ภาพรวมภาวะการค้า
สำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ นครแวนคูเวอร์ ขอรายงานสรุปภาวะการค้าและการแข่งขันสินค้าไทยในตลาดแคนาดา ในช่วง 9 เดือนแรกของปี2554 (มกราคม-กันยายน : ตัวเลขฝ่ายไทย ) ซึ่งมีมูลค่าการค้าขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 26.24 (เปรียบเทียบกับ ร้อยละ 24.12 ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2553) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้(เปรียบเทียบกับ สถิติฝ่ายแคนาดา แสดงมูลค่า การค้าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 (มกราคม-กันยายน ) ที่ 2,753.93 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 25.55 เปรียบเทียบกับ ร้อยละ 21.53 ในช่วงเวลาเดียวกันของปี2553 )
การส่งออกจากไทย ไปแคนาดา ในช่วง 9 เดือนแรกของปี2554 (มกราคม-กันยายน) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.74 ของการส่งออก ทั้งหมดของไทย เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงเวลาเดียวกันของปี2553 ซึ่งมีสัดส่วนที่ร้อยละ 0.72 ของการส่งออกทั้งหมด โดยมีอัตราการขยายตัวของมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น ร้อยละ+28.30 (เปรียบเทียบกับร้อยละ +11.61 ในช่วงเวลาเดียวกันปี 2553) (สถิติฝ่ายแคนาดา แสดงตัวเลขการนำเข้าจากไทย ในช่วง 9 เดือนแรกของปี2554 ที่ 2,055.55 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือร้อยละ 0.61 ของการนำเข้าทั้งหมด โดยมีอัตราการขยายตัวของมูลค่านำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้น ร้อยละ 21.52 เปรียบเทียบกับร้อยละ 16.88 ของช่วงเวลาเดียวกันในปี2553
สินค้าส่งออกไทยไปแคนาดาที่มีมูลค่าสำคัญ 10 อันดับแรก ได้แก่ (1) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป มูลค่า 199.3 ล้านเหรียญฯ(เพิ่มขึ้น 29.70%) (2) ยางพารา มูลค่า 116.3 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้น 100.61% (3) เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ มูลค่า 115.7 ล้านเหรียญฯ (ลดลง 28.21%) (4) เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มูลค่า 88.4 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้น 3,094.87%) (5) กุ้งสดแช่เย็น แช่แข็ง มูลค่า 77.3 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้น 24.10%) (6) ข้าว มูลค่า 54.8 ล้านเหรียญฯ (ลดลง 8.66%) (7) เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ มูลค่า 48.2 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้น 30.06 %) (8) เครื่องนุ่งห่ม มูลค่า 47.0 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขื้น 12.31%) (9) ผลไม้กระป๋องและแปรรูปมูลค่า 42.4 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้น 25.35%) และ (10) ผลิตภัณฑ์ยาง มูลค่า 36.3 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้น 27.05 %) ทั้งนี้
