รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจและภาวะการค้าอิตาลี ระหว่างวันที่ ๑-๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๔

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 18, 2011 14:59 —กรมส่งเสริมการส่งออก

๑. เศรษฐกิจอิตาลีในช่วง ๒ สัปดาห์แรกของเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๔ ค่อนข้างชะงักงันซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากปัญหาวิกฤติหนี้ของยูโรโซนที่เริ่มจากกรีซและตลาดการเงินมีความกังวลว่าจะลามไปถึงอิตาลี ซึ่งมีปัญหาหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นสูงถึงระดับอันตรายและทำให้อิตาลีขาดความน่าเชื่อถือในตลาดการเงินซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขเร่งด่วน โดยรัฐบาลอิตาลีได้ร้องขอให้คณะกรรมาธิการยุโรปและ IMF เดินทางมาตรวจสอบการดำเนินมาตรการต่างๆในการปฏิรูปเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและการตัดลดหนี้จำนวนมหาศาลที่สูงถึง ๑๒๐% ของ GDP เพื่อให้อิตาลีเป็นที่น่าเชื่อถือว่าจะไม่ประสบปัญหาล้มละลายเช่นเดียวกับกรีซก่อนหน้านี้ ได้เกิดความปั่นป่วนในตลาดการเงินซึ่งเป็นผลจากการที่ประเทศต่างๆเกิดความไม่มั่นใจต่อมาตรการรัดเข็มขัดด้านงบประมาณและความสามารถในการชำระหนี้สินที่สูงขึ้นของอิตาลี รวมทั้งความกังวลต่อเนื่องจากสถานการณ์เลวร้ายทางเศรษฐกิจกรีซจะคุกคามต่อความมั่นคงของยูโรโซน และมีความเสี่ยงสูงที่จะลุกลามต่อเนื่องไปยังประเทศสมาชิกอื่นๆ โดยเฉพาะอิตาลีและสเปน ทั้งนี้อิตาลีมีหนี้สาธารณะมูลค่า ๑.๙ ล้านยูโร (๑.๙ Trillion) โดยมีภาระดอกเบี้ยของพันธมิตรเงินระยะ ๑๐ ปีสูงถึง ๖.๗% ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่สูงเกือบถึงอัตราเสี่ยงต่อความมั่นคงของตลาดการเงินในระยะยาว (๗%) นอกจากนี้ปี ๒๕๕๕ รัฐบาลต้องกู้ยืมจากสหภาพยุโรปและ IMF อีก ๓๐๐ พันล้านยูโร ในขณะที่หนี้ภาคเอกชนมีสถานะที่ดีกว่า

๒. มาตรการรัดเข็มขัดด้านงบประมาณปี ๒๕๕๕ ( stability law) ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐบาลเมื่อ กรกฎาคม ๒๕๕๔ และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภา ประกอบด้วยมาตรการหลักๆ ดังนี้

