รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจและภาวะการค้าภูมิภาคอาเซียนประเทศ ประเทศสิงคโปร์ (1-31 ตุลาคม 2554)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 18, 2011 15:34 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและภาวะการค้าระหว่างวันที่ 1-31 ตุลาคม 2554

1. MTI สิงคโปร์ คาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจล่าสุด ปี 2554 ร้อยละ 5.0 กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ (Ministry of Trade and Industry : MTI) (14 ตุลาคม 2554) คาดการณ์ว่า ผลการเติบโตเศรษฐกิจสิงคโปร์ช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2554 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 (เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 10.5) ส่งผลให้ MTI คาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจในปี 2554 ลดลงเหลือ ร้อยละ 5.0 (จากเดิมร้อยละ 6.0-7.0) ทั้งนี้ ผลการเติบโตเศรษฐกิจสิงคโปร์ช่วง ไตรมาส ที่ 3 ปี 2554 ขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงคือ ร้อยละ 5.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 10.5 สืบเนื่องจากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมสำคัญสรุป ดังนี้ (1) ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.2 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (ร้อยละ 13.7) เนื่องจากผลผลิตสินค้าประเภท Biomedical เพิ่มขึ้นมาก เมื่อเทียบกับผลผลิตสินค้าอิเล็คทรอนิกส์ที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด (2) ภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้างขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.4 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า(ร้อยละ 6.7) เนื่องจากภาคเอกชนลดโครงการในการก่อสร้าง (3) ภาคอุตสาหกรรมการบริการในการผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า(ร้อยละ 10.2) ทั้งนี้ กลุ่มที่ขยายตัวลดลง คือ การคมนาคมขนส่งและคลังสินค้าและการบริการด้านการเงิน สำหรับช่วงที่เหลือของปี 2554 คาดว่า การเติบโตเศรษฐกิจของสิงคโปร์จะชะลอตัวลง โดยกลุ่มที่จะขยายตัวลดลง ได้แก่ สินค้าอิเล็คทรอนิกส์ เนื่องจากความต้องการของตลาดโลกลดลงมาก และการบริการด้านการเงิน เนื่องจากสภาวะการเงินที่ไม่มั่นคงทั่วโลก ส่วนกลุ่มที่จะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น คือ การผลิตเภสัชภัณฑ์โดยเฉพาะสินค้า Biomedical ข้อสังเกต สิงคโปร์โดยกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม (Ministry of Trade and Industry : MTI) ปรับลดอัตราการเติบโตเศรษฐกิจปี 2554 จากเดิมร้อยละ 6.0 - 7.0 ลดลงเป็นร้อยละ 5.0 โดยใช้พื้นฐานปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ได้แก่ 1) เศรษฐกิจถดถอยและหนี้สินในสหรัฐฯ 2) วิกฤตเศรษฐกิจทางการเงินของ EU 3) ราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูง 4) การเติบโตเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาชะลอตัวลง และ 5) ภัยธรรมชาติทั่วโลก

2. การค้าปลีกของสิงคโปร์ในเดือนสิงหาคม 2554 มีอัตราลดลงร้อยละ 3.3 เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2554 Department of Statistics สิงคโปร์ รายงานว่า การเติบโตเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ทำให้ผู้บริโภคระวังอย่างมากในการจับจ่ายใช้สอย ส่งผลให้การค้าปลีกในเดือนสิงหาคม 2554 มีอัตราลดลงร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า และหากเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2554 มีอัตราลดลงร้อยละ 7.2 สินค้าและการบริการที่จำหน่ายลดลงได้แก่ ยานยนต์ลดลงร้อยละ 17.4 นาฬิกาและอัญมณีลดลงร้อยละ 9.8 การ-สันทนาการลดลงร้อยละ 4.5 และภัตตาคารลดลงร้อยละ 2.8 อนึ่ง คาดว่า การค้าปลีกจะขยายตัวลดลงต่อไปอีก เนื่องจากวิกฤตหนี้สินในยุโรปที่ยังคงคาราคาซัง ตลาดหุ้นทั่วโลกไม่มั่นคง และนโยบายของภาครัฐสิงคโปร์ที่จำกัดการจ้างชาวต่างชาติทำงานในสิงคโปร์