สินค้าส่งออกจากไทยที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นในร้อยละที่สูง 5 อันดับแรก (พิจารณาจากสินค้าส่งออก 30 อันดับแรกของไทยไปแคนาดาทุกประเภทสินค้า) ได้แก่เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์ฯ (เพิ่มขึ้น 3,094.87% ) ส่วนประกอบอากาศยานและอุปกรณ์การบิน (เพิ่มขึ้น 241.53 %) รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ (เพิ่มขึ้น 114.92%) ยางพารา (เพิ่มขึ้น 100.61%) และ ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ (เพิ่มขึ้น 88.62%) ประเทศคู่แข่งในภูมิภาคเอเซียที่สำคัญ ที่แคนาดามีสัดส่วนต่อการนำเข้าสินค้ามาก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และไต้หวัน โดยในเดือน กันยายน 2554 แคนาดานำเข้าจากประเทศไทยเป็นลำดับที่19 (สถิติฝ่ายแคนาดา)
การนำเข้าของไทยจากแคนาดา ในช่วง 9 เดือนแรกของปี2554 ( มกราคม-กันยายน ) คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 0.50 ของการนำเข้าทั้งหมด ลดลงเล็กน้อยจากระยะเวลาเดียวกันของปี2553 (ร้อยละ 0.52) โดยมีอัตราขยายตัวของมูลค่าการนำเข้าลดลง คือจากร้อยละ 48.65 เป็นร้อยละ 23.51 โดยไทยได้เปรียบดุลการค้ามูลค่า 459.88 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่สถิติฝ่ายแคนาดาแสดงสัดส่วนการส่งออกจากแคนาดามายังไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี2554 ที่ ร้อยละ 0.21 ของการส่งออกทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากระยะเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา(ร้อยละ 0.18) แต่มีอัตราขยายตัวของมูลค่าลดลงจาก ร้อยละ 40.34 มาเป็น ร้อยละ 39.13 ทั้งนี้ แคนาดาเป็นฝ่ายเสียเปรียบดุลการค้าให้ไทย มูลค่า 1,357.17 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
สินค้าที่ไทยนำเข้าจากแคนาดา ที่มีมูลค่าสำคัญ 10 อันดับแรก ได้แก่(1) ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ มูลค่า 148.6 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้น 60.74%) (2) พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช มูลค่า 143.7 ล้านเหรียญฯ ( เพิ่มขึ้น 139.65% ) (3) เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ มูลค่า 97.6 ล้านเหรีญฯ (เพิ่มขึ้น 13.98%) (4) เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ มูลค่า 91.2 ล้านเหรียญฯ (ลดลง 16.88%) (5) แผงวงจรไฟฟ้า มูลค่า 68.8 ล้านเหรียญฯ ( เพิ่มขึ้น 6.88% ) (6) สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ มูลค่า 50.3 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้น 13.09%) (7) เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ มูลค่า 34.7 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้น 9.73 %) (8) เครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบินฯ มูลค่า 28.7 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้น 302.98%) (9) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ มูลค่า 26.9 ล้านเหรียญฯ (ลดลง 12.65%) และ (10) เคมีภัณฑ์ มูลค่า 22.8 ล้านเหรียญฯ (ลดลง 14.67%) ทั้งนี้ สินค้านำเข้าจากแคนาดามาไทย ที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นในร้อยละที่สูง 5 อันดับแรก (พิจารณาจากสินค้านำเข้า 30 อันดับแรกของไทยจากแคนาดา ทุกหมวดประเภทสินค้า) ได้แก่ เครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบินฯ (เพิ่มขึ้น 302.98%) พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช ( เพิ่มขึ้น 139.65% ) ผลิตภัณฑ์เวชกรรม และเภสัชกรรม (เพิ่มขึ้น 109.98%) ถ่านหิน (เพิ่มขึ้น 109.78%) และ กล้อง เลนส์และอุปกรณ์การถ่ายรูป (เพิ่มขึ้น 103.33%)
วิเคราะห์โครงสร้างสินค้าส่งออกสำคัญ ของไทยไปแคนาดา ตามกลุ่มสินค้า