๒.๑ ตัดลดค่าใช้จ่ายของกระทรวงต่างๆในปี ๒๕๕๕-๒๕๕๗ มูลค่า ๑๘.๒ พันล้านยูโร

๒.๒ เพิ่มกำหนดเวลาเกษียนอายุทำงาน เป็นระยะๆ คือ

  • คนทำงานผู้หญิงจากเดิม ๖๐ เป็น ๖๕ ปี (ใช้บังคับในปี ๒๕๕๗)
  • คนทำงานทั้งชายและหญิง จาก ๖๕ เป็น ๖๗ ปี (ใช้บังคับในปี ๒๕๖๙) และจาก ๖๗ ปี เป็น ๗๐ ปี (ใช้บังคับในปี ๒๕๙๓)
  • การขายทรัพย์สินของรัฐ (รวมทั้งที่ดินทำการเกษตร) ซึ่งมีมูลค่าปีละ ๕ พันล้านยูโร ภายในเวลา ๓ ปี ( ปี ๒๕๕๕-๒๕๕๗)
  • การปรับปรุงกระบวนการของศาลให้ง่ายและรวดเร็วขึ้น และยินยอมให้ใช้ลายเซ็นต์และการสื่อสารด้วยระบบอิเล็คโทรนิคส์ในกระบวนการศาล
  • ปรับปรุงระบบและกระบวนการจดทะเบียนตั้งบริษัทให้ง่ายและรวดเร็วขึ้นโดยเฉพาะทางตอนใต้ของอิตาลี
  • การถ่ายโอนข้าราชการและลูกจ้างภาครัฐที่มีบุคลากรมากเกินความจำเป็น การให้ทำงานพาร์ทไทม์ หรือหยุดพักงานเป็นเวลา ๒ ปี ซึ่งในระหว่างนี้รัฐบาลจะจ่ายเงินชดเชยให้ร้อยละ ๘๐ ของเงินเดือน การลดจำนวนคณะกรรมการท้องถิ่นลง ๕๐ % หรือการรวมคณะกรรมการในท้องถิ่นที่มีขนาดเล็ก (ประชากรน้อยกว่า ๑,๐๐๐ คน) เข้าด้วยกัน
  • มาตรการด้านการจ้างงาน โดยเฉพาะผลประโยชน์ที่ให้แก่คนหนุ่มสาว เช่น การอำนวยความสะดวกให้แก่แรงงานที่ทำงานพาร์ทไทม์ ให้สิทธิประโยชน์ด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการที่จ้างคนงานผู้หญิงโดยมีเงื่อนไขคือต้อง เป็นคนว่างงานอยู่ในพื้นที่นั้นๆตั้งแต่ ๖ เดือนขึ้นไป และมีอัตราการจ้างแรงงานผู้หญิงต่ำกว่าร้อยละ ๒๐ ของอัตราการจ้างแรงงานผู้ชาย หรือมีอัตราการว่างงานของแรงงานผู้หญิงสูงกว่าร้อยละ ๑๐ ของอัตรา การว่างงานของแรงงานผู้ชาย
  • จัดสรรเงินกองทุนให้แก่กระทรวงแรงงานปีละไม่เกิน ๒๐๐ ล้านยูโร ระยะเวลา ๓ ปี ( ปี ๒๕๕๕-๒๕๕๗) เพื่อใช้สนับสนุนในกรณีผู้ประกอบการมีการจ้างแรงงานในลักษณะของการฝึกอบรมโดยผู้ประกอบการจะได้รับยกเว้นการจ่ายเงินประกันสังคมสำหรับการจ้างแรงงานดังกล่าวเป็นเวลา ๓ ปี และหลังจากนั้นผู้ประกอบการจ่ายค่าประกันสังคมเพียง ๑๐% จากอัตราปกติที่ปัจจุบันอยู่ในอัตราระหว่าง ๓๐-๔๐% ของค่าจ้าง

๒.๓ การเก็บภาษีรายได้อีก ๓% จากรายได้ที่สูงกว่า ๓๐๐๐,๐๐๐ ยูโร ต่อปี และการขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากเดิม ๒๐% เป็น ๒๑%

๒.๔ ติดตามการหลบเลี่ยงภาษีอย่างเข้มงวด ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของการออกมาตรการรัดเข็มขัดดังกล่าว นอกเหนือจากเพื่อลดการขาดดุลงบประมาณให้เหลือน้อยกว่า ๓% ของ GDP ในปี ๒๕๕๕ และได้งบประมาณสมดุลในปี ๒๕๕๗ (ปี ๒๕๕๔ ประมาณการ ๔% ของ GDP) ยังรวมถึงการสร้างความมั่นใจให้แก่ธนาคารกลางของยุโรป (European Central Bank- ECB) ที่ซื้อพันธบัตรรัฐบาลและความเสี่ยงที่อิตาลีจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเช่นเกี่ยวกับกรีซ

๓. ผู้ว่าการธนาคารแห่งอิตาลี (Governor of The Bank of Italy) คนใหม่ (นาย Ignazio Visco) ได้ร้องขอให้อิตาลีดำเนินมาตรการเพื่อลดหนี้สาธารณะ และเร่งการปฏิรูปให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้นโดยเร่งด่วนและต่อเนื่อง ทั้งนี้ จากรายงานสถานะความมั่นคงทางการเงินของอิตาลีปรากฎว่าตลาดหุ้นในมิลานได้กลับฟื้นตัวกลับมาแล้ว หลังจากตลาดได้เกิดความปั่นป่วนขึ้นในช่วงก่อนหน้าซึ่งเป็นผลจากความกังวลของนักลงทุนที่มีต่ออนาคตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรโซนโดยเฉพาะอิตาลี นอกจากนี้ยังได้เน้นย้ำว่าระบบธนาคารของอิตาลียังคงมีความแข็งแกร่งและจะได้รับการจัดอันดับสถานะทางการเงินในระดับที่สูงขึ้น หลังจากแผนมาตรการรัดเข็มขัดด้านงบประมาณของรัฐบาลได้รับความเห็นชอบจากสหภาพยุโรป