3. การส่งออกสินค้าทั่วไปที่ผลิตในสิงคโปร์ในเดือนกันยายน 2554 ลดลงร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า หนังสือพิมพ์ The Straits Times ฉบับวันที่ 18 ตุลาคม 2554 รายงานว่า สถิติจาก IE Singapore แสดงถึงการส่งออกสินค้าอิเล็คทรอนิกส์ลดลงร้อยละ 13.6 โดยสินค้า Disk Drives, Integrated Circuits Parts และ Diodes and Transistors ส่งออกลดลงร้อยละ 54, 29.5 และ 17.1 ตามลำดับ เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวลงและความต้องการของสินค้าอิเล็คทรอนิกส์ลดลง นอกจากนี้ Petro-Chemicals ส่งออกลดลงร้อยละ 8 ด้วย สำหรับสินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้นคือ เภสัชภัณฑ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.5 ทั้งนี้ การส่งออกของสิงคโปร์ไปยังตลาดคู่ค้าสำคัญมีอัตราลดลง ได้แก่ การส่งออกไปยังยุโรปลดลงร้อยละ 22 เนื่องจากยุโรปยังคงอยู่ภายใต้วิกฤตด้านการเงิน และการส่งออกไปยังสหรัฐฯ และจีน ลดลงร้อยละ 7 และ 9.1 ตามลำดับ อนึ่ง นักเศรษฐศาสตร์ภาคเอกชนคาดว่า ในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2554 และต่อไปจนถึงปี 2555 การส่งออกสินค้าทั่วไปอื่นๆ(ยกเว้นน้ำมัน)ไม่สามารถเป็นแรงในการสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ จึงทำให้การส่งออกคงอยู่ในระดับที่ลดลงต่อไป และเป็นสัญญาณเตือนอย่างสำคัญที่บ่งบอกถึงเศรษฐกิจสิงคโปร์จะมีการขยายตัวในระดับที่ลดลงอย่างรวดเร็วกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้

4. Singapore Business Federation (SBF) สนับสนุนบริษัทสิงคโปร์ด้านธุรกิจเพื่อรักษาธรรมชาติ (Clean Technology and Other Environmentally-related) หนังสือพิมพ์ The Straits Times ฉบับวันที่ 18 ตุลาคม 2554 รายงานว่า ในการประชุม Asia Pacific Sustainability Leadership Forum ณ Resorts World Sentosa สิงคโปร์ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2554 SBF ได้ลงนาม MOU (Memorandum Of Understanding) กับคู่ค้านานาชาติ 3 ราย ได้แก่ (1) Copenhagen Capacity (เดนมาร์ค) ส่งเสริมการลงทุนของบริษัทต่างชาติในเดนมาร์ค ซึ่งภายใต้ MOU ทั้งสองฝ่ายจะทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมสาขา Clean-tech (2) Japanese Bank Sumitomo Mitsui Banking Corporation (SMBC) ที่จะช่วยจับคุ่ธุรกิจระหว่างบริษัทสมาชิกของ SBF กับบริษัทลูกค้าธนาคารในญี่ปุ่นซึ่งมุ่งเน้นโครงการในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรักษาสภาพแวดล้อม