สินค้าส่งออก ของไทยไปแคนาดาข้างต้น พบว่า ระหว่างปี2551-2553 หมวดสินค้าส่งออกสำคัญเรียงตามลำดับมูลค่าส่งออก ได้แก่ หมวดสินค้าอุตสาหกรรม (เฉลี่ย ร้อยละ 56.45 ของมูลค่าส่งออกฯ) หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร (เฉลี่ยร้อยละ 22.37 ของมูลค่าส่งออกฯ) และ หมวดสินค้าเกษตรกรรม ( กสิกรรม, ปศุสัตว์และประมง เฉลี่ยร้อยละ 20.61 ของมูลค่าส่งออกฯ) ทั้งนี้ หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง และสินค้าอื่นๆ ได้แก่ ธุรกรรมพิเศษฯ มีการส่งออกมูลค่าน้อยเมื่อเทียบกับการส่งออกไปยังแคนาดาทั้งหมด
สำหรับการส่งออกในช่วง 9 เดือนแรก ของปี2554 (มกราคม-กันยายน ) นั้น พบว่า มูลค่าการส่งออกจากไทยไปยังแคนาดาทั้งสิ้น ได้ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 28.30 (เปรียบเทียบกับ ร้อยละ 11.61 ในระยะเวลาเดียวกันของปี2553) โดยสินค้าทุกหมวดมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ สินค้าที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นมากสูงสุดได้แก่หมวดสินค้าเกษตรกรรม ซึ่งขยายตัวในอัตราร้อยละ 36.89 สินค้าที่มีการขยายตัวรองลงมาได้แก่สินค้าหมวดอุตสาหกรรมการเกษตร (ขยายตัวในอัตราร้อยละ 30.57) หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง (ขยายตัว ร้อยละ 26.19) และ สินค้าอุตสาหกรรม (ขยายตัวร้อยละ 24.18)
สรุปข้อคิดเห็น/ข้อสังเกต
ข้อสังเกตุเปรียบเทียบข้อมูลการค้า ระหว่างสถิติฝ่ายไทย (ม.ค. - ก.ย. 54) และ สถิติฝ่ายแคนาดา(ม.ค.-ก.ย. 54)
1. พิจารณาจากสินค้าส่งออกสำคัญ 30 อันดับแรก จากไทยไปแคนาดา (สถิติฝ่ายไทย : มกราคม-กันยายน 2554) มีข้อสังเกตุดังนี้ สินค้าที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้น สถิติการส่งออกจากไทยไปยังแคนาดา 30 อันดับแรก แสดงอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นของมูลค่าส่งออกสินค้าจำนวน 25 รายการ ที่สำคัญ 10 อันดับแรกได้แก่สินค้า อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ยางพารา เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ เครื่องนุ่งห่ม ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องกีฬาและเครื่องเล่นเกมส์ และส่วนประกอบอากาศยานและอุปกรณ์การบิน และเมื่อพิจารณาภาพรวมโครงสร้างสินค้าส่งออกสำคัญ จะพบว่า สินค้าทุกกลุ่ม มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยเฉพาะหมวดสินค้าเกษตรกรรม (กสิกรรม, ปศุสัตว์, ประมง ) ซึ่งมีการขยายตัวสูงสุดถึง ร้อยละ 36.89 และรองลงมาโดยลำดับ ได้แก่หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร (ร้อยละ 30.57) สินค้าแร่และเชื้อเพลิง (ร้อยละ 26.19) และหมวดสินค้าอุตสาหกรรม (ร้อยละ 24.18)
สินค้าที่มีการส่งออกลดลง สถิติการส่งออกจากไทยไปยังแคนาดา 30 อันดับแรก แสดงอัตราการขยายตัวลดลง ของมูลค่าส่งออกสินค้า 5 รายการ ได้แก่เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ข้าว เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์รองเท้าและชิ้นส่วน และเลนส์ ทั้งนี้เนื่องจากสาเหตุ ดังนี้