๔. IMF ได้ประกาศการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจของอิตาลี โดยกล่าวว่าอิตาลีจะไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่จะลดการขาดดุลงบประมาณให้ได้ตามเป้าหมายและการได้ดุลงบประมาณในปี ๒๕๕๗ และได้คาดการณ์ตัวเลขทางเศรษฐกิจของอิตาลีในปี ๒๕๕๔-๒๕๕๖ ดังนี้

                                      ปี ๒๕๕๔          ปี ๒๕๕๕          ปี๒๕๕๖
๔.๑ การขาดดุลงบประมาณ (% ของ GDP)          ๔%            ๒.๔%           ๑.๑%
๔.๒ หนี้สาธารณะ                         ๑๒๑.๑%          ๑๒๑.๔%              -
๔.๓ GDP growth                          ๐.๘%            ๐.๕%              -
(เดือนมิ.ย. ๕๔ คาดไว้ที่ ๑.๐%)

อย่างไรก็ดีรัฐบาลอิตาลีได้คาดการณ์การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปี ๒๕๕๔ และปี ๒๕๕๕ ว่าจะเท่ากับ ๑.๑% และ ๑.๓% ซึ่งแหล่งข่าวในรัฐบาลส่วนใหญ่กล่าวว่าเป็นไปได้ยากที่รัฐบาลจะทำได้ตามเป้าหมาย

นอกจากนี้ IMF ยังได้ย้ำว่าแม้รัฐบาลอิตาลีจะได้ออกแผนมาตรการรัดเข็มขัด และมาตรการอื่นๆอีกมากมายเมื่อเดือน กรกฎาคม ๒๕๕๔ แล้วก็ตาม แต่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของอิตาลียังคงล้าหลังกว่าประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจดีขึ้นจนทำให้การผลิตอยู่ในระดับก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจได้ ในขณะที่ประเทศที่มีเศรษฐกิจก้าวหน้าและประเทศเศรษฐกิจใหม่บางประเทศโดยเฉพาะอิตาลีและสเปน ยังคงมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ล้าหลังและต่อเนื่อง โดย IMF ได้ปรับลดการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศกลุ่มยูโรโซนในปี ๒๕๕๔ และปี ๒๕๕๕ ว่าจะมีการขยายตัวเพียง ๑.๙% และ ๑.๔% ตามลำดับ

๕. สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศหลายแห่งได้ออกมาเตือนว่าอิตาลีอาจถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศลง หากไม่สามารถพัฒนาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ ดังนี้

๕.๑ FITCH ลดอันดับความน่าเชื่อถือของอิตาลีจาก AA- เป็น A+ เหตุผลจากการที่อิตาลีมีภาวะเศรษฐกิจที่เปราะบางและมีแนวโน้มทางลบ ซึ่งเป็นผลจากการที่ตลาดมีความกังวลต่อความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตการเงินของยูโรโซน ซึ่งส่งผลกระทบต่ออิตาลีด้วย

๕.๒ S&P ลดอันดับจาก A+ เป็น A เนื่องจากเห็นว่าอิตาลีมีความเสี่ยงอย่างมากต่อปัญหาหนี้สาธารณะจำนวนมหาศาลในช่วง ๑๒-๑๘ เดือนข้างหน้า เว้นแต่อิตาลีจะสามารถกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้ได้

๕.๓ MOODY'S ลดระดับลง ๓ ระดับ คือจาก Aa๒ เป็น A๒ และว่าแนวโน้มเศรษฐกิจอิตาลีจะติดลบเป็นครั้งแรกตั้งแต่ พ.ค. ๒๕๓๖ เป็นต้นมา

