รายงานการเยี่ยมชมงานแสดงสินค้าและการประชุม 4th Annual World Medical Tourism & Global Healthcare Congress

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 18, 2011 15:13 —กรมส่งเสริมการส่งออก

รายงานการเยี่ยมชมงานแสดงสินค้าและการประชุม

4 th Annual World Medical Tourism & Global Healthcare Congress

25-28 ตุลาคม 2554

ณ ศูนย์ประชุม Marriott Renaissance Convention Center

ณ เมือง Schaumburg, Illinois, USA

1. การจัดงาน

งาน The 4 th Annual World Medical Tourism & Global Healthcare Congress เป็นงานประชุม และแสดงสินค้า/บริการด้านการแพทย์/สุขภาพเชิงท่องเที่ยว จัดขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อ เผยแพร่ ให้ความรู้ การด้านแพทย์ และสุขภาพ รวมไปถึงแนวทางการขยายตลาด งานฯ จัดขึ้นทุกปี โดย

สมาคม Medical Tourism Association (MTA) และงานในครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 25-28 ตุลาคม 2554 ณ ศูนย์ประชุม Marriott Renaissance Convention Center ณ เมือง Schaumburg มลรัฐ Illinois ประเทศสหรัฐอเมริกา

การจัดงานฯ แยกออกเป็นสองส่วน คือ การจัดประชุมและสัมมนา (Conference) ซึ่งถือว่าเป็นกิจกรรมสำคัญของงานฯ มีผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกกว่า 150 คน และหัวข้อ

สัมมนาและบรรยายกว่า 160 เรื่อง โดยแยกออกเป็น 4 สาย คือ Global Benefits, Medical Tourism, Health & Wellness และ Healthcare Investment งานประชุมมี 4 วัน ระหว่างวันที่ 25-28 ตุลาคม 2554 และงานอีกส่วนหนึ่งเป็นการจัดงานแสดงสินค้า (Exhibition) ซึ่งมีเพียง 3 วัน ระหว่างวันที่ 26-28 ตุลาคม 2554 เปิด ให้บริการระหว่างเวลา 08.00 น. - 17.00 น เปิดให้เฉพาะนักธุรกิจและบุคคลในวงการเข้าชมเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ประชาชนทั่วไปเข้าชม และคิดค่าธรรมเนียมผู้เข้าชมงานลงทะเบียนคนละ 2, 000 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งรวมค่าเข้าประชุม สัมมนาเชิงปฏิบัติ และการชมงานแสดงสินค้า

2. ผู้เข้าร่วมงาน

การเข้าร่วมงานฯ ดำเนินในรูปแบบการให้การสนับสนุน (Sponsor) การจัดงานฯ ซึ่งผู้เข้าร่วมงานจะได้รับพื้นที่เป็นสัดส่วนกับเงินสนับสนุน ไม่มีการขายพื้นที่ ผู้จัดงานฯ แบ่งระดับการสนับสนุนออกเป็น 6 ระดับ คือ ระดับ Diamond Sponsor จำนวน 100,000 เหรียญสหรัฐฯ ระดับ Platinum Sponsor จำนวน 75,000 เหรียญสหรัฐฯ ระดับ Gold Sponsor จำนวน 40,000 เหรียญสหรัฐฯ ระดับ Silver Sponsor จำนวน 15,000 เหรียญสหรัฐฯ ระดับ Bronze Sponsor จำนวน 7,500 เหรียญสหรัฐฯ และ ระดับ Exhibitor Sponsor จำนวน 5,000 เหรียญสหรัฐฯ

มีผู้เข้าร่วมงานแบบ Sponsor จำนวน 70 ราย จำนวน 114 คูหา ทั้งในประเทศสหรัฐฯ และ จากต่างประเทศ จำนวน 20 ประเทศ ได้แก่ บราซิล โคลอมเบีย เม็กซิโก อาร์เจนติน่า เอควาดอร์ นิคารากัว คอสตาริก้า บาร์เบดอส จาไมก้า ปานามา เยอรมนี ออสเตรเลีย ตุรกี ไต้หวัน เกาหลี ฟิลิปปินส์ อิสราเอล มาเลเซีย จอร์แดน และ ประเทศไทย ซึ่งเข้าร่วมงานเป็น Silver Sponsor โดย การ

ท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนครนิวยอร์ก และภาคเอกชนไทย 2 ราย คือ Bangpakok Hospital Group และ โรงพยาบาลสมิติเวช

3. ผู้เข้าชมงาน

ผู้เข้าชมงานส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงการแพทย์ การรักษาพยาบาล ซึ่งมีผู้สนใจ ลงทะเบียนเข้าร่วมชมงานประมาณ 1,500 คน ประกอบด้วย บริษัทประกัน ตัวแทนประกัน แพทย์ผู้บริหารโรงพยาบาล/สถานพยาบาล นักวิจัยการแพทย์และสุขภาพ นายจ้าง ผู้ให้บริการด้านสุขภาพ และ โบรกเกอร์ (Medical Tourism Brokers) เป็นต้น