สินค้าคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เนื่องจากแคนาดานำเข้าจากประเทศคู่แข่งเพิ่มขึ้น โดยเมื่อพิจารณาจากสถิติการนำเข้าฝ่ายแคนาดา ระหว่างเดือน มกราคม-กันยายน 2554 พบว่ามีการนำเข้าโดยรวมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 16.29 โดยมีการนำเข้าจากจีน สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก และไต้หวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.72, 25.26, 19.88 และ 421.23 ตามลำดับ แต่การนำเข้าจากไทยลดลง ร้อยละ 0.05 ทั้งนี้ ผู้ส่งออกรายสำคัญอื่นที่แคนาดานำเข้าลดลงเช่นเดียวกับไทย ได้แก่ มาเลเซีย ญี่ปุ่น และ สิงคโปร์ ทั้งนี้ จีน และสหรัฐอเมริกามีสัดส่วนการตลาดสูงถึงร้อยละ 52.42 และ 21.69 ตามลำดับ
สินค้าข้าว เนื่องจากมีการนำเข้าโดยรวมลดลงและประเทศคู่แข่งช่วงชิงตลาดได้เพิ่มขึ้น โดยเมื่อพิจารณาจากสถิติฝ่ายแคนาดาแสดงมูลค่านำเข้าระหว่าง มกราคม-กันยายน 2554 พบว่ามีการนำเข้าลดลงจากระยะเวลาเดียวกันของปี2553 ร้อยละ 1.34 และนำเข้าจากไทยลดลง ร้อยละ 7.24 โดยประเทศคู่แข่งที่แคนาดานำเข้าลดลงเช่นกัน ได้แก่ อินเดีย ปากีสถาน และศรีลังกา ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวหลักไปยังแคนาดามีสัดส่วนการตลาดและมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นในอัตราสูงกว่าการนำเข้าในเดือน สิงหาคม ที่ผ่านมา
สินค้าเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์การส่งออกจากไทยไปยังแคนาดาลดลงร้อยละ 3.29 เนื่องจากราคาต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อราคาสินค้า เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งอื่นๆ อย่างไรก็ตาม สินค้าประเภทผลิตภัณฑ์เหล็ก และเหล็กกล้าของไทยที่ยังมีศักยภาพในตลาดแคนาดา ซึ่งเป็นสินค้านำเข้าสำคัญ 30 อันดับแรกของแคนาดาจากประเทศไทย และยังคงมีการนำเข้าในอัตราที่เพิ่มขึ้นได้แก่ อุปกรณ์ติดตั้งของหลอดหรือท่อ (ข้อต่อ ข้องอปลอกเลื่อน ฯลฯ ในพิกัดศุลกากรที่7307) และ หลอดหรือท่อ หรือโพรไฟล์กลวงอื่นๆ (พิกัดฯ 7306)
สินค้าเลนส์ เนื่องจากมีการนำเข้าจากประเทศคู่แข่งเพิ่มขึ้น โดยเมื่อพิจารณาสถิติฝ่ายแคนาดาระหว่างเดือน มกราคม-กันยายน 2554 แสดงการนำเข้าโดยรวม (รวมพิกัด9002 ) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 19.94 และนำเข้าจากไทยลดลงร้อยละ 19.89 สินค้าจากประเทศคู่แข่งที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ญี่ปุ่น(เพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง) จีน สหรัฐอเมริกาเยอรมนีและไต้หวัน สำหรับประเทศผู้ส่งออกหลักที่มีสัดส่วนตลาดลดลงได้แก่ ญี่ปุ่น (ส่วนแบ่งตลาดลดลงจากร้อยละ 60.25 เหลือ ร้อยละ 58.76) ไทย (ลดลงจากร้อยละ 9.56 เหลือร้อยละ 6.38) และเกาหลีใต้(จากร้อยละ 0.97 เหลือร้อยละ 0.54)
2. เปรียบเทียบกับสถิติการค้า ตัวเลขฝ่ายแคนาดา (Statistics Canada) สรุปภาพรวมการค้าระหว่างแคนาดา-ไทย ในช่วง 9 เดือนแรกของปี2554 (มกราคม-กันยายน) โดยเปรียบเทียบกับระยะเวลาเดียวกันปี2553 ได้ดังนี้
- มูลค่าการค้าระหว่างแคนาดา-ไทย มีมูลค่ารวม 2,753.93 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 25.55 สูงกว่าระยะเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา (ร้อยละ 21.53)
- การส่งออกของแคนาดามาไทย มีมูลค่า 698.38 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 39.13 โดยแคนาดาเป็นฝ่ายเสียเปรียบดุลการค้ากับไทยมูลค่า 1,357.17 ล้านเหรียญสหรัฐ
- การนำเข้าสินค้าจากประเทศไทย มีมูลค่า 2,055.55 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 21.52 สูงกว่าระยะเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ร้อยละ 16.88) โดยมีข้อสังเกต ดังนี้