อีกทั้งธนาคารฯจะให้คำแนะนำด้านการเงินเกี่ยวกับโครงการด้วย ทั้งนี้ 2 ฝ่ายเตรียมการจัดกิจกรรม networking ในโตเกียวสำหรับบริษัท SMEs ของสิงคโปร์กับญี่ปุ่น และ (3) World Business Council (Sustainable Development) ที่รวมตัวสำนักงานกฎหมาย 200 รายทั่วโลก เพื่อคงไว้ในการสนับสนุนการพัฒนาสาขา Clean-tech โดย 2 ฝ่ายจะศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้ง Singapore Chapter of the Council อนึ่ง การสนับสนุนจาก SBF นอกจากจะช่วยให้บริษัทสิงคโปร์ธุรกิจสาขา clean-tech มีเครือข่ายติดต่อกับคู่ค้าทั่วโลกและเปิดโอกาสให้มีธุรกิจในโครงการนานาชาติต่อไปแล้ว ยังเป็นการแสดงให้เห็นว่า สิงคโปร์เป็นประเทศที่ให้การสนับสนุนธุรกิจเพื่อรักษาธรรมชาติอย่างจริงจัง รวมถึงการสนับสนุนให้มีการค้นคว้าวิจัยและการสร้างสรรในการพัฒนาอุตสาหกรรม Clean-tech ที่มีการเจริญเติบโตและมีการ ลงทุนเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะในด้าน Renewable Energy, Smart Grids, Environment, Water และ Carbon Management ซึ่งคาดว่า ภายในปี 2015 จะมีมูลค่าเพิ่มถึง 3.4 พันล้านเหรียญสิงคโปร์และมีการสร้างงานเพิ่มขึ้น 18,000 อัตรา

5. สิงคโปร์มุ่งเน้นสร้างความเท่าเทียมกันทางสังคม หนังสือพิมพ์ The Straits Times ฉบับวันที่ 21 ตุลาคม 2554 รายงานว่า Mr. Lee Hsien Loongนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ แถลงการณ์เมื่อเข้ารับหน้าที่ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2554 ว่า นโยบายสำคัญและเร่งด่วนของสิงคโปร์ คือ การยกระดับความป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น ให้ทุกคนได้รับสิทธิประโยชน์เท่าเทียมกัน โดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับการจัดระเบียบทางสังคม เพื่อสร้างโอกาสและความก้าวหน้าให้กับประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน เนื่องจากสังคมในสิงคโปร์เป็นสังคมที่มีความพึ่งพาตนเองอย่างสูง รัฐบาลจะเน้นการพัฒนาไปยังทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาด้านการศึกษา การฝึกอบรม โดยเน้นในเชิงคุณภาพมากยิ่งขึ้น

รัฐบาลสิงคโปร์ได้มุ่งเน้นการวางแผนการพัฒนาสังคม โดยเน้น 3 เรื่องคือ (1) Inclusive Society ให้ประชาชนได้รับสิทธิ์อย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกันมากขึ้น (2) Vibrant Economy ให้มีการพัฒนาการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในอัตราที่สูงขึ้น (3) Constructive Politics โดยมุ่งเน้นผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ (Majority) ในประเทศ

อนึ่ง ภาครัฐวางเป้าหมายอัตราการเติบโตเศรษฐกิจสำหรับช่วง 10 ปีข้างหน้า ร้อยละ 3-5 แต่มีความหวังว่า อัตราการเติบโตเศรษฐกิจฯ อาจสูงขึ้นได้ถึงร้อยละ 5.5

ข้อสังเกต สิงคโปร์เป็นประเทศเล็กที่ต้องแข่งขันทางเศรษฐกิจกับประเทศอื่นๆสูง โดยเฉพาะในเอเชีย แต่ภาครัฐสิงคโปร์มีการวางแผนการดำเนินงานในระยะยาวที่ชัดเจนและโปร่งใสและมีการสร้างระบบการทำงาน ให้มีความร่วมมือกันในทุกภาค ส่งผลให้การทำงานมีประสิทธิภาพและการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

6. สิงคโปร์เปิดตัวโครงการเช่าระบบพลังงานแสงอาทิตย์ หนังสือพิมพ์ The Straits Times ฉบับวันที่ 3 ตุลาคม 2554 รายงานว่า การเคหะแห่งชาติสิงคโปร์ (Housing Board Development : HDB) เปิดตัวโครงการเช่าระบบพลังงานแสงอาทิตย์เป็นครั้งแรกมูลค่า 11 ล้านเหรียญสิงคโปร์ โดยได้ทำความตกลงให้บริษัท Sunseap Leasing ซึ่งเป็นบริษัทท้องถิ่นผู้ผลิต