๖. สมาพันธ์ผู้ค้าปลีกแห่งอิตาลี (CONFCOMMERCIO) ได้เปิดเผยรายงานผลการวิเคราะห์เศรษฐกิจของอิตาลีว่า หากรัฐบาลไม่มีการออกมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเร็ว จะส่งผลให้เศรษฐกิจอิตาลีเกิดการชะงักงันและก้าวไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างแน่นอน รวมทั้งได้วิเคราะห์การบริหารงานของรัฐบาลที่ย่ำแย่ และเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีเบอร์ลุสโคนี แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก นอกจากนี้ ยังถูกกดดันจากผู้นำเยอรมัน (นาง Angela Merkel) และฝรั่งเศส (นายนิโคลาส ซาร์โคซี่) ที่ต้องการให้อิตาลีดำเนินมาตรการที่เข้มแข็งเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนให้กลับคืนมา

๗. นายกรัฐมนตรีเบอร์ลุสโคนีได้ประกาศลาออกเมื่อวันเสาร์ที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ ซึ่งเป็นการลาออกก่อนครบวาระในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๖ หลังจากที่ถูกกดดันจากหลายๆ ฝ่ายที่เรียกร้องให้เขาลาออกจาการที่รัฐบาลไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นานาประเทศในด้านความมั่นคงทางการเงินและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสามารถในการชำระหนี้คืน

นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่ได้รับการคัดเลือกจากประธานาธิบดีจีออร์จีโอ นาโปลีตาโน คือ นายมาริโอ้ มอนตี ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและเคยเข้าร่วมเป็นคณะกรรมาธิการยุโรป (สาขาความสามารถในการแข่งขันและตลาดภายในประเทศ) ซึ่งเป็นที่ยอมรับจากทั้งภาคเอกชนและประชาชนซึ่งส่วนใหญ่เห็นว่าเขาเป็นผู้ที่เหมาะสมสามารถช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะจำนวนมหาศาลและพัฒนาเศรษฐกิจที่ขณะนี้อยู่ในภาวะชะงักงันได้ ทั้งนี้นายมอนตี อยู่ระหว่างการจัดตั้งคณะรัฐบาลซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนรัฐมนตรีเพียง ๑๒ คน เพื่อบริหารประเทศในระหว่างที่ไม่มีการเลือกตั้งตามวาระ โดยได้เปิดเผยกรอบนโยบายหลักๆดังนี้

๗.๑ การปรับปรุงมาตรการทางการเงินใหม่เพื่อลดหนี้สาธารณะลงให้ได้ ๒๕ พันล้านยูโร

๗.๒ การพิจารณาออกมาตรการเก็บภาษีอสังหาริมทรัพย์ (ICI) เช่น เก็บภาษีสำหรับบ้านหลังแรก (รัฐบาลเบอร์ลุสโคนีได้ตัดออกไป) หรือการเก็บภาษีมรดก (ทรัพย์สินที่มีมูลค่าเกินกว่า ๑.๕ ล้านยูโร)

๗.๓ เพิ่มความเข้มงวดด้านการจ่ายเงินงบประมาณ เช่น การติดตามความเคลื่อนไหวในการจ่ายเงินสดที่สูงกว่า ๒๐๐- ๓๐๐ ยูโร

๗.๔. กำหนดรายละเอียดและความชัดเจนในการปฏิรูปเสรีและระบบเกษียน ณ อายุทำงาน

๘. กระทรวงเศรษฐกิจอิตาลีได้เปิดเผยว่าในช่วง ๙ เดือน (มกราคม - กันยายน) ของปี ๒๕๕๔ รัฐบาลจัดเก็บรายได้ได้ ๒๘๑.๙ พันล้านยูโร เพิ่มขึ้น ๔.๔ พันล้านยูโรหรือเพิ่มขึ้น ๑.๖ เมื่อเทียบกับช่วงดียวกันปีก่อน