สินค้าที่แคนาดานำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้น (พิจารณาจากสินค้านำเข้าสำคัญ 30 อันดับแรก )ที่แคนาดานำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้น มีจำนวน 25 รายการ (เท่ากับเดือนสิงหาคม) โดยเป็นกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ที่สำคัญ 10 อันดับแรกได้แก่เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับโทรศัพท์หรือโทรเลขฯ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์(พิกัด 8517) เครื่องรับสำหรับวิทยุโทรศัพท์ วิทยุโทรเลขหรือวิทยุกระจายเสียงฯ (พิกัด 8527) เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณและส่วนประกอบของของดังกล่าว ทำด้วยโลหะมีค่า หรือทำด้วยโลหะที่หุ้มติดด้วยโลหะมีค่า (พิกัด 7113) เครื่องส่งสำหรับวิทยุ โทรศัพท์ โทรเลข หรือโทรทัศน์ รวมทั้งกล้องถ่ายโทรทัศน์วีดีโอ ฯลฯ(พิกัด 8525) วงจรรวมสำหรับใช้ในทางอีเล็กทรอนิกส์(พิกัด 8542) ยางนอกชนิดอัดลมที่เป็นของใหม่ใช้สำหรับพาหนะต่างๆ (พิกัด 4011) ของและเครื่องอุปกรณ์สำหรับใช้ในการออกกำลังกายทั่วไป การเล่นยิมนาสติก กรีฑาและกีฬาอื่น ๆ (พิกัด 9506) เครื่องแต่งกายและของที่ใช้ประกอบกับเครื่องแต่งกาย ฯ (พิกัด 4015) รถจักยานยนต์ ฯ (พิกัด 8711) และ เครื่องพิมพ์ใช้สำหรับการพิมพ์โดย วิธีใช้เพลตลูกกลิ้ง และองค์ประกอบอื่น ๆที่ทำรอยพิมพ์แล้ว ตามประเภทที่84.42 เครื่องพิมพ์อื่นๆ เครื่องจักรทำสำเนาฯ (พิกัด 8443)
สำหรับสินค้ากลุ่มอื่นๆ (เกษตรกรรม อุตสาหกรรมการเกษตร) ที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยางพาราธรรมชาติ ฯ (พิกัด 4001) กุ้งสดแช่เย็น แช่แข็ง (พิกัด 0306.13 ) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผัก-ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณธ์ข้าวสาลีและธัญญพืชแปรรูป ซอส สิ่งปรุงรสอาหาร เครื่องดื่มประเภทที่ไม่มีแอลกอฮอล์(น้ำผัก ผลไม้กระป๋อง)
สินค้าที่แคนาดานำเข้าจากไทยลดลง (พิจารณาจากสินค้านำเข้าสำคัญ 30 อันดับแรกที่แคนาดานำเข้าจากไทย) มีสินค้าจำนวน 5 รายการ ที่แสดงตัวเลขการนำเข้าลดลง ได้แก่คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (พิกัด 8471) ข้าว (พิกัด 1006) ส่วนประกอบและอุปกรณ์ที่เหมาะสำหรับใช้เฉพาะหรือส่วนใหญ่ใช้กับเครื่องจักรสำนักงานฯ (พิกัด 8473) และรองเท้า(พิกัด 6403) และ เลนส์ (พิกัด 9002)
โอกาสสินค้าไทยในตลาดแคนาดา
1. สินค้าไทยที่มีศักยภาพในตลาดแคนาดา โดยรวมแล้ว สินค้าส่งออกที่ไทยมีศักยภาพในการแข่งขันและมีลู่ทางการขยายตลาดส่งออกไปยังแคนาดา ได้แก่ สินค้าอาหาร (อาหารแปรรูป กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ผัก-ผลไม้กระป๋อง/แปรรูป อาหารReady to Eat อาหารประเภทของขบเคี้ยว อาหารสุขภาพ ซ็อส สิ่งปรุงรสอาหาร อาหารเกษตรอินทรีย์เป็นต้น) สินค้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์และเครื่องประดับตกแต่งบ้าน และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพต่างๆ ( อาทิเสื้อผ้า รองเท้า อุปกรณ์กีฬา ฯ) อย่างไรก็ตาม การขยาย ตลาดส่งออกแต่ละช่วงเวลาจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับการปรับตัวและภาวะการแข่งขันของผู้ส่งออกที่เป็นคู่แข่งด้วย