ระบบสร้างไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทำการออกแบบ ติดตั้งและบำรุงรักษาระบบพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับอาคารที่พักอาศัย 45 แห่งในเขต Punggol (ซึ่งเป็นเขตนิเวศวิทยาแห่งแรกของสิงคโปร์) โดยHDB สนับสนุนเงินจำนวน 3.28 ล้านเหรียญสิงคโปร์ หรือร้อยละ 30 ของเงิน 11 ล้านเหรียญสิงคโปร์ โดยจัดสร้างระบบติดตั้งใหญ่ที่สุดเพื่อเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้าเพื่ออำนวยความสะดวกแก่พื้นที่ใช้สอยสาธารณะ เช่น ทางเดินและลิฟท์ โครงการเช่าระบบพลังงานแสงอาทิตย์นี้อยู่ภายใต้โปรแกรมรวมในการทดลองใช้พลังงานแสงอาทิตย์ของ HDB มูลค่า 31 ล้านเหรียญสิงคโปร์ ภายในระยะเวลา 5 ปี ซึ่งในอดีต HDB จัดซื้อและติดตั้งแผงผลิตพลังงานไฟฟ้าเอง ซึ่งถึงปัจจุบันมีอาคารที่ใช้ระบบพลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 40 แห่งในชุมชน 10 เขต ทั้งนี้ เมื่อโครงการเช่าระบบพลังงานแสงอาทิตย์ครั้งแรกได้เริ่มต้นขึ้น HDB มีแผนการที่จะทำให้มีโครงการดังกล่าวสำหรับเขตอื่นๆเพิ่มขึ้นต่อไปทั่วสิงคโปร์ โดยขั้นต้นประมาณ 70 แห่ง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการและเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ในสิงคโปร์ นอกจากนี้ ช่วยให้เกิดการค้นคว้าวิจัยเทคโนโลยีใหม่ๆในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพัฒนาสู่อุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ในระดับภูมิภาค