๙. ISTAT ได้รายงานตัวเลขเศรษฐกิจอิตาลี ดังนี้

  • การขาดดุลการค้า ณ เดือนกันยายน ๒๕๕๔ อิตาลีขาดดุลการค้า ๑.๘ พันล้านยูโร ลดลงกว่าร้อยละ ๕๐ เมื่อเทียบกับเดือนดียวกันปีก่อนที่ขาดดุลการค้า ๓.๗ พันล้านยูโร
  • การส่งออก ณ เดือนกันยายน ๒๕๕๔ ดังนี้ อิตาลีส่งออกได้เพิ่มขึ้น +๒% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าและเพิ่มขึ้น +๑๐.๓% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน
  • การนำเข้า อิตาลีนำเข้าลดลง -๑.๓% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แต่เพิ่มขึ้น +๓.๖% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน
  • ความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ณ เดือนตุลาคม ๒๕๕๔ ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในภาคบริการเพิ่มขึ้นต่างมีนัยสำคัญคือ จาก ๘๒.๖ จุดในเดือนกันยายน ๒๕๕๔ เป็น ๘๗.๓ จุด ในขณะที่ดัชนีความเชือมั่นในด้านภาคการผลิตลดลงเล็กน้อยคือ ๙๔.๕ จุดในเดือนกันยายน ๒๕๕๔ เป็น ๙๔.๐ จุด
  • การจำหน่ายปลีก ณ เดือนตุลาคม ๒๕๕๔ ดัชนีความเชื่อมั่นของการค้าปลีกลดลงจาก ๙๔.๐ จุด ในเดือนกันยายน ๒๕๕๔
  • ภาวะเงินเฟ้อ ณ เดือนตุลาคม ๒๕๕๔ อัตราเงินเฟ้อรายปีเพิ่มขึ้นจาก ๓% ในเดือนกันยายน ๒๕๕๔ เป็น ๓.๔% สูงสุดนับแต่ตุลาคม ๒๕๕๑ ซึ่งเป็นผลจากมาตรการรัดเข็มขัดด้านงบประมาณของรัฐบาลโดยเฉพาะการเพิ่มภาษี VAT อีก๑% จากเดิม ๒๐% เป็น ๒๑%
  • การออมของครอบครัวอิตาลี ในไตรมาส ๒ ของปี ๒๕๕๔ เท่ากับ ๑๑.๓% ลดลง ๐.๔% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและลดลง ๑% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ต่ำที่สุดในรอบ ๑๐ ปีจากที่เคยต่ำสุดในไตรมาสแรกของปี ๒๕๔๓ ที่เท่ากับ ๑๑.๑%

นอกจากนี้กำลังซื้อของครอบครัวได้ลดลง ๐.๒% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลง ๐.๓% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

๑๐. สมาพันธ์ผู้ผลิตสินค้าเกษตรแห่งอิตาลี (COLDIRETTI) ได้รายงานผลการสำรวจว่าประชาชนได้รับผลกระทบอย่างมากจากวิกฤตเศรษฐกิจ สรุปได้ดังนี้

  • ร้อยละ ๑๐ ของประชากรมีรายได้ต่ำกว่าระดับที่จำเป็นเพื่อการอยู่รอด
  • ร้อยละ ๖๒ ของผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อว่าสภาวะเศรษฐกิจในอนาคตจะเลวร้ายลง ในขณะที่ร้อยละ ๕๔ แจ้งว่าต้องจ่ายให้ประเทศมากกว่าการได้รับ
  • ร้อยละ ๕๗ แจ้งว่าต้องตัดลดการสิ้นเปลืองด้านอาหารลง

๑๑. ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในอิตาลีขณะนี้ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากคือ ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยอยู่ที่ ๑.๖๓๑ ยูโร/ลิตร สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยอยู่ที่ ๑.๕๔๒ ยูโร/ลิตร และราคาก๊าซอยู่ที่ ๑.๗ ยูโร/ลิตร ทั้งนี้นักวิเคราะห์เชื่อว่า การเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากของน้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าวเป็นผลจากการที่รัฐบาลเพิ่มการเก็บภาษีสรรพสามิตเพื่อนำรายได้ไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์น้ำท่วมและพายุถล่มพื้นที่ในแถบชายแดนของแคว้นลิกูเรียและทัสคานีซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายอย่างหนักและมีคนบาดเจ็บล้มตาย