2. เศรษฐกิจแคนาดายังคงมีความแข็งแกร่งและมีเสถียรภาพ แม้ว่านักเศรษฐศาสตร์ได้คาดการณ์ การชะลอตัวเศรษฐกิจของแคนาดา ในปี2554 และ 2555 แต่อัตราการเติบโตของ GDP น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไม่มากนักเนื่องจากแคนาดาได้ดำเนินทุกวิถีทางในการกระจายความเสี่ยงด้านการค้าไปยังตลาดอื่น อาทิ จีน อินเดีย เอเซีย(รวมทั้งประเทศไทย) ลาตินอเมริกา เพื่อลดการพึ่งพาเศรษฐกิจสหรัฐ และดำเนินนโยบายเศรษฐกิจอย่างมีวินัย อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจแคนาดา ยังคงต้องขึ้นอยู่กับหลายประเทศ โดยสถานการณ์หลักๆ ที่น่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจแคนาดาอย่างมากได้แก่ วิกฤตการณ์หนี้ของยุโรป การฟี้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐ และเศรษฐกิจของจีน
3. ความเห็นสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของหน่วยงาน Statistics Canada ได้ประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจแคนาดา ในภาพรวมล่าสุด ดังนี้
- Real GDP: +0.3 % (สิงหาคม 2554) เทียบกับ เดือน กรกฎาคม 2554
- Unemployment Rate : 7.1 % (กันยายน 2554) เปรียบเทียบกับ 7.2 % ในเดือน สิงหาคม 2554
- Merchandise Import : + 0.7% (สิงหาคม 2554) เปรียบเทียบกับ เดือน กรกฎาคม 2554
- Merchandise Export : + 0.5 % (สิงหาคม 2554) เปรียบเทียบกับ กรกฎาคม 2554
- Inflation Rate : 3.2% ( กันยายน 2554) เปรียบเทียบกับ 3.1 % ในเดือน สิงหาคม 2554
4. ความเห็นเกี่ยวกับการปรับตัวด้านภาคธุรกิจของแคนาดาปัจจัยหลักที่มีผลบวกต่อเศรษฐกิจในเดือน สิงหาคม 2554 (+0.3 %) ปัจจัยบวกเป็นผลจาก : ภาคการผลิตพลังงานเป็นหลัก ซึ่งมีการขยายตัว 2.8 % โดยขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่3 รวมทั้งภาคการกลั่น และเหมืองแร่
- ภาคการเงินและประกันภัย ขยายตัว 1.4% เนื่องจากปริมาณการซื้อขายหุ้นที่เพิ่มขึ้น และนักลงทุนตื่นตัวกับภาวะหนี้สินที่เกิดขึ้นในบางประเทศ
- ภาคการก่อสร้าง : ขยายตัว 0.1% ในส่วนของอาคารสำหรับที่พักอาศัยและงานวิศวกรรมก่อสร้างและงานต่อเติมซ่อมแซมอาคารต่างๆ
- ธุรกิจขนส่งและอาคารสินค้า : ขยายตัว 1.8% เนื่องมาจากการดำเนินกิจการตามปกติ หลังจากเหตุการณ์ประท้วงของหน่วยงานไปรษีณ์ย์ รวมทั้งปริมาณการขนส่งทางอากาศ รถไฟ ทางบก เพิ่มขึ้นปัจจัยลบเป็นผลจาก: ธุรกิจค้าส่ง ภาคการผลิตสินค้า ภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ
- ภาคธุรกิจค้าส่ง : ลดลง 1.4% ในเกือบทุกประเภทสินค้า โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มรถยนต์และอะหลั่ย
- ภาคการผลิตสินค้า : โดยรวมลดลง 0.4% โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์ไม้ กระดาษ และเคมีภัณฑ์
- ภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ : ปรับตัวลดลงทั้งในส่วนการขนส่งทางอากาศ โรงแรม ที่พักอื่นๆ และธุรกิจบริการอาหาร
โอกาสการขยายการส่งออก
สินค้าไทยแคนาดาจัดว่าเป็นตลาดที่กีดกันการนำเข้าน้อยมาก หากผู้ส่งออกไทยสามารถผลิตสินค้าได้ตามมาตรฐาน ข้อกำหนด กฎระเบียบของทางการแคนาดา และมีการพัฒนาคุณภาพ รูปแบบให้สอดคล้องกับรสนิยมผู้บริโภคอย่างสม่ำเสมอ และให้ความสำคญั ในการผลิตสินค้าใหม่ๆ ที่แตกต่างจากคู่แข่ง และให้ความสำคัญกับสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และด้วยสภาพภูมิประเทศที่มีขนาดพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลและการกระจายตัวของผู้บริโภคที่มีระยะห่างไกล