          7. ข้าวหอมมะลิไทยในสิงคโปร์ราคาพุ่งสูงขึ้น จากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่อย่างรุนแรงในประเทศไทยได้ทำลายพื้นที่เพาะปลูกข้าวเสียหายเป็นจำนวนมาก และการประกาศใช้นโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลที่จะรับซื้อข้าวจากเกษตรกรในราคาที่สูงขึ้นร้อยละ 44  ซึ่งสูงกว่าราคาตลาด  ประกอบกับค่าเงินเหรียญสหรัฐฯที่เพิ่มสูงขึ้น  ส่งผลกระทบต่อราคาข้าวหอมมะลิไทยในสิงคโปร์ให้พุ่งสูงขึ้น  หนังสือพิมพ์  The Straits Times  ฉบับวันที่ 11 ตุลาคม 2554  รายงานว่า  10  แบรนด์ที่ได้รับความนิยมมากในสิงคโปร์ เตรียมตัวขึ้นราคาข้าวหอมมะลิอย่างแน่นอน  โดยจะเริ่มจำหน่ายราคาใหม่ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5-10  ภายในต้นสัปดาห์หน้าเป็นต้นไป  ซึ่งข้าว 10 แบรนด์ดังกล่าว (Heavenly, Golden Phoenix, Golden Tiger,  Peacock, Golden Prosperity, Golden Leaf , Royal Umbrella, Golden Peony และ  Harmuni)  มีสัดส่วนตลาดค้าปลีกประมาณร้อยละ 40    สำหรับผู้นำเข้ารายสำคัญๆ ได้แก่ (1) บริษัท See Hoy Chan (Mr. E. K. Lim, Operations Manager) ส่งข้าวจำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้าทั่วไปประมาณ 2,000 ร้าน กล่าวว่า บริษัทไม่ได้ขึ้นราคามาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว เนื่องจากไม่ประสงค์ให้ผู้บริโภครับภาระ แต่ในปัจจุบัน บริษัทไม่สามารถรับภาระราคาข้าวที่เพิ่มขึ้น บริษัทนำเข้าแบรนด์ที่เป็นที่นิยม ได้แก่ Heavenly, Golden Phoenix และ Golden Tiger  จะเริ่มขึ้นราคาจำหน่ายข้าวในสัปดาห์หน้า โดยข้าวถุงน้ำหนัก 5 กิโลกรัม  ราคา 13.50- 15.00 เหรียญสิงคโปร์  จะมีราคาเพิ่มขึ้นอีก 1 เหรียญสิงคโปร์  ส่วนข้าวถุงน้ำหนัก 10 กิโลกรัม ราคา  26-28 เหรียญสิงคโปร์  จะมีราคาเพิ่มขึ้นอีก  2 เหรียญสิงคโปร์หรือมากกว่า  (2) บริษัท Chye Choon Foods ซึ่งนำเข้าแบรนด์ Peacock, Golden Prosperity และ Golden Leaf  จะเพิ่มราคาสูงขึ้นประมาณร้อยละ 5-10  ภายในเดือนพฤศจิกายน (3) บริษัท Topseller นำเข้าแบรนด์  Royal Umbrella, Golden Peony และ Harnuni จะเพิ่มราคาสูงขึ้นร้อยละ 10 ภายในปลายปี 2554  ทั้งนี้ ความคิดเห็นของหน่วยงานในสิงคโปร์ ดังนี้ (1) กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ คาดว่า  การเพิ่มราคาสูงขึ้นในขณะนี้ ไม่ได้เป็นการเพิ่มในระดับที่สูงมาก เนื่องจากสิงคโปร์มีนโยบายในการจัดหาสินค้าจากแหล่งผลิตอื่นๆจากทั่วโลก ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะรักษาระดับราคาให้เหมาะสมอย่างคงที่ ในชั้นต้นเป็นการยากที่จะคาดการณ์ได้ถึงผลที่จะเกิดขึ้นจากนโยบายการรับจำนำข้าวของไทย นอกจากนี้ นโยบาย Stockpile ข้าวที่กำหนดให้ผู้นำเข้าสิงคโปร์จะต้องเก็บสต๊อคข้าวไว้ด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลนข้าวอย่างปัจจุบันทันด่วนและจะเป็นการช่วยผ่อนคลายราคาที่จะเพิ่มขึ้นได้อีกทางหนึ่งด้วย (2) Consumers Association of Singapore คาดว่า  การเพิ่มสูงขึ้นของราคาข้าว เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายไม่พึงประสงค์ แต่หากราคาข้าวยังคงเพิ่มขึ้นในระยะเวลาต่อเนื่องต่อไป  จะทำให้เกิดปัญหาต่อทุกฝ่าย แม้ว่า ซุปเปอร์มาร์เก็ตจะนำเข้าในปริมาณมาก  และได้ราคาที่ต่อรองได้เป็นอย่างดี แต่ก็คงจะหลีกเลี่ยงการขึ้นราคาไม่ได้ หากราคายังคงเพิ่มขึ้นต่อไป ทั้งนี้ สภาวะตลาดคงไม่เหมือนกับวิกฤตการณ์ข้าวในปี  2551  (ข้าวคุณภาพดี มีราคาสูงขึ้นถึงตันละ 1,200 เหรียญสหรัฐฯ) เนื่องจาก ผู้นำเข้ามีประสบการณ์และได้วางนโยบายในการนำเข้าข้าวจากแหล่งผลิตอื่นๆอีกด้วย  อย่างไรก็ตาม สำหรับราคาข้าวในอนาคต ยากที่จะคาดการณ์ได้ ในส่วนของข้อมูลจากสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย แจ้งว่า ราคาข้าวหอมมะลิตามระดับมาตรฐานสากลได้เพิ่มสูงขึ้นจากตันละ  988 เหรียญสหรัฐฯ (1,260 เหรียญสิงคโปร์) เป็นราคาตันละ 1,130 เหรียญสหรัฐฯ ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา  โดยนายชูเกียรติ  โอภาสวงศ์  ประธานสมาคม     ผู้ส่งออกข้าวไทยกล่าวว่า สภาวะตลาดจะชัดเจนยิ่งขึ้นในเดือนพฤศจิกายน เมื่อข้าวใหม่ได้เก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ  และคาดว่า จะมีราคาสูงขึ้นถึงตันละ 1,400  เหรียญสหรัฐฯ  อนึ่ง ในปี 2553  สิงคโปร์นำเข้าข้าวปริมาณ  310,135 ตัน  โดยนำเข้าจากไทยร้อยละ 53   เวียดนามร้อยละ 26.2  และอินเดียร้อยละ  13.8    ส่วนที่เหลือนำเข้าจาก พม่า สหรัฐฯ และ จีน ข้อสังเกต (1) การที่ข้าวหอมมะลิมีราคาเพิ่มสูงขึ้น จะทำให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนไปเลือกซื้อข้าวที่มีคุณภาพใกล้เคียงแต่มีราคาถูกกว่า และหากราคายังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจจะทำให้ส่วนแบ่งตลาดของข้าวหอมมะลิจากไทยลดน้อยลงได้ในอนาคต (2) รสนิยมของผู้บริโภคที่มีต่อข้าวหอมมะลิไทยอาจเปลี่ยนไปเมื่อได้รับประทานข้าวจากแหล่งผลิตอื่นๆติดต่อกันเป็นระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งจะทำให้เป็นปัญหาไม่สามารถที่จะเรียกร้องให้ผู้บริโภคหันมานิยมบริโภคข้าวหอมมะลิไทยได้เหมือนเดิม