๑๒. ประธานซีอีโอคณะผู้จัดงาน EXPO ๒๐๑๕ (นายจูเซปเป้ ซาลา) กล่าวว่างาน EXPO ๒๐๑๕ ที่จะจัดขึ้นที่มิลานจะช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอกชน โดยเฉพาะกิจการก่อสร้างมีงานมากขึ้น โดยขณะนี้ประเทศต่างๆ แจ้งตอบการเข้าร่วมงานแล้ว ๕๗ ประเทศ และต้องการจะสรุปจำนวนประเทศที่เข้าร่วมงานได้ภายในช่วงครึ่งปีแรกของปี ๒๕๕๕ คณะผู้จัดงานคาดว่าจะสามารถเก็บเงินค่าสปอนเซอร์จากภาคเอกชนที่ต้องการโฆษณาและผู้ร่วมธุรกิจในรูปแบบอื่นๆ ประมาณ ๔๐๐ ล้านยูโร โดยในชั้นแรกได้ทำข้อตกลงกับเทเลคอมอิตาเลียแล้วด้วยมูลค่า ๔๓ ล้านยูโร สอดคล้องกับความเห็นของสมาพันธ์อุตสาหกรรมอิตาลี (CONFINDUSTRIA) ที่กล่าวว่างาน EXPO ๒๐๑๕ นับเป็นโอกาสทองของผู้ประกอบธุรกิจของอิตาลีรวมทั้งยังเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจอิตาลีและทั่วโลกด้วย

๑๓. สมาพันธ์ผู้ผลิตสินค้าหัตถกรรมแห่งอิตาลี (CONFARTIGIANATO) ได้รายงานว่าอิตาลีเป็นประเทศที่มีการว่างงานของคนหนุ่มสาวสูงที่สุดในยุโรป สรุปได้ดังนี้

  • คนว่างงานที่อายุต่ำกว่า ๓๕ ปี มีจำนวน ๑,๑๓๘,๐๐๐ คน
  • อัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาวเฉลี่ยทั่วประเทศเท่ากับ ๑๕.๙% โดยเฉพาะในพื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศซึ่งมีอัตราการว่างเพิ่มขึ้นถึง ๒๕.๑% หรือจำนวน ๕๓๘,๐๐๐ คน โดยซิชิลีเป็นแคว้นที่มีอัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาวสูงที่สุดคือ ๒๘% ในขณะที่ทางตอนเหนือของประเทศมีอัตราการว่างงานของหนุ่มสาวน้อยกว่าเช่น แคว้นลอมบาร์ดีมีอัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาวเพียง ๙.๓%

๑๔. ตัวชี้วัดเศรษฐกิจอิตาลี ณ วันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๔

                 รายการ                     จำนวน            % เปลี่ยนแปลง          % เปลี่ยนแปลง

เทียบกับเดือนก่อน เทียบกับช่วงเดียวกันปี

                                                                 ไตรมาสก่อน               ก่อน
๑. การผลิตภาคอุตสาหกรรม                                           -๐.๓ %                - ๑.๖ %
(ต.ค.๕๔)
๒. คำสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรม                                           +๐.๕ %                 +๐.๔ %
(ต.ค.๕๔)
๓. การบริโภค                                                     -๐.๑ %                 +๑.๑ %
(ก.ย.๕๔)
๔. ภาวะเงินเฟ้อ                                                   +๐.๖ %                 +๓.๔ %
(ต.ค.๕๔)
๕. อัตราการจ้างงาน                          ๕๖.๙%                 -๐.๒ %                 -๐.๑ %
(ก.ย.๕๔)                                (จำนวนคนทำงาน

๒๒,๙๑๑,๐๐๐คน)

๖. อัตราการว่างงาน                          ๘.๓%                  +๐.๓ %                 +๐.๓ %
(ก.ย. ๕๔)                               (จำนวนคนว่างงาน

๒,๐๘๐,๐๐๐ คน )

๗.  การนำเข้า                                                    +๐.๙ %                +๑๒.๕ %
(ส.ค.๕๔)
๘. การส่งออก                                                     +๐.๑ %                +๑๖.๒ %
(ส.ค.๕๔)
๙. หนี้สาธารณะ                              ๑,๘๙๙                 -๐.๖ %                   +๓ %
(ส.ค.๕๔)                                  (พันล้านยูโร)
ที่มา: Confindustria, ConFcommercio, ISTAT, Bank of Italy

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโรม

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