การปรับกลยุทธด้านการตลาดให้เหมาะสมกับสภาพตลาด โดยการพัฒนาช่องทางการค้าอีเลคทรอนิกส์ และลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ส่งออกไทย นอกจากนั้น การให้ความสำคัญกับการติดต่อ/สื่อสารให้ทันต่อเหตุการณ์ และทำการตลาดเชิงรุกในการหาพันธมิตรทางการค้าที่มีเครือข่ายกว้างขวางเพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ๆอย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยให้สามารถขยายตลาดส่งออกไปยังแคนาดา ได้เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน นอกจากนั้น แคนาดาเป็นประเทศที่อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติและเทตโนโลยีที่ทันสมัยที่สามารถเอื้อประโยชน์ต่อความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนระหว่างกันให้ได้รับผลประโยชน์ร่วมทั้งสองฝ่าย
นโยบายรัฐบาลด้านเศรษฐกิจ
การค้าของแคนาดาฝั่งตะวันตก รัฐบาลกลางได้ให้ความสำคัญในการขยายความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ การค้า ไปยังภูมิภาคเอเซียมากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นคู่ค้าหลักในปัจจุบัน.โดยดำเนินการผ่านหน่วยงาน Western Economic Diversification Canada (WD) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ ภาวะการแข่งขัน ด้านการค้า ของแคนาดาฝั่งตะวันตก (British Columbia, Alberta , Saskatchewan และ Manitoba) และได้ปรับบทบาทให้Trade Commissioner Service , Foreign Affairs and International Trade Canada ในแต่ละภูมิภาค ดำเนินนโยบายเชิงรุกในการสร้างความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน กับประเทศแถบเอเซียมากขึ้นโดยได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการส่งเสริมการค้าโดยเฉพาะการจัดคณะผู้แทนฯ Inbound/Outbound ไปสร้างความสัมพันธ์เพื่อโอกาสด้านการค้า การลงทุนกับค่คู ในต่างประเทศ ในโครงการต่อเนื่อง 4 ปีเพื่อเสริมสร้างความแข่งแกร่งกิจกรรมด้านเศรษฐกิจเชิงรุกแก่ผู้ประกอบการแคนาดา ซึ่งสำนักงานฯ ได้ทำงานใกล้ชิดกับที่ปรึกษาด้านการค้ากิตติมศักดิ์ของกระทรวงพาณิชย์ในการผลักดันการนำนักธุรกิจแคนาดาไปสร้างความสัมพันธ์กับนักธุรกิจไทยด้วย ซึ่งคณะผู้แทนฯ กำหนดเบื้องต้นจะเดินทางไปในช่วงต้นเดือนธันวาคม ศกนี้ อย่างไรก็ตาม ได้ยกเลิกการเดินทางเนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศไทย
เหตุการณ์น้ำท่วมส่งผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าไทย
สินค้าที่ได้รับผลกระทบที่เห็นได้ชัดได้แก่ อุตสาหกรรมรถยนต์ และอีเล็คทรอนิกส์ ที่นำเข้าชิ้นส่วนจากประเทศไทยเป็นส่วนประกอบ ซึ่งส่งผลให้ผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นในมณฑลออนตาริโอต้องปิดโรงงานชั่วคราว อย่างไรก็ตาม เนื่องจากข้อจำกัดด้านสถิติการนำเข้าฝ่ายแคนาดา จึงยังไม่สามารถประเมินมูลค่าการนำเข้าที่ลดลงล่าสุดได้ นอกจากนั้น ได้รับการติดต่อจากผู้นำเข้าสินค้าอาหารแจ้งว่า ผู้ส่งออกไทยไม่สามารถจัดส่งสินค้าที่สั่งซื้อก่อนหน้านี้ได้ตามกำหนดเวลาเนื่องจากอุปสรรคเรื่องเส้นทางการขนส่งสินค้าไม่สามารถกระทำได้ตามปกติ ทำให้เกิดความล่าช้าไม่สามารถจัดส่งสินค้าได้ทัน ซึ่งสำนักงานจะได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
สำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ นครแวนคูเวอร์
ที่มา: http://www.depthai.go.th