8. ข่าวเกี่ยวกับข้าวในหนังสือพิมพ์ The Straits Times ฉบับวันที่ 22 และ 24 ตุลาคม 2554 รายงาน ดังนี้

1. นาย Lee Yi Shyan, Minister of State for Trade and Industry ของสิงคโปร์ กล่าวในรายงานของ หนังสือพิมพ์

The Straits Times ฉบับวันที่ 22 ตุลาคม 2554 เกี่ยวกับอุทกภัยในประเทศไทย ซึ่งจะไม่เป็นสาเหตุสำคัญที่จะทำให้ราคาจำหน่ายข้าวในตลาดสิงคโปร์สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์ยังคงต้องพึงเฝ้าระวังการเก็บเกี่ยวในเดือนหน้า เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการจัดหาข้าว และในขณะเดียวกัน สิงคโปร์นำเข้าข้าวจากประเทศอื่นๆ เช่น เวียดนาม อินเดีย และสหรัฐฯ ด้วย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา หากราคาข้าวหอมมะลิไทยที่เป็นที่นิยมของชาวสิงคโปร์มีราคาเพิ่มสูงขึ้นอีก ทั้งนี้ สิงคโปร์นำเข้าข้าวจากไทยคิดเป็นร้อยละ 50 ของการนำเข้ารวม และคิดเป็นอัตราน้อยกว่าร้อยละ 2 ของการส่งออกข้าวรวมของไทย และนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2554 ราคาข้าวหอมมะลิไทยที่ส่งออกมีราคาสูงขึ้นประมาณร้อยละ 9

สิงคโปร์มีแผนการในการรองรับเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลนข้าวและมีราคาสูงขึ้น ได้แก่ (1) การนำเข้าข้าวจากแหล่งผลิตอื่นๆทั่วโลก (2) นโยบายสต๊อคไพล์ข้าว ที่ผู้นำเข้าต้องเก็บสำรองข้าวไว้ในโกดังอย่างน้อยเป็นเวลา 2 เดือนก่อนนำออกจำหน่าย (3) ความร่วมมือกับซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำและผู้ค้าปลีกเพื่อที่จะนำเสนอข้าวชนิดอื่นๆที่มีรสชาดอร่อยและมีคุณภาพดี รวมถึงอาหารประเภทอื่นๆที่ทดแทนได้ ให้แก่ผู้บริโภคพิจารณาเป็นทางเลือกในการบริโภคแทนข้าว

2. ข่าวจาก The Straits Times ฉบับวันที่ 24 ตุลาคม 2554 รายงานว่า การนำเข้าข้าวของสิงคโปร์จากไทยและ

กัมพูชาจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ถึงแม้ว่าอุทกภัยทำให้พื้นที่เกษตรกรรมเสียหาย และเอกอัครราชทูตของทั้งสองประเทศได้ให้ความมั่นใจว่า ยังมีข้าวปริมาณเพียงพอในการส่งออก

