,๓๗๐      ๒๗,๐๓๙      ๒๗,๗๕๐      ๒๘,๕๖๖
(๔) การบริโภค                     ๐.๘%        ๐.๗%        ๐.๘%        ๐.๙%
(๕) การลงทุน                      ๑.๓%        ๑.๑%        ๒.๒%        ๒.๔%
(๖) การส่งออก                     ๔.๔%        ๓.๗%        ๔.๑%        ๔.๖%
(๗) การนำเข้า                       ๓%        ๓.๒%        ๓.๕%          ๔%
(๘) ภาวะเงินเฟ้อ                   ๒.๖%        ๑.๙%        ๑.๘%        ๑.๘%
(๙) การจ้างงาน                     ๕๗%       ๕๗.๒%       ๕๗.๖%       ๕๗.๙%
(๑๐) การว่างงาน                   ๘.๒%        ๘.๑%        ๘.๑%          ๘%
(๑๑) หนี้สาธารณะ (% ของ GDP)     ๑๒๐.๖%      ๑๑๙.๕%      ๑๑๖.๔%      ๑๑๒.๖%

๔.๕ คาดว่าการส่งออกสินค้าไทยมายังอิตาลีทั้งปี ๒๕๕๔ จะเป็นไปตามเป้าหมายคือ ๑,๗๕๐ ล้าน เหรียญสหรัฐฯ โดยสินค้าที่คาดว่ายังมีแนวโน้มที่ดี ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ ของขวัญและของตกแต่งบ้าน ปลาหมึกสดแช่เย็นแช่แข็ง อาหารสัตว์เลี้ยง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เหล็กและเหล็กกล้า

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโรม

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