4. การจัดแสดงสินค้าและบริการ

สินค้าและบริการที่นำมาเสนอในงาน แยกเป็น 2 กลุ่ม คือ สินค้าบริการด้านการแพทย์/บำบัดเชิงท่องเที่ยว จากต่างประเทศ จำนวน 20 ประเทศ ซึ่งจัดคูหาเพื่อเผยแพร่ ข้อมูล และแจกเอกสารเพื่อชักชวนกลุ่มเป้าหมายให้หันไปใช้บริการรักษาพยาบาลในต่างประเทศ และอีกกลุ่มหนึ่ง เป็นบริษัทในสหรัฐฯ ที่เสนอสินค้าและบริการ ได้แก่

          -  Green Hospital          - Sustainable Healthcare            - Medical Equipments
          -  Traveling Services      - Research & Education              - Bio Testing System
          -  Legal Counsel           - Healthcare Consultant             - Magazine

5.  ข้อคิดเห็นและเสนอแนะ

5.1 การผลักดันและยกระดับโรงพยาบาลเอกชนไทยให้ได้มาตรฐานและได้การรับรององค์กร Joint Commission International (JCI Accreditation) ให้มากขึ้น เพื่อรองรับการขยายตลาดให้บริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยจากต่างประเทศ

5.2 การขยายบริการรักษาพยาบาลไปยังสหรัฐฯ ต้องคำนึงถึงด้วยกฎหมายของสหรัฐฯ เนื่องจาก สหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีกฎหมายควบคุมด้านบริการรักษาพยาบาลที่เข้มงวด การโฆษณาชักชวนชาวสหรัฐฯ ใช้บริการ จำเป็นต้องศึกษากฎหมายการคุ้มครองผู้ป่วย และการให้ข้อมูล

โดยละเอียดทั้งในด้านวิธีการรักษาพยาบาล การบำบัด และ การเดินทาง เป็นต้น Mr. Tracy Mabry เป็นที่ปรึกษากฎหมายด้านธุรกิจ Healthcare และเป็นผู้บรรยายในงานฯ ให้ข้อคิดเห็นเรื่องโรงพยาบาลที่ดำเนินธุกิจการแพทย์เชิงท่องเที่ยว ว่า จะต้องให้ความสำคัญและเข้าใจด้านวัฒนธรรม ภาษา และ ประเพณีของผู้ป่วย เพื่อการสื่อสารที่ถูกต้อง

5.3 ปัจจุบัน ธุรกิจการแพทย์เชิงท่องเที่ยวได้รับความสนใจจากประเทศต่างๆ มากขึ้น ซึ่งเป็นผลให้เกิดการแข่งขันมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ผู้เสนอบริการจะต้องให้บริการที่ก่อให้เกิดการประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้รับบริการหรือผู้ป่วย จะเห็นได้จากโรงพยาบาลหลายแห่งในสหรัฐฯ จะรวมตัวเป็นกลุ่มเป็นเครือข่ายเดียวกันเพื่อลดต้นทุนและการบริการที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น การ

เชื่อมโยงระหว่างโรงพยาบาลในประเทศไทยและกลุ่มโรงพยาบาล หรือ สถานพยาบาลสหรัฐฯ จะช่วยผลักดันการบริการให้ขยายตัวเพิ่มสูงและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

5.4 การศึกษากฎหมายคุ้มครองผู้ป่วยและประกันสุขภาพของสหรัฐฯ Patient Protection and Affordable Care Act ซึ่งประธานาธิบดี Barack Obama ลงนามมีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2553 เพื่อนำมาวางกลยุทธ์การเสนอบริการให้แก่ผู้ป่วยอเมริกันมารักษาตัวในประเทศไทย

5.5 การแพทย์เชิงท่องเที่ยวเป็นธุรกิจสาขาหนึ่งที่ทำรายได้และนำเงินตราเข้าประเทศไทยไม่ต่ำกว่าปีละ 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แม้ว่า บริการสาขานี้ของไทยจัดอยู่ในระดับแนวหน้า อย่างไรก็ตาม การแข่งขันในธุรกิจนี้ขยายตัวสูงขึ้นมาโดยตลอด ดังนั้น ประเทศไทยจะต้องผลักดันและ

ประชาสัมพันธ์ธุรกิจการแพทย์เชิงท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง งาน Medical Tourism & Global Healthcare Congress เป็นงานที่มีความเหมาะสมในการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ธุรกิจการแพทย์เชิงท่องเที่ยว เนื่องจากมีประโยชน์หลายประการ เช่น การสร้างเครือข่าย (Networking) การสนับสนุนด้านการตลาด (Marketing Support) และติดตามความเคลื่อนไหวและแนวโน้มของตลาด (Market Trends) ดังนั้น

ภาครัฐจึงเห็นควรสนับสนุนภาคเอกชนเข้าร่วมงาน Medical Tourism & Global Healthcare Congress ซึ่งในครั้งต่อไป จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-26 ตุลาคม 2555 ณ เมือง Miami รัฐฟลอริด้า

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


แท็ก Marriott   USA   AIS  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