เอกอัครราชทูตไทยในสิงคโปร์ กล่าวว่า ปริมาณผลผลิตจะลดลงอย่างแน่นอน แต่ยังคงมีเพียงพอสำหรับการบริโภคในประเทศและการส่งออก อีกทั้งผู้เชี่ยวชาญในไทยกล่าวว่า หากน้ำลดลงเร็ว การเก็บเกี่ยวข้าวสามารถทำได้ในเดือนธันวาคม โดยไม่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ คาดว่า น้ำท่วมคงจะลดลงภายใน 1 เดือน

ในส่วนของเอกอัครราชทูตกัมพูชาในสิงคโปร์ กล่าวว่า พื้นที่เพาะปลูกข้าวได้รับความเสียหายจากอุทกภัยเพียงร้อยละ 10 ของพื้นที่รวม และเกษตรกรบางรายได้เปลี่ยนไปปลูกข้าวที่ทนทานต่อน้ำท่วมซึ่งสามารถปลูกได้ในพื้นที่ที่มีน้ำท่วม นอกจากนี้ กัมพูชาสามารถส่งออกข้าวได้ตามปริมาณที่ตกลงกับซุปเปอร์มาร์เก็ต NTUC FairPrice

ข้อสังเกต ปัญหาอุทกภัยเกิดในประเทศแหล่งผลิตข้าวอื่นๆด้วย ซึ่งจะทำให้ผลผลิตน้อยลง ประเทศผู้นำเข้าข้าวรวมถึงสิงคโปร์อาจได้รับผลกระทบที่ความต้องการภายในประเทศอยู่ในระดับสูงกว่าการนำเข้า อย่างไรก็ดี สิงคโปร์พยายามดำเนินการในด้านต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค ไม่ให้เกิดความหวั่นวิตก

กิจกรรมที่ดำเนินการ ระหว่างวันที่ 1-31 ตุลาคม 2554

1. รายงานการประเมินผลคณะผู้แทนการค้าสิงคโปร์เยือนงาน Bangkok Gems & Jewelry Fair 2011 ระหว่างวันที่ 14-18 กันยายน 2554

2.รายงานการประเมินผลคณะผู้แทนการค้าสิงคโปร์เยือนงาน TILOG 2011ระหว่างวันที่ 22-25 กันยายน 2554

3.ผู้ช่วยผู้อำนวยการฯ ปฏิบัติราชการในประเทศไทย นำคณะผู้แทนการค้าสิงคโปร์เยือนงานฯ Bangkok RHVAC and Bangkok E&E 2011 ระหว่างวันที่ 11-17 ตุลาคม 2554

4. ผู้ช่วยผู้อำนวยการฯ ปฏิบัติราชการในประเทศไทย นำคณะผู้แทนการค้าสิงคโปร์เยือนงานฯ BIG & BIH 2011 ระหว่างวันที่ 17-24 ตุลาคม 2554

5. การเชิญสื่อมวลชนเยือนงาน BIG & BIH 2011 (October)

6. ประสานการส่งแผนงานเพิ่มเติม ปี 2555 (โครงการฯ ณ ห้างฯ Ngee Ann Cityด้านหน้า Takashimaya)

7.ประสานส่งข้อมูลการจัดหาพื้นที่และประมาณการค่าใช้จ่ายดำเนินงานแสดงสินค้า Thailand Trade Show 2012 (300 คูหา) ในสิงคโปร์

8.ประสานเชิญชวนและจัดคณะผู้แทนการค้าสิงคโปร์เยือนงานแสดง

สินค้าในไทย 2 งาน คือ

(1) Thailand Health & Beauty Show 2011 (30 October — 3 November 2011)

(2) Thailand International Education Expo 2011 (4-6 November 2011)

ทั้งนี้ เนื่องจากเหตุการณ์อุทกภัยในประเทศไทย กรมฯได้แจ้งเลื่อนกำหนดการจัดงานดังกล่าว เป็นช่วงปลายเดือนมกราคม 2555 และระหว่างวันที่ 30-31 มีนาคม — 1 เมษายน 2555 ตามลำดับ ซึ่ง สคต.ได้แจ้งข้อมูลแก่คณะผู้แทนการค้าฯ

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ สิงคโปร์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